หลังจากที่ทาง กทม.เพิ่งประกาศเดินหน้าโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างทางเลียบเฟสแรก จากสะพานพระราม 7 ถึงกรมชลประทานสามเสน ล่าสุด วันนี้ (3 ธันวาคม) กลุ่มสมัชชาแม่น้ำและเครือข่ายจำนวน 35 องค์กร ได้จับมือกันจัดแถลงการณ์แสดงจุดยืนและคัดค้านโครงการนี้อีกครั้งที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)
ประเด็นเรื่องการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา หรือ ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นที่ถกเถียงโดยประชาชนและองค์กรจากหลายภาคส่วนตลอดมาตั้งแต่ช่วงริเริ่มขึ้นในปี 2557 จนถึงปัจจุบัน แม้จะมีการจัดเวทีเสวนาสาธารณะเพื่อเรียกร้องให้เกิดการพิจารณาจากกทม.ขึ้นในทุกๆ ปี แต่ก็ยังคงไม่มีข้อยุติที่เหมาะสม จนกลายเป็นแผนการดำเนินงานในปัจจุบัน
แผนการสร้างโครงการฉบับล่าสุด เป็นการก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำระยะทางทั้งหมด 12.45 กิโลเมตรจากเดิม 14 กิโลเมตร แบ่งเป็นช่วงที่ 1 จากสะพานพระราม 7 ถึงกรมชลประทาน ช่วงที่ 2 จากกรมชลประทาน ถึงคลองรอบกรุง ช่วงที่ 3 จากสะพานพระราม 7 ถึงคลองบางพลัด และช่วงที่ 4 จากคลองบางพลัด ถึงคลองบางยี่ขัน ซึ่งเหล่ากลุ่มคนรักแม่น้ำก็ชี้แจงให้เห็นว่า หากได้สร้างจริงก็จะส่งผลกระทบโดยรอบอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะต่อระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตริมน้ำ ศิลปวัฒนธรรม การคมนาคม วิศวกรรม หรือการผังเมือง
ภายในงานแถลงการณ์ ตัวแทนจากองค์กรภาคีเครือข่ายต่างๆ ยังได้แสดงจุดยืนคัดค้างตามมุมมองของวิชาชีพตัวเองด้วย โดยเริ่มจากการอ่านคำแถลงการณ์ของนายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ นายอัชชพล ดุสิตนานนท์ ได้เป็นตัวแทนกล่าวคำแถลงการณ์ของที่ประชุม ว่าหนึ่งในเหตุผลการคัดค้านคือความเสี่ยงต่อด้านอุทกภัย ที่เกิดจากการกัดเซาะของตลิ่งหรือการตกตะกอนในลำน้ำ อันเป็นผลพวงมาจากทางเลียบดาดแข็งที่รุกล้ำแนวตลิ่งแม่น้ำ
รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา นายกสมาคมนักผังเมืองไทยได้นำเสนอถึงประเด็นความเป็นอยู่ของชาวบ้านริมฝั่งน้ำที่ต้องสูญเสียความเป็นส่วนตัวไปหากมีทางเลียบสูงระดับชั้นสองพาดผ่าน หรือแม้แต่เอื้อให้เกิดความไม่ปลอดภัย ที่ขโมยสามารถปีนรุกล้ำเข้ามาในบ้านได้ พื้นที่ริมน้ำที่ดีไม่ใช่การพัฒนาทางเลียบตลอดแนว หากแต่อาจเป็นการพัฒนาพื้นที่สาธารณะบางส่วนให้เหมาะสมกับบริบทมากกว่า
ด้านนายสุพจน์ เจียมจรัสรังษี เลขาธิการสมาคมวิศวกรรมที่ปรึกษาแห่งประเทศไทยเองก็กล่าวว่า แม้แต่สจล. ผู้ดำเนินงาน กลับไม่มีใบอนุญาตทางวิศวกรรมควบคุมซึ่งไม่เป็นไปตามกฏหมายพรบ.วิศวกร พ.ศ.2542
และที่ขาดไม่ได้เลยคือเสียงจากประชาชนที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่าง ประมาณ มุขตารี ตัวแทนจากชุมชนมัสยิดบางอ้อที่ใช้ชีวิตอยู่อย่างใกล้ชิดกับสายน้ำมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ ยืนยันได้ว่าทางเลียบแม่น้ำอันเปรียบเสมือนถนนคอนกรีต และทางเลียบนี้ไม่ใช่ตัวตั้งของการพัฒนา
ในสถานการณ์ตอนนี้ ภารนี สวัสดิรักษ์ ตัวแทนเครือข่ายสมัชชาแม่น้ำ ได้กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องการยื่นฟ้องเรื่องการสร้างทางเลียบแม่น้ำนี้กับศาลปกครอง ว่าหลังจากยื่นไปผู้ถูกฟ้องก็ได้ยื่นเอกสารโต้แย้งกลับมา ตอนนี้กำลังดำเนินการทำเอกสารโต้แย้งคัดค้าน เตรียมยื่นกลับ พร้อมเดินหน้าสู้จนถึงที่สุด
สุดท้ายนี้ ทางเลียบแม่น้ำความยาว 12.45 กิโลเมตร จะเป็นอย่างไร เสียงของเหล่าสมัชชาแม่น้ำจะถึงรัฐบาลหรือไม่ โครงการจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ก็ยังต้องรอดูกันต่อไป สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของกกลุ่มเพื่อนแม่น้ำ Friends of River ได้ที่ https://www.facebook.com/friendsofthechaophrayariver/