CITY CRACKER

Paradise Lost ตามหา ‘สวนอีเดนของกรุงเทพฯ’ กับ บีน สนิทัศน์ ภูมิสถาปนิกที่ใช้ศิลปะในงาน และการทำงานเป็น curator นิทรรศการที่ BACC

ในทุกๆ ปีจะมีข่าวเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปของโลก ทั้งอากาศที่ร้อนขึ้น ฤดูกาลที่ผิดเพี้ยน เช่นเดียวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในเมืองกรุงเทพฯ ที่กำลังเปลี่ยนไป ทั้งที่เรากำลังรู้สึกและไม่รู้สึก สิ่งที่ค่อยๆ เปลี่ยนไปนี้กำลังถูกจัดแสดงผ่านผลงาน ‘Paradise Lost’ ในนิทรรศการใหญ่ภายใต้หัวข้อ Urban in Progress เมืองเปลี่ยนแปลง  

นิทรรศการ Urban in Progress เมืองเปลี่ยนแปลงแบ่งออกเป็น 2 ส่วน หนึ่งส่วนที่น่าสนใจคืองาน Paradise Lost จัดแสดงที่ชั้น 8 ของหอศิลป์กรุงเทพฯ ดูแลและจัดการโดย สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ ภูมิสถาปนิกและไดเรกเตอร์จาก บริษัท สนิทัศน์ สตูดิโอ ที่เข้ามาช่วยคัดสรรเนื้อหา เรียบเรียง ออกแบบประสบการณ์ และเรื่องเล่าของธรรมชาติผ่านตัวนิทรรศการ ภายในงานประกอบไปด้วยการจัดแสดงงานศิลปะจากศิลปินหลากหลายแขนง ทั้งสถาปนิก นักพฤกษศาสตร์ ไปจนถึงนักวิชาการด้านพฤกษศาสตร์ เพื่อแสดงมุมมองที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงของกรุงเทพฯ ที่กำลังเกิดขึ้น พร้อมทั้งชวนย้อนกลับไปดูกรุงเทพฯ เมื่อครั้งยังมีพื้นที่สีเขียวมากกว่าปัจจุบัน  

นอกจากนี้ งานนิทรรศการครั้งนี้ ยังมีการจัดเสวนาในวันเสาร์ที่จะถึง 26 มีนาคม 2022 ในหัวข้อ ‘จะคืน Paradise Lost กลับมาได้อย่างไร’ โดยเสวนาครั้งนี้จัดขึ้นที่หอศิลป์กรุงเทพฯ เวลา 13.00 เป็นต้นไป เป็นกิจกรรมเสวนาที่ว่าด้วยความสําคัญของธรรมชาติในเมือง และปัจจัยที่ส่งผลต่อการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนในอนาคต ผ่านมุมมองของนักวิชาการ นักสร้างสรรค์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านต่างๆ  พร้อมทั้งสามารถชมไลฟ์สดได้ทาง Facebook และ Youtube ของ BACC 

City cracker ชวนชมนิทรรศการ Urban in Progress เมืองเปลี่ยนแปลง หัวข้อ Paradise Lost ที่ชั้น 8 ของหอศิลป์กรุงเทพ พร้อมคุยกับ สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ ไดเรคเตอร์และผู้จัดงานนิทรรศการ Paradise Lost ครั้งนี้ เพื่อตามหาความหมายของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านไทม์ไลน์ของพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน พร้อมทั้งชวนคิดถึงความเป็นไปได้และมุมมองใหม่ๆ ในอนาคตที่จะทำให้ธรรมชาติกลับคืนสู่เมืองกรุงอีกครั้ง  

 

 

City Cracker: นิทรรศการนี้เริ่มต้นขึ้นจากอะไร และประกอบไปด้วยอะไรบ้าง 

สนิทัศน์: นิทรรศการนี้ต้องการพูดถึงสิ่งแวดล้อม จริงๆ แล้วคำว่า ‘สิ่งแวดล้อม’ มันกว้างมาก ยิ่งเราเป็นภูมิสถาปนิกด้วย ก็เลยนึกถึงการเปลี่ยนแปลงของเมือง หอศิลป์ตอนเปิดครั้งแรกเมื่อประมาณ 10 กว่าปี ตอนนั้นมีนิทรรศการกรุงเทพฯ 226 เป็นนิทรรศการเล่าเรื่องศิลปะในรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่เริ่มสร้างเมืองจนถึงปัจจุบัน แต่ไม่ได้พูดเรื่องสิ่งแวดล้อม นิทรรศการเมืองเปลี่ยนแปลงเลยเป็นการกลับมาอีกครั้ง (revisit) ของเมืองกรุงใหม่ แต่เป็นในแง่สิ่งแวดล้อม พอพูดถึงการเปลี่ยนแปลงเราก็นึกถึงว่าอดีตมันมีอะไร เลยเริ่มสำรวจภูมิทัศน์ของกรุงเทพฯ ว่าตั้งแต่อดีตปัจจุบันสิ่งที่เคยมี หรือสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน อะไรบ้างที่มันหายไป

นิทรรศการแบ่งเป็น 3 ส่วน มี Step Back and Revisit is the Past, Urban Green Project และ Redefine Bangkok ส่วนแรกคือย้อนกลับไปอดีตแล้วมองดูการเปลี่ยนแปลงผ่านการพูดถึงกรุงเทพฯ ในแต่ละนิยามจากมุมมองของแต่ละศิลปิน  เพราะเปลี่ยนแปลงทีละนิดคนมักมองไม่ค่อยเห็น แต่การย้อนไปมองเห็นการเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์มันจะมองชัดขึ้นเลย อีกส่วนหนึ่งคือ Urban Green Project คือพูดถึงความสำคัญของธรรมชาติในเมืองและการอนุรักษ์ธรรมชาติที่มีอยู่เดิม และจุดมุ่งหมายหนึ่งเลย คือเราต้องการเชิญคนมาสะท้อนมุมมองจากหลายสาขา เพราะว่ามันเกี่ยวกับเมือง เพราะฉะนั้นเราต้องการมุมมองจากนักประวัติศาสตร์ นักพฤกษศาสตร์ สถาปนิก นักวางผังเมือง นักออกแบบกราฟิก ศิลปิน จนถึงศิลปินการแสดง เพื่อให้เห็นมุมมองที่เปลี่ยนไปของกรุงเทพฯ

 

Life Circle Installation

 

City Cracker: สำหรับคำว่า Paradise Lost ที่เป็นตีมของงานนิทรรศการครั้งนี้ มีการตีความคำนี้ยังไง 

สนิทัศน์: จริงๆ ไม่ได้เป็นในแง่ลบอย่างเดียว เราอยากพูดเพื่อกระตุกให้คนเห็นว่าเป็นภาวะฉุกเฉิน และควรที่จะตระหนักได้แล้ว มันจะว่าด้วยความสำคัญของธรรมชาติและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ด้วยมนุษย์เป็นศูนย์กลางมานาน เราใช้ทุกอย่างจากทรัพยากรธรรมชาติ แต่จริงๆ เราอยากให้คนมองเมืองมุมใหม่ว่ามนุษย์เป็นแค่ส่วนหนึ่งของธรรมชาติเท่านั้น เราไม่ได้อยากย้อนไปแบบป่าดงดิบ แต่อย่างน้อยเข้าใจว่าระบบนิเวศทำงานยังไง ธรรมชาติจริงๆ ทำงานยังไง ไม่ใช่แค่ปลูกต้นไม้สวย จะอยู่กับธรรมชาติได้ยั่งยืนขึ้นได้อย่างไร เลยพยายามเสนอมุมมองให้ตัวละครหลักคือธรรมชาติเข้ามา  แล้วก็เป็นการเขื่อมโยงงานเข้าด้วยกันภายใต้ชื่อเดียวคือสิ่งแวดล้อม paradise lost และพาคนไปเห็นกรุงเทพในอีกมุมที่เขาไม่เคยเห็น เพราะทุกคนมีประสบการณ์กับเมืองที่แตกต่างกัน เช่น การเดินทางทางรถไฟฟ้า เราเกิดยุคนี้ 2540 ก็จะเห็นเมืองในยุคนี้ แต่ไม่เห็นเมืองในยุค 2400 หรือ 2300 ดังนั้นการที่เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงบางทีเราเรียนรู้บางอย่าง อะไรทำให้เปลี่ยนไป และสามารถปรับเพื่ออนาคตได้ 

 

City Cracker: ตัวนิทรรศการต้องการพูดถึงสิ่งแวดล้อม นิทรรศการนี้ตีความคำว่าสิ่งแวดล้อมออกมาว่าคืออะไรบ้าง

สนิทัศน์: เรามองว่าสิ่งแวดล้อมทั้งหมด ทั้งสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง (built environment) และธรรมชาติ จริงๆ โครงการนี้จะเปิดตั้งแต่ 2 ปีที่แล้วช่วงก่อนโควิดนิดนึง แต่ปี 2020 มันโควิดแล้วก็ต้องเลื่อนมาเรื่อยๆ มันเลยผ่านช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลง เรายังคุยกันเลยว่ามันเปลี่ยนแปลงไปเยอะเนอะจากที่เราเริ่มมาตอนแรก เพราะงานเราคอยอัปเดตเรื่อยๆ พอเราศึกษาสำรวจภูมิทัศน์ของกรุงเทพฯ ที่เปลี่ยนไป มันเริ่มเห็นว่าเมืองที่มันวิวัฒน์ไปในแง่กายภาพ เมืองมันเจริญขึ้น แต่สิ่งที่ถูกทิ้งไว้กลับกลายเป็นธรรมชาติ อย่างพอในช่วงโควิดเราเริ่มเห็นชัดว่าผลกระทบจากการควมคุมธรรมชาติชัดขึ้น

เราเริ่มตั้งคำถามแล้วว่าเส้นทางการพัฒนาของเมืองมันถูกหรือเปล่า เราเลยต้องการพลิกมุมมองใหม่ ดึงให้ธรรมชาติที่ถูกทิ้งไว้เป็นฉากหลังมาเป็นสาระสำคัญของเมือง เพราะระบบนิเวศพื้นฐานมันสำคัญมาก แต่น้อยคนจะเข้าใจอย่างจริงจัง ว่าจริงๆ แล้วเราทุกคนได้รับผลพวงจากระบบนิเวศ เป็นแบบหนึ่งในนิเวศบริการ แต่ปัจจุบันเราเหมือนอยู่ในยุค Anthropocene คือยุคที่เราคิดว่าเราควบคุมธรรมชาติได้ แต่พอโควิดมาก็ทำให้เห็นเลยว่าเราควบคุมไม่ได้ ธรรมชาติยิ่งใหญ่กว่าเราเยอะ เลยทำให้เราอยากชวนทุกคนกลับมามองธรรมชาติใหม่

 

Mind Sanctuary Historic Images

 

City Cracker: ในส่วนของการมองย้อนกลับไปยังอดีตของกรุงเทพฯ ตรงนี้มีแง่มุมที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง 

สนิทัศน์: งานแต่ละชิ้นมันเป็นงานศิลป์ ดังนั้นมันอยู่ที่คนตีความ แต่ชวนกระตุกให้ตั้งคำถาม มีงาน sentiment of time ที่พูดถึงเรื่องเวลา อันนี้คือศิลปินต้องการพูดถึงเรื่องวัฏจักรการเกิดขึ้น การล่มสลาย การเหมือนวัฏจักรของมนุษย์ที่ต้องไขว่คว้า ร่วงโรย ศิลปินก็แสดงออกมาด้วยลักษณะของการพังทลายของอุโบสถ เหมือนการพังทลายมา ณ ตรงหน้า ณ ขณะนั้น แต่ก็มีแอบซ่อนกิมมิกเล็กๆ มีบันไดแทรก มีเหมือนความหวัง (hope) ที่เป็นบันไดสีทอง

หรืออีกชิ้นงานของอาจารย์พีรศรี โพวาทอง นักประวัติศาสตร์ด้านสถาปัตยกรรม ที่มีความเชี่ยวชาญด้านภาพถ่าย การเปลี่ยนแปลงของเมืองผ่านภาพถ่าย โดยอาจารย์นำเสนอเป็นเรื่องของเมืองเปราะบาง เป็นภาพถ่ายที่มาจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ แต่ไม่เคยโชว์ที่ไหน เพราะเป็นภาพที่มีรอยแตก รอยพับ จากการถ่ายโอเวอร์บ้าง สารเคมีบ้าง ซึ่งบางทีมันชวนให้คนคิดถึงอดีต เมื่อก่อนเวลาคนเห็นนิทรรศการภาพถ่ายโบราณจะเป็นเหมือนยูโทเปีย มีความสวยงาม แต่อันนี้เราอยากกระตุกว่าในการพัฒนานั้นมีอะไรที่เราหลงลืมไปบ้าง หรือชวนให้คนคิดว่ามีความเป็นไปได้อย่างอื่นบ้างไหม เหมือนชวนให้คนมองในมุมอื่นบ้าง แต่ไม่ได้บอกว่าดีหรือไม่ดี ซึ่งแต่ละงานก็ชวนให้คนคิดถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษ์ย์และธรรมชาติ 

 

คำว่าป่าเสื่อมโทรมมันไม่มีจริง มันเป็นแค่ในแง่การนิยามพื้นที่บางอย่างในการใช้สอยมากกว่า แต่ถ้าปล่อยไปธรรมชาติจะคืนกลับมาของมันเอง ดังนั้นแทนที่เราจะสร้างใหม่หมด เราเก็บส่วนเดิมคงระบบนิเวศไว้ เพราะมนุษย์เราไม่สามารถสร้างระบบนิเวศได้

 

City Cracker: ในแง่ของความสัมพันธ์ของมนุษย์และธรรมชาติ เรามีธรรรมชาติที่หลงเหลือมาจากอดีตบ้างหรือเปล่า 

สนิทัศน์: กรุงเทพฯ มีเอกลักษณ์และน่าสนใจมาก เช่น ป่าโบราณในกรุงเทพฯ มีงานอีกชิ้นหนึ่งของอาจารย์จุลพร นันทพานิช จะพูดถึงเรื่องพืชพรรณท้องถิ่นของทุ่งบางกอกที่หายไป ซึ่งจริงๆ เราเคยเป็นป่ามากก่อน ป่าโปร่ง ภูเขา แต่ว่าด้วยตอนนี้ภูมิทัศน์ของเมืองเปลี่ยนไปแล้ว พืชพรรณท้องถิ่นที่เคยมีอยู่ 60 ชนิด ที่ตอนนี้จัดวางอยู่ที่ชั้น 8 ในพื้นที่กรุงเทพฯ มันหายไป เราไม่ได้ใช้ไม้พื้นถิ่นแต่กลับใช้ alien plant แทน ทั้งที่การปลูกเอเลี่ยนมันก็ทำลายระบบนิเวศ ในขณะที่ไม้พรรณป่าเหล่านี้มีฟังก์ชั่นที่ดีในแง่ของการเป็นยารักษาโรคด้วย ลดอุณหภูมิด้วย กรองฝุ่นด้วย และมีฟอร์มสวย แต่คนไม่ค่อยได้ใช้ วิธีที่อาจารย์จุลพนต้องการจัดแสดงงานคือต้องการให้คนกรุงเทพฯ กลับมาเริ่มคุ้นเคย

เพราะฉะนั้นความรู้ในเรื่องระบบนิเวศหรือพันธุกรรมพืชก็สำคัญเหมือนกัน อย่างที่ รศ.ดร.กิติเชษฐ์ ศรีดิษฐ์ บอกว่าทุกที่มันมีเมล็ดพันธุ์ (seed bank) ที่เก็บไว้ได้เป็นพันปี ถ้าเราปล่อยที่ดินว่างๆ ไว้เฉย พวกนี้มันจะงอกขึ้นมา คำว่าป่าเสื่อมโทรมมันไม่มีจริง มันเป็นแค่ในแง่การนิยามพื้นที่บางอย่างในการใช้สอยมากกว่า แต่ถ้าปล่อยไปธรรมชาติจะคืนกลับมาของมันเอง ดังนั้นแทนที่เราจะสร้างใหม่หมด เราเก็บส่วนเดิมคงระบบนิเวศไว้ เพราะมนุษย์เราไม่สามารถสร้างระบบนิเวศได้ 

 

Extinct Plant of BKK

 

City Cracker: นิทรรศการนี้ต้องการพาเราปรับมุมมองที่มีต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในเมืองของเราด้วยเหมือนกันใช่มั้ย 

สนิทัศน์: ใช่ นอกจากการสร้างพื้นที่สีเขียวแห่งใหม่ซึ่งก็จำเป็น การรักษาพื้นที่เดิมก็เป็นเรื่องจำเป็นเช่นกัน  มีตัวอย่างงานชิ้นนี้ที่พูดถึงมุมมมองด้านหลังของเมือง ศิลปินเริ่มสนใจงานนี้ตั้งแต่ปี 2554 น้ำท่วมกรุงเทพฯ จากที่เป็นศิลปินทำงาน kinefic Art ก็เริ่มมาสื่อถึงธรรมชาติยิ่งใหญ่ ควบคุมไม่ได้ สนใจชีวิตที่ช้าลง สนใจการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติรอบด้าน มีเรือลำแรกทำจากถังพลาสติกลองไปพายช่วงน้ำท่วม จนกระทั่งเริ่มพายเรือมาตลอดๆ และทุกครั้งที่พายจะถ่ายภาพมุมมองด้านหลังของกรุงเทพฯ ซึ่งจริงๆ มันเคยเป็นทางคมนาคมของเรา แต่ต่อมาเราใช้ถนน เราก็ทิ้งคลองไว้ด้านหลัง เป็นแค่ฉากหลัง แต่ภาพที่ห่างจากรถติดไม่เท่าไหร่กลายเป็นมี perspective ที่ธรรมชาติ คุ้นเคย อบอุ่น แล้วก็เหมือนมีศักยภาพในการคมนาคมได้ ตัวงานพูดถึงการเหลืออยู่ (remaining) ของธรรมชาติที่เหลืออยู่ในกรุงเทพฯ เช่นกัน 

 

 

City Cracker: ในฐานะภูมิสถาปนิกที่เคยออกแบบ Installation Art มา การจัดงานครั้งนี้มีความยากง่ายหรือต่างกันอย่างไร 

สนิทัศน์: ค่อนข้างคล้ายกันคือใช้หลักการเดียวกันในแง่ sequence ของคน คือเราอยากให้เขารับรู้อะไร แต่ว่ามันจะเป็นอีกแบบเพราะเมื่อก่อนเรา create space เพื่อจำลองเปิดพื้นที่ให้คนได้มีโมเม้นกับตัวเอง มี inner peace แต่อันนี้เราไม่ได้ใช้อุปกรณ์อะคริลิก กระจก แต่เป็นการบอกเล่าคอนเทนต์ผ่านศิลปินแต่ละท่าน ดูและเข้าใจงานของศิลปินแต่ละท่านหรือนักวิชาการแต่ละท่าน แล้วเราจะสื่ออย่างไร แต่เวลาดีไซน์ก็จะนึกถึง sequence ว่าจะรับรู้ยังไงแล้วความรู้สึกต่องานสิ่งนี้มันจะส่งไปยังงานชิ้นนี้ เพราะฉะนั้นเวลาดีไซน์ในนิทรรศการเราพยายามไม่สร้างห้อง เพราะกลัวคนพลาดงานชิ้นใดชิ้นหนึ่ง เราอยากให้ทุกงานเกิดบทสทนาต่อกัน ตั้งแต่ชิ้นแรก ชั้นที่สอง ไปจนถึงชิ้นสุดท้าย 

 

City Cracker:  ดังนั้นแล้วสิ่งที่ต้องการสื่อสารออกไประหว่างการเดินชมนิทรรศการนี้ก็คือผู้คนจะรับรู้หรือรู้สึกถึงอะไร  

สนิทัศน์: ทั้งพื้นที่ของนิทรรศการ งานศิลปะที่จัดแสดง ทั้งหมดล้วนเชื่อมโยงกัน เราพยายามสร้างพื้นที่ที่ทำให้คนได้มีเวลาอยู่กับตัวเอง ได้หยุด ได้คิด ได้สังเกตการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ อย่างที่ทำที่วัดอรุณเป็นพื้นที่เพื่อให้คนได้สังเกต เห็นการเปลี่ยนแปลง ซึ่งโมเมนต์การเปลี่ยนแปลงมันพูดถึงปรัชญาพุทธศาสนาที่ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลง เพราะมันเกิดขึ้นตลอดเวลา แต่บางทีเราก็หลงลืมและไม่ได้สังเกต สำหรับงาน Paradise Lost นี้ที่มีงาน artwork ของศิลปินจากหลายสาขาเข้ามาจัดแสดงมันช่วยไฮไลต์ถึงการเปลี่ยนแปลง พอรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงสำคัญอย่างไร การเปลี่ยนแปลงพูดถึงความจริงทางธรรมชาติที่จริงๆ แล้วทุกอย่างมันมีความไม่จีรัง รวมถึงเรา รวมถึงทุกอย่าง เพราะฉะนั้นมันก็พูดถึงว่าเราเป็นแค่ส่วนหนึ่งของธรรมชาติ 

 

 

City Cracker: ตรงนี้มันเลยสะท้อนกลับมาที่เราในฐานะภูมิสถาปนิกด้วยหรือเปล่าว่ามุมมองของพื้นที่ธรรมชาติที่เราเคยคิดว่าออกแบบได้นั้นเปลี่ยนไปอย่างไร 

สนิทัศน์: ภูมิทัศน์นั้นยิ่งสำคัญเลย เพราะมันคือการเชื่อมคนกับธรรมชาติ เราเข้าใจอยู่แล้วว่าเราสร้างธรรมชาติไม่ได้ การออกแบบภูมิทัศน์ (Landscape Design) เหมือนเราตีกรอบการดึงธรรมชาติมาไว้ใกล้คน ให้คนได้มีความสัมพันธ์กับธรรมชาติมากขึ้น เมื่อก่อนคนอาจจะนึกว่าธรรมชาติมันไกลตัว แล้วก็ไม่รู้ว่าอะไรที่ทำให้มันห่างออกไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นตัดขาด เราต้องหาทางกลับเข้ามา แต่จะคืนกลับยังไงให้ยั่งยืนด้วย ไม่ใช่แค่มาวางต้นไม้ไว้ใน indoor แล้วจบ มันพูดถึง living landscape nature ที่จะส่งผลต่อให้กับคนยุคถัดไป จริงๆ กิจกรรมมันไม่ใช่แค่การพูดถึงยุคเรา การที่เรา step back and revisit มันเห็นการเปลี่ยนแปลง แต่จริงๆ เราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ เลยอยากปรับมุมมองว่าที่จริงเราก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แล้วเราจะส่งอะไรให้คนในยุคถัดไป

 

City Cracker: จากการทำงานตรงนี้ที่ได้ร่วมงานกับศิลปินหลากหลายแขนง ส่งผลหรือสะท้อนกลับมายังต่อเราในฐานะคนทำงานเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

สนิทัศน์: ส่งผลกลับมาค่อนข้างมาก เพราะเราได้เชิญคนหลากหลายสาขา ได้เรียนรู้จากอาจารย์หลายท่าน อาจารย์นักพฤกษศสาตร์  เขาได้เล่าเรื่องระบบนิเวศว่ามันเป็นความรู้ที่สำคัญ มันเป็นพื้นฐานที่ทุกคนควรรู้ ยิ่งคนที่เป็นนักผังเมือง คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงเมือง สถาปนิก ภูมิสถาปนิก นักวางนโยบาย ฯลฯ ควรเข้าใจ ไม่อย่างนั้นสิ่งที่เราคิดว่าช่วยธรรมชาติอาจทำลายธรรมชาติก็ได้ เพราะมนุษย์สร้างระบบนิเวศไม่ได้ ระบบนิเวศคือระบบป่ามันสร้างไม่ได้ แล้วธรรมชาติมีฟงัก์ชั่นของมัน ถ้าเราเข้าใจเราทำลายเขาน้อยลง เราก็อาจอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ยั่งยืนขึ้น 

 

Life Circle Installation

 

City Cracker:  ดังนั้นในฐานะผู้จัดงาน ตั้งแต่เริ่มจนถึงตอนนี้มีมุมมองกับคำว่า Paradise Lost ว่าเรายัง Lost อยู่มั้ย 

สนิทัศน์: เรามีความหวัง (hope) ว่ามันจะคืนกลับมา มันจะคืนกลับมาได้แน่นอน แต่ที่เราพูดว่า Paradise Lost คือเราอยากให้รู้ว่าแบบเฮ้ย มันภาวะฉุกเฉิน (emergency) จริงๆ นะ เราจะเอา (take) ว่าตัวเราเป็นศูนย์กลางของธรรมชาติไม่ได้แล้ว มีอีกสถานที่หนึ่งที่เราทำงานอยู่คือหาดที่พังงา เป็นหาดที่ไม่ค่อยมีคนอยู่ แต่กลับกลายเป็นว่าตอนเราเดินไปที่ชายหาดเราเจอขยะเยอะมาก มันพัดมาจากไหนไม่รู้ กลายเป็นว่าเมื่อก่อนเราเจอหอย เจอปู กลายเป็นเด็กยุคนี้มองไปมีแต่เศษรองเท้า ฟองน้ำ แต่ดูแล้วเหมือนปะการัง หรือว่าจริงๆ หอยมันผสมกับพลาสติกเยอะแยะ กลายเป็น human made in pint ที่ไปอยู่ในธรรมชาติแล้ว ยุคเรามันยังไม่เห็นแต่อีกร้อยปี มันอาจไม่เหลืออะไรให้เขาแล้ว มัน เป็นวิกฤติจริงๆ คำว่า paradise lost มันเลยเหมือนกับถึงเวลาที่เราต้องเปลี่ยนมุมมอง ว่าเราก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

 

 

City Cracker:  แปลว่าคนที่ไปดูงานนี้น่าจะได้ดึงตัวเองกลับ หรือมองธรรมชาติในมุมใหม่ๆ ที่ส่งผลกับกับตัวเองมากขึ้น

สนิทัศน์: ใช่ ทั้งกับเราและคนในยุคถัดไป งานนิทรรศการอันนี้ต้องการเปลี่ยนทัศนคติ (move attitude) คนมากกว่า หน้าที่ของงานศิลปะมันคือการสร้าง inner attitude ให้เห็น impact แต่เราไม่ได้โยนเข้าไป เราคิดว่าการให้ความรู้มันสำคัญ เพราะธรรมชาติไม่ใช่แค่การปลูกป่าแล้วจบ ไม่ใช่แค่ตื่นมาแล้วเห็นต้นไม้สวยๆ แล้วจบ ธรรมชาติมีฟังก์ชั่นมากกว่านั้น ความรู้ในเชิงลึกเราอยากให้คนมีความรู้ตรงนี้เพิ่มขึ้น 

มีงานศิลปินอีกคนหนึ่ง อาจารย์เจษฎา ตั้งตระกูลวงศ์ ก็จะเป็น site specific installation ตัวงานเขาจะพูดถึงเด็กๆ เพราะอนาคตของเมืองคือของเขาแล้ว เขาให้เด็กวาดภาพเหมือนธรรมชาติในบ้านเขาถ่ายวิดีโอสิ่งมีชีวิตในบ้าน ทำจัดแสดงเหมือนแกลเลอรีเล็กๆ gallery within a big gallery สีชมพู ซึ่งสีก็มาจากสีดอกไม้ใบไม้ เขาเอาภาพวาดเด็กมาแปลงเป็นบอลลูนอาร์ต เหมือนธรรมชาติที่เล่าผ่านเด็กและพูดถึงมุมมองของคนในยุคถัดไป 

 

เพราะฉะนั้นในคำว่า paradise ก็หมายถึงธรรมชาติ paradise lost ก็คือการหายไปของสิ่งที่สำคัญอย่างธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่กำลังหายไป แต่เราก็มีความหวังว่าจะคืนมา แค่ต้องอาศัยความเข้าใจของทุกคนด้วย 

 

 

City Cracker:  แปลว่าสิ่งที่คาดหวังตามมาหลังจากนี้คือความเข้าใจและทัศนคติที่เปลี่ยนไปของคนที่มางานผ่านการดูนิทรรศการนี้ใช่มั้ย 

สนิทัศน์: เขาบอกว่างานศิลปะต่างจากงานออกแบบ งานออกแบบคือนั่งได้เลย แต่งานศิลปะเป็นเหมือน impact ในเชิง movement หรือ attitude มากกว่า เพราะงั้นมันเป็นสิ่งที่น่าจะทำได้ดีกว่า อันนี้เราเลยพยายามรวมรวบมุมมองจากหลายสาขาให้มามีคำถามร่วมกัน อยากให้กรุงเทพฯ เป็นที่ที่คนไม่ต้องหนี ไม่รู้เมื่อไหร่กันที่เป็นจุดนี้ได้ ที่เราต้องตะเกียกตะกายไปเขาใหญ่ช่วงหยุดยาว เพราะฉะนั้นในคำว่า paradise ก็หมายถึงธรรมชาติ paradise lost ก็คือการหายไปของสิ่งที่สำคัญอย่างธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่กำลังหายไป แต่เราก็มีความหวังว่าจะคืนมา แค่ต้องอาศัยความเข้าใจของทุกคนด้วย 

 

ที่ผ่านมาเราสนใจแต่การพัฒนาพื้นที่เพื่อคน แต่กลับกลายเป็นว่าเราทิ้งธรรมชาติไว้ข้างหลังตลอดเวลา ยิ่งโควิดยิ่งเห็นถึงการเปลี่ยนแปลง และเราควรกลับมาปรับทิศทางของการพัฒนาเมืองกันใหม่ 

 

เราก็อยากให้ความรู้ (educate) กับทุกคนมาดู เราอยากให้คนเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ ไม่อยากให้เป็นองค์ความรู้ที่อยู่แค่อาจารย์หรือนักพฤกษศาสตร์เท่านั้น แต่นักวางผังเมือง ภูมิสถาปนิก สถาปนิก นักออกแบบ กระทั่งคนทั่วๆ ไปด้วย เพราะถ้าเรารู้และเข้าใจเราจะหวงแหนและไม่ทำลาย อย่างที่บอกบอก ‘สิ่งที่ดีที่สุดคือแค่เราไม่ทำลาย’ แต่บางทีเขาก็ไม่รู้เขาทำลายยังไง ก็เลยมีต้องมีความรู้พื้นฐานที่ให้เขาเข้าใจว่าจริงๆ ระบบนิเวศของธรรมชาติมันทำยังไง ถ้างานนี้จัดช่วงก่อนโควิด-19 คนอาจจะยังไม่อิน พอได้มาจัดในช่วงที่เมืองมันหยุด มันเลยเห็น impact ของสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ซึ่งยิ่งตอกย้ำเลยว่ามันสำคัญ เพราะจริงๆ ปัญหาของเมืองมันเยอะ แต่เราเลือกหยิบปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมของเมืองมาให้เห็นแบบชัดๆ เลย ที่ผ่านมาเราสนใจแต่การพัฒนาพื้นที่เพื่อคน แต่กลับกลายเป็นว่าเราทิ้งธรรมชาติไว้ข้างหลังตลอดเวลา ยิ่งโควิดยิ่งเห็นถึงการเปลี่ยนแปลง และเราควรกลับมาปรับทิศทางของการพัฒนาเมืองกันใหม่ 

 

Photo by Nawin Daengnul
Share :