เวลาคนกรุงเทพอย่างเราๆ ถูกถามว่า ‘เป็นคนย่านไหน’ เราก็ตอบไปตามที่อยู่ ตามบ้านเลขที่ของเรา แต่การนิยามย่านก็ดูจะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง บางที่ก็เป็นพื้นที่ใหญ่ๆ เช่น เป็นคนย่านฝั่งธน บางคนก็นิยามจากถนน เช่น เป็นคนย่านรามอินทรา บ้างก็ว่าจากเขต ลาดพร้าวบ้าง รามคำแหงบ้าง
จริงๆ นัยยะ หรือ sense ความเป็นย่านของแต่ละที่ ก็ดูจะต่างกันออกไป ความต่างในที่นี้ไม่ใช่ความแตกต่างเรื่องพื้นที่ แต่ความรู้สึก หรือจินตนาการที่เรามีต่อย่านก็ดูจะต่างกันออกไปมากๆ เช่น คนย่านคลองสาน ย่านกลางเมือง หรือย่านเก่าต่างๆ ก็ดูจะมีความเป็นชุมชน มีการไปมาหาสู่ มีเรื่องราวแบบหนึ่ง แต่ถ้าเป็นมุมมองจากย่านที่นอกเมืองขึ้นมาหน่อย หรือย่านชานเมืองที่เพิ่งมาเติบโตเพื่อรองรับเมืองที่ขยายตัวขึ้น คำว่าย่านก็ดูจะมีความหมายและพื้นที่ที่กว้างมากๆ
เช่น ชาวรามอินทรา ที่ถึงจะนิยามตัวเองว่าเป็นคนรามอินทรา แต่ด้วยถนนรามอินทราที่ยาวเหยียด และไลฟ์สไตล์ที่วนเวียนอยู่กับรามอินทราแค่การไปห้าง ไปร้านอาหาร ไปซูเปอร์ ความรู้สึกต่อการเป็นชาวรามอินทรา ก็ดูจะต่างกับชาวฝั่งธน-ท่าพระพอสมควร ในทางกลับกัน ผู้คนในย่านที่อาจจะเคยแน่นแฟ้น แต่ด้วยไลฟ์สไตล์ และเมืองที่ไม่ค่อยเอื้ออำนวย ก็อาจทำให้ย่านนั้นๆ เริ่มเหินห่างกันมากขึ้น
หลักๆ แล้วคำว่าย่าน (neighborhood) ดูจะเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับความเป็นเมือง ถ้าดูจากคำ เราจะเห็นถึงความเป็นเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์อยู่ในเขต อยู่ในพื้นที่ทางกายภาพหนึ่งๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นส่วนหนึ่งของเมืองใหญ่ คำว่าย่านย้อนกลับไปได้ตั้งแต่ที่เรามีเมืองใหญ่ มีเมืองหลวงเกิดขึ้น เช่นเกียวโต มหานครโบราณของญี่ปุ่นก็มีแนวคิดเรื่องการแบ่งย่านตั้งแต่ปี ค.ศ. 793 โน่น ถ้าเป็นเราคำว่าย่าน ก็ดูจะใกล้กับคำว่าบ้าน คือเป็นคนบ้านนั้นบ้านนี้
มโนทัศน์เรื่องย่าน (concept of neighborhood) เริ่มต้นขึ้นในราวทศวรรษ 1990s เป็นช่วงที่ทั้งเมืองกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมๆ กับการเกิดแขนงวิชาต่างๆ ในโลกวิชาการ ตั้งแต่สังคมศาสตร์ไปจนถึงนคราศึกษา (urban studies) ซึ่งโลกความรู้ก็ไม่ได้โตเปล่าๆ เมืองที่โตขึ้นนอกจากจะนำไปสู่ความน่าสนใจศึกษาแล้ว ข้อมูลและความรู้ทั้งหลายยังนำไปสู่ภาคปฏิบัติ โดยเฉพาะการวางผังเมืองและทิศทางการพัฒนาเมืองต่อไป
ประเด็นสำคัญของการศึกษาเรื่องย่าน ตั้งแต่อดีตยิงยาวมาจนถึงทุกวันนี้ แง่หนึ่งคือการสำรวจมิติทางสังคม และปฏิสัมพันธ์ของผู้คนภายในเมืองใหญ่ แนวคิดเรื่องย่านชี้ให้เห็นทั้งความสำคัญว่าเอ้อ เมื่อคนมันมาอาศัยอยู่ในเมืองกันอย่างแออัดแล้ว ในเมืองที่แสนจะชืดชาเหินห่าง ทำยังไง ถึงจะทำให้ชีวิตของคนเมืองดีขึ้นได้ ย่านจึงกินความพ้นไปจากแค่พื้นที่ ตึกรามบ้านช่อง แต่มองเข้าไปถึงวิถีชีวิตของผู้คนที่อยู่ในย่านนั้นๆ และดูว่าคนเหล่านิยามตนเองอย่างไร เป็นมิติทางสังคมศาสตร์ที่ลงไปทำความเข้าใจพื้นที่ทางกายภาพของเมือง
ดังนั้น ตรงนี้ก็เลยย้อนกลับไปกลับมา ระหว่างพื้นที่ที่เป็นกายภาพและความรู้สึกนึกคิดของผู้คน เช่น ถนนหนทาง ทางเท้า ป้ายรถเมล์ สวน และแลนด์มาร์กต่างๆ ล้วนเข้ามามีผลกับความเป็นย่านและความรู้สึกต่อย่าน เป็นสิ่งที่เมืองและรัฐสามารถช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์และความรู้สึกภายในย่านนั้นๆ ได้
ตรงนี้เอง มีนักวิชาการเสนอว่า ช่วงทศวรรษ 1980s หลังจากเมืองเริ่มก่อตัวและศึกษาย่าน 2 ทศวรรษ นักวิชาการบอกว่า ตอนนั้นคำว่า ‘ย่าน’ แทบจะสูญสลายหายไปแล้วจากการที่ความเป็นเพื่อนบ้านหายไป โดยเฉพาะการเข้ามาของถนนและสังคมรถยนต์ ตรงนี้เดาว่าชาวชานเมืองจะพอเข้าใจได้ ว่าคำว่าย่านของชาวชานเมืองแทบจะไม่มีมิติทางสังคมอยู่ในวิถีชีวิตเท่าไหร่ เพราะในวิถีชีวิตส่วนใหญ่ เราไม่ได้เดิน เราใช้ยานพาหนะจากพื้นที่หนึ่งไปสู่อีกพื้นที่หนึ่ง
ดังนั้นหัวใจสำคัญหนึ่งของความเป็นย่านคือความสามารถในการเดิน และพื้นที่สาธารณะไปจนถึงพื้นที่ที่ชุมชนจะมารวมตัวกัน ตั้งแต่สวน โรงเรียน ร้านค้า ห้องสมุด เป็นพื้นที่ๆ เราเดินออกนอกพื้นที่ส่วนตัว และเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับสาธารณะชน
พอพูดเรื่องพื้นที่สาธารณะกับย่าน ฟังดูเชยเนอะ คือตอนนี้คงไม่ได้มีภาพชีวิตแบบ เดินไปโรงเรียน เป็นคนย่านเดียวกันขนาดนั้นแล้ว แต่ล่าสุดในปี 2010 ทาง The Youth Foundation ทำการศึกษาเรื่องหัวใจของความเป็นย่าน นอกจากพื้นที่สาธารณะแล้ว ยังพูดถึงพื้นที่พิเศษๆ ที่สะท้อนความเป็นย่านในยุคใหม่ เช่น คาเฟ่และผับ อันเป็นพื้นที่รวมตัวสำคัญ เป็นที่ๆ ผู้คนมาพบปะกับเพื่อนเก่า ไปออกเดท ตกหลุมรัก และพูดคุยเรื่องสำคัญๆ พร้อมทั้งปลดเปลื้องความทุกข์บนบ่าที่ต้องเจอในแต่ละวัน
ลึกๆ แล้วแม้ว่าเราจะอยู่ในสังคมเมือง มีชีวิตวนเวียนอยู่กับบ้าน ที่ทำงาน แนวคิดเรื่องย่านและการพัฒนาย่านก็เลยเป็นอีกหนึ่งทิศทางที่จะช่วยปรุงให้ชีวิตเมืองของเรานุ่มนวลขึ้น เราอาจเห็นผู้คนที่ร่วมกันอยู่ในเมือง ในพื้นที่บ้านใกล้เรือนเคียงกัน มีความสนใจใกล้ๆ กัน และนำไปสู่การมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น
การพัฒนาย่าน แง่หนึ่งก็ดูจะเป็นเทรนที่กำลังเกิดขึ้นในหลายๆ พื้นที่ ทั้งการพัฒนาและอนุรักษ์ย่านเก่า ที่เคยมีความเป็นย่านให้กลับมาสดใสมากขึ้น การกลับไปทบทวนและเชื่อมโยงผู้คนในย่านปัจจุบัน ว่าเอ้อ ไม่ได้เหงากันอยู่ลำพังบนถนนเส้นนี้นะ เรายังมีเพื่อนที่สามารถเชื่อมต่อกันได้ และมีตัวตนบางอย่างร่วมกัน
- Vanat Putnark
Writer