CITY CRACKER

Deep Root Cafe: ร้านกาแฟลับย่านคลองสาน พื้นที่หย่อนใจในย่านเก่า

เสียงคลื่นกระทบทางเดินเลียบแม่น้ำ ลมหน้าหนาวพัดพอให้รู้สึกเย็น แดดเช้าสิบโมงยังคงร้อน เหมือนทุกวัน แต่บรรยากาศชุมชนสมเด็จย่าย่านคลองสานกลับทำให้เราเพลิดเพลินและใจฟูขึ้นมาได้ ไม่นานเราก็มาถึงร้าน Deep Root Cafe ร้านกาแฟริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เป็นเสมือนที่พักผ่อนยามเหนื่อยล้าทั้งของคนในย่าน และเหล่าคนเมืองผู้ต้องใช้ชีวิตแข่งขันกับเร่งรีบ

ภายในร้านโอบล้อมด้วยต้นไม้เขียวขจี และสถาปัตยกรรมเก่าที่อดีตเคยเป็นโรงสีข้าว ตัวสถาปัตยกรรมให้ภาพเก่าแก่และรับกับการตั้งอยู่ในชุมชนเก่าคลองสานได้อย่างดี ลมธรรมชาติพัดพริ้วกระทบผิวพอให้รู้สึกสบายตัว บรรยากาศของร้านอันปลอดโปร่งดึงให้เราลืมไปชั่วขณะ ว่าก่อนหน้าที่จะเดินเข้ามายังพื้นที่แห่งนี้ เราต้องเผชิญกับรถติดและฝุ่นควันของการจราจร 

นั่งไม่นานชายหนุ่มวัย 30 ต้นๆ รูปร่างสูงโปร่ง ผมยาว สวมเสื้อคลุมผ้าฝ้ายสีครามกับกางเกงยีนส์สีมอๆ  ก็เดินเข้ามาทักทายเราพร้อมกับรอยยิ้มที่เป็นมิตร รูทฐานพงศ์ จิตปัญโญยศ เป็นอดีตนักเขียนบทและเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า ที่ปัจจุบันหันมาทำกิจการ เป็นเจ้าของคาเฟ่ Deep Root Cafe คาเฟ่เล็กๆ ในคลองสานที่สร้างขึ้นบนความคิดที่อยากพาให้คลองสานเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี สำหรับดีปรูทคาเฟ่ชื่อเดียวกับเจ้าของและล้อไปกับการหยั่งรากลงอย่างลึกซึ้งนี้ เจ้าของหวังใจให้พื้นที่เล็กๆ นี้ช่วยเปลี่ยนแปลงย่านที่เคยเงียบเหงาให้กลายเป็นพื้นที่หย่อนใจและเชื่อมโยงผู้คนเข้าไว้ด้วยกัน เป็นคาเฟ่ที่ทั้งหยั่งรากอย่างมั่นคงลงบนผืนดินที่พร้อมระบัดใบเพื่อให้ชุมชนที่เป็นเหมือนบ้านได้เคลื่อนไหวและแข็งแรงไปพร้อมๆ กัน

 

พักก่อน…พักชีวิตอันเร่งรีบเสียก่อน

รอยแตกของกำแพงเก่า ผนังผุของกำแพงโรงสีข้าว ต้นไม้ใบหญ้าที่หยั่งรากยืดผืนดินอยู่บริเวณรอบข้าง และลมพริ้วพัดใบไม้กระทบส่งเสียง คือบรรยากาศที่หาไม่ง่ายนักเมื่อเราต้องใช้ชีวิตในเมืองหลวงที่มีตึกสูงมากกว่าต้นไม้ เมืองอันเร่งรีบและไม่ค่อยมีพื้นที่พักพิงความรู้สึกที่เหนื่อยล้า ด้วยบรรยากาศริมน้ำและการได้สัมผัสธรรมชาติ จึงไม่แปลกที่รูทได้เลือกพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นที่พักผ่อนของเขา และแบ่งปั่นเซฟโซนนี้ให้กับคนอื่นๆ

“แต่ก่อนผมทำงานที่สยามสแควร์ เปิดร้านเสื้อผ้า เป็นนักแสดง เจอผู้คนเยอะ ทำอะไรที่เราต้องแข่งขันและเร่งรีบตลอดเวลา แค่ออกไปขับรถ รถติด โน่นนี่นั่น ทุกอย่างมีการแข่งขัน ในหนึ่งเดือนจะมีอยู่ประมาณวันสองวันที่รู้สึกว่า backpack ดีกว่า อยากไปตกตะกอนอยู่คนเดียวในที่เงียบๆ ซึ่งบางครั้งเวลาไม่พอ เลยใช้วิธีที่ลองเอาที่อยู่ริมน้ำเป็นบรรยากาศของต่างจังหวัดมาเป็นที่พักผ่อนของเราดีกว่า 

“บางทีทำงานโน่นเลย ลาดพร้าว แต่ก็ไม่ย้ายไปลาดพร้าวเพราะรู้สึกว่ายอมเดินทางไกล แต่ขอให้ทุกครั้งที่กลับมาบ้านเหมือนได้อยู่ต่างจังหวัด เหมือนได้กลับมาอยู่กับวิถีชีวิตแบบเรียบๆ ธรรมดา ตอนที่ผมอยู่ล้งผมใช้ชีวิตค่อนข้างคอนทราสต์มาก ไปทำงานสยามกลับบ้านมามีความสุขมาก บ้านริมน้ำที่เปิดหน้าต่างห้องตัวเองแล้วเห็นแม่น้ำ รู้สึกว่านี่คือการชาร์จแบต”

“พอรู้สึกว่าพื้นที่นี้ช่วยเยียวยาเราได้ก็เลยอยากทำตรงนี้เป็นเหมือนเซฟโซนให้คนข้างนอกที่เขาเจอปัญหาเดียวกัน คือเหนื่อยล้ากับความเร่งรีบและความวุ่นวายของเมืองได้เข้ามาลองใช้ชีวิตช้าๆ ดูบ้าง ซึ่งการมาตรงนี้ก็เหมือนกับการที่เราออกเดินทางไปท่องเที่ยว เป็นความรู้สึกที่เราได้อยู่กับตัวเอง ท่ามกลางธรรมชาติเงียบๆ คนเดียว”

 

กลับบ้าน กลับย่านเก่า

แววตาคนตรงหน้าเปล่งประกายอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเราไถ่ถามถึงวันวานในวัยเด็ก เมื่อมีความทรงจำมากมาย เรื่องเล่าจึงมากตาม 

“ผมเคยอยู่ที่นี่แล้วก็ออกไปอยู่ที่อื่นมา บริเวณนี้เป็นเหมือนเป็นทางเดินกลับบ้าน ผมเป็นเด็กที่รู้เส้นทางเยอะมากเพราะเราชอบเดิน แล้วพอเราได้ออกไปทำงานจนโตแล้วได้กลับมาที่นี่อีกครั้งมันคิดถึง คิดถึงบรรยายกาศเก่าๆ อีกอย่างย่านนี้ก็เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์มากมาย พอได้กลับรู้สึกว่าย่านนี้น่าจะไปได้อีก และน่าจะดีกว่านี้”

คำบอกเล่าและแววตาที่เต็มไปด้วยความฝันและความหวัง ทำให้เราสัมผัสได้ว่าการกลับมาใช้ชีวิตและหยั่งรากลงบนที่ที่ได้เติบโตมาของรูท สุดท้ายบ้านก็คือปลายทางที่เราอยากกลับมาทำอะไรสักอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงพื้นที่ที่เราเติบโตมาให้ดีขึ้น และด้วยความเหนื่อยหน่ายกับชีวิตที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ทั้งกับเวลาและสิ่งรอบตัว เขาได้พักวิถีชีวิตแบบเดิมและกลับมายังถิ่นฐานบ้านเก่าด้วยการเปิดร้านกาแฟเล็กๆ ลับๆ ไว้กลางชุมชนย่านคลองสาน

 

 

“ช่วงแรกของการทำร้าน ผมอยากให้มันเป็นการเชื่อมระหว่างนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติกับชุมชน พอเจอโควิดปุ๊บเลยมียุทธศาสตร์ใหม่ แต่ยังเป็นโมเดลเดิมที่อยากให้ร้านเป็นพื้นที่ที่เชื่อมผู้คน เลยทำให้เป็นเวทีสำหรับการพูดหรือการนำเสนอบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นงานดนตรี พื้นที่สำหรับคนที่อยากนำเสนอแง่คิด วัฒนธรรม สิ่งของ เวิร์กช็อป ถ้าเป็นแกลอรี่ก็อาจจะเป็นเวย์พื้นที่ที่สามารถมาลองทำอะไรก็ได้” 

“ผมก็อยากจะเป็นจุดเพาะพันธุ์ให้กับคนที่ต้องการพื้นที่โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แล้วทางผมก็จะช่วยทำการตลาดให้อย่างเต็มที่เพื่อให้ศิลปินอยู่ได้ด้วย เหมือนเป็นทั้งพื้นที่ให้ลองทำบางอย่าง เป็นเวทีให้ทำบางอย่างที่เขาอยากทำ หรือว่าเป็นพื้นที่สำหรับการขายของให้กับสิ่งของที่มีเอกลักษณ์ในตัวเอง ก็สามารถที่จะเอามาได้เลย”

เป้าหมายของเขาคือการเปิดให้พื้นที่นี้คือตัวกลางเชื่อมโยงผู้คน รังสรรค์ให้ร้านของเขาเป็นที่พักใจพักกายในวันหยุดสุดสัปดาห์ และที่มากไปกว่านั้นคือการทำให้ร้านกาแฟเป็นพื้นที่ของการนำเสนอสิ่งต่างๆ ในแบบที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อเช่าสถานที่ หลังจากฟังสิ่งที่รูทบอกก็มีความสงสัยขึ้นมาว่าอะไรทำให้เขาสามารถแบ่งปันพื้นที่ตรงนี้ให้ผู้อื่นได้โดยไม่คิดค่าตอบแทน 

“จริงๆ ผมก็มีส่วนได้ อย่างถ้ามีงานอะไรอย่างนี้ คนที่มางานเขาก็ได้กินข้าวที่คุณแม่ผมทำ ได้ทานขนมของน้องผม แล้วก็ได้ทานกาแฟอะไรอย่างนี้ ซึ่งสิ่งที่ได้กลับมามันไม่ได้มีแค่นั้น เพราะการทำงานมันไม่ได้เป็นสิ่งที่ช่วยเรา แต่สิ่งที่ช่วยเราจริงๆ เวลาเราลำบากหรือแย่ คือครอบครัว เพื่อน ผู้คนที่ดี ผมก็เลยมองว่าผมได้ ได้แบบที่ผมคุ้มมากๆ ด้วยกับสิ่งที่ทำ”

 

พื้นเชื่อมสัมพันธ์…สภากาแฟดริป คำเก่าในบริบทใหม่

บทสนทนาดำเนินไปอย่างเรื่อยๆ คาเฟ่เล็กๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่ชุมชนเก่า ที่ไม่ใช่ไพร์มแอเรียสำหรับการค้าขาย แต่กลับคราคร่ำไปด้วยผู้คน ความพิเศษของพื้นที่นี้เป็นดังสิ่งที่รูทได้บอกเล่าตลอดการสนทนา ว่าตัวคาเฟ่แห่งนี้ไม่ใช่แค่อาหารที่รสชาติดี หรือโลเคชั่นอยู่รมน้ำ แต่คือการให้พื้นที่เป็นตัวเชื่อมสัมพันธ์ของผู้คน 

“ผมไม่ได้เป็นคนทำกาแฟเก่ง ไม่ได้เปิดร้านกาแฟเพราะว่ารักในกาแฟ คือชอบ แต่ถ้ารักน่าจะเป็นการได้รู้จักคนใหม่ๆ อยากทำให้พื้นที่ตรงนี้เป็นที่ที่พาผู้คนใหม่ๆ ได้เข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนบางอย่างกัน ตรงนั้นคือเป้าหมายกว่าการทำกาแฟ เป็นพื้นที่แห่งการพบปะ เป็นเหมือนสภากาแฟสมัยก่อนที่เป็นจุดเล็กๆ ของการพบปะ การสื่อสาร การพูดคุย  และอาจไปสู่จุดใหญ่ของคอมมูนิตี้ ซึ่งสามารถเป็นอะไรได้หลายอย่างที่ไม่ตายตัว เพราะเมื่อผู้คนมาอยู่ร่วมกันมันมีพลังแน่นอน” รูทเล่าก่อนจะขอตัวไปต้อนรับลูกค้าผู้มาเยือน

รูทเดินกลับมาพร้อมกาแฟดริปที่เขาได้ตั้งใจทำมาให้เรา ก่อนบทสนทนาจะเริ่มดำเนินไปอีกครั้ง ด้วยคำถามที่สงสัยมาตลอดตั้งแต่ได้เข้ามายังย่านคลองสาน ว่าอะไรคือเหตุผลที่ทำให้รูทได้เลือกพื้นที่ที่ไม่ใช่ทำเลทอง และผู้คนไม่พลุกพล่านมาเป็นที่ตั้งคาเฟ่ของเขา

“คิดว่าเป็นความผูกพันกับสถานที่ ผมมีความผูกพันกับสถานที่อยู่แล้ว เพราะว่าเรามาจากริมแม่น้ำฝั่งล้ง จุดเริ่มต้นเดือนแรกที่เข้ามาเปิดร้านคืออยากให้เป็นพื้นพบปะของผู้คน เชื่อมผู้คนอย่างนักท่องเที่ยและคนในชุมชมเข้าไว้ด้วยกัน ก่อนโควิดผมนำนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาปั่นจักรยาน เขาชอบอัตลักษณ์ของย่านอยู่แล้ว มาปั่นกันที 20-30 คน ก็เลยคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ชุมชนได้รู้จักกับฝรั่ง ได้มีกิจกรรมที่เชื่อมฝรั่ง ย่าน และคนในชุมชนเข้าไว้ด้วยกัน เลยคิดว่าจะเปิดคาเฟ่แล้วให้มีกิจกรรมอยู่ข้างในเพื่อที่จะได้เชื่อมคนเข้าหากัน”

 

 

“สมัยกก่อนการเดินทางเป็นทางน้ำ คนที่มาก่อนจะปิดทางเข้าของแต่ละคน เมื่อการสัญจรคมนาคมเป็นรถไม่ได้ใช้ทางน้ำแล้ว ทางรถก็ต้องปิด ปิดไปเรื่อยๆ พื้นที่ของคนที่อยู่ด้านในก็จะเรียกว่าพื้นที่ตาบอด ไม่มีทางเดินเท้าเข้า ผมเหมือนมาเปิดแมพ มาปลุกสิ่งที่ดีอยู่แล้วเพื่อทำให้คนสามารถเข้าถึงได้ เปิดทางเข้าให้สามารถเข้ามาถ่ายรูปได้ แค่นั้นเอง ของบางอย่างของไทยมีคุณค่าอยู่เยอะมาก อยู่ที่ว่าเราจะใช้อาร์ตหรือดีไซน์ฟื้นฟูบางอย่างที่หล่นหาย หรือถูกมองข้ามอย่างไรมากกว่า”

มองนาฬิกาบอกเวลาราวๆ บ่ายสองโมง บทสนทนาล่วงเลยมาจวนนาทีสุดท้าย เมื่อการกลับบ้านของใครแต่ละคนนั้นมีเหตุผลไม่เหมือนกัน สำหรับรูทเองการกลับเข้ามาตรงนี้ก็ไม่เพียงเพื่อเปิดพื้นที่สร้างความสัมพันธ์ แต่อีกนัยก็เป็นการได้กลับมาอยู่ ณ พื้นที่ที่เคยอาศัย อดีตของวันวานที่เต็มไปด้วยความทรงจำ สถานที่ที่หล่อหลอมให้เขาเติบโตมา หากจะมีใจอยากมาเปลี่ยนแปลงพื้นที่อันคุ้นเคยก็ไม่ใช่เหตุผลที่มากเกินไปนัก

 

Photo by Pann Singharaj
Share :