CITY CRACKER

ฝนกรุงเทพฯ ไม่เหมือนเดิม เข้าใจและเลิกใช้ข้อมูลของเมื่อวานรับมือน้ำท่วม กับ ผศ.ดร. สิตางศุ์ พิลัยหล้า

เราอยู่ในเมืองแบบไหน ที่พอฝนจะตกแล้ว ชีวิตจะพังพินาศ แผนการทั้งหมดล่มสลาย ต้องเตรียมกายใจไปรับมือกับใช้ชีวิตอยู่บนท้องถนน เมืองที่จะเป็นอัมพาตและกลับไปสู่ฉายาเวนิสเมืองไทยในแง่ที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่

 

ตั้งแต่เมื่อไหร่ที่คำว่าน้ำท่วมและกรุงเทพฯ กลายเป็นของคู่กัน น้ำกลายเป็นสัจธรรมและความธรรมดาที่เราทุกคนต้องยอมรับสภาพและอดทนกันไป ในช่วงเวลาที่มนุษยชาติกำลังวางแผนไปตั้งถิ่นฐานที่ดาวอังคาร มนุษย์กรุงเทพฯ กลับต้องวางแผนอย่างหนักในการเดินทางจากสีลมกลับบ้านย่านรังสิต ปากเกร็ด หรือรามอินทรา น้ำท่วมจึงเป็นวิกฤตที่กระทบกับผู้คนอย่างรุนแรงแตกต่างกันไป แต่วิกฤตน้ำท่วมและก้อนเมฆสายฝนที่เรากำลังเผชิญอยู่นั้น อาจเป็นฝน เป็นน้ำที่ค่อยๆ รุนแรงขึ้นจนอาจกลายเป็นวิกฤตของทุกคน

การมองว่าสิ่งที่เผชิญเป็นวิกฤตก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง การทำความเข้าใจการใช้ข้อมูลเพื่อประเมินรับมือก็เป็นอีกส่วน ทั้งหมดถูกนิยามอยู่ภายใต้คำว่าการบริหารจัดการ ซึ่งเป็นการสร้างสมดุลเพื่อให้ทุกคนผ่านวิกฤตและร่วมกันแก้ปัญหานี้ไป และเพื่อฉลองวันศุกร์ในช่วงที่พายุเข้านี้ City Cracker จึงชวน ผศ.ดร. สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พูดคุยถึงปัญหาคลาสสิกของประเทศ

ตั้งแต่รากฐานที่มาของปัญหาน้ำท่วมและการจัดการน้ำของไทย อัพเดตปัญหาและเงื่อนไขใหม่ๆ ทางธรรมชาติที่เรากำลังเผชิญ (ทั้งที่เรารู้และรู้ว่ายังไม่รู้ เช่นสายฝนและก้อนเมฆที่เรายืนมองทุกวันมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป) ไปจนถึงอัพเดตเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น AI (Artificial Intelligence) และ Machine Learning เข้ามาช่วยทำนาย ว่าน้ำบริเวณรามคำแหงจะสูงครึ่งแข้งหรือข้อเท้า และมีระบบส่งข้อมูลเตือนภัยถึงผู้อยู่อาศัยให้รับมือกันโดยตรง

 

 

ถามอย่างง่ายในฐานะ กทม. เราเจอกับคำว่าน้ำท่วมมาทั้งชีวิต กรุงเทพฯ มีปัญหาตรงไหน

“จริงๆ กทม. เองก็น่าจะทราบว่าจุดอ่อนตรงไหนที่ฝนตกทีไรน้ำขังทุกที ไม่ใช่แค่ความพยายามจะมีอุโมงค์ยักษ์ มีอุโมงค์ยักษ์กี่ที่ๆ ก็ยังท่วมอยู่ดี เพราะว่าน้ำยังไปไม่ถึงอุโมงค์ น้ำตกรัชดา ฝนตกที่รัชดาก็ท่วมตั้งแต่มีขยะไปปิดที่ตะแกรง ระบบการเก็บขยะไม่เพียงพอ ปกติต่อให้ไม่มีขยะก็จะมีดินมีตะกอนที่ต้องลอกออกเป็นกิจวัตรอยู่แล้ว

พอน้ำลงไปในน้ำท่อ ตัวท่อเองก็มีปัญหาเพราะดินทรุด ตกท้องช้าง สุดท้ายไหลระบายได้แค่ 40 เปอร์เซ็นต์กว่าน้ำจากท่อจะไปลงคลอง พอไปลงคลองเสร็จ ระดับน้ำในคลองสูง ยังไปลงท่อไม่ได้ ต้องรอปั๊ม ปั๊มเสร็จลงคลอง น้ำจากคลองไหลลงไป ไปลงที่อุโมงค์ จากอุโมงค์ก็ต้องรอสูบเพื่อลงเจ้าพระยาอีก มันหลายทอดหลายต่อ แล้วแต่ละจุดมันเกิดปัญหาการบริหารจัดการก็เลยได้อย่างที่เห็น”

 

ต้องบอกว่า อุตุฯ ก็มีดาวเทียม กทม. ก็มีเรดาห์ อุตุฯ ก็มีเรดาห์ ทำไมการเตือนภัยของเรามันยังไม่ฟังก์ชั่น ไม่ต้องแม่นยำขนาดญี่ปุ่น แต่ให้รู้หน่อยว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง ไม่ต้องให้เราแหงนหน้ามองฟ้าเอาเอง

 

ถ้าพูดในจุดที่เราอยู่ในยุคปี 2020 แล้ว น้ำยังท่วม อะไรคือประเด็นใหม่ที่เราจะเอามาร่วมรับมือน้ำท่วมได้

“เรื่องการเตือนภัย เรื่องข้อมูลปัจจุบันก็สำคัญ และสามารถทำงานร่วมกันได้ ทำไมเราต้องนั่งนึกไปถึงว่าเราต้องอยู่ในรถถึงสามทุ่มไหม เราจะถึงบ้านกี่โมง พรุ่งนี้เช้าตีห้าต้องตื่นแล้ว จริงๆ ต้องบอกว่า อุตุฯ ก็มีดาวเทียม กทม. ก็มีเรดาห์ อุตุฯ ก็มีเรดาห์ ทำไมการเตือนภัยของเรามันยังไม่ฟังก์ชั่น ไม่ต้องแม่นยำขนาดญี่ปุ่น แต่ให้รู้หน่อยว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง ไม่ต้องให้เราแหงนหน้ามองฟ้าเอาเอง เรื่องพวกนี้มันทำได้ ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็มีข้อมูล เช่นของเราก็มีแอพ ขึ้นอยู่กับว่าหน่วยงานจะเอาไปใช้ไหม

หน่วยงานเองก็อาจกล้าๆ กลัวๆ ที่จะใช้ กลัวว่าเตือนแล้วจะไม่เกิด หรือเตือนภัยไปแล้วไม่เกิด ไม่เตือนดีกว่าไหม ก็เหมือนที่ผ่านมา แต่ถ้าผู้บริหารอยากจะทำให้ดีขึ้นก็ต้องกล้า เริ่มแรกอาจเออเร่อเยอะ ผิดพลาด แต่อย่างน้อยก็เป็นความพยายามก้าวหนึ่ง แล้วเดี๋ยวมันจะดีขึ้นเรื่อยๆ

ด้านหนึ่งคือเรื่องการเตือนภัย จริงๆ น้ำท่วมในกรุงเทพฯ หนักน้อยกว่าที่อื่นมาก เช่นที่ตีนเขา ถ้าเตือนแล้วไม่เกิดก็แล้วไป ถึงจะมีว่าถ้าเตือนแล้วไม่เกิดก็อาจจะแค่ไม่เชื่อ แต่พื้นที่เช่นต่างจังหวัด ถ้าไม่เตือนแล้วเกิด ผลมันร้ายแรงกว่า เกิดน้ำป่าที่เป็นความรุนแรงถึงตาย ส่วนของกรุงเทพฯ อาจอยู่ในระดับต้องทน ตรงนี้จึงทำให้หน่วยงานมองว่าการเตือนภัยยังไม่จำเป็นขนาดนั้น แต่ทำไมถึงเราถึงต้องทนล่ะ”

 

เรดาห์ตรวจอากาศ ณ วันที่ 12 กันยายน 2563 (กรมอุตุนิยมวิทยา) mekhala.dwr.go.th

 ฟังดูเป็นเรื่องของผลกระทบ แล้วเราจะประเมินความเสียหายจากน้ำท่วมอย่างไร

“เอาทั่วๆ ไป เวลาที่มีน้ำท่วมมันก็จะมีความเสียหายทางกายภาพ เอาแค่ว่าอะไรพังไม่พัง อันนั้นเรื่องที่หนึ่ง อันที่สองก็คือความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์ ทางสังคม ทางแง่เศรษฐกิจ ก็คือมันเสียเวลาไปเท่าไหร่ กี่วัน แล้วคำว่า ‘กี่วัน’ มันทำให้ธุรกิจ อะไรพังไปบ้าง ซึ่งเห็นชัดๆ ก็น้ำท่วมลุ่มเจ้าพระยาตอนมี 2554 อันนั้นพอตีค่าออกมาเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจหลายพันล้านมาก ตรงนี้มองเห็นง่ายพักไว้ก่อน

ทีนี้กรุงเทพฯ ความเสียหายของกรุงเทพฯ คือวิถีชีวิต ความน่ารำคาญที่ว่าก็คือวิถีชีวิต เรื่องของความเสียเวลา เรื่องของสุขภาพจิตที่พัง เรื่องของสุขภาพเด็กที่พังในรถ คือมันไม่มีใครเอาตัวเลขพวกนี้ไปประเมินอย่างจริงจัง เหมือนกับมาพร้อมกับคำว่า ‘น้ำท่วมรอระบาย’ แล้วเราทำใจ แต่จริงๆ เชื่อนะว่าตัวเลขพวกนี้มีการประเมิน อย่าง TDRI (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย) เขาอาจจะมีการประเมินตัวเลขพวกนี้ออกมา เพียงแต่เราไม่รู้ว่ามันมีการประเมิน

สมมติว่ามันมีการประเมิน เราเชื่อว่ามันมีการประเมิน ทำไมตัวเลขพวกนี้มันไม่ถูกนำไปสู่อะไร อย่างที่บอกว่าเขาทำในแง่ของโครงสร้าง โครงสร้างก็เห็นๆ อยู่ว่าน้ำท่วมแล้วเกิดความเสียหาย แต่เขาไม่ได้เอามาประเมิน ไม่ได้เอาตัวเลขมาเปรียบเทียบกัน แนวทางของเขาคือทำอย่างไรที่จะให้น้ำไม่ท่วม คิดว่าเขาคงคิดแค่ว่าทำอย่างไรให้น้ำไม่ท่วม “ก็สร้างสิ” อะไรอย่างนี้ มันไม่ได้นึกไปถึงตัวเลขพวกนี้ และคำว่าสร้างสิของเขาไม่ได้แก้ปัญหา มันเป็นการแก้ปัญหาด้านเดียว คือด้านกายภาพ ด้านโครงสร้าง แต่ว่าเรื่องของการเอาเทคโนโลยี เอาข้อมูลมาใช้เพื่อเตรียมคนของเรา เพื่อที่จะรับมือและป้องกัน อันนี้ไม่ได้ทำ มันไม่มีการประมวลผลร่วมกัน”

 

ปัจจุบันในทางวิชาการหรือองค์ความรู้ เรามีเทคโนโลยีอะไรใหม่ๆ รับมือน้ำท่วมบ้าง

“ตอนนี้เรามีข้อมูลเรดาห์การก่อตัวของเมฆ เราใช้โปรแกรมตามทฤษฎีคำนวณ ว่าเมฆก้อนนี้จะเคลื่อนที่ไปทางไหนตามแนวเมฆ คือประเมินได้ทั้งทิศทางและปริมาณที่จะตก หลังจากนั้นก็เอามาประเมินกับสภาพพื้นที่ ทำให้พอจะบอกได้ว่าพื้นที่ตรงนั้นน้ำจะท่วมไหม มากน้อยแค่ไหน ระดับข้อเท้าหรือเข่า ปัจจุบันเราวางโปรแกรมให้คำนวณเป็นเรียลไทม์ คือคำนวณทุก 10 วินาที แล้วข้อมูลตรงนี้เราพัฒนาให้นำไปขึ้นเว็บไซต์ ส่งไปยังแอพพลิเคชั่น และมีการส่งเป็นข้อมูลไปให้กับคนในพื้นที่ เช่นในรามคำแหง เราบอกว่าอีกสองชั่วโมงน่าจะมีฝนตก จะมีน้ำท่วม ในทางกลับกันผู้ใช้งานก็สามารถส่งข้อมูลตอบกลับมาได้ว่าอยู่ที่พื้นที่นั้นน้ำท่วมที่กี่เซ็นต์ และตัวโปรแกรมก็จะนำกลับไปปรับปรุงการพยากรณ์  อัพเดตการคำนวณ มันก็จะแม่นยำขึ้น แต่ปัจจุบันอาจยังไม่แม่นเป๊ะขนาดนั้น

ปัจจุบันเราเริ่มที่ที่รามคำแหง เนื่องจากเป็นพื้นที่มีระดับพื้นที่ต่ำที่สุดในกรุงเทพฯ และถ้าเราไปติดอยู่ตรงนั้น ถือว่าทุกข์ที่สุดในกรุงเทพฯ ต่อไปเรามีแผนที่จะทำในส่วนสุขุมวิทต่อ เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยของนิสิตปริญญาโทของเราเอง”

 

สถานการณ์น้ําในประเทศ ณ วันที่ 9–12 กันยายน 2563 (กรมชลประทาน) mekhala.dwr.go.th

 

ถ้าย้อนกลับไป ระบบรับมือน้ำท่วมของเราเก่าแก่ หรือแตกต่างกับที่อย่างไร ทำไมเราถึงเผชิญปัญหาไม่จบสิ้น

“เรียกว่าความคิดในการที่จะออกแบบที่ไม่เหมือนกันดีกว่า อย่างเนเธอแลนด์ ปัญหาของเขาอาจไม่เหมือนเรา ปัญหาของเขาเป็นเรื่องของน้ำทะเล ที่ต้องไปป้องกันน้ำทะเลไม่ให้เข้ามาในพื้นที่ เหมือนกับว่าเขาเข้าใจในกายภาพว่ามันเป็นแบบนี้ แล้วจะทำอย่างไรให้อยู่ได้อย่างปลอดภัย เขาก็มีแผน 100 ปีของเขา ในการที่จะทำระบบป้องกัน และตลอดเวลาเขาจะมีการประเมินไปเรื่อยๆ ด้วยว่าปัญหาที่เคยประเมินไว้เมื่อ 100 ปีที่แล้ว ตอนนี้รุนแรงขึ้นกว่าเดิมไหม ซึ่งก็มีปัจจัยที่ถ้าน้ำทะเลขึ้นสูงกว่าเดิม สิ่งที่เขาสร้างไว้อาจไม่ปลอดภัยแล้วหรือเปล่า

ทุกวันนี้ สิ่งที่เขาค่อยๆ สร้างขึ้นมาเป็นร้อยปี แผนของเขายังไม่สำเร็จทั้งหมดทุกแผนเลย เขายังต้องทำไปเรื่อยๆ เหมือนทำระยะของการป้องกันน้ำท่วม ต่อให้เขาทำระบบระบายแล้วทั้งเมือง แต่นั่นก็ยังไม่จบ เพราะเขาแบ่งเป็นระยะที่ต้องทำต่อ การซ่อมบำรุงสิ่งที่เคยสร้างมาแล้วก็ต้องทำ สิ่งใหม่ก็ต้องทำ สิ่งใหม่ที่ว่าก็ไม่ใช่แค่สิ่งที่ออกแบบเมื่อ 100 ปีที่แล้ว แต่รวมไปถึงสิ่งที่ออกแบบใหม่เพื่อรับมือกับปัจจุบัน และคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย แผนของเขาเลยดูคอมพลีท

ในขณะที่ของเราไม่ใช่แบบนั้น ของเรามันคือปะผุ พอวางท่อทั้งกรุงเทพฯ ทำระบบระบายเรียบร้อย แต่ระบบระบายทรุด หรือตกท้องช้าง ประสิทธิภาพก็ลดลงเรื่อยๆ ตรงนี้ก็ต้องซ่อมบำรุง ทำได้บ้างไม่ได้บ้างตามสภาพ พอนึกถึงการที่จะเปิดหน้าดิน หรือเปิดถนนขึ้นมาก็มีเรื่องปัญหารถติด เลยเป็นว่าอันไหนทำได้ก็ทำไป ส่วนอันไหนทำไม่ได้ก็พักไว้ก่อน แต่เราไม่ได้ประเมินว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไม่เหมือนเมื่อก่อน เช่นพฤติกรรมฝนของกทม. เปลี่ยน ยังไม่ชัดเจนเลยว่าเปลี่ยนอย่างไร ระบบระบายน้ำที่เราเคยออกแบบไว้ว่าปลอดภัย ตอนนี้บางพื้นที่อาจไม่ปลอดภัยแล้ว ไม่ใช่ไม่ปลอดภัยด้วยกายภาพของมันเอง แต่ไม่ปลอดภัยด้วยธรรมชาติที่เปลี่ยน”

 

holland.com

 

ฝนตกไม่เหมือนเดิม พฤติกรรมฝนกรุงเทพฯ เปลี่ยน เปลี่ยนอย่างไร

“เวลาที่เราออกแบบระบบระบาย ในการออกแบบพวกนี้เราใช้ฝนย้อนหลัง 30 ปี ในอดีตที่ผ่านมาเป็นการเอาค่าเฉลี่ยมาออกแบบขนาดท่อ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ หรือเหตุการณ์ที่ผ่านมา ที่บางเขตไม่เคยท่วมหรือไม่ได้ท่วมหนัก กลับกลายเป็นว่าฝนตกแช่ทั้งวันทั้งคืน ลักษณะแบบนี้ ถ้าเราเอาไปเทียบกับ 30 ปีย้อนหลังเราจะเห็นได้เลยว่ามันแปลก มีหลายครั้งที่บางพื้นที่มีฝนตกแช่ทั้งวันทั้งคืน ปกติฝนหน้าฝนจะตกตอนเย็น เป็นฝนรำคาญ ตกช่วงกลับบ้าน แต่ตอนนี้เริ่มไม่ใช่ มีข้อมูลว่าฝนเริ่มตกแช่ หรือจากที่เคยตกในพื้นที่หนึ่ง ก็กลายเป็นว่ามาตกในพื้นที่ที่ไม่เคยตกมากขึ้น ปัญหาหนึ่งของเราคือการใช้ค่าเฉลี่ย ถ้าดูจากค่าเฉลี่ยเช่นฝนตกมากขึ้น 5% อาจไม่ค่อยเยอะ แต่พอดูพฤติกรรมแล้วเปลี่ยนไปเยอะ

ตรงนี้ไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ ถ้าพูดถึงภาพใหญ่จะเห็นชัด เช่นบางที่ท่วม บางที่แล้ง ฝนไม่ลงเขื่อนภูมิพล แต่ไปรวมอยู่ที่แม่น้ำยม หรือน้ำไปอยู่ฝั่งอีสาน เช่นห้วยทรายที่สกลนครที่แตกไปเมื่อ 2-3 ปีก่อน สกลฯ ไม่เคยมีน้ำท่วมใหญ่ แต่ฝนไปตกแช่แบบข้ามวันข้ามคืน แล้วเราไม่เคยออกแบบไว้เพื่อการณ์นั้นเลย นอกจากสกลฯ ก็มีอุบลที่ฝนไม่เคยแช่ หรือมีพายุหลายลูกขนาดนั้น พอเกิดขึ้นมาก็เอาไม่อยู่ ไม่รู้ต้องทำอย่างไร รับมือไม่ได้ ทำนองเดียวกันกับกทม. ซึ่งเราต้องเอาชุดข้อมูลใหม่ไปเทียบกับข้อมูล 30 ปี เพื่อจะบอกว่าพฤติกรรมฝนไม่เหมือนเดิมแล้ว สิ่งนี้คือเทรนด์ที่กำลังจะเกิดขึ้น และเราต้องวางแผนหรือเปล่า

เราเองก็ต้องปรับตัวในเรื่องของข้อมูล เพราะข้อมูลเป็นอะไรที่สำคัญที่สุดในการบริหารจัดการ รวมทั้งการรับมือกับภัยพิบัติ ชุดข้อมูลเดิมมีไม่พอ เราต้องอัปเดตข้อมูลชุดใหม่เข้าไปเพื่อให้เราพร้อมมากขึ้น และเอาชุดข้อมูลใหม่เหล่านี้ไปวางแผน”

 

tnews.co.th

 

จากที่พบว่าฝนเปลี่ยน แปลว่า Climate Change กำลังส่งผลอย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากฝนก็มีเรื่องของน้ำทะเลที่เราตื่นตระหนกกันทุกปี พอมีข่าวเรื่องระดับน้ำทะเลสูงขึ้น หรือดินกทม.ทรุด ต่อให้ไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ว่าระดับน้ำทะเลขึ้นจริง หรือดินกทม. ทรุด เราต้องเอาให้ชัวร์ว่าเรามีการจัดการเพื่อรับมือกับสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ทุกวันนี้เหมือนกับว่าเราแค่ปะผุ พอตรงนี้ท่วมก็แค่ซื้อเครื่องสูบน้ำเพิ่ม ทำอุโมงค์ยักษ์เพิ่มเพื่อรับมือกับฝนที่ตกเมื่อวาน

เราเพิ่งพูดถึง Climate Change เมื่อไม่กี่ปีมานี่เอง และข้อมูลที่เรามีเกี่ยวกับ Climate Change เองยังน้อย เราจะประเมินด้วยฝน 30 ปีไม่ได้แล้ว เพราะฝน 5-10 ปีที่ผ่านมาไม่เหมือนฝน 30 ปีแล้ว แต่ที่ผ่านมาเรายังทำในลักษณะนั้นอยู่ ในขณะที่ประเทศที่เขาพยายามแก้ปัญหา เขาประเมินด้วยข้อมูลใหม่ ด้วยอะไรต่างๆ ที่เปลี่ยนไป กทม.ควรที่จะเป็นแบบนั้นเหมือนกัน เราควรประเมินด้วยชุดข้อมูลใหม่เพื่อเตรียมรับมือในอนาคตอันใกล้ ไม่ใช่ปะผุเพื่อแก้ปัญหาของเมื่อวาน

 

นอกจากถนนแล้ว พื้นที่อื่นๆ ต้องช่วยรับน้ำ และหาพื้นที่ร่วมรับน้ำด้วย เช่นรามคำแหงก่อนที่จะไปนอง เราตัดน้ำไปเก็บก่อนได้ไหม ซึ่งอาจมีพื้นที่สาธารณะบางส่วน อย่างราชพัสดุ หรือในมหาวิทยาลัย เป็นพื้นที่เหล่านี้ได้ไหม

 

ประเด็นเรื่องน้ำท่วมดูจะเป็นเรื่องใหญ่กว่าถนน?

เรื่องถนนเรื่องท่อ การจัดการแก้ไขจริงๆ เป็นปัญหาที่แก้ได้ แต่เรื่องบางเรื่องค่อนข้างแก้ยากกว่า เช่นการถมถนนจนสูงแล้วพื้นที่อยู่อาศัยกลายเป็นต่ำ ระบบระบายน้ำของหมู่บ้านก็รับได้ไม่มาก พอฝนตกน้ำจากถนนก็ไหลไปรวมกันอยู่ที่เดียว ตัวหมู่บ้านกลายเป็นแอ่ง กลายเป็นแก้มลิง ถามว่าแก้ได้ไหม ก็แก้ได้ อาจจะไปหาที่สำหรับเก็บน้ำให้หมู่บ้าน แต่ละหมู่บ้านอาจไปหาพื้นที่ที่จะเป็นบึงสำหรับรับน้ำ เพื่อรวบรวมน้ำฝนในพื้นที่ไปไว้ตรงนี้ก่อน หรืออย่างกทม.อาจหาพื้นที่สำหรับรับน้ำง่ายๆ ก่อน เอาแค่เป็นบ่อก็พอได้ แต่ค่อนข้างยากเพราะในกทม.แน่นไปหมด

ดังนั้น แปลว่านอกจากถนนแล้ว พื้นที่อื่นๆ ต้องช่วยรับน้ำ และหาพื้นที่ร่วมรับน้ำด้วย เช่นรามคำแหง เราเคยวิเคราะห์รามคำแหงว่าตรงไหนมันเซนส์สิทีฟที่จะท่วม เราพบว่าน้ำจะท่วมตรงแยกก่อน บนถนนที่เป็นทางแยกที่เป็นท่อ และน้ำระบายไปรวมกันตรงนั้น เราจึงต้องคำนวณว่าโซนนั้นแบ่งน้ำได้ไหม ก่อนที่น้ำจะไปลงท่อ หรือไปนองบริเวณนั้น เราตัดน้ำไปเก็บก่อนได้ไหม ซึ่งอาจมีพื้นที่สาธารณะบางส่วน อย่างราชพัสดุ หรือในมหาวิทยาลัยรามคำแหงเอง เป็นพื้นที่เหล่านี้ได้ไหม ที่จะมารับน้ำ ถ้าสมมติมีการร่วมมือกันยังมีบางพื้นที่ในมหา’ลัยที่พอเก็บน้ำได้ เราต้องค่อยๆ หาว่าตรงไหนที่พอได้ จะเก็บบนดิน เป็นบึง หรือเดี๋ยวนี้เราจะมีแนวคิดว่าเอาน้ำไปเก็บใต้ตินได้ไหม แทนที่บึงนี้จะอยู่บนดิน ก็ไปเก็บไว้ใต้ดิน ซึ่งก็ต้องดูพวกค่าลงทุน ค่าก่อสร้าง มันมีหลายปัจจัย จริงๆ มันทำได้แหละ ดูอย่างญี่ปุ่นยังทำได้เลย เป็นอุโมงค์ยักษ์จริงจัง เราก็ทำได้ขึ้นอยู่กับว่าเราจะทำไหม เราวิเคราะห์ประเมินจากอะไร ความคุ้มทุน ความคุ้มค่า ความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะว่าทางวิศวกรรมเราสามารถทำได้หมด

ถ้าเราพูดถึงกรุงเทพฯ อย่างที่บอกว่ามันมีหลายปัจจัยที่ทำให้ท่วมขังนาน ระบบระบายที่ว่าแย่แล้ว ด้วยกายภาพที่บางพื้นที่ต่ำก็ยิ่งท่วมได้ง่าย ซึ่งหน้าที่เราคือต้องไปหาที่เก็บน้ำให้ เพื่อช่วยให้บริเวณนั้นไม่กลายเป็นแก้มลิง สมมติว่าน้ำที่ท่วมระบายไม่ออกเพราะว่าเรื่องของน้ำทะเล เราจะทำอย่างไรกับน้ำทะเล เรื่องนี้ก็พูดกันมาเยอะว่าเราต้องทำประตูกั้นน้ำทะเลไหม เหมือนอย่างที่สิงคโปร์หรือเปล่า ทุกอย่างมีทางเลือกหมด แต่ขึ้นอยู่กับว่าเวลาเราเปรียบเทียบทางเลือก อันไหนทำได้ อันไหนทำไม่ได้ หรืออันไหนเป็นช่องทางเดียวที่ต้องทำ แต่ห้ามไม่ทำไม่ได้ จะจมแล้ว เราต้องทำให้ได้

 

 

สรุปแล้วทุกวันนี้เรามีเครื่องมือใหม่ เทคโนโลยีใหม่แล้ว?

เรามีเครื่องมือใหม่ๆ แต่โดยกระบวนการทำงานแล้วเรายังช้า เพราะเรามีลำดับขั้นเยอะ แต่อย่างหนึ่งที่เราลำดับขั้นเยอะก็เพราะว่าเราไม่ชัวร์ เลยอยากให้มีการตัดสินใจที่เป็นลำดับ แต่กว่าจะดำเนินการไปจนถึงคนสั่งการณ์สุดท้ายมันนานเกินไป หลายครั้งความเสียมันมากก็เพราะเราช้า และจะทำอย่างไรให้เราไม่ช้า ทำอย่างไรให้คนที่ต้องสั่งมั่นใจที่สุด ก็ต้องเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อสร้างความแม่นยำมาใช้ ตัวเทคโนโลยีเหล่านี้จึงต้องเปลี่ยนจากสิ่งล้าหลังที่หน่วยงานราชการเคยซื้อ มา

แต่การได้เทคโนโลยีมาก็มีปัญหาอีก อีรุงตุงนังไปหมด สมมติวันนี้เราบอกว่าต่างประเทศใช้อันนี้ดีมาก ทำงานได้รวดเร็วในระยะเวลาเพียง 10 นาที เราเห็นสิ่งนี้และเราไปบอกให้กทม.เอามาใช้ แต่กว่าจะได้ต้องเริ่มจากไกลโพ้น ตั้งแต่ระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง ราคากลาง อันนี้ไม่เคยซื้อมาก่อน เป็นของใหม่ ประเทศไทยไม่เคยซื้อมาก่อนจะเอาราคากลางมาจากไหน คนตั้งกฎระเบียบเขาก็อยากจะรอบครอบในการทุจริต แต่ถ้ามองอีกด้านมันทำให้เราช้าไปหมด สุดท้ายกว่าจะได้ของมาใช้ก็กลายเป็นว่าเราซื้อเทคโนโลยีในอดีต เราต้องมาดูตั้งแต่เรื่องของการรับมือน้ำท่วมกรุงเทพฯ มีหน่วยงานใดบ้างที่เกี่ยวข้อง มีขั้นตอนอะไรบ้าง อาจต้องมาเขียนให้เห็นว่ามีโครงสร้างอย่างไร แต่ละจุดต้องแก้ที่อะไร ทำอย่างไรเพื่อผลักดันให้ได้เร็วที่สุด และเป้าหมายของเราอีก 3 เดือนต้องรับมือน้ำท่วมกทม.ได้ ซึ่งต้องมีคนที่ลุกขึ้นมาว่าเราจะทำ และต้องทำให้ได้

 

 

ในทางปฏิบัติเราทำได้ เราแก้ปัญหาน้ำท่วมได้จริงๆ ?

ได้ ต้องได้ ไม่มีอะไรที่ไม่ได้ ถ้าอุกกาบาตจะวิ่งชนกรุงเทพฯ ในอีก 7 วันข้างหน้า เราจะทำอะไร ในโลกนี้มีใครที่เก่งเรื่องอุกกาบาต เอาผู้เชี่ยวชาญมาระดมสมอง แต่ละคนก็จะถนัดไม่หมือนกัน แม้จะเก่งเรื่องนั้นมากๆ ก็มีความถนัดไม่เหมือนกัน แต่มันเป็นจิ๊กซอว์ที่จะมารวมกันมากกว่าว่าคนนี้เก่งเรื่องนี้ ใครอยากได้อุปกรณ์อะไรก็ซื้อในแต่ละความต้องการ แล้วก็เอามารวมร่างเข้าด้วยกัน และถามว่ามีโอกาสรับมือให้ทันไหมได้ไหม เราก็มีโอกาสที่จะรอดและแก้ไขได้ ถ้าเราบอกว่าจะต้องทำให้ได้

อาจารย์เชื่อว่าสังคมไทยถ้าเจออุกกาบาตเราจะรับมือได้ ?

เปล่า เราคงหนี (หัวเราะ) เราคงไม่อยู่เมืองไทยแล้ว

พออาจารย์ยกตัวอย่างเรื่องอุกาบาต ประเด็นหนึ่งก็เลยดูจะเกี่ยวกับว่าอะไรคือวิกฤต และระดับของความวิกฤตที่แตกต่างกัน

ที่จริงแล้วยังไม่ถึงขั้นวิกฤต และเป็นคนละสเกลกับอุกกาบาตพุ่งชนโลก แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยวันหนึ่งอาจจะไปถึงตรงนั้น  อาจไม่ใช่ในเจนเนอเรชั่นเรา แต่เราจะไม่ทำอะไรเลยเหรอ จะปล่อยเป็นความนิ่งดูดายของมนุษยชาติขนาดนั้นเลยเหรอ เราไม่ได้พูดถึงแค่เรื่องน้ำท่วม แต่รวมไปถึงเรื่องที่เราบริโภคทรัพยากร เราจะดูดายกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงเหรอ ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องของธรรมชาติที่ควบคุมไม่ได้ แต่อีกส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่ามาจากตัวเราเอง และเราจะไม่ทำอะไรให้มันดีขึ้นเลยใช่ไหม ถามว่าเราทำได้ไหม ทำได้ และถ้าเราไม่ทำวันนี้…ใครจะทำ

 

 

รัฐต้องทำได้ คำว่าควรทำ มันก็ควรอยู่แล้ว แต่ต้องได้ด้วย

 

แล้วเราจัดการวิกฤติอย่างไร แก้ปัญหาอย่างไร

อุทกภัยเรารู้อยู่แล้วว่ามันต้องเกิด แต่จะทำอย่างเพื่อบรรเทาความเสียหายให้เกิดน้อยที่สุด เป็นเรื่องของการบริหารจัดการ การบริหารจัดการคือเรื่องของการสร้างสมดุล อาจไม่ใช่การแก้ปัญหาซะทีเดียว อย่างเช่นน้ำมากเกินไป จะทำอย่างไรเพื่อที่จะอยู่กับสถานการณ์น้ำมากให้ได้ หรือรู้ว่าน้ำมากก็ต้องหาที่เก็บ ทำให้มันพร่องออกไปได้เร็วขึ้น ทำให้ความเสียหายน้อยลงในระกับที่รับได้และเราอยู่กับมันได้ เราต้องสร้างสมดุลให้มัน

เหมือนกับน้ำแล้งหรือภาวะที่น้ำน้อย ทำอย่างไรให้อยู่ในสภาวะที่น้ำน้อยได้ เราไปสั่งฝนได้ไหม ก็ไม่ได้ แต่เราทำได้ที่ตัวเรา คือใช้น้ำให้น้อยลง อาบน้ำก็ขันเดียวอาบทั้งบ้าน เหมือนที่แอฟริกาใต้ จำกัดการใช้น้ำลง คำถามคือจะไปทำฝั่งไหน ถ้าทำฝั่งของธรรมชาติไม่ได้ เราจะทำฝั่งของตัวเรา เราในที่นี้หมายถึงปัจเจก คือตัวเรา หรือความป็นรัฐที่ทำได้ ซึ่งมันมีหลายองค์ประกอบนั่นคือการบริหารจัดการ

ซึ่งรัฐควรทำได้?

รัฐต้องทำได้ คำว่าควรทำ มันก็ควรอยู่แล้ว แต่ต้องได้ด้วย มันไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้หรอก

ตั้งแต่เมื่อไหร่ที่น้ำท่วมกลายเป็นเรื่องไม่วิกฤต?

ตั้งแต่เรามีคำว่า ‘น้ำท่วมรอระบาย’ ความทำใจมันมาพร้อมกับคำนี้ ชิน รับสภาพ แก้ปัญหาแบบปัจเจกไป

แล้วในทางวิชาการมีคำว่า ‘น้ำท่วมรอระบาย’ ไหม?

ไม่มี ท่วมก็คือท่วม ท่วมก็คือน้ำยังไม่ไหล น้ำมันไม่ลง และก่อให้เกิดความเดือดร้อน

 

Share :