วันนี้ Disney+ Hotstar เข้าไทยเรียบร้อย และเชื่อว่าสำหรับหลายคน ดิสนีย์คือการ์ตูนที่เราเติบโตขึ้นมา เป็นส่วนหนึ่งที่หล่อหลอมตัวตนและการมองโลกของเรา แน่นอนว่าพอ Disney+ Hotstar เข้ามานั้นความหมายสำคัญหนึ่งคือการที่เราจะได้กลับไปดูงานคลาสสิกที่เราเคยดูสมัยเด็กอีกครั้งแบบเต็มตาเต็มใจ
นอกจากเรื่องความมหัศจรรย์แล้ว งานคลาสสิกโดยเฉพาะเจ้าหญิงดิสนีย์เรื่องอื่นๆ เช่นดัมโบ้ เกือบทั้งหมดนั้นสิ่งที่เราจะคิดถึงคือ ‘ธรรมชาติ’ สิ่งที่ดิสนีย์พาเรากลับไปพร้อมๆ กับการไปสู่โลกจินตนาการ โลกที่พ้นไปจากมนุษย์ เป็นเรื่องราวที่ยังมีธรรมชาติอันรุ่มรวยเป็นองค์ประกอบสำคัญ หรือบางเรื่องก็ว่าด้วยเรื่องราวของสรรพสัตว์ไปเลย
ธรรมชาติจึงเป็นอีกหนึ่งแกนกลางของดิสนีย์ และพูดได้ว่าดิสนีย์ได้สร้างและใช้ธรรมชาติขึ้นมาเป็นส่วนประกอบจินตนาการของเรา แน่นอนว่าความปรารถนาที่มนุษย์ในเมืองเช่นเราๆ ปรารถนาจะกลับไปสู่ธรรมชาตินั้นย่อมไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ดิสนีย์ได้สร้างธรรมชาติในรูปแบบของตัวเองขึ้นมา นึกถึงป่าในเรื่องแบมบี้ที่ป่านั้นเต็มไปด้วยสุนทรียะ และมีบทบาทอย่างสำคัญต่อตัวเรื่อง หรือภาพของป่าในสโนไวท์ที่พื้นที่ป่าถูกวางให้ตรงข้ามกับเมือง- ดินแดนของแม่มดที่แห้งแล้งและไร้สรรพชีวิต และในทางกลับกัน ภาพของสโนไวท์แทบจะกลายเป็นต้นแบบของความเป็นเจ้าหญิงที่จะต้องรัก และมีพวกพ้องเป็นสรรพสัตว์ในสายธารการ์ตูนยุคต่อๆ มา
ดังนั้นแล้วจึงไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายนักที่จะบอกว่า งานของดิสนีย์เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรารักธรรมชาติ การได้เห็นภาพธรรมชาติอันงดงาม เห็นเรื่องราวที่แม้จะมีความขัดแย้งนั้นแต่เรื่องราวส่วนใหญ่ก็ล้วนมีธรรมชาติเป็นศูนย์กลางของเรื่อง หัวใจหนึ่งของการพาเรากลับไปสู่ธรรมชาติ คือได้เห็นเราในฐานะส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ เห็นมนุษย์ที่อยู่ร่วมและมีปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติ กับสรรพสัตว์ก็เป็นจินตนาการโลกในอุดมคติที่มนุษย์ไม่ควรลืม รวมไปถึงประเด็นเรียบง่ายเช่นการพาเราไปสู่ชีวิตของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ นั้น แน่นอนว่าทำให้เราเกิดความเข้าอกเข้าใจสิ่งมีชีวิตอื่นๆ และลดการเอามนุษย์เป็นศูนย์กลางของโลกลงได้บ้าง
ธรรมชาตินั้นเป็นหัวใจของดิสนีย์ และเป็นประเด็นที่นักวิชาการสนใจศึกษาเรื่อยมา มีข้อวิจารณ์ในยุคนั้นๆ ทั้งในแง่ของการสร้างธรรมชาติไปจนถึงการเกิดสตูดิโอใหม่ๆ เช่นจิบลิที่ตอบสนองจากภาพธรรมชาติในขนบการ์ตูนของดิสนีย์ หนึ่งในงานสำคัญเป็นตำราวิชาการชื่อ ‘The Idea of Nature in Disney Animation’ เผยแพร่ในปี 2008 ซึ่งเป็นแหล่งอ้างอิงหลักของบทความชิ้นนี้
ความปรารถนาต่อธรรมชาติ และแนวคิดว่าด้วยธรรมชาติในดิสนีย์ยุคคลาสสิก
ถ้าเรามองย้อนกลับไป- จริงๆ ไม่ใช่แค่งานของดิสนีย์ แต่ตั้งแต่เมืองเกิดขึ้น และเมืองกลายเป็นคู่ตรงข้ามกับธรรมชาติ มนุษย์เราก็โหยหาธรรมชาติอยู่ลึกๆ เสมอ ที่อเมริกาเองมีกระแสการกลับสู่ธรรมชาติ เช่นกระแส Transcendentalism อันเป็นกระแสความคิดทางปรัชญาในกระแส Romanticism คือพูดถึงการกลับไปแสวงหาความหมายในธรรมชาติ หนึ่งในงานสำคัญก็เช่นวอลเดน (Walden) ของเฮนรี่ เดวิด ธอโร (Henry David Thoreau) งานเขียนสำคัญที่ส่งอิทธิพลต่อปัญญาชนอเมริกันและโลกใบนี้จนทุกวันนี้
งานของดิสนีย์จึงไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่เกิดขึ้นบริบททางประวัติศาสตร์ แน่นอนว่าสิ่งที่ดิสนีย์เลือกใช้คือเทพนิยาย และบริบทของเทพนิยาย เป็นพื้นที่ที่มนุษย์ยังอยู่กับธรรมชาติและสิ่งเหนือธรรมชาติทั้งหลาย แต่ทว่าสิ่งที่ดิสนีย์ทำคือการออกแบบและใช้ธรรมชาติในงานของตัวเองอย่างจริงจัง- และบางส่วนปรับให้เข้ากับความปรารถนาของผู้คนในยุคนั้น
การใช้ธรรมชาติของดิสนีย์นั้นค่อนข้างถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถ้าเราสังเกต การ์ตูนดิสนีย์จะวาดภาพธรรมชาติให้ไม่มีพิษภัย ไร้เดียงสา และว่าก็ว่าคือเป็นเหมือนเครื่องมือของผู้คน แน่นอนว่าธรรมชาติในหนังนั้นเป็นธรรมชาติในจินตนาการของผู้สร้างมากกว่าจะเป็นตัวธรรมชาติ ในยุคต่อมาสตูดิโอชื่อดังของญี่ปุ่นซึ่งก็โด่งดังเรื่องการวาดภาพธรรมชาติเช่นกันคือจิบลิ ก็ได้ใช้ธรรมชาติอีกรูปแบบในปรัชญาแบบตะวันออกที่เคารพธรรมชาติขึ้น และมองเห็นว่าธรรมชาตินั้นมีทั้งด้านมีและสว่าง เป็นผู้สร้างและผู้ทำลายได้
ทว่า ถ้าเรามองในเบื้องต้น ธรรมชาติที่แม้จะไม่ตรงความจริงและเป็นการมองจากมุมมนุษย์อยู่บ้าง ธรรมชาติที่สวยงาม เป็นระเบียบและสะอาดสะอ้านนั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งในความปรารถนาของเราที่มีต่อธรรมชาติเช่นกัน
ธรรมชาติในฐานะผู้ช่วยและส่วนสำคัญในการสร้างความหมาย กรณีศึกษาจากสโนไวท์
คือโอเค ด้วยความที่ดิสนีย์เอาเรื่องมาจากนิทาน มาจากเทพนิยาย ซึ่งในเทพนิยายมันก็มีสรรพสัตว์เป็นตัวประกอบอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ดิสนีย์ทำคือการสร้าง ‘ขนบ’ ของนิทานยุคใหม่ขึ้นที่เล่าผ่านอนิเมชั่น และดิสนีย์ก็ได้พร้อมอัปเกรดธรรมชาติจนกลายเป็นธรรมเนียม กรณีที่ชัดเจนที่สุดคือสโนไวท์ ผลงานอนิเมชั่นเรื่องยาวในปี 1937 อนิเมชั่นระดับตำนานที่ถือว่าจารึกหมุดหมายของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง
แน่นอนว่าสโนไวท์ต้องถูกทิ้งไว้กลางป่า และเติบโตขึ้นในการดูแลของพวกคนแคระ ทว่าในดิสนีย์นั้น ภาษาของภาพยนตร์และการเล่าเรื่อง ดิสนีย์เลือกใช้ฉากและโครงสร้างของเรื่องเล่าที่มีธรรมชาติเป็นคู่ตรงข้าม- และทำให้ธรรมชาตินั้นสวยงามและพึงปรารถนา
นึกภาพพื้นที่สำคัญในสโนไวท์ ในเรื่องพื้นที่จะแบ่งสองส่วนคือพื้นที่ของสโนไวท์ที่อยู่ในป่า และพื้นที่ของราชีนีใจร้ายที่อยู่ในปราสาท พื้นที่ของสโนไวท์ถูกวาดให้เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ มีสรรพสัตว์ มีความกลมเกลียวกัน เป็นป่าที่แสนสุขและสวยงาม พูดง่ายๆ คือเป็นพื้นที่แห่งชีวิต ในขณะที่พื้นที่ของแม่มดกลับถูกล้อมไว้ด้วยกำแพง เต็มไปด้วยอุปกรณ์วิทยาศาสตร์เอาไว้ปลิดชีวิตผู้คน ข้างกายมีเพียงกาอันเป็นสัญลักษณ์ของความตาย และกระจกที่แทบจะไม่มีชีวิต ไม่มีการเติบโต ไม่มีสีสันเสียงเพลง ป่าในภาพของสโนไวท์จึงเป็นพื้นที่แห่งความเป็นอุดมคติ เป็นพื้นที่ของการมีชีวิตที่รวมถึงชีวิตชีวา
ขนบสำคัญหนึ่งของการเป็นเจ้าหญิง- คือการรักสัตว์ ในนิทานเดิมนั้นมีพูดถึงสัตว์ในฐานะผู้ช่วยอยู่บ้าง ทั้งตามนิทานและตามตำนาน แต่ทว่าดิสนีย์ได้ขยายองค์ประกอบเรื่อง ‘เพื่อสรรพสัตว์’ และการเป็นเจ้าหญิงผู้อารีที่สัตว์รักก็ผ่านสโนไวท์นี่แหละ สโนไวท์ของดิสนีย์ได้รับการย้ำถึงการมีไมตรีต่อสรรพสัตว์ และเป็นครั้งแรกที่เจ้าหญิงถูกวาดให้มีเพื่อนสัตว์เป็นสัตว์แทบจะทั้งป่า มาเป็นหมู่คณะ ครบทุกสายพันธุ์ และเข้าช่วยเหลือดูแล ซึ่งก็ทำให้เห็นภาพของระบบนิเวศของป่าในมุมที่เป็นมิตร กลมเกลียว และพึงปรารถนาอยากจะไปให้นกช่วยตากผ้า หนูช่วยกวาดบ้านเหมือนกัน- หลังจากนั้นเจ้าหญิงดิสนีย์และเจ้าหญิงอื่นๆ ก็จะมีธรรมเนียมเพื่อนสรรพสัตว์ทั้งสิ้น
ความขัดแย้งต่อธรรมชาติ และการก่อตัวขึ้นของนิเวศสำนึก
อีกข้อที่ง่ายที่สุดที่ทำให้เราเข้าใจธรรมชาติ ก็คือการเล่าถึงเรื่องราวของสรรพสัตว์ โดยผ่านสายตาของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เบื้องต้นที่สุดก็ทำให้เห็นว่ามนุษย์เรานั้นเบียดเบียนธรรมชาติอยู่เสมอ ไม่มากก็น้อย และมีมากขึ้นเรื่อยๆ จากการล่าในระดับครอบครัวแบมบี้ เรื่อยมาจนแผลที่มนุษย์ทำต่อธรรมชาติค่อยๆ ใหญ่และบานปลายมากขึ้น
ทว่า ประเด็นที่มนุษย์ค่อยๆ คุกคามธรรมชาตินั้นก็สัมพันธ์กับบริบทและความวิตกกังวลของมนุษย์เราที่มีต่อความอุดมสมบูรณ์และการฉวยใช้ทรัพยาการธรรมชาติเช่นเดียวกัน ในเรื่องที่เริ่มสมัยใหม่ขึ้น เราจะเริ่มเห็นร่องรอยบางอย่าง เช่นในลิตเติลเมอร์เมด (The Little Mermaid) เราจะเห็นเค้าลางที่มนุษย์เริ่มรุกรานและปรากฏร่องรอยอยู่ในพื้นที่ธรรมชาติ ที่คราวนี้คือพื้นที่ก้นทะเลอันไกลโพ้น ทว่าอิทธิพลของมนุษย์ที่นอกจากจะทำให้เงือกน้อยใจแตกแล้ว เราจะเห็นภาพของขยะหรือข้าวของของมนุษย์ที่ปรากฏอยู่แม้ในก้นทะเล และเงือกน้อยของเรารับบทเป็นนักรีไซเคิลผู้มาก่อนกาล เอาขยะในทะเลเหล่านั้นไปใช้ใหม่ เป็นหวีบ้าง เครื่องประดับบ้าง
สุดท้ายแล้วนั้น จากดิสนีย์ ถึงพิกซาและสตูดิโออื่นๆ ที่พาเราไปยังโลกจินตนาการ เกือบทั้งหมดจะว่าด้วยความขัดแย้งของเราที่มีต่อธรรมชาติ ผลกระทบของการมีอยู่มนุษย์ที่แยกออกจากระบบนิเวศ เรื่อยมาจนงานยุคหลังๆ ที่ถูกเล่าเสมือนเป็นนิทานอุทาหรณ์ที่คราวนี้ไม่ใช่นิทานหลอกเด็กจากอดีต แต่เป็นนิทานสอนใจเราผู้ใหญ่ ว่าผลกระทบของเรา กิจกรรมของเราที่มีต่อสีเขียวและสรรพชีวิตบนโลกนั้นกำลังบานปลายและดำเนินไปในทางที่ทำลายตัวเอง เรื่องทั้งหลายจึงมักว่าด้วยการกู้คืนธรรมชาติเมื่อครั้งโลกพังทลายไปแล้ว ซึ่งก็เป็นเหมือนนิทานสอนใจท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ เป็นการสร้างนิเวศสำนึกขึ้นอันเป็นสำนึกที่ดูจะอยู่กับดิสนีย์มาโดยตลอด
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Montree Sommut
- Vanat Putnark
Writer