“ชื่อของฉันไม่ว่าจะอ่านตามตรง หรืออ่านกลับด้านก็เป็น อูยองอู กนก บวบ นลิน ยาย วาดดาว อูยองอู”
เรียบง่าย เข้าใจได้ ไม่ซับซ้อน ลักษณะของพื้นที่ที่จำเป็นสำหรับกลุ่ม ASD Spectrum
แม้อาการออทิสติกสเปกตรัมจะเป็นความผิดปกติแต่กำเนิด แต่ผู้มีอาการในกลุ่มนี้สามารถพัฒนาและปรับตัวให้เข้ากับสังคมภายนอกได้ด้วยปัจจัยที่ช่วยเหลือหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือการออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ที่เอื้อให้เกิดการใช้ชีวิตประจำวันและการเรียนรู้ได้ง่ายมากขึ้น ไม่ว่าพื้นที่ภายนอก หรือพื้นที่ภายใน การออกแบบพื้นที่ที่เหมาะสมกับคนกลุ่มนี้ต้องเป็นพื้นที่ที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน และไม่ต้องใช้ตรรกะในการใช้งานมากเกินไป เพื่อให้พวกเขาสามารถเข้าใจได้ง่ายๆ และสามารถใช้งานได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่เข้าไปใช้งาน
การสร้างพื้นที่ที่ให้ความสบายใจและคุ้นเคยในการใช้งานนี้จะเอื้อให้เกิดการพัฒนาทักษะต่างๆ ที่จำเป็นในการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น เช่น การสื่อสาร การตัดสินใจ ไปจนถึงการเข้าสังคมต่างๆ นอกจากนี้การออกแบบพื้นที่รูปแบบนี้ ไม่ได้มีประโยชน์แค่เฉพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ด้วยรูปแบบของพื้นที่ที่ต้องการความเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน และตรงไปตรงมา ทำให้พื้นที่รูปแบบนี้สามารถรองรับการใช้งานของบุคคลทั่วไปได้อีกด้วย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางการออกแบบแบบ inclusive design หรือการออกแบบสำหรับทุกคน
แบ่งพื้นที่ใช้งานชัดเจน จัดวางอย่างเป็นระเบียบ และเหมือนเดิมทุกวัน
หลักๆ แล้วงานออกแบบพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ที่กลุ่มคนในออทิสติกสเปกตรัมต้องการ คือการจัดวางพื้นที่และขนาดของห้องให้เหมาะสมกับจำนวนคนหรือผู้ใช้งาน ไม่สร้างสภาวะวุ่นวาย ผ่านการวางเลย์เอาต์ห้องที่เรียบง่าย และชัดเจน เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจในการใช้งาน เช่น เลือกมุมใดมุมหนึ่งเป็นพื้นที่เขียนหนังสือ อีกมุมจะต้องเป็นพื้นที่ที่มีความแตกต่าง เพื่อแยกออกจากกันอย่างชัดเจน แต่ในขณะเดียวกันก็อาจมีพื้นที่กลางเพื่อการรวมกลุ่ม หรือทำกิจกรรมอื่นด้วย
นอกจากการวางเลย์เอาต์ของห้องที่เข้าใจง่ายแล้ว การจัดวางสิ่งของ ตู้ ชั้นวางของ เฟอนิเจอร์ ไว้ให้เป็นระเบียบและเหมือนเดิมในทุกๆ วัน มีทางเดิน และทางเข้า-ออกที่ไม่เปลี่ยนแปลง ยังช่วยส่งเสริมความสบายใจในการใช้งานพื้นที่ของคนในกลุ่มออทิสติกสเปกตรัมอีกด้วย และอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือผู้ที่อยู่ในกลุ่มออทิสติกสเปกตรัมอาจมีลักษณะที่คาดเดายากในบางครั้ง ทำให้การออกแบบต้องคำนึงถึงความปลอดภัยอีกด้วย ทั้งตัวพื้นที่ที่ควรลดการเกิดมุมอับให้มากที่สุด ผ่านการจัดวางอุปกรณ์ เฟอร์นิเจอร์ เก็บสายไฟ หรือท่อต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงของอุบัติเหตุได้มากที่สุด
หนึ่งในงานออกแบบอันโด่งดังที่ทำให้เห็นภาพของพื้นที่ที่เหมาะสมนี้ชัดขึ้น คืออาคารสีขาวเรียบจากยุคโมเดิร์นอย่าง Villa Savoye ผลงานออกแบบจากสถาปนิกชื่อดัง Le corbusier ซึ่งภายหลังตัวเขาเองก็ถูกวินิจฉัยว่ามีอาการในกลุ่มออทิสติกสเปกตรัมเช่นกัน เราจะเห็นได้ว่าตัวอาคารที่เขาออกแบบมักเรียบง่าย และใช้งานได้จริง ทั้งการวางกริดและแปลนที่ชัดเจน ตลอดจนฟังก์ชั่นที่ไม่ซับซ้อน ไปจนถึงการเลือกใช้สีของอาคาร สะท้อนให้เห็นถึงพื้นที่ที่กลุ่มคนในออทิสติกสเปกตรัมต้องการ
การเลือกใช้แสง สี และเสียงที่เหมาะสม ลดการกระตุ้นจากภายนอก
การทำงานของสมองในคนกลุ่มนี้มักอ่อนไหวและถูกกระตุ้นผ่านสิ่งรอบตัวได้ง่าย ทำให้การโฟกัสกับสิ่งต่างๆ ค่อนข้างยาก การสร้างพื้นที่ที่เหมาะสมไม่ได้หมายถึงแค่การวางเลย์เอาต์ที่เรียบง่าย แต่รวมไปถึงการจัดการกับสภาพแวดล้อมต่างๆ ทั้ง แสง สี เสียงที่เข้ามา ตลอดจนเฟอร์นิเจอร์ที่เลือกใช้ เพื่อเอื้อให้เกิดความรู้สึกสบายใจและไม่รบกวนต่อผู้ใช้งานด้วยเช่นกัน
หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญคือเรื่องของเสียง ซึ่งนับว่าเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญในงานออกแบบที่มักจะทำคนในกลุ่มออทิสติกสเปกตรัมเสียสมาธิได้ค่อนข้างง่าย งานออกแบบห้องหรือพื้นที่ที่เหมาะสมจึงควรเป็นพื้นที่ที่เงียบ สงบ ประมาณหนึ่ง โดยอาจเลือกใช้ฉนวนกันเสียงกับผนัง เช่นเดียวกับการเลือกใช้แสงในห้อง ควรเป็นแสง indirect เข้ามาในห้อง และสีของพื้นที่ควรเป็นสีแนว earth tone หรือเป็นสีที่สร้างความสงบ เรียบง่าย เพื่อสร้างพื้นที่ที่ไม่อึมครึมเกินไป ผนังและกำแพงควรตกแต่งให้น้อยที่สุดเพื่อลดการถูกกระตุ้นด้วยสิ่งเร้าอื่น ตลอดจนการติดม่านเพื่อลดการมองเห็นและความวุ่นวายจากพื้นที่ด้านนอก การเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์เองก็เป็นสิ่งสำคัญ ควรเลือกใช้เป็น modular furniture เพื่อความเข้าใจง่ายในระบบการใช้งาน และยังช่วยในเรื่องของความสะอาด เนื่องจากผู้ที่อยู่ในกลุ่มออทิสติกสเปกตรัมบางคนอาจมีความรักสะอาดมากกว่าปกติ การเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์รูปแบบนี้ไม่เพียงแต่ใช้งานง่าย แต่ยังส่งผลต่อความสบายใจในการใช้งานมากขึ้นอีกด้วย
สวนสีเขียวเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ด้านสังคมและการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
นอกจากพื้นที่การเรียนรู้แบบ indoor แล้ว พื้นที่ outdoor อย่างสวนสีเขียวที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้นอกห้อง เพิ่มพื้นที่ให้ได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้นและส่งเสริมการมีสังคมมากขึ้นในเวลาเดียวกัน โดยพื้นที่รูปแบบนี้ก็จะคล้ายคลึงกับการออกแบบพื้นที่ในห้อง คือต้องเป็นพื้นที่ที่เข้าใจง่าย มีการแบ่งโซนออกอย่างชัดเจน เช่น พื้นที่โล่ง สนามหญ้า กลุ่มต้นไม้ หรือพื้นที่สำหรับทำกิจกรรม
หลักการออกแบบง่ายๆ คือต้องจัดการสัดส่วนของพื้นที่ให้ชัดเจน เช่น พื้นที่นั่งเล่น ทางเดิน หรือสนามเด็กเล่น รวมถึงการเลือกใช้พืชพรรณเองก็สำคัญ คือเน้นพรรณไม้ที่ให้ความสวยงามผ่านการมองเห็นเป็นหลัก ไม่เลือกใช้ต้นไม้ที่มีกลิ่นค่อนข้างแรง และจำเป็นต้องมีพื้นที่ buffer ไว้ระหว่างพื้นที่ด้านนอก และพื้นที่ด้านในเพื่อให้เกิดการรับรู้ของลักษณะพื้นที่ที่กำลังเปลี่ยนไป นอกจากนี้สนามเด็กเล่นและของเล่นยังช่วยส่งเสริมการพัฒนาของเด็กในกลุ่มออทิสติกสเปกตรัมได้อีกด้วย โดยการเลือกจัดวางสนามเด็กเล่นในพื้นที่ที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ตลอดจนของเล่นที่ช่วยซัพพอร์ตด้านการบาลานซ์และประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของผู้ใช้งาน
Illustration by Montree Sommut
- Pharin Opasserepadung
Writer