ถ้าเรามองในระดับโลก การรวมตัวประท้วง โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ในบ้านเราไม่ได้ถือเป็นเรื่องน่าแปลกใจนัก สื่อหลายสำนักเรียกการลุกฮือในยุคปัจจุบันว่าเป็นกระแสหนึ่งของโลก (global movement) เป็นเรื่องธรรมดาของสังคมสมัยใหม่ที่จะมีรวมตัวเพื่อส่งเสียง หรือกระทั่งเรียกร้องในสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าไม่ถูกต้อง เรามีม็อบที่ฮ่องกง มี Arab Spring และมีกรณี Black Lives Matter เรื่อยมา และดูเหมือนว่าประเทศเพื่อนบ้านก็เริ่มมี #ถ้าการเมืองลาวดี เกิดขึ้นบ้างแล้ว
จุดเด่นรวมถึงเป็นปัจจัยและพื้นที่สำคัญที่ทำให้เกิดการรวมตัวและเรียกร้องขึ้นได้นั้น ความเคลื่อนไหวส่วนใหญ่เริ่มจากคนรุ่นใหม่และจุดกระแสขึ้นโดยมีอินเตอร์เน็ต และโลกโซเชียลหลายช่องทางที่ทำหน้าที่ทั้งกายข้อมูลข่าวสาร แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และพื้นที่ชุมนุมของผู้คนในเบื้องต้นก่อน แต่ในที่สุดแล้ว การเคลื่อนไหวรวมตัวของคนรุ่นใหม่ในโลกออนไลน์นั้นก็ย่อมเคลื่อนมาต่อสู้ในพื้นที่ทางกายภาพในท้ายที่สุด
ถ้าเรามองว่าการรวมตัวคือกิจกรรมสาธารณะหนึ่งที่จะเกิดขึ้นในปริมณฑลสาธารณะ (public sphere) ดังนั้นพื้นที่สาธารณะ (public space) จึงเป็นพื้นที่ทางกายภาพที่สำคัญของเมืองที่จะทำหน้าที่ทั้งรองรับ และเป็นพื้นที่ที่ขับเคลื่อนการเคลื่อนไหว- กิจกรรมของผู้คนต่อไป
แต่ถึงกระนั้น พื้นที่สาธารณะที่ในทางทฤษฎี เช่น ตลาด หรือลานกว้าง ที่มองกันว่าเป็นพื้นที่ของประชาชน เมื่อเกิดการรวมตัวหรือใช้งานของประชาชนขึ้นนั้น ใช่ว่าพื้นที่สาธารณะจะถูกใช้ หรือกระทั่งถูกสร้างขึ้นเพื่อสาธารณะอย่างแท้จริง สวน ลานกว้าง ทางเท้า กสะพานลอย ทางลอยฟ้า หรือสาธารณูปโภคต่างๆ ในที่สุดกอาจถูกสร้างและใช้เพียงเพื่อการเฉลิมฉลอง หรือกระทั่งใช้แสดงอำนาจความยิ่งใหญ่ของรัฐเท่านั้น ในทางกลับกันการมีอยู่ของพื้นที่สาธารณะในทำนองดังกล่าวยิ่งทำให้ประชาชนเริ่มตระหนักถึงที่สิ่งพึง และได้เริ่มตั้งคำถามกับความเป็นสาธารณะ ทั้งตัวพื้นที่ ไปจนถึงเมืองอันยิ่งใหญ่ที่รายล้อมเขาอยู่ว่าถูกสร้างและดำเนินไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมมากน้อยแค่ไหน
มีอยู่ไม่ได้แปลว่าเพื่อสาธารณะ พื้นที่สาธารณะที่ไม่ค่อยสาธารณะ
สำหรับบ้านเราเอง จริงๆ อาจต้องเริ่มจากมีหรือไม่มีพื้นที่สาธารณะก่อน แค่กรุงเทพก็ถือว่ามีพื้นที่สาธารณะแสนน้อยนิด แต่ด้านหนึ่งพื้นที่สาธารณอาจรวมถึงพื้นที่สาธารณะประโยชน์นั้น จะได้รับการดูแลเพื่อสาธารณะประโยชน์แค่ไหน
ทีนี้ นอกเหนือไปจากว่ามีหรือไม่มี การ ‘มี’ พื้นที่สาธารณะ หรือพื้นที่ขนาดใหญ่อาจยังมีปัญหาอยู่ โดยเฉพาะถ้าเราพิจารณาว่าพื้นที่สาธารณะของประชาชน เป็นพื้นที่ส่งเสริมประชาธิปไตย ถูกออกแบบและสร้างสำหรับการใช้งานโดยทั่วไป และใช้งานเพื่อการรวมตัวเฉพาะกิจของประชาชน ทั้งในมิติของการรวมตัวทั่วไป และมิติของความขัดแย้งหรือการเรียกร้องต่างๆ ด้วย
ในการสัมภาษณ์เกี่ยวกับสนามหลวงในขณะที่ยังมีการล้อมรั้วอยู่ (วันที่ 28 สิงหาคม 2563) ศ.ดร. ชาตรี ประกิตนนทการ ให้ความเห็นว่า “ความเป็นสาธารณะ หรือความเป็นประชาธิปไตยไม่ได้ยุติอยู่เพียงการมีลานกว้างขนาดใหญ่เท่านั้น ประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเช่นจีน หรือยุคนาซีเองก็ต่างสร้างและชื่นชมลานขนาดใหญ่ของตัวเองไว้เสมอ ดังนั้นเอง ลานเช่นเทียนอันเหมิน จึงไม่ใช่พื้นที่สำหรับส่งเสียง หรือออกแบบมาเพื่อประชาชน แต่กลับกันกลับเป็นพื้นที่เพื่อแสดงแสนยานุภาพหรือแสดงอำนาจความยิ่งใหญ่ของอำนาจรัฐ”
ข้อสังเกตข้างต้นจึงสัมพันธ์กับแนวคิดเรื่องอำนาจของมิแชล ฟูต์โกต์ ที่เสนอว่ารัฐยุคก่อนสมัยใหม่ใช้พื้นที่สาธารณะเป็นเหมือนลานเพื่อแสดงอำนาจให้ประชาชนหวาดกลัวและเข็ดหลาบ ผ่านการเฆี่ยนตีหรือแขวนคอที่มักเกิดตามสี่แยก หรือลานกลางเมืองและในการพูดคุยเดียวกันนั้นอาจารย์ชาตรีก็ได้ให้ข้อสังเกตบางประการไว้เกี่ยวกับสังคมไทยว่าเน้นบางแนวคิดโดยเฉพาะเจาะจง เช่นการเคารพสถานที่ ซึ่งด้านหนึ่งสะท้อนสัมพันธ์กับวิธีคิดแบบบนลงล่าง มากกว่าเน้นการสร้างพื้นที่และเคารพซึ่งกันและกันแบบล่างขึ้นบน ลานขนาดใหญ่และสถานที่สำคัญที่ควรจะเป็นที่สาธารณะเพื่อสาธารณะประโยชน์ จึงเป็นพื้นที่สำหรับการเดินตัวลีบๆ อย่าเกรงอกใจเกรงใจ
อ่านความเป็นประชาธิปไตยในพื้นที่สาธารณะด้วยความซับซ้อน
นักวิชาการทางรัฐศาสตร์จอห์น อาร์ พาร์กินสัน (John R. Parkinson) จากมหาวิทยาลัยวอร์ริก สหราชอาณาจักร ก็สนใจพื้นที่สาธารณะในพื้นที่เชิงสัญลักษณ์ที่สัมพันธ์กับอำนาจ การใช้อำนาจและความเป็นประชาธิปไตยอย่างซับซ้อน เขาเดินทางไปลงพื้นที่ศึกษาความสัมพันธ์ของพื้นที่สาธารณะกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจและความเป็นประชาธิปไตยใน 11 เมืองใหญ่ทั้งยุโรป อเมริกา และทวีปเอเชีย เขียนเป็นงานศึกษาชื่อ Democracy and Public Space: The Physical Sites of Democratic Performance
ประเด็นและวิธีการศึกษา แน่นอนว่าเน้นไปที่การลงพื้นที่ สัมภาษณ์ และศึกษาบริบทอย่างซับซ้อน โดยผู้ศึกษาได้แถลงกรอบการศึกษาไว้คร่าวๆ ว่าในการศึกษาความเป็นประชาธิปไตยของพื้นที่สาธารณะนั้น ตัวเขาได้ตัดเรื่องของความเป็นเจ้าของออกไปจากสมการเพราะการระบุว่าใครเป็นเจ้าของไม่ได้สัมพันธ์กับเกณฑ์ ‘ความเป็นสาธารณะ’ ที่ผู้วิจัยได้วางไว้ 4 ประการคือ 1) เข้าถึงได้อย่างกว้างขวาง 2) ใช้ทรัพยากรของสาธารณชนมากน้อยแค่ไหน 3) ส่งผลกระทบโดยถ้วนหน้าไหม 4) ใช้เพื่อประโยชน์หรือมีบทบาทกับสาธารณะอย่างไร
นอกจากกรอบที่เป็นเกณฑ์การประเมินแล้ว หลักๆ อาจารย์พาร์กินสันได้ชี้ให้เห็นความสำคัญของพื้นที่กายภาพที่สะท้อนความคิด และความสัมพันธ์เชิงอำนาจในเมืองหรือในประเทศนั้นๆ อย่างซับซ้อน และพื้นที่เหล่านี้ก็ส่งเสริมภาคปฏิบัติของสังคมนั้นต่อไป เมืองใหญ่เหล่านั้นมีพื้นที่ชุมนุมรวมตัวมากน้อยแค่ไหน- ซึ่งมักจะน้อยและยิ่งน้อยเมื่ออยู่ใกล้ศูนย์กลางอำนาจของประเทศ เช่นกลุ่มอาคารรัฐสภา และที่สำคัญคือรัฐมักจะวางให้พื้นที่เหล่นั้นกลายเป็นพื้นที่กึ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นพื้นที่มรดกที่ต้องควบคุมดูแล
ใน 11 เมืองใหญ่ เมืองชั้นนำที่มีพื้นที่สาธารณะ แต่ก็ไม่ค่อยสัมพันธ์กับการให้อำนาจผู้คนที่ผู้วิจัยชี้ให้เห็น เช่น ฮ่องกงมีสวนชื่อ Chater Garden แม้จะอยู่ถัดจากอาคารรัฐสภาแต่จุคนได้เพียง 5,000 คน ขณะที่ลาน The Mall ที่เป็นลานมหึมา (มีเสาโอเบลิกซ์) ของสหรัฐ อันเป็นพื้นที่สำคัญของเมืองและเป็นพื้นที่เชื่อมต่อของอาคารรัฐสภา – Capitol Hill แม้ว่าจะมีลานจริง แต่ด้วยระเบียบพิธีการทำให้สวนและลานกว้างแห่งนี้ เต็มไปด้วยพิธีรีตอง เป็นที่ๆ ค่อนข้างทำกิจกรรมต่างๆ ลำบาก ถ่ายรูป และถ่ายหนัง ดังที่ The Daily Show รายการดังของสหรัฐเคยถูกตำรวจไล่ออกมา ดังนั้น ข้อจำกัดและภาคปฏิบัติของพื้นที่จึงเป็นเครื่องชี้วัดการมีพื้นที่เพื่อส่งเสียงของประชาชน
ในระดับของความเป็นสาธารณะ ความรู้สึกของการเป็นพื้นที่ของประชาชนในงานศึกษาเดียวกันนั้นก็ชี้ให้เห็นว่าไม่ได้จำกัดอยู่แค่ลาน หรือพื้นที่สวนที่เปิดให้ใช้ ในประเทศที่มีความคิดที่เน้นความเป็นสาธารณะ หรือเน้นที่การมีประชาชนจำนวนมาก เช่นเบอร์ลิน และแคนาดา ที่แคนาดานั้นมีลานรัฐสภาอยู่บนเนิน และถ้าคุณจะประท้วงก็สามารถประท้วงที่เนินหน้าประตูสภาได้เลย หรือกระทั่งว่าจะเรียกร้องอะไรก็เดินเข้าไปคุยกับผู้แทนโดยตรงได้ ที่สำคัญคือด้วยมุมมองที่มองว่าพื้นที่ รวมถึงตึกรัฐสภาเป็นของสาธารณะ จะเข้าไปใช้ก็ไม่มีปัญหา อยากใช้เนินจัดงานแต่งก็โทรเข้าไปจอง และจัดได้ตามเงื่อนไข ทั้งหมดนั้นสะท้อนพลวัตรของอำนาจ และความสำคัญที่ปรากฏในพื้นที่ที่เป็นสาธารณะ ซึ่งแต่ละที่ก็มีนัย มีมิติและมีระดับความเป็นสาธารณะที่แตกต่างกัน
ในบางกรณี พื้นที่สาธารณะก็มีความยอกย้อนในตัวเอง เช่นกรณีลาน Habib Bourguiba Avenue ของตูนีเซียที่ตัวลานเองเป็นลัญลักษณ์ของอำนาจ ตัวลานตั้งอยู่ใกลางเมือง รายล้อมไปด้วยสถานที่ราชการ อาคารสำคัญที่ตั้งตระหง่ายราวกับปราการเหล็ก เป็นตัวแทนของรัฐบาลเผด็จการที่แข็งกร้าว ในหลายห้วงเวลาถนนอันงดงามด้วยเกาะกลางและต้นไม้มักจะถูกวางกั้นด้วยแนวรั้วและป้ายโฆษณาของรัฐ ในขณะที่ตัวถนนกลางเมืองนี้ก็ตั้งใจออกแบบตามถนนอเวนิวแบบปารีส ทำให้กลายเป็นว่าตัวถนนงดงามนี้เมื่อครั้งเกิด Arab Spring จึงกลายเป็นพื้นที่รวมตัวสำคัญและเป็นจุดเริ่มของกระแสลุกฮือของประชาชนต่อรัฐบาลเผด็จการในอีกหลายสิบปีนับตั้งแต่ที่ถนนสายนั้นถูกสร้างขึ้น
ท่ามกลางกระแสการรวมตัวประท้วง การเรียกร้องประชาธิปไตยและการส่งเสียงของประชาชน ทั้งนักคิด นักออกแบบก็เริ่มมองไปที่พื้นที่สาธารณะอันจะเป็นทั้งพื้นที่ที่ควรออกแบบและคิดเพื่อกิจกรรมและประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง ว่าพื้นที่อันเงียบเชียบเหล่านั้นอาจไม่ได้ถูกสร้างเพื่อความเป็นสาธารณะอย่างแท้จริง นอกจากการคิดแล้วนักออกแบบก็เริ่มมองว่า ทำอย่างไรจึงจะสร้างพื้นที่ที่สอดรับกับกิจกรรมของมวลชนได้ เช่นในปี 2017 สถาบัน Van Alen Institute ได้จัดการระดมเสนอความคิดจากสถาปนิก นักออกแบบและนักวางผังเมืองว่าจะทำให้ถนนหนทางและพื้นที่สาธารณะดีต่อการประท้วงได้อย่างไร ผลคือได้ความคิดที่หลากหลาย ตั้งแต่การเน้นการออกแบบสำหรับผู้ประท้วงที่มีความต้องการเฉพาะ เช่นรถเข็น ผู้สูงอายุ และผู้พิการ การเน้นเรื่องความรู้สึกปลอดภัย ไปจนถึงเสนอทำทางเดินลอยฟ้ารอบๆ เพื่อให้จุมวลชนได้มากขึ้นเป็นต้น
อ้างอิงข้อมูลจาก
Parkinson, John. 2012. “Democracy and Public Space: the Physical Sites of Democratic Performance”. Oxford University. https://www.amazon.com/Democracy-Public-Space-Democratic-Performance/dp/0199214565
Illustration by Montree Sommut
- Vanat Putnark
Writer