เรารักสวน เราชอบพื้นที่สีเขียว ที่ผ่านมา City Cracker นำเสนอประโยชน์ของพื้นที่สีเขียวและต้นไม้จากงานศึกษาและภาคปฏิบัติ เช่น การประยุกต์ใช้ในสถาปัตยกรรมไปจนถึงผลกระทบเชิงบวกในระดับเมือง แต่ด้วยความรักในพืชพรรณ ทั่วโลกเองก็ยังคงศึกษาและทำความเข้าใจประโยชน์ของพื้นที่สีเขียวกันต่อไป
ด้วยความรักในสวน และเชื่อในพลังของพื้นที่สีเขียว และเพื่อเป็นการอัปเดตความรู้ต้อนรับปีใหม่ City Cracker จึงรวบรวมความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับพื้นที่สีเขียว เป็นการอัปเดตงานวิจัยว่าด้วยพื้นที่สีเขียวว่า ในทิศทางของโลกวิชาการนั้น กำลังสนใจและพบอะไรจากสีเขียวๆ ที่เรามองเห็น โดยงานศึกษาใหม่นี้จะเป็นงานศึกษาล่าสุดของเมื่อปีที่แล้วคือปี 2021 ที่ผ่านมา
จากทิศทางของงานวิจัยนั้น ในปีที่ผ่านมายังคงเน้นการศึกษาไปที่ประโยชน์และผลกระทบของพื้นที่สีเขียว โดยโลกวิชาการจะเน้นไปที่จุดที่ปลีกย่อยมากขึ้น เช่น การทำความเข้าใจประโยชน์ของพื้นที่สีเขียวขนาดเล็กที่มีผลในระดับจุลินทรีย์ ผลกระทบของต้นไม้ริมถนน หรือ Street Tree ตลอดจนการมาถึงและความเป็นไปได้ของวิทยาการสมองกลที่จะมีผลเชิงบวกกับการจัดการพื้นที่สีเขียว ไปจนถึงงานศึกษาบางส่วนที่เน้นไปที่ผลกระทบของต้นไม้และพืชพรรณที่มีต่อเด็กๆ และสุดท้ายคือการสรุปผลของพื้นที่สีเขียวในเมืองว่าส่งผลกับ ‘ความสุข’ ของผู้คน
Global homogenization of the structure and function in the soil microbiome of urban greenspaces
ระยะหลังเรามีความคิดว่าพื้นที่สีเขียวเล็กๆ แต่กระจายตัวและเข้าถึงง่าย เช่น การมี Pocket Park เล็กๆ เป็นสิ่งสำคัญ ล่าสุดงานศึกษาจากทีมวิจัยระดับโลกคือมีคณะนักวิจัยกว่า 30 คน ทำการศึกษาดินจากสวนและพื้นที่สีเขียวของ 56 เมือง จาก 17 ประเทศทั่วโลก พบว่า พื้นที่สีเขียวไม่ว่าใหญ่ระดับเซ็นทรัลปาร์ก หรือเล็กแค่เท่ากับเกาะกลางถนนล้วนมีผลเชิงบวกต่อเมือง โดยผลเชิงบวกที่พื้นที่สีเขียวทำ คือการส่งผลเชิงระบบนิเวศ และเป็นพื้นที่เติบโตของจุลชีพที่มีผลดีต่อสุขภาพมนุษย์ ตัวจุลชีพนี้จะส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันและช่วยลดภาวะภูมิแพ้
งานศึกษาพบว่าดินและน้ำของพื้นที่สีเขียวนั้นเป็นพื้นที่ที่เหล่าจุลินทรีย์ที่ดีใช้เป็นแหล่งอาหารและเป็นพื้นที่สำหรับการเจริญเติบโต งานศึกษาพบประเด็นน่าสนใจ เช่น ในประเทศยากจน พื้นที่สีเขียวอาจมีสัดส่วนของจุลินทรีย์ก่อโรคสูงโดยนักวิจัยระบุว่าอาจเกี่ยวข้องกับการใช้ยาฆ่าเชื้อที่ทำให้เกิดภาวะเชื้อดื้อยา ในบางพื้นที่ เช่น ถนนริมทางที่ไม่เป็นพื้นที่ขยะนั้นก็พบเชื้อจุลินทรีย์ที่ดีเป็นจำนวนมากด้วย
Urban street tree biodiversity and antidepressant prescriptions
ความเข้าใจเรื่องพื้นที่สีเขียวที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตและสุขภาพใจของผู้อยู่อาศัย เป็นสิ่งที่โลกวิชาการพูดถึงกันมานานแล้ว ในงานศึกษาล่าสุดจากเยอรมันศึกษาไปจนถึงว่า แม้แต่ต้นไม้ริมถนน หรือกระทั่ง Street tree ส่งผลต่อสุขภาพจิต โดยเฉพาะการช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะซึมเศร้าได้ งานศึกษาชิ้นนี้ระบุว่าต้นไม้ริมถนนถือเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดเล็กและเป็นพื้นที่ของสาธารณะ
งานศึกษาพบว่าต้นไม้ริมถนนที่อยู่ในระยะ 100 เมตร ช่วยลดอัตราการรับยาต้านซึมเศร้า (antidepressant) ได้ และผลเชิงบวกนี้ส่งผลดีต่อกลุ่มคนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ กล่าวคือพื้นที่สีเขียวแม้จะเป็นระดับต้นไม้ริมถนนที่ดีนั้นก็ยังส่งผลเขิงบวก ทั้งยังช่วยลดช่องว่างความไม่เท่าเทียมด้านสุขภาพได้ ดังนั้น ความเข้าใจจากงานศึกษานี้อาจทำให้เมืองสนใจการลงทุนและดูแลพื้นที่ริมถนนหรือเกาะกลางในพื้นที่ของย่านทุก
Assessing the association between lifetime exposure to greenspace and early childhood development
ประเด็นเรื่องพื้นที่สีเขียวและพัฒนาการในเด็กๆ เป็นประเด็นที่โลกวิชาการสนใจ งานศึกษาล่าสุดจาก University of British Columbia ประเทศออสเตรเลีย ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างเด็กๆ ราว 27,000 คน ในเขตเมืองของแวนคูเวอร์ที่เข้าเรียนช่วงอนุบาลในช่วงปี 2005-2011 เปรียบเทียบเข้ากับระยะของพื้นที่สีเขียวจากบ้านและดูระดับของคุณภาพอากาศและเสียงรบกวนของชุมชน ผลการศึกษาพบว่าเด็กๆ ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีสีเขียวมากและมีสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติสูง ทั้งต้นไม้ริมถนน สวน และสวนของชุมชนมีพัฒนาการโดยรวมดีกว่าเด็กๆ ที่อยู่ใกล้พื้นที่ธรรมชาติน้อยกว่า ทักษะที่นักวิจัยพบคือพัฒนาการโดยรวม โดยในพัฒนาการที่เกี่ยวข้องก็เช่นทักษะทางภาษา ศักยภาพในการรับรู้ ทักษะเชิงสังคม เป็นต้น
Benefit of woodland and other natural environments for adolescents’ cognition and mental health
ประเด็นเรื่องพื้นที่สีเขียวกับสุขภาพจิตเป็นประเด็นสำคัญของโลกวิชาการ การศึกษาชิ้นนี้เน้นไปที่ผลกระทบเชิงสุขภาพจิตและการรับรู้โลกของวัยรุ่น งานศึกษาระบุว่าวัยรุ่นที่เติบโตขึ้นและใช้ชีวิตอยู่ใกล้ๆ พื้นที่ป่านั้นได้รับผลเชิงบวกทางด้านสุขภาพจิต ส่งผลดีต่อกระบวนการการรับรู้โลก งานศึกษานี้มาจากมหาวิทยาลัยแนวหน้าของอังกฤษ คือ University College London และ Imperial College London โดยถือว่าเป็นงานศึกษาขนาดใหญ่ที่สุดคือราว 3,500 คน จากทั่วลอนดอนโดยศึกษาผลกระทบของพื้นที่ป่า การเข้าถึงธรรมชาติได้จากพื้นที่บ้านหรือโรงเรียนนั้น ส่งผลกับกระบวนการคิด การรับรู้โลกอย่างไร
ตัวงานศึกษาเน้นไปที่การระบุลักษณะพื้นที่สีเขียวและประเมินระยะการเข้าถึงของบ้านและโรงเรียนของเด็กคนนั้น โดยพบว่า พื้นที่ป่า (woodland) ที่อยู่ใกล้กับกลุ่มตัวอย่างส่งผลเชิงบวกต่อการรับรู้ (cognition)และสุขภาพจิต (mental health) เด็กๆ จะมีคะแนนด้านการรับรู้และการรู้คิด (cognitive development) สูงและมีความเสี่ยงกับปัญหาทางอารมณ์และพฤติกรรมที่ต่ำกว่าราว 16% งานศึกษาชิ้นนี้ยืนยันผลที่เกิดขึ้นในเชิงพัฒนาการอันเกิดจากกิจกรรมที่เราไปทำทั้งในเชิงกายภาพและเชิงความรู้สึก
A global horizon scan of the future impacts of robotics and autonomous systems on urban ecosystems
เวลาเราพูดเรื่องพื้นที่ธรรมชาติ เรามักไม่นึกถึงบทบาทของหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) งานศึกษาที่นำโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยลีดส์ (University of Leeds) เสนอว่า นวัตกรรมหุ่นยนต์และเทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถเข้ามาร่วมรับมือการลดลงของพื้นที่สีเขียว และสามารถใช้เพื่อส่งเสริมพื้นที่สีเขียวภายในเมืองได้ งานศึกษาเสนอว่าระบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเป็นสิ่งที่เมืองสามารถนำมาใช้ได้ตั้งแต่การใช้ระบบ AI หรือข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อเฝ้าดูความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่กายภาพ เช่น การเฝ้าระวังสัตว์ศัตรูพืชหรือสัตว์รบกวนเมืองใหม่ๆ การติดตามการดูแลพืชพรรณและพื้นที่สีเขียว รวมทั้งความเป็นไปได้ของการใช้เทคโนโลยี เช่น รถยนต์อัตโนมัติหรือโดรนในการเข้าร่วมปฏิบัติการดูแลและรักษาพื้นที่สีเขียวของเมือง
Vertical greenery buffers against stress
งานศึกษาชิ้นนี้ถือเป็นอีกงานศึกษาที่ล้ำสมัย ทั้งเทคโนโลยีโลกเสมือน และเป็นการทดลองผลกระทบจากสถาปัตยกรรมและงานออกแบบ เจ้างานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางสิงคโปร์ (NTU Singapore) ทำการทดลองให้กลุ่มตัวอย่าง 111 คน ลองเดินไปในท้องถนนของโลกเสมือนที่สร้างขึ้นผ่านแว่น VR โดยตัวถนนเสมือนจะมีการสุ่มสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นแนวพื้นที่สีเขียว เช่น ระเบียบ กำแพง เสา หรือถนนที่ตัวอาคารกำแพงโล้นๆ ทาสีเขียว ในงานศึกษาจะเน้นการเก็บข้อมูลจากการตอบสนองทางร่างกาย เช่น ชีพจร อัตราการเต้นของหัวใจ และการตอบคำถาม ผลคือในระหว่างทดลองคนที่เดินผ่านถนนที่มีแต่อาคารมีความเครียดสูงขึ้น แต่กลุ่มที่เดินผ่านเมืองที่มีพื้นที่ธรรมชาติไม่มีการเปลี่ยนแปลงในความเครียด ผลงานศึกษาเชื่อมเชิงสวนแนวตั้งเข้ากับการช่วยป้องกันความเครียด รวมถึงมิติทางการออกแบบอื่นๆ เช่น วัสดุที่เป็นไม้กับคอนกรีดที่อาจส่งผลต่อความรู้สึกด้วย
Urban green space and happiness in developed countries
ประเด็นเรื่องความสุขที่สัมพันธ์กับผู้คนดูจะเป็นปลายทางสำคัญที่นักวิชาการพยายามทำความเข้าใจ แน่นอนว่าสุขเป็นประโยชน์สำคัญ และในงานศึกษาในวารสาร EPJ Data Science ได้พยายามใช้เทคโนโลยีบิ๊กดาตาและเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมความคมชัดสูง เพื่อศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างดัชนีของความสุขกับปริมาณพื้นที่สีเขียวของเมืองต่างๆ และเทียบเข้ากับดัชนีความสุขของประเทศนั้นๆ ผลการศึกษาโดยรวมพบความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่สีเขียวและความสุขของประชากรคือทั้งตัวพื้นที่สีเขียวและดัชนีทางเศรษฐกิจคือ GDP ส่งผลกับความสุขของประเทศนั้นๆ โดยงานศึกษาชี้ให้เห็นว่าพื้นที่สีเขียวนั้นสัมพันธ์กับความสุขในแง่ที่ GDP และการสนับสนุนของสังคมนั้นๆ เป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้เกิดพื้นที่สีเขียวที่หนาแน่นด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก
epjdatascience.springeropen.com
Illustration by Montree Sommut
- Vanat Putnark
Writer