CITY CRACKER

สถาปัตยกรรมที่ยกระดับความเป็นอยู่ของชาวแอฟริกัน รู้จัก Diébédo Francis Kéré สถาปนิกผิวดำคนแรก ที่ได้รางวัล Pritzker 2022

ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมามีการประกาศผลผู้ที่ได้รางวัล Pritzker architect ประจำปี 2022 โดยผู้ได้รับรางวัลในปีนี้คือ ดีเบโด ฟรานซิส เคเร (Diébédo Francis Kéré) สถาปนิกชาวแอฟริกาและคนผิวดำคนแรก เจ้าของผลงานสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นไปด้วยวัสดุอิฐ พร้อมกับการเห็นคุณค่าของผู้คนและสถานที่ในหมู่บ้านของตัวเอง ผสมความงามของสถาปัตยกรรมเข้ากับความยั่งยืนและรู้คุณค่าของธรรมชาติ 

ฟรานซิส เคเร คือสถาปนิกชาวแอฟริกา ผู้ตั้งใจสร้างงานสถาปัตยกรรมที่มีความหวังและสื่อสารถึงประชาธิปไตย พื้นเพเดิมของเขาเกิดและเติบโตที่หมู่บ้านเบาล์กัวร์ (Boulgour) ประเทศบูร์กินาฟาโซ  (Burkina Faso) ก่อนเข้ามาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเทคนิคแห่งเบอร์ลิน (Technische Universität Berlin) ประเทศเยอรมัน ทำให้เขาได้เรียนรู้ทั้งบริบทของพื้นที่คือสถาปัตยกรรมจากบ้านเกิด และสถาปัตยกรรมตะวันตกอย่างเยอรมัน งานของฟรานซิส เคเรจึงหยิบความสนใจของทั้ง 2 ประเทศนี้เข้ามารวมกันกลายเป็นงานออกแบบที่ได้รับคำนิยามว่าเป็น ‘จุดตัดของยูโทเปียและลัทธิปฎิบัตินิยม’ 

 

royalacademy.org.uk

 

ความน่าสนใจของสถาปัตยกรรมของเจ้าของรางวัล Pritzker ในปีนี้คือในทุกๆ ชิ้นงานของเขาสะท้อนภาพแนวคิดและความตั้งใจถึงการเพิ่มศักยภาพและเปลี่ยนแปลงชุมชนผ่านสถาปัตยกรรม คือยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนพื้นถิ่นที่แอฟริกาให้ดีขึ้นผ่านการออกแบบอาคาร สถาปัตยกรรมของฟรานซิส เคเรชจึงมีความเข้าใจเรื่องบริบทพื้นที่ ผสมผสานความเป็นท้องถิ่น ทั้งวัสดุที่เลือกใช้แลละภูมิปัญญาที่ผสานเข้ากับการการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมจากประเทศตะวันตก ที่เอื้อให้เกิดพื้นที่กว้าง สร้างสรรค์ และเหมาะกับการใช้งานสำหรับทุกคน นำมาสู่ผลงานการออกแบบที่หลากหลาย ทั้งอาคารเรียน บ้านเรือน อาคารสาธารณะและศูนย์สุขภาพ สำหรับผู้คนที่ประเทศแอฟริกา

 

Lycée Schorge, Koudougou, Burkina Faso

 

หนึ่งในความโดดเด่นในงานของเขาคือการสร้างพื้นที่เพื่ออยู่ร่วมกับธรรมชาติ เพื่อรับมือกับทั้งความร้อน ฝุ่น และลมฝนซึ่งเป็นสิ่งที่พบเจอได้ในประเทศแถบแอฟริกา ตัวอย่างเช่น งานออกแบบโรงเรียน Lycée Schorge อาคารสร้างประกอบกันจากโมดูลลาร์ทั้ง 9 ชิ้น สร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่ทับซ้อนกัน เกิดเป็นพื้นที่เล็กๆ ด้านใน เพิ่มการเรียนรู้ที่มากกว่าแค่ห้องเรียน และยังเป็นการเชื่อมต่อจากห้องเรียนหนึ่งไปสู่อีกห้องหนึ่ง โดยอาคารทั้งหมดนั้นโอบล้อมพื้นที่ส่วนกลางไว้จากฝุ่นและแดดร้อน กลายเป็นอัฒจันทร์สำหรับเด็กๆ ได้อีกด้วย 

 

Primary School, Burkina Faso

 

อีกหนึ่งความน่าสนใจคือการหยิบเอาวัสดุธรรมชาติและพบเจอได้ง่ายตามท้องถิ่นเข้ามาใข้งานเพื่อแก้ปัญหา อย่างโปรเจกต์ Gando Primary School ที่หมู่บ้านเกิด ออกแบบขึ้นในขณะที่ตัวเขายังเรียนอยู่ที่ประเทศเยอรมัน ตัวงานชิ้นนี้หยิบวัสดุทั่วไปอย่างดินเหนียวเข้ามาเป็นโครงสร้างหลักที่ช่วยป้องกันได้ทั้งแดดและฝน วางระบบผ่านโครงสร้างที่ขยายออกทำให้เกิดช่องลมที่ดึงเอาลมเย็นเข้าด้านใน และระบายลมร้อนออกมาด้านนอก เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับการเรียนรู้ของเด็กๆ มากขึ้น 

 

Benin National Assembly, German

 

เช่นเดียวกับงานชิ้นอื่นๆ ในสเกลที่ใหญ่ขึ้นอย่าง Benin National Assembly ก็ยังคงเห็นถึงความสำคัญและการอยู่อาศัยร่วมกันของมนุษย์และธรรมชาติ โดยโปรเจ็กต์การออกแบบรัฐสภาที่เมืองเบอร์นินนี้ได้แรงบันดาลใจมากจากต้นปาลาเวอร์ ต้นไม้ท้องถิ้นเก่าแก่ของแอฟริกา และเป็นพื้นที่พบปะของผู้คนในสมัยก่อน สถาปนิกเลยดึงเอาเอกลักษณ์ทั้งตัวต้นไม้ และฟังก์ชั่นของมันมาออกแบบอาคารหลังนี้ รวมถึงเพิ่มพื้นที่ลานกลางเพื่อสร้างการไหลเวียนอากาศที่ดี ศึกษาแสงธรรมชาติเพื่อให้เกิดการใช้งานของอาคารได้อย่างเต็มที่มากที่สุด ตลอดจนเปิดพื้นที่รัฐสภาเป็นพื้นที่สาธารณะเป็นหลัก เพื่อสร้างการเข้าถึงง่ายและเปิดกว้างแก่ประชาชน 

 

Xylem Pavilion, United States

 

นอกจากนี้ ในงานชิ้นอื่นๆ อย่างพาวิลเลียน Xylem, Memorial Thomas Sankara หรือ Kamwokya Community Playground เอง ล้วนแต่เป็นงานที่หยิบเอาเอกลักษณ์พื้นถิ่นเข้ามาผสานกับเทคโนโลยีหรือการออกแบบจากตะวันตก โดยกลมกลืนไปบริบทของสถานที่เดิม ไม่สร้างความรู้สึกแปลกแยก แต่สร้างความสะดวกสบายในการเข้าถึงและใช้งานสถาปัตยกรรมชิ้นนั้นๆ มากกว่าเดิม รวมถึงเป็นการยกระดับการอยู่อาศัยของชุมชนเดิมให้ดีขึ้นในหลากหลายรูปแบบอีกด้วย 

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

archdaily.com

facebook.com

dezeen.com

kerearchitecture.com

Share :