เมืองใหญ่ๆ ดูจะหน้าตาคล้ายกันไปหมด ประกอบขึ้นด้วยตึกสูง ด้วยคนแปลกหน้าจำนวนมหาศาล แต่กระนั้น เราเองก็สามารถรับรู้ถึงสัมผัสพิเศษ เมืองใหญ่แต่ละเมืองล้วนมีชีวิต มีสีสัน มีกลิ่น มีบรรยากาศเฉพาะตัว สายลม แสงไฟ และเสียงอึกทึกของกรุงเทพฯ ย่อมแตกต่างจากความโกลาหลในโตเกียว สัมผัสพิเศษที่เรารับรู้ถึงตัวตนที่แตกต่างของเมืองใหญ่นี่แหละ คือสเน่ห์พิเศษจากผู้คน จากเรื่องราว และจากความทรงจำอันซับซ้อนที่ปรากฏอยู่ในมหานครนั้น
เมืองจึงไม่ใช่แค่ของกายภาพ และก็ไม่เชิงว่าเป็นเรื่องของผู้คนหรือชุมชนเพียงอย่างเดียว เมืองคือพื้นที่อันยอกย้อนที่ประกอบขึ้นบนเรื่องราวอันมหาศาล เป็นพื้นที่ทั้งกายภาพและความรู้สึกหลอมรวมกันได้อย่างแปลกประหลาด นอกจากหนังสือท่องเที่ยวแล้ว วรรณกรรมจึงเป็นอีกพื้นที่สำคัญที่เก็บงำเรื่องราวของเมืองใหญ่ไว้ในมิติที่นุ่มนวลและบางครั้งก็ซับซ้อนยิ่งขึ้น จากเรื่องราวของผู้คนในเมืองใหญ่ บรรยากาศเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นภายในเมือง ไปจนถึงถ่ายทอดประสบการณ์ของผู้คนที่มีต่อเมืองใหญ่ที่เราต่างรับรู้ได้จากการอาศัยอยู่ในดินแดนแห่งคนแปลกหน้านี้
City Cracker ชวนไปสำรวจและสัมผัสกับเมืองใหญ่ทั้ง 10 แห่งในโลกผ่านวรรณกรรมสำคัญ จากการเดินในกรุงเทพด้วยสายตาของคนนอก เดินฝ่าแสงไฟในนิวยอร์กผ่านเรื่องราวของคนผิวสี เห็นภาพของดับลินสับสนวุ่นวาย ไปจนถึงซอกซอยที่เงียบงันและความเดียวดายในซอกซอยของกรุงโตเกียว
Sightseeing– Bangkok
Rattawut Lapcharoensap
พูดถึงกรุงเทพฯ – เมืองไทย เราเองคงจะบอกว่าเรารู้จักและรับรู้เมืองไทยในฐานะบ้านกันดีเรียบร้อยแล้ว ด้วยพลังของวรรณกรรม เราลองรับรู้ ‘บ้าน’ ผ่านมุมมองที่ซับซ้อนขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย Sightseeing ว่าด้วยการเยี่ยมชม แบบแค่แวะดูผ่านๆ แต่รวมเรื่องสั้นทั้ง 7 เรื่อง เขียนโดยคนไทย ที่เกิดและโตอยู่ในอเมริกา เป็นคนไทยที่มองเมืองไทยด้วยสายตาของคนนอก (งงแล้ว!) โดยสรุปแล้วถ้าเราอยากลองสัมผัสกลิ่นอายและบรรยากาศของไทยในมุมมองที่ต่างออกไป Sightseeing จึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่จะทำให้เราเห็นเมืองใหญ่แห่งนี้ในมุมมองอื่นๆ
Jazz-New York
Toni Morrison
เรามีวรรณกรรมที่ว่าด้วยนิวยอร์กมากมายนับตั้งแต่ความอู้ฟู่ในยุคอุตสาหกรรมของเดอะเกรท แกตสบี้ ไปจนถึงชีวิตผู้คนในโลกแห่งบริโภคในงานเขียนแนวชิค-ลิต ชีวิตผู้หญิงในเมืองใหญ่ แต่ในลิสต์นี้ขอเลือก Jazz ของ Toni Morrison นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ที่เพิ่งจากเราไป Toni Morrison เป็นนักเขียนผู้บันทึกประวัติศาสตร์คนผิวสีที่ดำเนินไปเหมือนเงาของคนผิวขาว Jazz แค่ชื่อก็พอจะทำให้ได้ยินเสียงดนตรีอันวุ่นวายพอๆ กับท้องถนนของนิวยอร์ก นวนิยายเรื่องนี้นอกจากจะมีภาพของแจ๊ซโดยมีฉากหลังเป็นมหานครนิวยอร์กแล้ว ยังพูดถึงการต่อสู้ของคนผิวดำในเมืองใหญ่ นอกจากนี้ Morrison ยังตั้งใจใช้การ ‘improvising’ ที่ตัวละครแต่ละตัวต่างผลัดกันอิมโพรไวซ์ซีวิตโดยมีกลิ่นแบบแจ๊ซตั้งแต่การคร่ำครวญ จังหวะที่เร่งเร้าขึ้น ไปจนถึงความรู้สึกลึกซึ้ง (sensual) แบบเดียวกับที่เรารับรู้ได้เวลาฟังแจ๊ซ
Mrs Dalloway-London
Virginia Woolf
เวอร์จิเนียร์ วูล์ฟเป็นนักเขียนหญิงที่เก็บภาพและความรู้สึกของโลกสมัยใหม่โดยเฉพาะการใช้เทคนิกการเขียนแบบกระแสสำนึก Mrs Dalloway เป็นผลงานชิ้นเอกของวูล์ฟที่ตัวเรื่องเองแทบไม่มีอะไรนอกจากการใช้ชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง ที่เดินดุ่มๆ ในลอนดอนตอนเช้าเพื่อเตรียมปาร์ตี้ในตอนเย็น แต่ด้วยเทคนิกทางการเขียนของวูล์ฟที่สำรวจเข้าไปในจิตใจและความรู้สึกของตัวละครที่ใช้ชีวิตอยู่ในลอนดอนยุคหลังสงครามได้อย่างลึกซึ้ง ในขณะเดียวกันกลับสับสนวุ่นวาย นอกจากมิติความสัมพันธ์ของความรู้สึกที่เรามีต่อเมืองแล้ว ยังสื่อถึงความคิดที่เปลี่ยนแปลงและการตอบสนองต่อเมืองใหญ่ที่เราอาศัยอยู่
Ulysses-Dublin
James Joyce
เจมส์ จอยซ์ เคยพูดว่า ตัวเองได้ ‘ให้ภาพของกรุงดิบลินไว้สมบูรณ์จนกระทั่งถ้าเมืองนี้หายไป ก็สามารถสร้างดับลินขึ้นใหม่ได้จากหนังสือเล่มนี้ได้เลย’ เรื่องนี้คล้ายๆ Mrs. Dalloway ทั้งในแง่ของสไตล์การเขียนที่เขียนด้วยเทคนิกกระแสสำนึก เล่าเรื่องของ Leopold Bloom ชายหนุ่มที่เดินเตร่ไปในเมืองใหญ่แห่งนี้ งานของจอยซ์นอกจากจะเน้นความซับซ้อนของความรู้สึกนึกคิดแล้ว ยังเน้นการสัมผัสรับรู้ของเมือง คล้ายกับเราได้เดินแตะอิฐทีละก้อนที่สุดท้ายในการเล่าเรื่องที่ซับซ้อนยอกย้อนนั้น เรากลับได้ภาพมหานครที่วกวนไม่ต่างกันขึ้น ตัวเรื่องเล่าถึงชีวิตคนธรรมดาในโลกสมัยใหม่ ที่บันทึกไว้โดยล้อกับชื่อ Ulysses จากมหากาพย์ของโฮเมอร์
My Life in France-Paris
Julia Child
จากเรื่องเมืองๆ ที่อ่านยาก มาที่ปารีส ดินแดนหอมหวานของอาหารเลิศรส และแน่นอนว่าพูดถึงไอคอนการครัว อาหารฝรั่งเศส ก็ต้องพูดถึง Julia Child เซเลบวงการอาหารที่ไปโด่งดังในอเมริกา My Life in France เป็นอัตชีวประวัติของคุณแม่ Julia Child เล่าถึงเรื่องราวสมัยที่ไปเรียนทำอาหารที่ École du Cordon Bleu ตัวเรื่องเริ่มต้นในการวุ่นหาอพาร์ตเมนต์ในมหานครแห่งความรักและดินแดนของอาหารการกินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
Kitchen-Tokyo
Banana Yoshimoto
โตเกียว เรานึกถึงดินแดนแห่งแสงสี คิดถึงฮาราจูกุ และเมืองที่พยายามรักษารากเหง้าและวัฒนธรรมของตัวเองไว้ แต่หลายครั้งที่เราเดินผ่านตรอกซอกซอยและย่านพักอาศัย เราสัมผัสได้ถึงความเงียบงัน เราได้กลิ่นความโดดเดี่ยวของคนเมืองที่เดินเตร่อยู่ในเมืองที่เคยหลับนี้ Kitchen ของบานานา โยชิโมโต เป็นอีกหนึ่งงานเขียนที่จับภาพของเมืองโตเกียวผ่านวิถีชีวิตอันเดียวดายของผู้คน แม้ว่างานชิ้นนี้เราอาจไม่ได้เห็นภาพรวมของเมืองใหญ่ แต่ส่วนเล็กๆ ของโตเกียวนี้ทำให้เราสัมผัสถึงภาพรวมของมหานครที่คนไทยโปรดปรานในอีกด้านหนึ่ง
White Ghost Girl-Hongkong
Alice Greenway
ฮ่องกงเป็นเมืองที่ทรงเสน่ห์ เป็นดินแดนของโลกสมัยใหม่ ในขณะเดียวกันก็ประกอบขึ้นด้วยความเชื่อ และความแปลกประหลาดของโลกตะวันออก เราเห็นภาพความเชื่อแบบจีนๆ เห็นยันต์ ฮวงจุ้ย ไปจนถึงเรื่องราวลึกลับที่ซุกซ่อนอยู่ในอพาร์ตเมนต์อันแออัดท่ามกลางการเป็นเมืองท่าอันเกรียงไกรและเกาะแห่งการค้าสำคัญของโลก White Ghost Girl เป็นนวนิยายที่ให้ภาพของฮ่องกงในทศวรรษ 1960s เป็นภาพของมหานครที่แวววาวอยู่ท่ามกลางทะเลและผืนฟ้า เรื่องราวของชาวประมง ขยะ เทพเจ้า และผีสาง
The Lover-Ho Chi Minh
Marguerite Duras
กลับมาที่ประเทศเพื่อนบ้านกันบ้าง The Lover เป็นนวนิยายกึ่งอัตชีวประวัติของ Marguerite Duras คือเขียนโดยใช้เค้าโครงชีวิตมาเล่า ตัวเรื่องค่อนข้างผาดโผนนิดนึง คือพูดถึงเด็กสาวชาวฝรั่งเศสวัย 15 ปีที่มีความสัมพันธ์กับหนุ่มนักธุรกิจชาวเวียดนาม แต่สิ่งสำคัญของเรื่องนี้คือเราจะได้เห็นภาพของภูมิภาคอินโดจีนในช่วงที่มีชาวตะวันตกเข้ามามีอิทธิพล เห็นภาพของไซง่อนที่ค่อยๆ กลายเป็นเมืองใหญ่ เห็นเรือกลไฟ รถยนต์ และผู้คนจากหลายเชื้อชาติ ชนชั้นที่เริ่มเข้ามามีปฏิสัมพันธ์จนเกิดความเป็นสัมพันธ์ต้องห้ามอย่างที่เกิดขึ้นในเรื่องนี่แหละ
The Cairo Trilogy-Cairo
Naguib Mahfouz
<class=”_31o4″>
<class=”_6–1″ aria-hidden=”true”>
<class=””>แค่ชื่อก็บอกแล้วว่าเป็นมหากาพย์ของกรุงไคโร ตัวเรื่องเล่าถึงเรื่องราวชีวิตและความเปลี่ยนแปลงของเมืองหลวงแห่งอียิปต์ผ่านคนสามรุ่นในครอบครัวมุสลิม The Cairo Trilogy ให้ภาพประวัติศาสตร์อันยาวนานของอียิปต์ตั้งแต่ยุคใต้อิทธิพลของอังกฤษ ยุคคอมมิวนิสต์ ผลกระทบของสงคราม เรื่อยมาจนถึงศตวรรษที่ 20 เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของโลก ของเมืองที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปท่ามกลางผลกระทบทางการเมืองที่มีต่อผู้คน The Cairo Trilogy ถือเป็นงานชิ้นเอกของมาฟูซ มาฟูซได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 1998
The Kite Runner-Kabul
Khaled Hosseini
ทุกวันนี้เรามีภาพกรุงคาบูล อัฟกานิสสถานเป็นพื้นที่แห่งฝุ่นควันและภัยสงคราม The Kite Runner เป็นงานเขียนที่พาเราไปเห็นภาพกรุงคาบูลในฐานะเมืองกลางทะเลทรายที่งดงามและรุ่งเรือง เห็นผู้คนที่ใช้ชีวิต เห็นภาพก่อนและหลังผลของสงครามที่ความขัดแย้งส่งผลกระทบต่อผู้คนและเมืองๆ หนึ่งได้จากหน้ามือเป็นหลังมือ ตัวเรื่องใช้ว่าวเป็นสื่อ จากยุคที่ท้องฟ้ากรุงคาบูลเคยเกลื่อนไปด้วยว่าวของเด็กน้อย มาถึงยุคตาลีบันที่แบนไม่ให้ว่าวขึ้นสู่บนท้องฟ้า ตัวเรื่องพูดถึงชายชาวคาบูลที่ต้องกลับไปยังพื้นที่บ้านเกิดเพื่อทำภารกิจช่วยเหลือเด็กน้อยและแก้ไขอดีตที่เคยผิดพลาด
Illustration by Thitaporn Waiudomwut and Montree Sommut
- Vanat Putnark
Writer