CITY CRACKER

‘Louis Sketcher’ เก็บความทรงจำผ่านภาพสเกตช์ และบันทึกเมืองผ่านเส้นและสี

ก่อนหน้าที่จะมีเทคโนโลยีอันล้ำสมัยเช่นกล้องหรือคอมพิวเตอร์ การเก็บภาพทรงจำ  เรื่องราว กระทั่งภาพเมืองที่สวยงามเพื่อให้เห็นวิวัฒนการ ล้วนสร้างผ่านแผ่นกระดาษที่ถูกละเลงด้วยดินสอและสี แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปและเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น เส้นสายของดินสอและสีจึงถูกเปลี่ยนเป็นการลั่นชัดเตอร์เพียงคลิ๊กเดียว ก็ได้ภาพสวยๆ อันแสนคมชัดมาไว้ในมือถือ 

แม้เทคโนโลยีจะเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการบันทึกความทรงจำของเราๆ ไปบ้าง กระนั้นการเก็บความหลัง-ภาพวันวาน หรือบันทึกเรื่องราวต่างๆ ด้วยภาพสเกตช์ก็ยังคงเป็นวิธีการที่คลาสสิคในยุคนี้ และหากพูดถึง Urban Sketcher ชื่อแรกๆ ที่คุ้นเคยมักเป็นชื่อ ‘หลุยส์’- ศุภชัย วงศ์นพดลเดชา เจ้าของเพจ  Louis Sketcher นักวาดที่ชื่นชอบการวาดเมืองและเก็บภาพทรงจำของเมืองผ่านการสเกตช์องค์ประกอบต่างๆ ที่เขาได้สังเกตเห็นได้อย่างลึกซึ้งและสวยงาม

“เวลาเรามองรูปที่เราเคยวาดมันจะมีประวัติศาสตร์ มีความทรงจำตอนที่นั่งวาดอยู่ มันเป็นการปฏิสัมพันธ์และได้เชื่อมโยงกับสถานที่ที่เราไป เราจำได้เกือบทุกรูปที่วาดเลยว่าตอนนั้นเป็นยังไง นั่งอยู่กับใคร วาดที่ไหน อากาศเป็นยังไง มันจะจำได้หมดเพราะว่าเราใช้เวลาอยู่กับรูปนั้นนาน เหมือนเราสลักความทรงจำนั้นผ่านลายเส้นลงไปในภาพและมันจะอยู่ข้างในภาพที่เราวาด  เปิดกลับมาอีกทีก็จำได้ตลอด”

จึงไม่แปลกหากภาพวาดที่เขาละเลงขึ้นจากความรู้สึกและความทรงจำจะเต็มไปด้วยกลิ่นอายความเป็นเมืองที่แท้จริง และให้ความรู้สึกอย่างมีชีวิตชีวากับคนดู เพราะเมื่อได้ฟังคำบอกเล่าของหลุยส์  สิ่งเหล่านั้นได้นำพาเราให้ร่วมรู้สึกไปพร้อมกับเขาเช่นกัน

 

เล่าจุดเริ่มต้นของคุณหน่อยได้ไหม เริ่มสเกตช์มาตั้งแต่เมื่อไหร่

เราเรียนในคณะสถาปัตย์ แล้วก็ชอบวาดรูปและชอบสเกตช์อยู่แล้ว ตอนเรียนเคยไปดูงานต่างจังหวัด ได้ดูได้วาดเยอะ และด้วยความที่เรียนภาคสถาปัตย์ไทยเลยได้เห็นภาพเก่า ตึกเก่า และวัดสวยๆ ซะเยอะ ครั้งหนึ่งสมัยเรียนเคยเข้าฟังบรรยายที่คณะ แล้วอาจารย์ที่เขามาบรรยายเขาก็เอาสมุดสเกตช์ของให้ดู เขามีเป็นตั้งๆ เพราะไปไหยใาไหนเขาก็วาดรูป มันเลยเป็นแรงบันดาลใจว่าอยากทำได้แบบเขาบ้าง เลยลองไปเสิร์ชหาแล้วก็เจอว่าเขามีกลุ่ม Bangkok Sketchers เป็นกลุ่มที่ใครก็เอารูปไปลงในนั้นได้ และเขาจะมีการนัดกันว่าเดือนละครั้งไปวาดรูปที่โน่นที่นี่กัน ถ้าที่ไหนใกล้เราเราก็จะไปกับเขา ครั้งแรกที่ไปตอนนั้นเป็นแถวกะดีจีน แถวฝั่งธนฯ เป็นครั้งแรกของเราที่ก็ไม่รู้อะไรเลย เพราะไม่เคยวาดนอกสถานที่มาก่อน ไม่รู้ว่ามันต่างกันยังไง เพราะปกติเวลาเราอยากวาดก็เสิร์ชจากกูเกิลแล้วก็วาด

 

หลังจากได้ไปวาดสถานที่จริงครั้งแรก ความรู้สึกต่างกันไหมกับภาพที่เสิร์ชจากกูเกิล ต้องเก็บรายละเอียดให้ภาพออกมาเหมือนสิ่งที่เห็นแค่ไหน 

คนละเรื่องเลย ถ้าไม่ได้ลองก็จะไม่รู้ เพราะการไปวาดในที่จริงกับการวาดจากรูปที่มันมีกรอบอยู่แล้วมันต่างกันมาก การวาดในสถานที่จริงมันมีรายละเอียดอีกเยอะแยะเต็มไปหมดเลย เราจะต้องเลือกเองว่าจะวาดหรือไม่วาดอะไรบ้าง ทั้งการจัดองค์ประกอบภาพแล้วก็ความร้อนของอากาศด้วย หรือถ้ามีเสียงรบกวนมันก็จะใช้สมาธิเยอะกว่า แต่การออกไปวาดตามสถานที่จริงมันสนุกกว่า เพราะการวาดจากรูปมันมีอย่างเห็นทุกอย่างไปหมด ตามันก็จะจับโน่นจับนี่มาวาดไปเรื่อย และใช้เวลานานเพราะว่าเรานั่งอยู่ในห้องแอร์ หรือที่ที่สภาพแวดล้อมโอเค แต่การวาดที่จริงมันจะมีอุปสรรคเยอะแยะมากมาย ซึ่งจริงๆ แล้วอุปสรรคนี่แหละที่เป็นความสนุก เหมือนประสาทสัมผัสทั้งห้าได้รับรู้ ทั้งบรรยากาศ ภาพ กลิ่น และเสียง มันทำให้ภาพนั้นพิเศษสำหรับเรา การไปวาดที่ตรงนั้นมันคือการเล่าเรื่อง เราได้เห็นอะไร ประทับใจอะไรในที่ตรงนั้นก็เขียนมันออกมา ตั้งแต่เอาปากกาลากเส้น หรือเอาสีมาแตะลงไป ทั้งหมดมันคือการสื่อสาร การเขียนเส้นหนึ่งเส้น กล่องหนึ่งอัน หรือนกหนึ่งตัว มันก็คือเรื่องราวตรงนั้น

สเกตช์ไม่ใช่วาดภาพเหมือน มันคือการสื่อสารแบบหนึ่งที่ลายเส้นคือก.ไก่ ข.ไข่อย่างหนึ่ง คือองค์ประกอบที่สรา้งขึ้นเพื่อสื่อสาร ฉะนั้นวาดยังไงก็ได้ให้เราได้สัมฤทธิ์ผลในความต้องการว่ารูปนี้เราจะบอกเล่าอะไร ถ้าวาดเสร็จแล้วมันสื่อสารตรงนั้นได้ สวยไม่สวยก็เป็นเรื่อง subjective ถ้าเราตั้งเป้าว่าเราวาดเพื่อสื่อสารอะไร และเรามีความสุขกับมัน ก็จบ แต่ถ้าวาดเพื่อต้องการให้มันเหมือนก็ต้องพยายามทำให้มันได้ภาพเหมือนออกมา

 

ทำไมเลือกที่จะวาดเมือง 

มันคือความสนใจ บางคนชอบอาหารก็จะวาดอาหารอย่างเดียว ชอบดอกไม้ก็วาดดอกไม้อย่างเดียว เราก็เป็นแขนงหนึ่งที่ชอบวาดเมืองเพราะชอบเดินในเมืองเก่า เหมือนเราเป็นเนิร์ดตึก ชอบเวลาเห็นตึกเก่าๆ ที่มันมีการประดับตกแต่งดีๆ หรือผ่านอายุมาหลายสิบปี การได้วาดมันเลยเป็นความบันเทิงอย่างหนึ่ง 

ส่วนใหญ่ที่เราไปวาดจะเป็นวัดโพธิ์ วาดมากี่ครั้งก็ยังเหมือเดิมไม่เปลี่ยน แล้วก็สกาล่าที่ไปวาดมาก่อนจะยุบไป หรือชุมชนป้อมมหากาฬก็เคยวาดก่อนจะทุบทิ้ง ซึ่งเป็นที่ที่เราวาดแล้วสื่อสารและอินมากที่สุด ตอนนี้กลับไปก็ไม่มีให้เห็นแล้ว ถ้าปีไหนได้ไปวาดที่ตรงนั้นซ้ำๆ ก็เหมือนเป็นการบันทึกเรื่องราวตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน การที่เราวาดภาพเมืองมาเยอะก็ช่วยให้เราได้เห็นข้อดีข้อเสียของเมือง มันจะมีบางรูปที่จำได้ว่าตอนวาดคือนั่งวาดไปแล้วก็ดมฉี่คนจร อันนั้นก็จะเป็นเรื่องโฮมเลส จะมีแบบนั้นบ่อย เช่นวาดตรงมีขี้หมา หรือว่าดมฉี่คนแถวนั้น ซึ่งถ้าให้วาดความรู้สึกและกลิ่นออกมามันเอาออกมาเป็นภาพยาก แต่มันยังอยู่ในความทรงจำของเรามันยังฝังแน่น

การได้วาดกรุงเทพฯ คุณมองเห็นอะไรบ้าง 

ความเละเทะ ความวุ่นวายมั้ง อย่างสายไฟในความจริงมันคือเละเทะรุงรัง แต่พอมันไปอยู่ในภาพสเกตช์มันทำให้ภาพมีรสชาติมากขึ้น  หลายๆ คนที่วาดใหม่ๆ จะไม่ค่อยกล้าใส่สายไฟเพราะกลัวภาพเละ ซึ่งถ้าใส่ด้วยปากกามันก็คงเละจริงๆ แต่มันทำให้ภาพดูมีกลิ่นมากกว่าการวาดตึกและบ้านเมืองสวยๆ คลีนๆ มันคือดีเทลหนึ่งที่เราใส่ลงไปในภาพซึ่งช่วยให้ภาพสมจริงขึ้นหน่อยหนึ่ง

ในภาพที่เราวาดอยู่ในตอนนั้นส่วนใหญ่จะบรรยายตามที่ตาเห็น จะมีอยู่บ้างที่ปรับนิดๆ หน่อยๆ เห็นสายไฟก็จะใส่สายไฟ เห็นป้ายเยอะๆ ก็จะใส่ป้ายเข้าไปเยอะๆ ตามที่ตาเห็น ซึ่งมันคือการบรรยายอย่างหนึ่ง เหมือนทำหน้าที่บันทึกเรื่องราวเพราะว่ามันจะถูกลงวันที่ว่ารูปนี้วาดที่นี่ ปีนี้ ฉะนั้นหลายๆ ที่เราวาดไปเมื่อมันเริ่มไม่เหมือนเดิม มีการเปลี่ยนแปลง มันก็ทำให้สามารถกลับมาดูได้ว่าตอนที่เคยมาวาดมันเป็นแบบนี้นะ 

ส่วนกรุงเทพฯ มันก็คือพื้นที่ที่ผสมผสานทุกอย่างเข้าด้วยกัน บางทีก็มั่วซั่ว อย่างใกล้ๆ  วังก็มีข้าวสารที่เป็นผับบาร์และอยู่ติดวัดอีกทีหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนมันมีความไม่ได้วางแผน หรือวางแล้วไม่ได้ทำตามแบบก็ไม่แน่ใจ ซึ่งถ้าเราหามุมสวยๆ ของเจอมันเป็นเรื่องที่ดีนะ เพราะว่าการที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองนี้มันก็ใชัพลังใจพลังกายเยอะนิดนึง โดยเฉพาะถ้าเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนมันก็ค่อนข้างยากในประเทศนี้ 

 

ยุคนี้การบันทึกเรื่องราวมันง่ายมาก กดแค่คลิ๊กเดียวก็มีรูปสถานที่นั้นอยู่ในมือถือ สำหรับคุณภาพที่บันทึกผ่านมือถือกับสเกตช์ลงบนกระดาษต่างกันยังไง

ถ้าเห็นชัดที่สุดคือกับคนวาดเองเพราะเวลาเรามองรูปที่เราเคยวาดมันจะมีประวัติศาสตร์ มีความทรงจำตอนที่นั่งวาดอยู่ มันเป็นการปฏิสัมพันธ์และได้เชื่อมโยงกับสถานที่ที่เราไป เราจำได้เกือบทุกรูปที่วาดเลยว่าตอนนั้นเป็นยังไง นั่งอยู่กับใคร วาดที่ไหน อากาศเป็นยังไง มันจะจำได้หมดเพราะว่าเราใช้เวลาอยู่กับรูปนั้นนานประมาณหนึ่ง ครึ่งชั่วโมง หนึ่งชั่วโมง สามชั่วโมง มันทำให้เราก็จำเรื่องราวระหว่างนั้นได้ทั้งหมด หรือเกือบทั้งหมดเลย เหมือนเราสลักความทรงจำนั้นผ่านลายเส้นลงไปในภาพและมันจะอยู่ข้างในภาพที่เราวาด  เปิดกลับมาอีกทีก็จำได้ตลอด ซึ่งสำหรับเรามันต่างจากการถ่ายรูปมาก แต่ของคนอื่นเขาอาจใช้เวลาถ่ายรูปนานก็ได้ เพื่อให้ได้รูปที่ดีที่สุดอันนั้นก็แล้วแต่

 

ชอบไปวาดโซนไหนของกรุงเทพฯ เป็นพิเศษ แล้วการสเกตช์ภาพตามสถานที่ต่างๆ ช่วยให้เรามองโลกได้กว้างขึ้นไหม

ยังไม่กว้างมาก แต่ว่าการชอบสเกตช์มันทำให้ช่างสังเกต เพราะเราจะมองหาตลอดว่าจะวาดอะไรดี ทำให้มองไปข้างบน มองด้านข้าง หันไปมองข้างหลังมากกว่าที่จะเดินไปข้างหน้าอย่างเดียว เราชอบๆปวาดบ่อยๆ แถวเกาะรัตนโกสินทร์ เขตเมืองเก่า วังบูรพา แถวป้อมพระสุเมรุ พระอาทิตย์ ข้าวสาร ท่าช้าง วังหลัง แล้วก็ท่าพระจันทร์ พวกนี้จะไปบ่อย ซึ่งคิดว่ามันก็ค่อนข้างแมสไปแล้ว แต่จริงๆ โซนที่เรายังรู้จักไม่มากและคิดว่ามีความน่าสนใจคือแถวเจริญกรุง ตลาดน้อย มันมีความเปลี่ยนแปลงเร็วมากไม่ได้ไปหนึ่งปีก็เปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมแล้ว ย่านนั้นจะมีความหลากหลาย มีความเป็นพหุวัฒนธรรม มีทั้งคริสต์ อิสลาม จีนอยู่ในนั้น ทำให้มันเป็นย่านที่มีความพลวัตเยอะพอสมควร 

ดูเหมือนเราจะชอบสเกตช์ย่านเก่าตึกเก่าใช่ไหม แต่หลังๆ จะไม่ค่อยได้เน้นตัวคอนเทนต์ว่าจะต้องเป็นตึกเก่าอย่างเดียวแล้ว จะไปเน้นการหาเรื่องราวมากกว่าว่ามุมนี้มันมีเรื่องราวอะไรบ้าง เมื่อก่อนที่จะเน้นวาดแค่ตึก เดี๋ยวนี้ก็จะมองหาเรื่องราวมากกว่าเดิม อย่างเช่น แมววิ่งอยู่ตรงนั้น อาหารตรงนี้น่ากิน พ่อค้าตรงนี้รถเข็นเขาสวยดีนะ มันก็จะไปเน้นอย่างอื่นนอกเหนือจากการวาดตึก เพราะพ่อค้า แมว หรืออะไรต่างๆ ก็คือหนึ่งองค์ประกอบที่อยู่ในเมือง และเรารู้สึกว่าช่วงปีหลังๆ ที่วาดมาเราใส่พวกนี้เข้าไปเยอะขึ้น อย่างหนึ่งคงเป็นเพราะอิ่มกับการวาดตึกก็เลยรู้สึกว่าภาพที่มีแค่ตึก ฟุตพาธ ท้องฟ้า ไม่มีรถสักคัน ไม่มีคนเดิน แบบนั้นภาพมันก็จะแห้งๆ ไม่ค่อยมีอารมณ์อยู่ในนั้น เราก็พยามใส่พวกนี้เข้าไปด้วย หรือว่าการวาดตลาดย่านหนึ่งเราก็วาดของกินที่เรากินวันนั้นอยู่ข้างๆ มันก็ทำให้ภาพดูอร่อยขึ้น มากกว่าการที่จะลากเส้นให้มันเป็นตึกอย่างเดียว

แต่ปัญหาของการวาดรูปแล้วจะใส่คนเข้าไปมันคือการที่คนกำลังเดิน เราวาดตรงนี้เขาไปโผล่ตรงนู้นแล้ว หรือวาดคนที่กำลังกินกาแฟอยู่ก็เป็นบ่อย วาดๆ อยู่แล้วเขาลุกออกจากร้านไปแล้วเราก็วาดไม่ทัน มันก็จะยากขึ้น แต่อย่างที่บอกว่าเสน่ห์ของการวาดสเกตช์ในสถานที่จริงมันก็คือตัวอุปสรรคมันเองนี่แหละ ก็จะได้เก็บไว้เป็นเรื่องที่บ่นกับตัวเอง เอาไปบ่นให้เพื่อนฟังได้ สนุกดี เพราะมันก็เป็นการฝึกอีกแบบหนึ่ง แบบจับฟิกเกอร์ให้เร็ว วาดออกมาให้ได้ภายในหนึ่งนาที

สไตล์การวาดยังเปลี่ยนไปเรื่อยๆ หรือเปล่า แล้วสไตล์ไหนบ่งบอกความเป็น Louis Sketcher มากที่สุด  

เคยเอางานที่เคยวาดมาเปรียบเทียบกัน มันต่างกันเยอะมาก เคยล้างแค้นเลย ช่วงแรกที่ไปวาดทุกๆ ครั้งที่วาดเราไม่ได้คิดว่ามันไม่สวยเราคิดว่ามันสวยตลอดเลย แล้วพอผ่านไปสัก 4-5 ปีกลับไปดูก็มีคำถามว่าทำไมตอนนั้นมั่นใจจัง (หัวเราะ) ก็เลยกลับไปซ้ำที่เดิมที่เคยไปครั้งแรก ซึ่งการไปซ้ำอีกรอบมุมมองมันก็เปลี่ยนเลย และการเลือกมุมสำคัญมาก ตอนที่วาดรูปแรกคือแบนๆ ต้นไม้ก็ลงสีไม่เป็น วาดยังไม่เป็นเลย แต่พอไปซ้ำอีกรอบน่าจะตอนปี 2017 ก็มีคน มีต้นไม้สวยๆ ตึกงามๆ เพิ่มเข้ามา อีกอย่างใช้เวลาน้อยกว่าวาดรอบแรกด้วย ก็เป็นชัยชนะที่ได้แก้แค้น

เริ่มนิ่งมาช่วงหนึ่ง ตอนประมาณปี 2015 – 2018 คือช่วงที่หมุนไปเร็วมาก สไตล์เปลี่ยนเร็วและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพราะว่าวาดบ่อย ช่วงนั้นวาดปีละประมาณ 200 กว่ารูป ก็เลยมีการพัฒนาตลอด แต่หลังๆ มันเริ่มนิ่งลงก็เลยพยายามไปลองอย่างอื่น เช่นเปลี่ยนอุปกรณ์เป็นไอแพดบ้าง เปลี่ยนไปใช้พู่กันจีนบ้าง ทุกครั้งที่เปลี่ยนมันก็ไม่ได้พัฒนาขึ้นมากแต่ก็สนุกขึ้น แต่ความรู้สึกและสัมผัสของการวาดในกระดาษกับวาดในไอแพดมันต่างจะต่างกัน อย่างเวลาลงสีจังหวะคือการแตะน้ำแตะสีลงกระดาษ แต่ในไอแพดคือไปแตะแถบเครื่องมือเพื่อเปลี่ยนฟังก์ชั่น 

ส่วนที่ถามว่าสไตล์ไหนบ่งบอกความเป็นเรา สำหรับเราใช้คำว่าลายเส้น สโตรกเส้นที่เป็นเอกลักษณ์แล้วก็สีที่คอนทราสต์จัดๆ แล้วเราก็ชอบโทนสีมืดๆ หน่อย ตอนแรกเป็นคนชอบโทนสีน้ำเงินตอนนี้คิดว่ามันเริ่มจะออกดำแล้ว เพราะว่าจุดเด่นของเรามันเป็นสโตรกเส้น เป็นการใช้ลายเส้นที่ใครเห็นก็จำได้ ซึ่งส่วนใหญ่การใช้จะใช้สีที่คอนทราสต์หนักๆ สีจัดๆ หน่อย ชอบทำพวกภาพกลางคืนมันจะเป็นโทนเข้มๆ หน่อย แต่คิดว่าสีที่บ่งบอกความเป็นตัวเองน่าจะออกดำ

 

คนส่วนใหญ่จะชอบบอกว่าเมืองอื่นสวยงามกว่ากรุงเทพฯ ที่เราอยู่อาศัย ถ้าให้คุณลองเปรียบเทียบกรุงเทพฯ กับเมืองอื่น มองว่ายังไงบ้าง 

ชัวร์อยู่แล้วว่าที่อื่นมันต้องดีกว่า แต่กรุงเทพฯ ก็มีของดีของมัน ของดีหลายๆ อย่างก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ เคยคิดอย่างหนึ่งว่าหน้าหนาวที่อากาศดีๆ แล้วเราเดินอยู่แถวๆ ราชดำเนิน เรารู้สึกว่าเมืองนี้จริงๆ ถ้าแค่อากาศดี และทางเท้าไม่แย่จนเกินไปมันจบแล้วนะ ถือเป็นเมืองที่ดีได้แล้ว เราสามารถเดินเล่นแล้วชมโน่นชมนี่ชมนั่นไปอย่างเพลิดเพลินใจได้ประมาณหนึ่ง หรือถ้านอกเหนือจากนั้นคือส่งมวลขน รถเมล์ที่อาจจะต้องดีกว่านี้สักหมื่นเท่า ขอแค่เท่าของไต้หวันก็ได้ เพื่อให้เราสามารถไปไหนมาไหนได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น รวมถึงถ้าการจ่ายเงินของขนส่งมันควรสามารถเชื่อมกันได้ทั้งหมด เราว่าคนจะเห็นคุณค่าและชื่นชมเมืองได้มากขึ้น เพื่อนเราหลายคนมากเลยที่ไม่รู้จักเขตเมืองเก่า เพราะไม่รู้ว่าจะไปยังไง ถ้าขับรถไปก็ไม่รู้ว่าจะไปจอดที่ไหน เพราะพวกนี้มันไม่ถามอยู่แล้วว่านั่งรถเมล์นั่งยังไง ถ้าจะมาอธิบายว่านั่งรถเมล์ตรงไหน ไปต่อตรงไหน เพื่อไปลงตรงไหนอีกมันวุ่นวายมาก นั่งแท็กซีก็ได้ พอการเดินทางมันหลายต่อมันก็ไม่ถึงซักที”

เราเคยจะไปแถวสนามหลวง ลงใต้ดินตรงลุมพินีไปขึ้นตรงสถานีสามยอด เสร็จแล้วต้องเดินต่อไปสนามหลวงไม่ก็วินต่อมอเตอร์ไซค์ แล้วตอนนั้นขี้เกียจก็เลยเรียกวิน โดนโกงอีก (หัวเราะ) ฉะนั้นก็ต้องกลับไปที่เรื่องระบบที่ดี ทางเท้าที่ดี การบริหารจัดการที่ดี ชีวิตทุกคนก็จะดีขึ้น แล้วก็อย่าตัดต้นไม้บ่อยนักเลย ต้นไม้มันช่วยมากเลยนะในการทำให้เมืองเย็น จำได้ตอนไปวาดรูปที่สิงคโปร์เมืองเขาเย็นกว่าเราเยอะเลย เดินก็สบาย เหมือนการอยู่ท่ามกลางธรรมชาติมันช่วยให้อารมณ์ศิลป์ และความคิดสร้างสรรค์มันพรั่งพรูออกมา แตา่มองไปรอบๆ กรุงเทพฯ เห็นสีเขียวที่ไหนล่ะ ต้นไม้มันไม่จำเป็นต้องอยู่แค่ในสวน มันออกมาข้างนอกได้ ควรกระจายไปเยอะๆ กว่านี้ ตอนนี้เรามีพื้นที่สีเขียวต่อคนกันเท่าไหร่ น้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ด้วยซ้ำมั้ง ฟังแค่นี้ก็เศร้าแล้ว

แต่กรุงเทพฯ ก็ไม่ได้ไม่ดีขนาดนั้น มีข้อดีอยู่ อาหารอร่อย มีจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว (tourist attraction) มีวัฒนธรรมที่ดูโอเค แต่แค่ทำการเข้าถึงให้มันเป็นสากลกว่านี้หน่อยได้ไหม เห็นใจคนบ้าง (หัวเราะ) เวลาเข้ามาแถวอารีย์-สุขุมวิท  เราเห็นศักยภาพของเอกชนมาก พื้นที่ที่เป็นของเอกชนเขาจัดการได้ดีมาก ทางเท้าดีมีความร่มรื่น แต่…ไหนจะข่าวที่รัฐไปทุบทางเท้าของเอกชนเราก็ไม่เคยเข้าใจว่าทำทำไม

 

 

นิทรรศการ ‘เส้น-สด Life-Line’ เป็นมาได้ยังไง

ทางหอศิลป์เขาชวนมาจัดเราก็เลยชวนพี่ๆ ที่ลายเส้นคล้ายๆ กัน สไตล์ใกล้เคียงกัน วาดที่จริงเหมือนกันมาวาด และเอามาเป็นคอนเซปต์ของงาน คือภาพที่วาดเป็นสถานที่จริง อีกอย่างเป็นเพราะเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีภาพสเกตช์จากสถานที่จริงแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะเป็นภาพที่วาดในสตูดิโอ 

ภาพวาดในสถานที่จริงมันจะได้อีกมุมมองหนึ่ง บวกกับเราก็เริ่มคิดถึงการเดินทางก็เลยเอาภาพที่เราเคยเดินทางไปที่โน่นที่นี่มาให้ดูกัน ทั้งภาพที่เราไปวาดในต่างประเทศและสถานที่ต่างๆ ตอนนี้ก็หวังว่าจะได้กลับไปวาดซักที (เค้นเสียงกัดฟัน) จริงๆ ก่อนโควิดเรามีทริปจะไปวาดที่ยุโรป แต่เจอแจ็กพอร์ตโควิดเท่านั้นแหละ ไปไหนไม่ได้ ตอนนี้อยากไปญี่ปุ่นมาก อยากไปวาดรูป 

 

ทุกคนชอบคิดถึงญี่ปุ่น และดูเหมือนญี่ปุ่นจะเป็นเมืองในฝันของหลายๆ คน 

ใช่ๆ เพราะมันง่ายมั้ง เราจะรู้ว่าเดินทางยังไงก็ไม่หลงเพราะอ่านแผนที่รถไฟได้ โยนหินไปตกตรงไหนร้านตรงนั้นก็อะอร่อย มันง่ายนิดเดียว อีกอย่างมันเป็นเมืองที่กระตุ้นให้เราเดิน และการเดินเองก็ช่วยให้เราเห็นอะไรหลายๆ อย่างด้วย เป็นหลายๆ อย่างที่การนั่งรถให้ไม่ได้ เดินแล้วก็มองซ้ายมองขวา เห็นอันนั้นอันนี้สวยดี เดินเข้าซอกโน้นซอกนี้ได้ แต่ติดอย่างเดียวคือหมาจะกัด แล้วทำไมปล่อยหมาออกมาเยอะแยะขนาดนี้ (หัวเราะ) นี่เจออีกแล้วเนี่ย เจอปัญหาอีกละ แล้วก็ทำไมขี้เต็มไปหมด เข้าใจแหละว่าพอมีหมาก็มีขี้ แต่ทำไมง่ะ ทำไมถึงจัดการหมาจรให้ดีกว่านี้ไม่ได้

 

สามารถชมนิทรรศการ ‘เส้น-สด Life-Line การรวมเส้นของคนที่วาดเล่น จนเป็นเรื่อง…’ ได้ที่ หอศิลปะวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหสนคร (BACC) ได้ตั้งแต่วันนี้ – 14 มีนาคม 2564

 

Photographer  Krit Pornpichitphai
Share :