CITY CRACKER

คลองบางหลวงพื้นที่แห่งการเรียนรู้: โครงการปรับปรุงท่าเรือและสวนสมุนไพรชุมชนวัดกำแพง

คลองบางหลวง สถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ตลาดน้ำและชุมชนเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา มีการผสมผสานระหว่างวิถีริมน้ำแบบเก่าๆ ที่รวมกับวิถีชีวิตร่วมสมัยต่างๆ พื้นที่ริมคลองบางหลวงแห่งนี้พิเศษที่นอกจะเป็นชุมชนริมน้ำเก่าแก่ มีผู้คนแวะเวียนมาท่องเที่ยว ชื่นชมบรรยากาศริมน้ำและความสงบ ที่นี่ยังเป็นพื้นที่เรียนรู้สำหรับนักศึกษาในรายวิชาสถาปัตยกรรมชุมชน มหาวิทยาลัยศิลปากร ภายใต้การดูแลของ ผศ.ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ หรืออาจารย์หน่อง ที่พานักศึกษาเขามาเรียนรู้การทำงานในชุมชนแห่งนี้มาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว

“ชุมชนคลองบางหลวงไม่ไกลจากมหาวิทยาลัย เราก็รู้สึกว่ามันน่าจะเป็นพื้นทีที่มีศักยภาพ เพราะชุมชนเขาก็เป็น settlement  มาตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยา ในตอนแรกเราทำงานกับทางฝั่งวัดคูหาสวรรค์ ที่มีบ้านศิลปิน เขาก็พอมีชื่อเสียงอยู่แล้ว พอปีที่ 2 เราก็เลยลองข้ามไปทำงานกับทางฝั่งวัดกำแพงบางจากดู  ก็เริ่มเห็นสิ่งที่น่าสนใจ ที่จุดเช็คอินของเขาคือตลาดน้ำแต่พอเรามาจริงๆ ก็กลับไม่ได้รู้สึกว่าเขาเป็นตลาดน้ำขนาดนั้น  เพราะเวลาเราพูดถึงตลาดน้ำ มันจะเป็นภาพแบบอัมพวาที่มีของขายเยอะๆ แต่ที่นี่เหมือนเป็นตลาดเก่าที่เป็นวิถีชีวิตชุมชนริมน้ำมากกว่า

พอเราข้ามไปฝั่งวัดกำแพงสิ่งที่เราเห็นคือทางเดินริมน้ำที่น่าสนใจมาก ความจริงทางเดินนั้นมันก็เป็นกรรมสิทธิ์ของคนที่เช่าพื้นที่วัด แต่เขาก็เปิดให้เป็นทางเดินสาธารณะ และวัดกำแพงบางเป็นวัดที่ไม่มีรั้ว เป็นวัดที่รวมไปกับชุมชน ไม่มีกำแพงเลยว่าอันไหนวัด อันไหนบ้าน เราก็รู้สึกว่าทำไมแถวนี้น่ารัก ปีต่อๆ มา เราก็เลยทำงานกับทางฝั่งวัดกำแพงมากขึ้น ”

การลงพื้นที่ในครั้งก่อนๆ ก็เริ่มจากการทำงานเชิงกระบวนการการมีส่วนร่วม และค่อยๆ พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เช่น การนำกล้องใช้แล้วทิ้งมาให้คนในชุมชนถ่ายภาพ นำเสนอมุมมองของตัวเองออกมา แทนที่จะเป็นคนนอกเข้าไปถ่าย ก็ให้ชาวบ้านเป็นคนถ่ายเอง แล้วนำมาทำเป็นนิทรรศการภาพถ่าย หรือการทำแผนที่เดินเที่ยวในย่านคลองบางหลวงว่านอกจากบ้านศิลปินแล้วยังสามารถเดินไปตรงไหนได้อีกบ้าง

“เรารู้สึกว่าจริงๆ นักท่องเที่ยวรู้จักแต่บ้านศิลปิน เราก็เลยอยากให้คนที่มาเที่ยว ได้ใช้เวลานานขึ้น แทนที่จะมาดูหุ่นละครเล็กแล้วก็กลับไป อยากให้ลองเดินไปดูฝั่งนู้นบ้าง ตอนแรกเรายังไม่คิดเลยว่าวัดในกรุงเทพฯ จะยังมีแบบนี้ คือหลวงพ่อจะมีสวนสมุนไพร แล้วท่านทำเหมือนเป็น  urban farm เป็นกระบะคอนกรีต คนในชุมชนจะมาเก็บไปกิน หรือมาปลูกก็ได้  คืออยากทำอะไรก็ได้ ใจดีมาก หลวงพ่อเหมือนเป็นฮิปสเตอร์ผู้มาก่อนกาล

“หลังจากทำงานมา 5 ปี อัตลักษณ์อย่างหนึ่งที่คลองบางหลวงมีและทุกคนเห็นตรงกันคือความเขียว ความเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดเล็กในเมือง เหมือนเป็น pocket park อย่างเช่นสวนของหลวงพ่อ หรือถ้าเดินดูริมน้ำก็จะเห็นว่าชาวบ้านเขาก็จะเอาไม้กระถางมาแขวน ประดับประดา เขาก็ทำเป็นธรรมชาติ เป็นวิถีของขา ซึ่งความเขียวนี่เป็นจุดหนึ่งที่น่าไฮไลต์มาก”

ในปีนี้วิชาสถาปัตยกรรมชุมชนได้ ทำโครงการปรับปรุงท่าเรือและสวนสมุนไพรชุมชน วัดกำแพงบางจาก ชุมชนคลองบางหลวง เขตภาษีเจริญ ร่วมกับบริษัท Shma SoEn วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ม.สยาม ชุมชนกำแพงทองพัฒนา ชาวชุมชนคลองบางหลวง MJ Gardens Glow Landscape โดยแบ่งนักศึกษาท้งหมดออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มทำท่าเรือ กลุ่มทำสวนสมุนไพร กลุ่มทำ signed และกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มประชาสัมพันธ์ ใครชอบอะไรก็ไปทำอันนั้นเพราะหัวใจของรายวิชาสถาปัตยกรรมชุมชน คือเราสามารถทำตัวให้เป็นประโยชน์ได้โดยไม่ต้องรู้สึกว่าตัวเองเสียสละมากจนเกินไป

“จุดเริ่มต้นของโครงการปีนี้มันเริ่มมาจากพี่อ๋อย หัวหน้าชุมชนกำแพงทองพัฒนา  ได้เรือพายมาจากโครงการหนึ่งของรัฐ แล้วทางวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม เขาเป็นสถาบันการศึกษาที่อยู่ใกล้เคียง เป็นภาคีร่วมพัฒนา เขาก็จะทำเครื่องยนต์พลังงานสะอาด พลังโซลาร์เซลล์ให้ พี่อ๋อยก็เลยลองติดต่อมาว่าอยากทำที่ลงเรือ มีศาลาร้างอยู่ริมคลองบางจากที่จริงๆ เอาไว้เก็บของ ซึ่งข้างๆ ศาลาก็มีสวนสมุนไพรที่หลวงพ่ออยากให้มันโตไปตามธรรมาติ ไม่อยากให้มันเรียบร้อยเกินไป”

พี่อ๋อย หัวหน้าชุมชนกำแพงทองพัฒนา

 

“ตอนแรกเราจะเข้าไปช่วยทำท่าลงเรือ แต่พอเข้าไปสวนสมุนไพรมันก็อยู่ตรงนั้น ก็เลยเป็นแพคเกจที่เราก็ต้องทำด้วย เพราะสวนสมุนไพรตอนแรกมันรกมาก หาทางเข้าแทบไม่เจอ ก็เลยเกิดเป็นึความร่วมมือของ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม shma soen คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร วัดกำแพงบางจาก ชุมชน แล้วก็ชาวชุมชน ย่านคลองบางหลวง เราก็ต้องไปเรียกเพื่อน ผู้รับเหมาสวน ที่ให้ราคาแบบว่าอาสามาก Glow Landscape MJ Garden เขาก็มากันแบบว่า เรียกว่าเป็นการเรียนทำเวิร์กชอป ที่ปีนี้เราแฮปปี้ที่สุด”

“เราแบ่งนักศึกษาออกเป็น 4 กลุ่ม ตามเนื้องาน คือ 1 ทำที่ลงเรือ 2. ปรับปรุงสวนสมุนไพร  3. เนื่องจากคนไม่รู้ว่านี่คือสวนสมุนไพรของหลวงพ่อ เราไปขโมยของวัดหรือเปล่า แต่ความจริงหลวงพ่อยินดีมาก ก็เลยมีกลุ่ม signed เพื่อให้คนรู้ว่าที่นี่มีสวนสมุนไพร ก็มีทีมที่ 4 ทีมประชาสัมพันธ์ เราอยากให้เด็กหัดทำตัวให้เป็นประโยชน์กับสังคมโดยไม่ต้องฝืนตัวเอง ใครไม่ถนัดคุยกับคุณลุงคุณป้าก็ไปทำอย่างอื่น ไปเพนต์ไปทำอะไร ใครไม่เก่งออกแบบก็ไปทำประชาสัมพันธ์  ไปถ่ายรูป คิดกิจกรรมอะไรไป”

“หัวใจของรายวิชาสถาปัตยกรรมชุมชน คือเราเป็นอะไรก็ได้แต่เราสามารถทำตัวให้เป็นประโยชน์ได้โดยไม่ต้องรู้สึกว่าตัวเองเสียสละเหลือเกิน ยิ่งเรารู้สึกว่าตัวเองเสียสละเท่าไหร่เราก็จะรู้สึกสังคมเป็นลูกหนี้เรา เราก็จะไปทวงบุญคุณกับสังคม ซึ่งอาจารย์ไม่ชอบให้ทำงานเพื่อสังคมแบบนั้น ไม่ได้หมายความว่าการทำแบบนั้นมันไม่ดีนะ แต่ส่วนตัวจะรู้สึกว่าแบบนี้มันสบายใจกว่า จริงๆ ทุกคนมีความถนัดของตัวเองที่ทำให้เป็นประโยชน์ได้ ถามว่าทำไมเราไม่ทำสเกลใหญ่ ก็เราทำไม่ได้ เราทำในส่วนที่เราทำได้ เด็กส่วนใหญ่ก็เป็นเด็กปี 2 เราโชคดีด้วยที่ชุมชนนี้ค่อนข้างเปิดกว้าง”

ในวันเปิดสวนสมุนไพรเมื่อวันเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา (29-30 มิ.ย.) ได้มี กิจกรรม hide and seed ณ คลองบางหลวง ที่มีทั้งการล่องเรือไฟฟ้า เรือคายัก กิจกรรม ART WORKSHOP ที่ทำโปสการ์ด และระบายสีจากการพิมพ์ลายธรรมชาติ ก็มีทั้งคุณใหม่ สิริกิติยา เจนเซน, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นักท่องเที่ยว และคนในชุมชนมาร่วมงานด้วย

“วันนี้เป็นวันเปิดงาน เราก็เชิญทางเขต เชิญนักเรียน เชิญสถาบันที่เป็นภาคีร่วมมา เพราะเรารู้สึกว่าเรายังไงก็เป็นคนนอก ถึงแม้เราจะแวะมาทุกปี แต่ยังไงต้องให้เด็กในโรงเรียนทำกิจกรรมกันต่อไปจากเรา สวนสมุนไพรที่รกๆ ก็จะมีโรงเรียนที่จัดเด็กมารดน้ำต้นไม้อยู่แล้ว เขาก็ทำของเขาอยู่แล้ว แต่มันแค่อาจจะไม่ได้ถูกไฮไลต์ เราก็ถือโอกาสการเปิดาสวนเราเป็นแพลตฟอร์ม ให้คนเข้ามาดูว่าเขาจะทำอะไรต่อไปได้ ถ้าโรงเรียนอยากพาเด็กมาทาสีต่อ เราก็ยกแพทเทิร์นให้หมดเลย ใครอยากมาทำอะไรเพิ่มก็ได้เลย”

Kontorns

“อย่างพอเราทำท่าเรือก็มีผู้ใหญ่ใจดีให้เรือคายัคมาทดลอง ก็พบว่าเด็กๆ ชอบมาก ซึ่งเราเคยทำวิจัยพื้นที่นี้ว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นเจนไหน ก็พบว่าเป็นเจนวาย เป็นคนรุ่นใหม่ที่เขาชอบวิถีชีวิต ชอบความไม่เหมือนใคร กิจกรรมคายัคนี้ แทนที่จะไปพายคายัคที่น้ำตกที่ป่า ก็มาพายกันที่คลองบางจาก ริมคลองขนาดเล็ก หรือมาออกกำลังกายแทนที่จะไปฟิตเนส อาจารย์ก็รู้สึกว่าโชคดี จังหวะมันพอดี”

“ในอนาคตเราอยากเชื่อมโยงชุมชนนี้กับชุมชนอื่นๆ ที่เป็นชุมชนริมคลอง เรารู้สึกว่าที่นี่ไม้ได้เป็น destination ขนาดนั้น มันไม่เหมือนเราไปวัดโพธิ์ วัดอรุณ  แต่ถ้าสมมติ เราแวะคลองบางหลวงแปปนึง ไปวัดหนัง วัดไทร หรือคลองบางประทุน ไปคลองนู้นคลองนี้ เหมือนเป็นรูทเที่ยว เราว่าอย่างนั้นมันน่าจะทำงานได้ดีกว่า”

 

Cover by Prapan Napawongdee
photos by นักศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมชุมชน มหาวิทยาลัยศิลปากร
Share :