Yona Friedman คือสถาปนิกคนแรกๆ ที่พยายามแก้ไขปัญหาภาวะขาดแคลนบ้านในยุคหลังสงครามโลก เขามาพร้อมกับแนวคิดที่ฟังดูประหลาดและน่าตื่นตาอย่าง ‘Mobile Architecture’ หรือสถาปัตยกรรมที่สามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างและการใช้งานได้ตามความต้องการ ซึ่งแนวคิดนี้ได้ยืนยันถึงความมีวิสัยทัศน์และจินตนการที่กว้างไกล
ย้อนกลับไปในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง บ้านเมืองทั่วยุโรปเต็มไปด้วยความยากจนและซากปรักหักพัง ที่อยู่อาศัยถูกทำลายจากสงคราม รัฐบาลจึงจำเป็นต้องสร้างที่พักใหม่จำนวนมากในราคาถูกเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้ โดยเฉพาะเหล่าทหารที่กลับมาจากสนามรบ Friedman ที่เป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากสงครามนี้ เขาจึงเข้าใจสถานการณ์เป็นอย่างดี
ในปี 1958 Friedman นำเสนอไอเดีย ‘Mobile Architecture’ ตีพิมพ์ลงในหนังสือชื่อเดียวกัน ไอเดียนี้คือการสร้างสถาปัตยกรรมที่ให้ความรู้สึกถ่อมตน ปรับตัวเพื่อความอยู่รอดได้ ต่างจากเดิมที่เพียงแค่กำแพงพัง กระจกแตก กระแสไฟฟ้าโดนตัดก็ไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป Friedman เคยให้สัมภาษณ์กับ archdaily ถึงสถาปัตยกรรมและสุนัข ไว้ว่าในขณะที่พวกสุนัขจะวิ่ง ย้ายถิ่น ทำอะไรก็ตามเพื่อความอยู่รอด สถาปัตยกรรมก็ควรจะหาทิศทางในการปรับตัวต่อโลกแห่งความจริงเหมือนกัน
ภาพฝันที่ว่าถูกสะท้อนออกมาเป็นผลงาน Spatial City เมืองลอยฟ้าที่ตั้งอยู่บนเสารับน้ำหนักสูงติดกับพื้นดิน สร้างด้วย ‘Megastructure’ โครงสร้างเหล็กที่ก่อสร้าง ถอดประกอบ เคลื่อนย้ายง่าย และให้อิสระแก่ผู้อยู่อาศัยได้ออกแบบ ‘พื้นที่’ ของตัวเองได้ตามใจชอบทั้งพื้น ผนัง หลังคา บนพื้นที่ช่องว่างระหว่างหนึ่งโครงถักขนาด 25-35 ตารางเมตร Spatial City จึงเป็นเหมือนสถาปัตยกรรมขนาดยักษ์ที่เปิดกว้าง ไม่ยึดติดกับหน้าตา (form) การใช้งาน (function) หรือแม้แต่ ‘ความคิด’ ของผู้คน ตรงกันข้ามกับสถาปัตยกรรมยุคก่อนหน้าที่ Friedman มองว่าผู้ใช้งานอาจไม่ได้มีบทบาทมากเท่าที่ควรนัก
ตัวเมืองลอยฟ้าอาจตั้งอยู่เหนือมหานครปารีสเหมือนในรูปสเก็ตช์ของ Friedman หรือถูกปรับใช้ไปสร้างในบริเวณไหน สภาพอากาศใดบนโลกใบนี้ก็ได้ ขอเพียงแค่เป็นไปตามกฏการจับจองที่ว่าง 50% ของเมืองเพื่อให้แสงธรรมชาติส่องถึงได้อย่างเพียงพอ
คนรุ่นใหม่ในสมัยนั้นที่ต่อต้านสงครามและแสวงหาความสงบสุข ในทางสถาปัตยกรรมเอง Friedman และเพื่อนร่วมวิชาชีพก็เบื่อหน่ายกับสถาปัตยกรรมกระแสโมเดิร์นที่เต็มไปด้วยความเป็นระเบียบ ไร้ความรู้สึก ความคงทนถาวร ตัว Spatial City จึงออกมาในรูปแบบที่ดูสนุกสนาน ตั้ังแต่การปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการ ตลอดจนการนำเสนอที่ท้าทายขนบการทำภาพแบบเดิมที่ดูเป็นทางการ ให้ออกมาในรูปแบบคอลลาจสีสันสดใสผสมภาพสเกตช์ ให้ความรู้สึกทีเล่นทีจริง ในขณะเดียวกันก็แสดงถึงจินตนาการและความเชื่อมั่นในความเป็นไปได้ใหม่ๆ
แน่นอน ผลงานพลิกวงการของเขายังเป็นแรงบันดาลใจให้สถาปนิกยุโรปกลุ่มอื่นๆในเวลานั้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Archigram สถาปนิกอังกฤษเจ้าของผลงาน Plug-in City เมืองแห่งอนาคตที่ปรับเปลี่ยนระบบสาธารณูปโภคได้ตามต้องการ และนักออกแบบชาวอิตาลีสองกลุ่มอย่าง Superstudio และ Archizoom เจ้าของผลงานออกแบบเมืองภายใต้รูปแบบ grid วางต่อเนื่องกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุดอย่าง The Continuous Monument และ No Stop City แม้แต่ผลงานสไตล์ Metabolism อย่างตึก Nagakin Capsule Tower ของฝั่งสถาปนิกญี่ปุ่น Kisho Kurokawa ก็อาจปฏิเสธไม่ได้ว่าได้รับอิทธิพลมาจาก Friedman เช่นกัน
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Yona Freidman ได้เสียชีวิตลงด้วยวัย 96 ปี แม้ว่าโลกจะสูญเสียสถาปนิกคนสำคัญอีกหนึ่งคน ผู้ขับเคลื่อนวงการสถาปัตยกรรมร่วมสมัยไป แต่งานอันยิ่งใหญ่ของเขาก็ยังคงเป็นที่จดจำและจุดประกายไอเดียให้แก่สถาปนิกและนักออกแบบรุ่นใหม่ๆ ต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก