CITY CRACKER

พัทยาอามี่ไทยแลนด์ การพัฒนาและรักษาธรรมชาติของเมืองชายหาด คุยกับ ผศ.ปราณิศา บุญค้ำ

จากประเด็นการเข้าตัดและรื้อถอนต้นหูกวางบริเวณชายหาดพัทยาจากโครงการ Pattaya New Look หรือพัทยาไมอามี่ไทยแลนด์ เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ของชายหาดพัทยา ทำให้เกิดการตั้งคำถามในหลายประเด็น เช่น การพัฒนาพื้นที่ที่สัมพันธ์กับอัตลักษณ์ท้องถิ่น การรักษาไม้พื้นถิ่น การขยายพื้นที่ทางเดินเท้าเข้าใกล้ธรรมชาติมากขึ้น รวมถึงการปรับพื้นที่ที่อื่นๆ อาจส่งผลกระทบต่อชายหาด 

ผศ.ปราณิศา บุญค้ำ อุปนายกฝ่ายวิชาการ สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย และอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหนึ่งในผู้จัดทำผังแม่บทการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายหาดบางแสน จังหวัดชลบุรี จึงเข้าใจถึงปัญหาของการพัฒนาเมืองชายหาด ทั้งในด้านนิเวศวิทยาและบริบทของสังคมเมือง ซึ่งล้วนสำคัญต่อการพัฒนาเมืองท่องเที่ยวติดทะเลอย่างชลบุรีทั้งบางแสนและพัทยา และจากการทำงานนี้เองทำให้ได้เห็นถึงข้อควรคำนึงต่างๆ เมื่อต้องพัฒนาพื้นที่เมืองริมชายหาด ทั้งการฟื้นฟูและรักษาธรรมชาติ การรักษาอัตลักษณ์ชุมชน ตลอดจนการพัฒนาเพื่อให้เหมาะสมต่อการเป็นเมืองท่องเที่ยวในเวลาเดียวกัน

เพื่อไขข้อข้องใจและตอบคำถามถึงวิธีการพัฒนาพื้นที่ชายหาดอย่างเหมาะสม City Cracker ชวนคุยกับ ผศ.ปราณิศา บุญค้ำ ถึงปัญหาของการพัฒนาเมืองชายหาดโดยไม่คำนึงถึงบริบทสังคมและชุมชน อัตลักษณ์ของพัทยา รวมถึงแนวทางที่ควรเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต เพื่อให้ทุกชายหาดของประเทศไทยไม่เป็นไมอามี่ไทย์แลนด์ 

teen.mthai.com

 

City Cracker: เมืองพัทยาเกิดขึ้นเป็นเมืองได้อย่างไร ทั้งในเชิงภูมิศาสตร์และสังคม 

ผศ.ปราณิศา: พัทยาเคยเป็นพื้นที่ชายหาดธรรมชาติมาก่อน ถ้าเราดูในภาพถ่ายทางอากาศ พัทยามีลักษณะเป็นหาดเว้าโค้ง พอกระแสน้ำมันมาชนภูเขา ค่อยๆ พัดทรายลงมากลายเป็นทับถมเป็นอ่าว เกิดหาดทรายขาวเม็ดๆ ที่เคลื่อนที่มากับน้ำ พัดเข้ามาเป็นสันทราย บนสันทรายส่วนใหญ่ก็จะมีแต่พวกที่เป็นหญ้าหรือพืชที่กร้านโลก มีความอดทนมากๆ และขึ้นได้แค่ไม่กี่ชนิด แต่ด้านหลังของสันทราย ด้านในแผ่นดินก็จะมีพืชพรรณต่างๆ เริ่มขึ้นได้ เพราะดินเค็มน้อยลง 

พอมีการตั้งถิ่นฐาน มีการทำประมง มีการค้าขายเลยเกิดลักษณะของชุมชนมนุษย์ขึ้น อีกทั้งกลไกในการปกครองของพัทยาที่เป็นแบบพิเศษ คือดูแลปกครองตัวเองได้ เลยทำให้พัฒนาตัวเองได้อย่างรวดเร็ว และในแง่การท่องเที่ยวมันมีโอกาสทางเศรษฐกิจเยอะ ภาพลักษณ์ของพัทยาสมัยก่อนคือเป็นบาร์สีชมพู ไฟชมพู เดี๋ยวนี้ก็ยังมีกลิ่นอายอยู่บ้างนิดๆ หน่อยๆ  เลยกลายเป็นว่าเมืองพัทยาสามารถพัฒนาได้เยอะมาก

พอเมืองมันโตในแง่ของการท่องเที่ยวและชุมชน โอกาสพัฒนาในเรื่องนิเวศ เรื่องธรรมชาติน้อยลงจนแทบไม่มีใครสนใจ อย่างชายหาดพัทยาจะมีลักษณะเป็นเหมือน water front ที่เป็นทางเดินมานานแล้ว หรือการระบายน้ำจากในเมืองพัทยาก็ต้องพึ่งระบบระบายน้ำ ไม่ได้เป็นการระบายน้ำธรรมชาติ ทีนี้พอมันระบายโดยใช้แต่ท่อระบายน้ำเลยเกิดปัญหาพัทยาน้ำท่วม คนทั่วไปคงงงว่าทำไมน้ำท่วมเมืองชายทะเล พัทยาน้ำท่วมไม่ได้เป็นเพราะว่าระดับน้ำทะเลขึ้นมานะ แต่เป็นเพราะว่าเมืองไปอุดการระบายน้ำตามธรรมชาติแล้วระบบน้ำเอาไม่อยู่จึงเกิดปัญหาพวกนี้ขึ้นมา 

thairath.co.th

 

City Cracker: ปัญหาการกัดเซาะในปัจจุบันของหาดพัทยาเกิดจากอะไร ปัญหาดังกลา่วนำไปสู่ปัญหาอะไรบ้าง

ผศ.ปราณิศา: ปัญหาในปัจจุบันเรื่องการกัดเซาะชายฝั่ง เกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัย ปัจจัยแรกคือระดับน้ำทะเลขึ้นสูง อันนี้เราทำอะไรแทบไม่ได้เลยเพราะมันกำลังสูงขึ้นเรื่อยๆ จากภาวะโลกร้อน แต่อีกปัญหาที่มนุษย์ทำตัวเองคือการทำกำแพง ทางเดินบันไดริมทะเล โครงสร้างใกล้ทะเล ทั้งสเกลเล็กๆ อย่างการสร้างกำแพงเป็นรั้วใกล้ทะเล หรือในสเกลใหญ่อย่างท่าเรือ ซึ่งตัวโครงสร้างพวกนี้นำไปสู่ปัญหาต่อมา เพราะโดยธรรมชาติทรายมันงุ้มเข้างุ้มออกตามฤดูกาล ฤดูหนึ่งน้ำทะเลมันซัดเอาทรายมาทับถม หาดทรายจะค่อนข้างกว้างในฤดูนั้น พออีกฤดูน้ำซัดเข้าไปอีกทิศทางหนึ่ง หาดทรายจะดูแคบลง แต่พอถึงฤดูที่น้ำพัดทรายเข้ามาเติมก็จะกลับมาเหมือนเดิม 

ทีนี้พอเราไปสร้างกำแพงกันคลื่นเพราะไม่อยากให้หาดทรายตรงนี้มันหายไปในช่วงฤดูที่มรสุมดึงเอาทรายออก แต่ปรากฏว่าตัวกำแพงมันเป็นโครงสร้างแข็งที่ไม่ยืดหยุ่นกับแรงกระแทกของน้ำ ทรายไม่สามารถทับถมอยู่ได้ เพราะพอคลื่นซัดเข้ามากระแทกก็ม้วนทรายกลับออกไปตลอดเวลา ส่วนกำแพงเองอยู่ได้ไม่นานก็เริ่มมีความเสียหาย และหาดทรายที่อยู่ข้างๆ โซนที่กั้นกำแพงก็โดนคลื่นม้วนตลบเอาทรายจากด้านเหนือและด้านใต้ของกำแพงออกไป

ถ้าอธิบายคร่าวๆ ก็คือมนุษย์เราไปสร้างเมืองที่เกินเส้นของธรรมชาติ เกินเส้นความสมดุลธรรมชาติ คือคิดว่าเราอยากอยู่ทุกอย่าง เราเลยสร้างโน่นนี่ไปด้วยความชาญฉลาดและเทคโนโลยีทางวิศวกรรมของเรา แต่เราไม่รู้หรอกว่าพอเวลาผ่านไปหลายปี ธรรมชาติมันจะแสดงความไม่สมดุลนั้นออกมาให้เราเห็น นี่เลยเป็นปัญหาของพัทยาและเมืองชายหาดอื่นๆ ที่พัฒนาโดยไม่ได้เข้าใจถึงนิเวศชายหาด ซึ่งมันกำลังแย่ลงเรื่อยๆ เพียงแต่ใช้เวลานานกว่าจะเห็นถึงปัญหา

City Cracker: จากโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ของหาดพัทยาเป็นไมอามี่ไทยแลนด์ อะไรคือปัญหาหลักหรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อหาด

ผศ.ปราณิศา:  ปัญหาคือตัวโครงสร้าง ไม่ต้องเป็นกำแพงกันคลื่นก็ได้ โครงสร้างอะไรก็ได้ที่เป็นโครงสร้างแข็ง แล้วยิ่งอยู๋ใกล้แนวน้ำทะเลมากเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้เกิดโอกาสของความไม่สมดุลของหาดทรายที่จะพัดเข้าพัดออกมากขึ้นเรื่อยๆ 

เช่นการที่เราทำถนนหรือทางเดินแบบนั้นมันจะต้องมีโครงสร้างใต้ทางเดินอยู่ดี ถ้าเปิดดูรูปโครงการที่ว่าเขาต้องการขยายที่จอดรถไปในทางเท้าเดิมทางฝั่งทะเล แล้วจะสร้างทางเท้าใหม่ให้ใกล้ทะเลเข้าไปอีก ซึ่งจะต้องขุดดินลึกสัก 50 เมตร เป็นอย่างน้อย ต้องทำชั้นเบสรองรับน้ำหนักคอนกรีตทางเดินพวกนั้นลงไปใต้ดินเพื่อไม่ให้ทรุด พอเวลาน้ำทะเลซัดเข้ามามันไม่ได้ซัดมาแต่ผิวบนทราย แต่มันซึมเข้าไปในทราย พอเจอของแข็งของโครงสร้างที่เราสร้างไว้ แรงกระแทกของน้ำที่กระแทกเข้าไปในโครงสร้างแข็ง มันจะแรงขึ้นแล้วดึงทรายที่เหลืออยู่ด้านหน้าออกไปอีก 

 

City Cracker: ดังนั้นแล้ว การปรับภูมิทัศน์ตรงนี้ควรแก้ไขอย่างไรเพื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่และบริบทหาด

ผศ. ปราณิศา: อย่างแรกคือไม่ควรขยายลงไปอีก ยิ่งชายหาดถูกรบกวนเท่าไหร่ ยิ่งเอากลับคืนมาได้น้อยเท่านั้น ถ้าเอากลับคืนมาไม่ได้ โปรดอย่าทำให้ลึกลงไปใต้ทะเลมากกว่านั้นอีก เพราะฉะนั้นการที่ขยายที่จอดรถ เอาทางเท้าเดิมมาทำเป็นผิวที่จอดรถแล้วทำทางเท้าใหม่ชิดทะเล จึงเป็นแผนการที่ไม่ควรทำ ถ้าที่จอดรถไม่พอควรจะไปหาที่จอดในฝั่งแผ่นดิน อาจจะไปเช่าที่เอกชน หรือไปหาที่ของหน่วยงานรัฐเพื่อทำจุดจอดรถรวม ใช้วิธี shuttle bus รับส่งคน ควรมีพื้นที่ที่เรียกว่าอนุรักษ์และเว้นไว้โดยไม่เข้าไปสร้างโครงสร้างถาวรใดๆ ทั้งสิ้น ให้เป็นชายหาดกับต้นมะพร้าวอย่างนี้แหละ ส่วนโซนที่พอจะใส่โครงสร้างอะไรเบาๆ อะไรได้นิดหน่อยที่ไม่ใช่กำแพงหรืออาคาร ต้องขยับออกมาจากชายหาดอีกเท่าไหร่ก็ต้องวางแผนกันไว้ตั้งแต่ตรงนั้น

อีกวิธีหนึ่งก็เป็นวิธีที่ธรรมชาติที่สุดคือการเติมทราย คือเติมหาดทรายไปเรื่อยๆ ในเมื่อธรรมชาติที่เติมให้เรามันไม่สมดุล เพราะว่ามันมีโครงสร้างแข็งและซัดออกอย่างเดียว เราต้องเอาทรายมาเติม แต่อีกปัญหาหนึ่งคือเราจะนำทรายที่ไหนมาเติม ถ้าไม่เอามาจากในทะเลก็ต้องไปซื้อจากหาดอื่น ถึงวิธีจะดูไม่ยั่งยืนเพราะต้องเติมไปเรื่อยๆ แต่โดยธรรมชาติมันเติมทรายไปเรื่อยๆ ด้วยตัวธรรมชาติเองอยู่แล้ว และใช้เงินเพื่อเติมทรายให้กับหาดต่อครั้งก็ไม่เยอะเมื่อเทียบกับการสร้างกำแพงกันคลื่น รวมถึงผลลัพธ์ที่ได้ก็ดีกว่าสร้างโครงสร้างแข็งมารับแรงกระแทกจากน้ำ 

 

City Cracker: แล้วในแง่ประเด็นต้นหูกวางที่เป็นต้นไม้ดั้งเดิมแต่ถูกตัดทิ้งไป อาจารย์มีความคิดเห็นว่าอย่างไร 

ผศ.ปราณิศา: จากที่เขาชี้แจ้งว่าคือในแบบมีต้นไม้เดิมหลายชนิดที่ต้องตัด ซึ่งต้นหูกหวางเป็นหนึ่งในนั้น ส่วนเหตุผลที่ต้องตัดออกเพราะว่าต้องขยายทางเท้า แต่หากเราไม่ต้องตัดทางเท้าใหม่ก็ไม่ต้องตัดต้นไม้พวกนั้นทิ้ง แล้วในกรณีที่ต้องตัดจริงๆ คำถามแรกคือทำไมต้องเลือกต้นอินทผาลัมมาปลูกแทน ต้นไม้นี้มันเหมาะสมในทางนิเวศหรือเปล่า เพราะโดยต้นธรรมชาติอินทผาลัมอยู่บนทะเลทราย ไม่ใช่ชายทะเลที่มีน้ำทะเลเค็มๆ ฉะนั้นจะบอกว่าอินทพาลัมเป็นต้นไม้ที่เหมาะกับดินทรายแล้วจะมาปลูกริมทะเล มันก็ไม่ใช่ในเชิง ecology อยู่แล้ว 

คำถามต่อมาคือเรื่องของฟังก์ชั่น เราต้องมาหาว่าฟังก์ชั่นของอินทผาลัมคืออะไร เพราะตัวต้นไม้ก็กันแดดก็ไม่ได้ ในขณะที่ต้นหูกวางมันสามารถกันแดดได้ด้วยใบหนาและใหญ่ของมัน เพราะโดยปกติไม้ริมทะเลมันต้องทน ใบต้องหนาๆ ใหญ่ๆ จะได้แข็งแรง ดังนั้นจะบอกว่าต้นหูกวางเปราะก็ไม่น่าจริงเพราะถ้ามันอยู่ริมทะเลได้ มันก็น่าจะแข็งแรงทั้งใบ กิ่ง และราก

การออกแบบพื้นที่สาธารณะที่อยู่บริเวณระบบนิเวศที่ sensitive ที่สุดคือที่ระหว่างดินกับน้ำมาชนกันในสเกลที่ใหญ่ขนาดนี้ มันควรตัดสินด้วยเรื่องของความสวยงามหรือความแปลกใหม่เหรอ แล้วไม่นับด้วยว่าสวยงามของใครหรือแปลกใหม่สำหรับใคร แปลกใหม่และคล้ายหาดไมอามี่สำหรับคนไทยเพราะเราไม่มีต้นอินทผาลัม แต่ฝรั่งที่มาจากไมอามี่มาเจอไมอามี่ปลอมที่พัทยา เขาจะมาทำไมครึ่งค่อนโลก

 

City Cracker: หากเราทำพัทยาให้เป็นไมอามี่จะทำให้อัตลักษณ์ของพัทยาจริงๆ จะหายไป แล้วในแง่ของอัตลักษณ์นี้มีความสำคัญขนาดไหน 

ผศ.ปราณิศา: ถามว่าสำคัญขนาดไหน จริงๆ แล้วมันสำคัญมากเลย เพราะสุดท้ายเราก็ต้องรู้ว่าสิ่งที่มีค่าที่สุดคือสิ่งที่เป็นเรา คุณค่าที่แท้จริงของทุกสถานที่มันคืออัตลักษณ์ที่เป็นเนื้อแท้ของสิ่งนั้น เนื้อแท้ไม่ได้แปลว่าต้องย้อนยุคกลับไปเริ่มต้นที่เบอร์ศูนย์ เพราะมันไม่มีจุดนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างมันพัฒนามาเรื่อยๆ แต่มันควรจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ หมายถึงว่าไม่เสแสร้ง ทั้งธรรมชาติอย่างลมฟ้าอากาศพัดมา หรือเกิดจากวิถีชีวิตของมนุษย์ที่อยู่อาศัย เกิดการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนกลายมาเป็นอัตลักษณ์ของที่นี่ อย่างที่ไมอามี่เอง ความเป็นไมอามี่ก็ไม่ได้มีแค่ต้นอินทผาลัม มันเป็นบรรยากาศ มันเป็นสีสันของตึก มันเป็นเสียงเพลง เสียงดนตรี เป็นกิจกรรม แล้วก็สปีดของชีวิตที่เกิดขึ้น ณ ตรงนั้น ทุกอย่างรวมออกมาเป็นไมอามี่ ไม่ใช่แค่ต้นไม้  

การที่บางครั้งเราหลงลืมของดีๆ บ้านเราแล้วไปตื่นเต้นกับอัตลักษณ์ของที่อื่นมันทำให้เราสูญเสียอัตลักษณ์ของเราไป เหตุผลที่เรารู้สึกประทับใจที่อื่นมากกว่าเพราะของบ้านเราที่คุ้นชินมันน่าเบื่อ ไม่มีอะไรแปลก พอไม่เห็นคุณค่าจึงไปเอาของอย่างอื่น ประเทศอื่น มาสวมลงในพื้นที่ของเรา ซึ่งในระยะยาวเรามักจะมารู้ตัวตอนที่คนอื่นเขามาบอกว่า ทำไมที่นี่ถึงเป็นเหมือนที่นั่น แล้วของดีๆ ที่ประเทศเราเคยชอบมันหายไปไหน แต่ก็แก้อะไรไม่ได้แล้ว

siamrath.co.th

 

City Cracker: จะบาลานซ์ระหว่างอัตลักษณ์ของพื้นที่ และความเป็นเมืองท่องเที่ยวยังไง หรือในรูปแบบไหนให้ไปด้วยกันได้ เพื่อจะให้ไม่เป็นแลนด์มาร์กที่เหมือนกันไปทุกที่ 

ผศ.ปราณิศา: ต้องถอยกลับมาถามตัวเองว่าตกลงแลนด์มาร์ก (landmark) ของเราคืออะไร แลนด์มาร์กหมายถึงสิ่งที่จดจำได้ หนึ่งในประเภทของสิ่งที่จดจำได้คืออะไรที่มันว้าว เห็นปุ๊บว้าวปั๊บ โดยเฉพาะอะไรที่มัoแปลก เช่นพวกของยักษ์ หลักกิโลยักษ์ ที่ชอบสร้างกันเป็นแลนด์มาร์กของเมือง กลายเป็นว่าเราไปมองอันนั้นเป็นคำตอบเดียวของแลนด์มาร์ก ทั้งที่จริงๆ แล้วแลนด์มาร์กคือสิ่งที่ทำให้เราจำสถานที่นั้นได้ คือเป็นเหมือนสัญลักษณ์ 

ถามว่าที่ริมทะเลมีหาดทรายสีแบบนี้พร้อมกับแนวทิวหูกวาง มีข้างหลังเป็นตึกโรงแรมสูง มองเลยไกลไปอีกนิดนึงก็เป็นภูเขาจุดชมวิวพัทยาใต้ที่มีโรงแรงสูงอยู่บนนั้น sea landcape แบบนี้ก็ถือว่าเป็นแลนด์มาร์กนะ เพราะมันคือภาพที่ถ่ายปุ๊บรู้ปั๊บว่านี่คือพัทยา 

ถามว่าแหล่งท่องเที่ยวควรจะมีแลนด์มาร์กไหม แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่คนจดจำได้ก็ต้องมีแลนด์มาร์กที่สื่อสารง่าย เห็นได้ชัดเจนว่าที่นี่มีอะไรที่แตกต่างจากที่อื่น แต่ว่าแหล่งท่องเที่ยวไม่มีแลนด์มาร์กก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามมันก็จะมีอัตลักษณ์ของที่ๆ นั้นอยู่ดี โดยที่มีทั้งสิ่งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ อาจจะเป็นกิจกรรม ผู้คน ชุมชน หรือการใช้เวลาอยู่ที่นั่นเพื่อซึมซับบรรยากาศมากกว่าแลนด์มาร์กที่เห็นแล้วสะดุดตา 

 

City Cracker:  ในมุมมองของนักออกแบบ การที่ภาครัฐทำไมอามี่ไทยแลนด์ หรือสถานที่อื่นๆ ที่หน้าตาคล้ายไปกันหมด เป็นปัญหาขนาดไหน 

ผศ.ปราณิศา: เอาหลักๆ เลยอาจารย์รู้สึกว่ามันไร้ศักดิ์ศรีมาก ดูถูกตัวเองสุดๆ ที่ไปก็อปต่างประเทศมา นอกจากว่าหาดเราจะไม่มีเอกลักษณ์อะไรแล้ว มันจะกลายเป็นปัญหาใหญ่มากที่ไม่ได้กระทบเพียงแค่รุ่นเราแต่กระทบไปถึงรุ่นลูกหลาน เรากำลังทำให้ลูกหลานไม่มีความภูมิใจในของๆ เรา เขาโตมาก็เห็นว่านี่คือหาดทรายประเทศไทยที่หน้าตาเหมือนไมอามี่ แต่ปรากฏว่าไมอามี่จริงๆ ก็เป็นแบบนี้ 

อาจารย์ว่าจุดที่พัฒนานั้น พัทยากับเมืองชายทะเลอื่นๆ แตกต่างกัน ทั้งในพื้นที่และคาแรคเตอร์ คือเมืองพัทยาเกิดจากอิทธิพลของต่างชาติ ของเศรษฐกิจ ที่มันค่อยเป็นค่อยไป พูดง่ายๆ ว่ากายภาพค่อยๆ ถูกเปลี่ยนด้วยวิถีชีวิต  ไม่ใช่การอนุรักษ์ทั้งหมดถึงขั้นต้องย้อนกลับไปถึงสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของพัทยา แล้วทำให้ทุกอย่างก็กลับมาเป็นแบบนั้น แต่ขอให้มันถูกเปลี่ยนจากวิถีชีวิตของคนที่นั่น ทั้งนักท่องเที่ยว คนโรงงานอุตสาหกรรม หรือชาวประมงที่ผันตัวมาทำร้านอาหาร อะไรก็ตามผสมผสานกันกลายมาเป็นอัตลักษณ์เฉพาะพื้นที่ที่เราควรจะเก็บไว้ให้รุ่นลูกรุ่นหลานของเรามากกว่าไปเปลี่ยนให้คล้ายกับของประเทศอื่น เพราะชายหาดมันไม่ใช่ของคนรุ่นใดรุ่นหนึ่ง แต่มันคือมรดกที่ต้องเปลี่ยนผ่านไปรุ่นลูกรุ่นหลาย เราควรคงอัตลักษณ์ของเราไว้ให้รุ่นลูกรุ่นหลานมีความภูมิใจ และเข้าใจในพื้นที่บริบทและรากเหง้าของตัวเอง 

 

City Cracker: ตอนนี้อาจารย์เองก็ทำโครงการของหาดบางแสน ในการเข้าไปมีส่วนกับโครงการพัฒนาหาดนี้มีกระบวนการออกแบบอย่างไร 

ผศ.ปราณิศา:  อย่างแรกคือไปดูว่าอะไรคือปัญหาในปัจจุบัน ถ้ามันดีอยู่แล้วเราไม่ต้องไปดีไซน์อะไรเพิ่ม ถ้าทุกอย่างมันดีอยู่แล้วก็ปล่อยไว้อย่างนั้น ส่วนใหญ่ที่เราเข้าไปดีไซน์คือมันมีปัญหาบางอย่าง อาจจะมีปัญหาในเชิงกายภาพ ปัญหาในเชิงการรับรู้  ปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคม หรือว่าในเชิงการใช้งานอะไรบางอย่าง ทั้งเกิดจากธรรมชาติ สิ่งอำนวยความสะดวกไม่พอ ทรุดโทรม หรือในมิติที่ไม่ใช่เชิงกายภาพก็เช่นเศรษฐกิจ กลุ่มคนบางกลุ่มเริ่มไม่มีแหล่งงานมีหรือเปล่า การเข้ากันได้หรือไม่ได้ของนักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่นมีไหม หลังจากดูปัญหาแล้วเราก็จะไปวางแผนพัฒนาเพื่อแก้ปัญหานั้น เพื่อบรรเทาให้มันช้าลง 

อีกอย่างหนึ่งคือว่าเราอยากเห็นพัทยาเติบโตไปในทิศทางไหน ที่ไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ ต้องทำให้พัทยามีวิสัยทัศน์ที่ดี มีชายทะเลที่ดี เป็นเมืองท่องเที่ยวที่ดี และถ้าเป็นไปได้อยากทำให้พัทยาเป็นโมเดลเลย ตรงนี้ควรเริ่มตั้งแต่ตั้งโจทย์การออกแบบอัตลักษณ์ จนถึงคิดว่าวิสัยทัศน์ที่เราอยากเป็น จากการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้ ไม่ใช้แค่ผู้นำ นักออกแบบ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญคิดเอง แต่ลูกบ้านทุกคนก็มีสิทธิ์ และเขาสามารถมีส่วนร่วมเพื่อหาว่าปัญหาของบ้านเขาคืออะไร แล้ววิสัยทัศน์ของบ้านเขาควรจะเป็นอย่างไร ต้องให้เขามีส่วนร่วมตั้งแต่ตั้งโจทย์

สิ่งสำคัญคือเวลาเราไปทำงาน public space ไม่ควรเอาตัวเองเข้าไปเป็นคนสั่งว่าที่นี่ควรเป็นอย่างไร ควรจะต้องถามประชาชนซึ่งมีหลากหลายประเภท หลากหลายกลุ่ม แล้วก็หาเสียงที่คนส่วนใหญ่จะเห็นตรงกันในทิศทางที่ทุกคนโอเค ใช้หลักนักวิชาการมาบวกด้วยในทางฤษฎี รวมถึงค้นคว้าประวัติศาสตร์มา ถึงจะตัดสินได้ว่าอัตลักษณ์ของที่นี่ควรจะเก็บอะไร ควรจะเอาอะไรเข้ามาใหม่ หรืออะไรที่ควรจะอยู่ได้แล้วปรับเปลี่ยนบางอย่าง 

โดยกลยุทธ์เราก็คือต้องทำให้เขาเป็นทีมเดียวกับเราตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ใช่เราบอกว่าทำดีแล้ว ถึงแม้มันจะดีแต่บางคนก็จะรู้สึกว่าเขาไม่โอเค แต่ถ้าเขามาร่วมกับเราตั้งแต่ต้น แม้โซลูชั่นมันอาจจะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เขาจะรู้สึกว่านี่ก็งานฉัน พื้นที่ของฉันเหมือนกัน

siamrath.co.th

 

City Cracker:  อาจารย์ทิ้งทายเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ริมชายหาด ทั้งของพัทยาเองและเมืองชายหาดอื่นๆ ไหม

ผศ.ปราณิศา: อยากจะเอาใจช่วยและหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง อยากให้ลองปรับวิธีการทำงานกับ public space เพราะเดี๋ยวนี้ก็เริ่มทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนหรือ public particitaly ตั้งแต่เริ่มต้นมากขึ้นเพื่อฟังเสียงของประชาชนที่อยู่อาศัยตรงนั้นจริงๆ เพราะถ้าเขาไม่มีส่วนร่วมตั้งแต่แรก เผลอๆ เขาอาจจะไม่เห็นด้วย เพราะฉะนั้น อาจารย์ว่าผู้บริหารในทุกองค์กร ทุกระดับเลย ต้องปรับวิธีคิดในการที่จะทำกระบวนการพวกนี้ แล้วจะพบว่าเส้นทางมันสมูตกว่ามากในระยะยาวตลอดโครงการ ดีกว่าเอาง่ายเอาเร็วในช่วงแรกที่สุดท้ายก็โดนชะงัก โดนโลกออนไลน์โจมตีทำให้โครงการล่าช้า 

 

Share :