CITY CRACKER

หัวลำโพงรุกขนิเวศน์ ต้นแบบพื้นที่สีเขียวขนาดเล็กที่เกิดขึ้นจริงผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน จาก WE!PARK

ถ้าพูดถึงพื้นที่รกร้างคงนึกถึง ความว่างเปล่า ความสกปรก ความเสื่อมโทรมขาดการดูแลและความไม่ปลอดภัย แต่รู้ไหมว่าเราสามารถเปลี่ยนพื้นที่รกร้างเป็นพื้นที่สีเขียวสวนสาธารณะ เพิ่มอากาศ เพิ่มสถานที่ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมร่วมกันได้ แม้ว่าจะมีพื้นที่เศษเหลือไม่มาก โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้ชุมชนหรือเป็นพื้นที่ในชุมชน ซึ่งเรามีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดอย่างเป็นรูปธรรมคือ สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์ โครงการจากกลุ่ม  we!park แพลตฟอร์มที่มุ่งเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง โดยเป็นตัวกลางเชื่อมกลุ่มคนแต่ละภาคส่วนชวนเปลี่ยนพื้นที่รกร้างว่างเปล่าเป็นพื้นที่สีเขียวสาธารณะของทุกคนผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม

ซึ่งความพิเศษของสวนแห่งนี้คือ เป็นพื้นที่รกร้างขนาดเล็กในชุมชน และคนในพื้นที่มีโอกาสออกแบบร่วมกับสถาปนิก แชร์ความคิดเห็นและรับฟังซึ่งกันและกัน และนำมาปรับให้เหมาะสมที่สุด นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากบุคคลที่สนใจร่วมระดมทุนให้เกิดพื้นที่สวนสาธารณะที่สมบูรณ์มากขึ้น สร้างประสบการณ์และเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ ที่อยากพัฒนาพื้นที่ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม

จากพื้นที่ร้างเล็กๆ กลายเป็นพื้นที่เล็กๆ แต่ไม่ร้างได้อย่างไร และมีกระบวนการอะไรบ้าง วันนี้ co-create our city ชวนไปพูดคุยกับผู้ร่วมกระบวนการสร้างสวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์ ที่เปลี่ยนพื้นที่ร้างขนาดจิ๋วกลายเป็นพื้นที่สีเขียวเล็กๆ ที่สร้างประโยชน์ให้ผู้คนมากมาย กับ ยศ-ยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิก ผู้ริเริ่มโครงการ we!park  ซี-กิรินทร์ ตั้งเลิศปัญญา สถาปนิก บริษัท Shma soen มด-ณัฐวดี สัตนันท์ กรรมการบริษัท สนใจ เฮ้าส์ และเอด้า-เอด้า จิรไพศาลกุล CEO เทใจดอทคอม

โครงการสวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์เป็นมาอย่างไร

ยศพล: เกิดจากเราตั้งกลุ่มหรือแพลตฟอร์มชื่อว่า we!park ก่อน เราเห็นถึงปัญหาของเมืองที่ขาดพื้นที่สีเขียว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในเมือง ทั้งเรื่องอากาศ เรื่องสถานที่ออกกำลังกาย ความสมดุลทางธรรมชาติต่างๆ  สิ่งหนึ่งที่เราค้นพบคือพื้นที่ร้างในเมืองมีอยู่เยอะ โดยเฉพาะพื้นที่ขนาดเล็ก ซึ่งข้อดีของมันคือแทรกซึมไปตามชุมชนหรือจุดต่างๆ  ซึ่งเมื่อก่อนเรามุ่งพัฒนาเฉพาะสวนขนาดใหญ่ แต่สวนขนาดใหญ่มันมีปัญหา หากจะเข้าถึงต้องใช้เวลาเดินทางนาน แม้กระทั่งการจะก่อสร้างอะไรมันค่อนข้างใช้งบประมาณสูง และปัจจุบันนานาชาติเขารณรงค์ การมีสวนใกล้บ้านในระยะเดินถึง 5-10 นาที ให้กระจายทุก 400 เมตรในเมือง เพราะเป็นหลักการันตีว่าเราทุกคนจะสามารถเข้าถึงได้ปราศจากค่าใช้จ่าย พร้อมทั้งกระตุ้นให้คนอยากออกมาใช้พื้นที่มากขึ้น

กิรินทร์: เริ่มจากมีคนบริจาคที่ให้กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นที่ดินที่มีราคา ทางกทม. อยากให้มีรูปแบบการพัฒนาที่ดี ด้วยความที่ we!park กับกทม. มีความสัมพันธ์อันดี และ we!park เข้าไปมีส่วนร่วมจัดกระบวนการพัฒนาให้เกิดขึ้นเป็นสวน โดยได้ทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และได้เข้ามาทำกระบวนการมีส่วนร่วม การออกแบบ

เอด้า: เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เทใจดอทคอมได้ร่วมมือกับ we!park  ซึ่ง we!park มีความตั้งใจว่า คุณภาพชีวิตของคนในกรุงเทพฯ ดีกว่านี้ได้ และสนใจเรื่องการเข้าถึงพื้นที่สีเขียว เพราะกทม.มีพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สีเขียวที่คนสามารถเข้าถึงได้ไม่เพียงพอ  we!park เลยตั้งใจอยากจะสร้างสวนสาธารณะเพิ่มขึ้นและให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เทใจสนใจเหมือนกัน เดิมทีเทใจสนใจเรื่องฝุ่น แต่การมีสวนก็เป็นหนึ่งในการช่วยเป็นปอดฟอกฝุ่นในกทม. มากขึ้น จึงได้มาร่วมมือกัน โดยเทใจดอทคอมได้มีส่วนช่วยเปิดระดมทุน เพราะการจะสร้างสวนเพิ่มในกทม.แค่งบประมาณทางภาครัฐอย่างเดียว อาจจะใช้เวลานานกว่า ถ้าจะมีการระดมทุนจากประชาชนทั่วไป อาจจะทำให้การสร้างสวนเกิดขึ้นได้เร็วขึ้น

ยศพล: พอเราเริ่มกระบวนการกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็มีกทม.เป็นพาร์ทเนอร์สำคัญ และมีสมาคมภูมิสถาปนิก มีการพูดคุยกันว่าถ้าจะเริ่มสร้าง มีพื้นที่ไหนที่มีศักยภาพสูงพร้อมที่จะทำเป็นต้นแบบได้  และด้วยการมีเป้าหมายทำพื้นที่ร้างให้เป็นสวน ไม่ได้มองกันในเชิงกายภาพอย่างเดียว แต่เรามองในมิติสร้างไปแล้วต้องยั่งยืน และสำคัญที่ว่าทุกคนต้องร่วมกัน ทั้งภาครัฐ  ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม 

โครงการมีกระบวนการสร้างอย่างไร

ยศพล: ด้วยความที่เราเป็นแพลตฟอร์มเราจะเห็นว่าที่เกิดสวนได้ยากเพราะว่าต่างคนต่างมีทรัพยากรที่ไม่เหมือนกันและไม่เท่ากัน ทั้งๆ ที่มันสามารถนำมาเชื่อมโยงแล้วทำให้เกิดพื้นที่สีเขียวสาธารณะได้ บางทีเอกชนอาจมีที่ดินร้างรอการพัฒนาแต่ไม่รู้จะติดต่อใครมาออกแบบ หรือรัฐอาจจะมีที่ดินแต่ขาดงบประมาณ นักออกแบบอยากออกแบบ ชุมชนอยากมีสวนแต่ไม่รู้จะติดต่อใคร เพราะฉะนั้น 5 พาร์ทเนอร์เลยเป็นคีย์สำคัญที่จะเริ่มและแชร์ทรัพยากรไปด้วยกัน และทำผ่านการมีส่วนร่วม 5 ขั้นตอน ทั้งการสำรวจและค้นหาพื้นที่ ชวนกันคิด ร่วมออกแบบ ชวนกันสร้าง ชวนกันระดมทุน และชวนกันบริหารจัดการ 

ณัฐวดี: รอบแรกเราได้ไซต์มา เราก็วิเคราะห์ไซต์เบื้องต้นในมุมของเราเองและของชุมชน โดยการไปเก็บข้อมูล ไปสำรวจเบื้องต้นให้เห็นว่าพื้นที่ไซต์เป็นยังไง ถ้าพื้นที่ตรงนี้จะเกิดสวน คนที่จะมีส่วนได้ส่วนเสียจริงๆ น่าจะเป็นใครบ้างที่อยู่ในพื้นที่ แล้วเราก็จำแนกคนที่มีผลกระทบโดยตรงและระดับถัดไป หลังจากนั้นสิ่งที่เราทำ เราจะเห็นแล้วว่าคาแรคเตอร์ของย่านหรือพื้นที่  ทั้งพื้นที่สวนเละพื้นที่โดยรอบว่าจะเป็นยังไง เราก็วางแพลนว่าจะมีการพูดคุยกับคนยังไง หัวลำโพงค่อนข้างเป็นชุมชนเมืองและคนที่จะทำกระบวนการมีส่วนร่วมจะมีหลายกลุ่ม กลุ่มแรก คือ ชุมชนของกทม. ชุมชนหลังวัดหัวลำโพง เราก็เข้าไปติดต่อกับหัวหน้าชุมชนก่อนและเข้าไปพูดคุยว่าในชุมชนอยากให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง อีกกลุ่ม คือ กลุ่มที่อยู่ติดสวนแต่ไม่ได้อยู่ในขอบเขตของชุมชนวัดฯ ซึ่งเป็น 2 ชุมชนในพื้นที่ 400 เมตร และกลุ่มที่เราเห็นคือ รอบๆ พื้นที่นั้นจะมี โรงแรม วัด สถานประกอบการต่างๆ สิ่งที่เราทำคือ คุย เพื่อให้ได้บทสัมภาษณ์บางอย่างก่อน เพื่อมาถอดและทำกระบวนการ อาจจะมีโรงแรมที่ยังเข้าไปสัมภาษณ์ไม่ได้ เมื่อเราได้พูดคุยกับกลุ่มคนเหล่านั้นแล้ว เราก็เริ่มการออกแบบร่วมกับฉมา โซเอ็น

ยศ-ยศพล ภูมิสถาปนิก ผู้ริเริ่มโครงการ we!park

 

ยศพล: เมื่อเราตั้งตัวชี้วัดแล้ว เราอยากมีสวนใกล้บ้านในเมือง เรามีองค์ประกอบครบ และเราก็มีเกณฑ์ในการประเมินพื้นที่ศักยภาพเป็นยังไง เช่น เข้าถึงง่าย ชุมชนมีความพร้อม อย่างพื้นที่สวนหน้าวัดหัวลำโพง พอดีจากพื้นที่กทม. เอกชนที่เขาบริจาคให้กทม.พัฒนาเป็นสวน  และพื้นที่เข้าเกณฑ์ เป็นพื้นที่ขนาดเล็ก 200 กว่าตารางวา อยู่ใจกลางเมือง และมีผู้ที่ได้รับประโยชน์ เพราะรอบๆ มีชุมชน วัด สถานศึกษา มีโรงเรียน มหาวิทยาลัย มีคนเมือง มีกลุ่มคนที่หลากหลาย พอเราลงพื้นที่เราพบว่าชุมชนอยู่ห่างจากสวนลุมพินี 1 กิโลเมตร ซึ่งชุมชนก็สามารถไปสวนลุมพินีได้ แต่ผู้สูงอายุก็อาจจะไปไม่ไหว และไปไม่ได้ทุกวัน เพราะฉะนั้นการมีสวนใกล้บ้านมันตอบโจทย์ ซึ่งเมื่อก่อนอาจจะใช้ลานกีฬาในโรงเรียน แต่พอโรงเรียนปิดเทอมก็ไม่ได้ใช้ ก็เห็นได้ชัดว่าพื้นที่เล็กๆ นี้ตอบโจทย์

พอเราประเมินแล้วก็เริ่มกระบวนการ  ถ้าเราทำสวนปกติอาจจะให้นักออกแบบมาออกแบบเลย ซึ่งเราก็เคยเห็นการทำสวนทั่วไปแล้วว่าหลังจากทำเสร็จก็ร้างเพราะคนไม่ไปใช้งาน เราอาจจะได้ในเชิงปริมาณว่าได้กี่ตารางเมตรต่อคน  แต่ในเชิงคุณภาพหรือประโยชน์ แทบจะไม่ได้เลย เราก็เริ่มจากการมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน ด้วยสมมติฐานและประสบการณ์ จุดสำคัญเลยพอคนมีส่วนร่วมคนจะรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ เขาก็จะรักและหวงแหนที่จะดูแลสวนด้วยกัน เพราะฉะนั้นเราก็เริ่มจากชวนนักศึกษานิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่อยู่ใกล้ๆ สวน มาทำ workshop ออกแบบร่วมกับชุมชน ร่วมกับนักออกแบบ ก็ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วม  นอกจากได้แบบที่หลากหลายความคิดระหว่างเด็กรุ่นใหม่กับชุมชนก็จุดประกายในมุมของชุมชนว่ามีไอเดียต่างๆ อีกส่วนก็ทำให้เด็กได้เห็นว่ากระบวนการมีส่วนร่วมทำอย่างไรและสำคัญอย่างไร 

ซี-กิรินทร์ ตั้งเลิศปัญญา สถาปนิก บริษัท Shma soen

 

กิรินทร์: ในช่วงแรกมีความไม่แน่นอนสูง แล้วเราจะทำยังไงให้เกิดภาพว่าพื้นที่นี้จะมีการขยับและจริงจัง

we!park จึงจัดการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม จัด work shop กับน้องๆ มหาวิทยาลัย เป็นการกระตุ้นจิตสำนึกเด็กได้ลงพื้นที่จริง พัฒนาออกแบบจริง และคนในชุมชนก็ได้ตื่นตัว รู้ว่าในพื้นที่แห่งนี้จะเริ่มขยับแล้ว คนในชุมชนก็ค่อนข้างให้ความร่วมมือ จริงๆ น้องๆ ก็ลงไซต์งานสำรวจ พูดคุยกับคนในชุมชน นำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจ เช่นเรื่อง flexible space น้องๆ มองว่าพื้นที่เล็ก และมีกลุ่มคนใช้งานที่หลากหลาย ทีนี้จะทำยังไงให้ตอบโจทย์มากที่สุด เขาก็เลือกที่จะทำให้พื้นที่เป็น flexible 

ส่วนอีกกลุ่มเขาก็ไปเห็นว่ามีสวนสมุนไพรในชุมชน เขาก็พัฒนาให้เป็นคอนเซปต์สวนสมุนไพร ส่วนอีกกลุ่มก็มีการพูดถึงเรื่องหน้าบ้านหลังบ้าน เพราะเขามองว่าไซต์เป็นพื้นที่ถูกรายล้อมด้วยตึก และพื้นที่ในชุมชนเองก็มีลักษณะเหมือนห้องแถวที่รู้สึกอึดอัดเขาเลยคิดเอาสภาพแวดล้อมพื้นที่แนวตั้งออกมาเล่นเป็นหน้าบ้านหลังบ้าน อีกอันก็เป็นห้องนั่งเล่นให้เป็นเหมือนพื้นที่หน้าบ้าน ให้คนในชุมชนไม่ต้องเข้าไปถึงพื้นที่หน้าบ้านตัวเอง ก็ปรับให้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ของคนในชุมชนได้ ซึ่งคนในชุมชนค่อนข้างชอบ พอไอเดียทั้งหมดถูกผลักดันให้มันเกิดขึ้นจริง กองสวนก็นำแผนที่เคยทำกับน้องๆ ทั้ง 4 รูปแบบไปรีวิวกับคนในพื้นที่ และพัฒนาเกิดเป็นผัง

จากการสอบถามและรับฟังความคิดเห็นนำมาสู่แนวคิดการออกแบบ ‘สวนข้างบ้าน’ ที่ต้องการให้สวนนี้เป็นสวนที่ใกล้ชิดกับชุมชน มีพื้นที่ให้ทุกคนในชุมชนมาใช้งานร่วมกันได้ โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ 1.เนินข้างบ้าน ศาลาต้นไม้ และศาลาข้างบ้าน เป็นพื้นที่สำหรับการพักผ่อนแบบสบายๆ และการผ่อนคลาย 2. ลานข้างบ้าน ลานสนุก ศาลาชิงช้า ลานนวดเท้า และศาลาสุขภาพ เป็นพื้นที่สำหรับกิจกรรมเคลื่อนไหว หรือการออกกำลังกาย 3. ลานทำการบ้าน เป็นพื้นที่สำหรับกิจกรรมทางการศึกษา เพื่อให้สวนกลายเป็นสวนข้างบ้านของชุมชน จึงมีรูปแบบทางกายภาพของชุมชนที่น่าสนใจอย่างลวดลายจากรั้วของอาคารชุดในบริเวณมาประยุกต์ใช้ออกแบบบานประตูของสวน เพื่อให้สวนนี้ดูกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับอาคารเดิมในสวน มีการใช้วัสดุที่น้ำสามารถไหลซึมผ่านได้ (permeable surface) เพื่อดูดซับน้ำไม่ให้เกิดน้ำขัง รวมถึงเป็นการกรองและการชะลอน้ำฝน หรือน้ำไหลนองก่อนลงสู่ชั้นดินหรือแหล่งน้ำ

ยศพล: พอได้แบบก็ได้พัฒนาต่อโดยบริษัท ฉมา โซเอ็น จำกัด เป็นโค้ชและที่ปรึกษาของชุมชน โรงเรียน และเจ้าของโรงแรมข้างๆ ว่าอยากได้อะไร มีการสำรวจ ถามความคิดเห็นวงกว้างของคนในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำหลายครั้ง หลายกลุ่ม เพราะถ้าจะทำให้ครอบคลุมจะจัดครั้งเดียวไม่ได้ สุดท้ายก็ได้แบบที่ตอบโจทย์กับทุกฝ่าย ปกติได้แบบต้องเอาไปสร้างเลย หรือต้องรอปีสองปีถึงจะสร้าง แต่เรารู้สึกว่าบางทีชุมชนอาจจะอยากเห็นก่อนหรือว่าอยากทดลองใช้งาน เพราะการเห็นในหน้ากระดาษอาจจะไม่เข้าใจทั้งหมด ก็เลยทำ mockup ให้ชุมชนลองใช้ อย่างน้อยได้เก็บความคิดเห็นด้วย เป็นการกระตุ้นด้วย และเก็บข้อมูลต่อว่าพฤติกรรมคนจะเปลี่ยนไหม สุดท้ายก็นำมาพัฒนาแบบก่อสร้างตั้งงบประมาณกทม.และกันงบประมาณในการระดมทุน  ซึ่งการระดมก็เป็นอีกเครื่องมือในการสร้างการมีส่วนร่วม อาจจะบริจาคเครื่องเล่น ทำสนามเด็กเล่น หรือที่นั่ง 

เอด้า-เอด้า จิรไพศาลกุล CEO เทใจดอทคอม

 

เอด้า: นอกจากเรื่องเงิน การที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในประเด็นสังคมที่เขาสนใจ เป็นเรื่องของการสร้างความเป็นเจ้าของประเด็นนั้นๆ ซึ่ง we!park ก็เห็นตรงกันในการระดมทุนบริจาคเพื่อสร้างสวนเหล่านั้น ความรู้สึกของการอยากเข้ามาใช้พื้นที่ เข้ามาดูแล และชวนคนอื่นเข้ามาใช้มากขึ้น  อาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้การดูแลสวนในระยะยาวเป็นไปได้ แน่นอนว่าการร่วมกันทำกิจกรรมบางอย่างย่อมมีอุปสรรคอยู่แล้ว โดยอุปสรรคที่เทใจพบคือ คนไทยจะรู้สึกว่า มีประเด็นที่เร่งด่วนกว่าที่เขาอาจจะอยากบริจาคเงิน ประกอบกับช่วงที่เปิดระดมทุนเป็นช่วงคาบเกี่ยวที่เกิดโรคระบาดโควิดด้วย คนจึงอาจจะรู้สึกว่ามันมีปัญหาอื่นที่อยากจะเร่งแก้ปัญหามากกว่า ซึ่งการมีสวน การมีคุณภาพชีวิตที่ดีอาจจะขึ้นอยู่กับโครงสร้างพื้นฐานบางอย่างที่ใช้การลงทุนในระยะยาว ประเด็นที่สองอาจจะเป็นเรื่อง ทำไมต้องระดมทุนกับประชาชนทั่วไป ทำไมไม่ใช้ทุนของภาครัฐอย่างเดียว 

และด้วยความที่สวนเป็น pocket park สวนขนาดเล็ก อยู่ในพื้นที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งถ้าไม่ได้เป็นคนในพื้นที่อาจจะไม่ได้ใช้พื้นที่สวนนี้โดยตรง เมื่อทราบถึงอุปสรรคนั้นก็เริ่มปรับแก้ โดยใช้การสื่อสารมากขึ้นว่าการที่มีสวนสาธารณะเพิ่มขึ้นในเมือง เป็นการช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตได้อย่างไรบ้าง จะมีเครื่องมือในการฟอกอากาศมากขึ้นเวลามีฝุ่น มีการประชาสัมพันธ์กับกลุ่มใกล้เคียงมากขึ้น อย่างนักศึกษา อาจารย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คอนโดบริเวณนั้นๆ ซึ่งก็มีผู้ที่อยู่ใกล้เคียงที่อาจจะอยากมีสวนเล็กๆ แบบนี้ใกล้บ้านเขามาบริจาคมากขึ้น

มด-ณัฐวดี สัตนันท์ กรรมการบริษัท สนใจ เฮ้าส์

 

ณัฐวดี: เราก็จะเริ่มทำให้เขารู้สึกว่าสวนนี้เขาเป็นเจ้าของ หรือว่าให้เขารู้สึกว่าเขามีส่วนร่วมในการสร้าง ให้เขาได้คิดว่าถ้าพื้นที่ตรงนี้เป็นสวนของทุกคน อยากให้ออกมาเป็นรูปแบบไหน ยังไง ซึ่งระหว่างทางเราก็ให้เขามีส่วนช่วยเสนอ โดยทางเราได้ออกแบบหลายครั้งร่วมกับทีมสถาปนิก ออกแบบไปด้วยก็ให้ชุมชนช่วยเสนอได้ด้วย เพราะฉะนั้นคนในชุมชนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก็จะมีส่วนร่วมในการช่วยกันออกแบบสวนตั้งแต่แรก แบบทั้งหมดก็จะเกิดจากคนในชุมชนซึ่งจะถูกปรับให้เหมาะสม 

หลังจากมีการเปิดให้ชุมชนมีส่วนร่วมต่างๆ ก็มีการเปิดให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการตั้งชื่อ จริงๆ มองว่าเป็นการช่วยให้เขาได้เข้ามามีส่วนร่วมทีละเล็กทีละน้อย ในทุกกระบวนการผ่านการรับฟัง และปรับให้เหมาะสมอยู่เสมอ แม้จะเป็นกระบวนที่ไม่สมบูรณ์ 100% แต่เป็นจุดเริ่มต้นให้คนได้เห็นว่า การสร้างพื้นที่สาธารณะผ่านการมีส่วนร่วมมันเกิดขึ้นได้จริง และทำให้เห็นว่าตัวชุมชนเองสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการทำได้จริงๆ ไม่ใช่แค่มาเสนอแล้วหายไป พื้นที่อื่นๆ ได้เห็นว่าสามารถสร้างพื้นที่แบบนี้ ในกรุงเทพฯ หรือจังหวัดอื่นๆ ได้

ปัจจุบันโครงการเป็นอย่างไร และผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง

ยศพล: ตอนนี้ใช้เวลาร่วม 2 ปีแล้ว ตอนนี้เข้าสู่ระยะที่ 5 จะมีวิธีการร่วมกันบริหารจัดการอย่างไร  ซึ่งมีการตั้งวงพูดคุยกันแล้ว 2 ครั้ง กับสำนักงานเขต ตัวแทนชุมชน ตัวแทนผู้ประกอบการ มีการพูดคุยถึงกฎระเบียบจะเป็นอย่างไร ใครจะเป็นผู้ดูแลส่วนไหนบ้าง อย่างไรต่อไป ซึ่งมันเป็นการค่อยๆ พัฒนาวิธีการจัดการต่อเนื่อง ล่าสุดเราจะใช้งบจากกองทุนในการจัดกิจกรรม แต่พอเราเจอสถานการณ์โควิดก็ทำให้คนไม่ค่อยกล้ามาใช้งาน จึงเปลี่ยนเป็นการจัดกิจกรรมกระตุ้นและใช้กระบวนการกับนักศึกษาว่าจะกระตุ้นให้เกิดการใช้สวน หรือทำให้สวนเป็นที่รู้จักมากขึ้นอย่างไร

ขณะเดียวกันก็มีผลตอบรับในหลายมิติ ของคนที่เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่แรก ทำให้เกิดพื้นที่ที่ตอบสนองความต้องการจริงๆ  เห็นเด็กมาวิ่งเล่น พ่อแม่พาลูกมาทำการบ้านที่ศาลา  มันสร้างความภูมิใจ กำลังใจว่าสิ่งที่เขาคิดเป็นรูปธรรม พอขยับมาวงกว้าง เรามีประกวดตั้งชื่อสวนด้วย มีคนรุ่นใหม่ร่วมตั้งชื่อ เห็นว่าคนให้ความสนใจ ซึ่งผลงานที่เขาโหวตก็ถูกนำมาตั้งชื่อจริงๆ เพราะฉะนั้นมันสร้างกำลังใจ อย่างคนที่บริจาคผ่านเทใจดอทคอมเขาก็เห็นสวน เห็นในผลลัพธ์นั้น และอีกอย่างคือทำให้คนหันมาให้ความสนใจกับพื้นที่สีเขียวขนาดเล็ก สวนใกล้บ้านในระยะ 400 เมตรเดินถึง อีกทั้งให้ความสนใจกับการมองหาพื้นที่ร้างที่อยู่ใกล้ตัวมากขึ้น มันเป็นแมสเสจที่ขยายผล 

กิรินทร์: พอเราทำมันเสร็จ เราเห็นคนพยายามเข้าไปใช้งาน ด้วยความที่เราเห็นพื้นที่นี้ตั้งแต่แรก มีการ test mockup ไปทำกระบวนการร่วมกับชุมชน แล้วพอวันหนึ่งเรากลับไปเห็นสวนเป็นรูปเป็นร่าง เราก็รู้สึกว่าจริงๆ soft power ก็ขับเคลื่อนทำให้เกิดสวนสาธารณะขนาดเล็กในชุมชนได้ รู้สึกดี เห็นพี่ๆ ที่ทำกระบวนการกับเราเขาก็พูดว่า จริงๆ อยากให้มีพื้นที่ สนามหญ้า มีพื้นที่ให้หมามาเดิน แล้วพอเสร็จเขาก็พาหมามาเดิน ก็รู้สึกว่าพื้นที่ที่เป็น pocket เล็กๆ ก็ตอบโจทย์สำหรับคนในพื้นที่จริงๆ  ถ้าไม่มีสวนแล้วหมาไปเดินเล่นที่ไหนได้ หรือคนสูงวัยถ้าเขาอยากเดินสวน เขาจะไปได้ที่ไหนต้องเดินไปสวนลุมพินีเลยเหรอ มันก็ทำให้รู้สึกว่าคนได้รับโอกาส แม้กระทั่งพี่ที่บ้านอยู่ตรงข้ามสวน เมื่อก่อนตรงนี้เป็นพื้นที่รกร้าง เสื่อมโทรม คนมามั่วสุมดื่มสุรากัน พอมันกลายเป็นสวนพี่เขาก็แฮปปี้มาก อาสาเปิดปิดสวนให้ ก็ทำให้เรารู้ว่าจริงๆ พื้นที่สวนไม่ได้ช่วยแค่เพิ่มพื่นที่สีเขียว แต่ยังเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ให้ดีขึ้นด้วย

กระบวนการมีส่วนร่วมนี้สะท้อนให้เห็นอะไรในสังคม

ยศพล: ทำให้คนเห็นว่าการทำสวนไม่ได้เป็นเรื่องของภาครัฐอย่างเดียว ทำให้เห็นกระบวนการมีส่วนร่วม 5 ขั้นตอน เราคลี่ให้ชัดว่าทำอย่างไร ทำให้เห็นว่าตัวกลางสำคัญ อย่าง we!park เพราะมันจะไม่เกิดขึ้นหากไม่มีตัวกลางที่ชวนกลุ่มคนต่างๆ เข้ามาร่วมกันสร้าง ทั้งหมดทำให้เห็นแล้วว่าถ้าเราจะเปลี่ยนกรุงเทพฯหรือเมืองต้องการกลไกใหม่ที่มีตัวกลาง มันเห็นบทบาททุกพาร์ทเนอร์ เห็นว่าพื้นที่เล็กๆ มันเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ พอสวนมันเสร็จหรือมีการประชาสัมพันธ์เกิดขึ้นก็ทำให้มีคนเข้ามาติดต่อมากขึ้น ทั้งเจ้าของที่ดิน ผู้ประกอบการ ในมุมของพื้นที่ต่างจังหวัดเองก็สนใจ มันเริ่มเห็นการขยายผลว่ามีคนให้ความสนใจมากขึ้น ตลอดจนกลุ่มคนรุ่นใหม่ก็สนใจ ติดต่อเข้ามาอยากมีส่วนร่วมในการเรียนรู้และอยากเปลี่ยนแปลงเมือง

เอด้า: โปรเจกต์นี้จุดประกายให้เห็นว่ามีสวนที่เกิดจากการร่วมระดมทุนกับภาคสาธารณะได้  เราอาจจะเริ่มคิดเรื่องอื่นๆ ที่อยากเห็นในสังคมมากขึ้น ส่วนหนึ่งที่พี่มาทำเทใจ พี่รู้สึกว่าคนไทยใจดี บริจาค ทำบุญทำทานกันเยอะมาก จริงๆ แล้วก่อนที่จะเริ่มเทใจได้ศึกษาว่า ถ้าเราเปลี่ยนวิธีการมองเรื่องการบริจาค นอกจากการทำบุญเพื่อชาติหน้าแล้ว เป็นการทำเพื่อชาตินี้แทน เช่น เราอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดี 

อยากมีสวนในเมือง เราก็ใช้เงินของเราเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนสิ่งนั้น ถ้าเราเปลี่ยนมุมมองว่าเป็นการลงทุนเพื่อให้เห็นสิ่งที่ตัวเองอยากเห็น หรือขับเคลื่อนสิ่งที่ตัวเองเชื่อว่ามันควรจะเกิดขึ้น พี่เชื่อว่าประชาชนจะมีบทบาทมากขึ้น และการบริจาคอาจเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง เช่น เราอยากเห็นอะไร เราก็ลงเงินแล้วทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น อย่ามองว่าเป็นการที่เราไปแย่งงานรัฐบาลทำ 

หลังจากที่ได้สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว we!park มีแพลนทำอะไรต่อจากนี้

ยศพล: ยังมีเฟสที่สองที่จะทำ เพราะอยากสร้างโมเดลการพัฒนาที่เป็น Business model การพัฒนาสวน  โดยเฟสแรกอาจจะยึดโยงกับภาครัฐเยอะ แต่เฟสที่สองอาจจะเป็นไปได้ที่อาจหารายได้ด้วยตัวมันเอง เอกชนลงทุนสร้างรายได้และคืนกลับสู่สังคม อีกทั้งเป็นพื้นที่สาธารณะได้ด้วย  คิดว่าองค์ความรู้จากเฟสแรกน่าจะขยายผลคือเอาไปเผยแพร่ ไปอบรมบุคลากรในภาครัฐในกรุงเทพฯ ในต่างจังหวัดหรือบุคคลที่สนใจว่าถ้าเราจะทำสวนจะมีขั้นตอนอย่างไรและวิธีการมีส่วนร่วมทำอย่างไร  อันต่อมาเป็นเรื่องของฐานข้อมูล จริงๆ เฟสแรกเราก็มีการทำฐานข้อมูลว่ามีพื้นที่ร้างตรงไหนมีแอพพลิเคชันที่เข้าไปช่วยปักหมดตามจุดต่างๆ อันนี้จะเป็นตัวชี้เป้าที่สำคัญว่ามีพื้นที่ไหนที่ขาดพื้นที่สีเขียว เราควรไปพัฒนาตามเกณฑ์ให้ครอบคลุมในเมืองให้ได้มากที่สุด ซึ่งต้องพัฒนาตัวฐานข้อมูลนี้ต่อให้ครอบคลุม 

สุดท้ายน่าจะเป็นเรื่องขยายผลไปในพื้นที่อื่นในต่างจังหวัด อาจจะมีวิธีการทำหรือโอกาสที่ต่างกันแต่คิดว่าอันนี้จะทำให้ Model เป็นประโยชน์กับทุกที่ และจะขยับเรื่องนโยบายเราเห็นแล้วว่าแต่ละคนมีใจที่จะมาช่วยแต่มันจะยั่งยืนแล้วเกิดการทำซ้ำได้อย่างไร บางคนที่จะทำซ้ำเป็นเพราะว่าเขาได้ประโยชน์ บริจาคแล้วอาจจะได้ภาษีและได้ช่วยคนด้วยยิ่งทำให้เกิดการทำซ้ำมากขึ้น หรือบางทีถ้าเจ้าของที่ดินทำสวนแล้วได้เงินสนับสนุนจากภาครัฐ และเจ้าหน้าที่รัฐช่วยดูแลก็จะทำให้ความกังวลบางอย่างหายไป ถ้าเรื่องเหล่านี้เป็นระบบที่ชัดเจนก็จะทำให้การสร้างพื้นที่สีเขียวสาธารณะทำได้ง่ายและเร็วขึ้น จริงๆ เฟสแรกเป็นการทดลอง แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไขในเฟสที่สองเพื่อขยายผลและความยั่งยืน

Share :