อีกไม่กี่วันก็จะได้เลือกตั้งแล้ว พรรคไหนๆ ก็เอานโยบายมาขายฝันให้กับเรา อ่านป้ายหาเสียงไปก็ฝันเฟื่องถึงคุณภาพชีวิตที่ดีไป
ในหลายประเทศ นโยบายไม่ใช่แค่เรื่องขายฝัน แต่คือการรักษาคำมั่นสัญญาและการลงมือบริหารจัดการอย่างจริงจังและเป็นระบบ ความฝันของแต่ละเมืองก็เลยกลายเป็นความจริงได้ เมืองสำคัญทั้งหลายจึงกลายเป็นปลายทางในฝันของเรา เราเห็นสิงคโปร์เป็นโลกที่ตึกสูงอยู่ร่วมกับต้นไม้และสวน เราชื่นชมและอยากไปเดินเล่นที่คลองใสสะอาดกลางกรุงโซล เราเห็นจีนที่เคยจมฝุ่นกลับมีท้องฟ้าที่สดใสขึ้น
City Cracker เชื่อว่าฝันของเราต้องไม่สลาย และการเรียนรู้จากความสำเร็จและวิธีการจากหลายประเทศเป็นวิธีการที่ดีในการย้อนกลับมาเข้าใจและพัฒนาบ้านเราต่อไป เราจึงชวนไปดูฝันที่เป็นจริง หรือความพยายามในการแก้ปัญหาและพัฒนาจากกรณีศึกษาในหลายประเทศทั่วโลก การพัฒนาเมืองที่สัมพันธ์กับมิติต่างๆ ที่กำลังเป็นกระแสจากเมืองร่มรื่นสีเขียว เมืองที่ออกแบบเพื่อเด็กๆ เมืองที่คำนึงถึงสรรพสัตว์ ไปจนถึงเมืองที่เตรียมรับมือกับสังคมสูงวัย
Singapore
สิงคโปร์เป็นประเทศเล็กๆ ที่นอกจากจะกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้า เป็นดินแดนแห่งความเจริญ ตึกสูง เมกกะโปรเจกต์แล้ว สิงคโปร์ยังเป็นต้นแบบของโลกแห่งการพัฒนาที่นำเอาพื้นที่สีเขียวเข้าไปรายล้อมโลกของคอนกรีต เหล็กและกระจก มีรายงานว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีพื้นที่สีเขียวหนาแน่นที่สุดในโลกคือ 29.3 % มีสวนสาธารณะกว่า 350 แห่ง ทั้งหมดเริ่มต้นจากแนวคิด ‘City in a Garden’ ในปี 1967 โดยนาย ลี กวน ยู
มุมมองสำคัญของการพัฒนาคือการทำให้สิงคโปร์พัฒนาโดย ‘ไม่แห้งแล้ง’ การเพิ่มต้นไม้เข้าไปในเมืองไม่ได้ทำหน้าที่เพียงลดมลพิษ สร้างภูมิทัศน์ ความรื่นรมย์ หรือคุณภาพชีวิตของประชากรเท่านั้น แต่ยังมีเป้าหมายให้สิงคโปร์เป็นปลายทางของนักท่องเที่ยวและนักลงทุนอีกด้วย จากจุดเริ่มต้นในปี 1967 นโยบาย Garden City เริ่มต้นด้วยการปลูกต้นไม้อย่างเร่งด่วนเพื่อเพิ่มทัศนียภาพ เช่น ปลูกต้นไม้ริมถนนสองข้างทาง ต่อมาในปี 1971 ได้ประกาศให้ทุกวันอาทิตย์แรกของเดือนพฤศจิกายนเป็นวันปลูกต้นไม้แห่งชาติ กระตุ้นให้เกิดการปลูกต้นไม้ใหม่เพื่อรับฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง โดยตั้งเป้าเพื่อปลูกต้นไม้ใหม่อย่างน้อย 10,000 ต้นต่อปี
การพัฒนาให้เมืองกลายเป็นเมืองสีเขียวเป็นเรื่องของทุกฝ่าย และเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องร่วมมือกับทุกภาคส่วน ในปี 1972 สิงคโปร์จึงออกพระราชบัญญัติต้นไม้และสวนสาธารณะให้ทุกฝ่ายทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจและภาคประชาชนรวมเอา ‘ต้นไม้’ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาพื้นที่สำหรับพลเมืองสิงคโปร์ ทางการเห็นว่าพื้นที่สีเขียวไม่ใช่แค่เรื่องของรัฐ แต่ต้องเป็นเรื่องของประชาชนด้วย ในปี 1996 จึงตั้ง The Parks and Recreation Department หน่วยงานที่ทำงานร่วมกับประชาชนผ่านโครงการต่างๆ รวมถึงดึงให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ได้พัฒนาพื้นที่สีเขียวตามความต้องการของตัวเอง อนึ่ง โครงการพัฒนาเมืองโดยมีพื้นที่สีเขียวเป็นแกนสำคัญของสิงคโปร์ เป็นแผนการพัฒนาที่ยาวนาน มีการใช้การออกแบบที่เหมาะสม เช่น การแก้ปัญหาที่ดินที่มีน้อยด้วย การควบรวมพื้นที่สีเขียวขึ้นไปเป็นแนวตั้ง การเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกบนตึกสูง ทางสิงคโปร์เองยังคงมีการทบทวนไปตามกระแส เช่น ในปี 2012 มีการอัพเดตแผนการพัฒนาตามกระแสและปัญหาสิ่งแวดล้อมที่โลกกำลังเผชิญ ซึ่งในแผนสิบปีล่าสุดนี้สิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการจัดการขยะ การจัดมลพิษ ไปจนถึงการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพอันเป็นกระแสสำคัญทางสิ่งแวดล้อม
Seoul, Korea
แม่น้ำเป็นหัวใจสำคัญของอาณาจักร เป็นแหล่งน้ำ เป็นทางระบายน้ำ เป็นพื้นที่ของชีวิตและความอุดมสมบูรณ์ แต่เมื่อเมืองเกิดขึ้น ถนนและผู้คนจำนวนมหาศาลเริ่มรุกล้ำเข้าไปในแม่น้ำที่เคยเป็นหัวใจสำคัญ คลองชองกเยชอนเป็นคลองสำคัญกลางใจโซล เดิมเคยเป็นคลองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยพระเจ้าแทจง (King Taejong) แรกเริ่มทรงให้ปรับปรุงคลองเพื่อเป็นคลองระบายน้ำ จนถึงสมัยพระเจ้ายองโจ (King Yeongjo) ทรงโปรดให้ขุดขยายคลองเพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ แต่เมื่อหลังญี่ปุ่นยึดเกาหลี บริเวณคลองเริ่มมีการใช้เป็นที่อาศัยทำให้น้ำเริ่มเน่าเสีย จากคำว่าชองกเยชอนที่แปลว่าสายน้ำใสเป็นทักกเยชอน (Takgyecheon) ที่แปลว่าน้ำสกปรก หลังจากนั้นเมืองที่หนาแน่นและขยายตัวขึ้นก็เริ่มทาบทับและสร้างความเสื่อมโทรมให้กับคลองกลายเป็นชุมชนแออัด มีการสร้างถนนทับคลอง และคลองกลายเป็นพื้นที่รับตอม่อทางด่วน
จากผลพวงความเจริญในปลายทศวรรษ 1900s โซลเองก็ต้องจัดการกับเจ้าคลองที่เน่าเสียกลางเมือง ทางการต้องใช้เงินราว 3,000 ล้านบาทต่อปีในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม น้ำเสียและมลภาวะรอบๆ คลอง จนกระทั่งในปี 2001 นายลีมยองบัค(I Myeongbak) เสนอแผนปรับปรุงคลองครั้งใหญ่ตลอดสาย เป็นระยะทาง 5.84 กิโลเมตร และได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรี โครงการเมกะโปรเจกต์เพื่อเปลี่ยนคลองดำกลางเมืองให้กลายเป็นพื้นที่สดใสแห่งใหม่จึงเริ่มต้นขึ้น
โครงการ ‘ดีท็อกซ์’ คลองเริ่มต้นในปี 2003 และเสร็จสิ้นลงในปี 2005 ด้วยงบประมาณหนึ่งหมื่นล้านบาท การพัฒนาในยุค 2000s ถือเป็นการพัฒนาในมุมมองใหม่ จากการพัฒนายุคเดิมที่ความเจริญหมายถึงถนนและรถยนต์ในการสัญจรขนส่งไปสู่การพัฒนาที่มีผู้คนเป็นศูนย์กลาง ด้วยความที่การปรับปรุงครั้งใหญ่เป็นการลงมือที่ถนนสายสำคัญและพื้นที่กลางเมือง กระบวนการลงมือจึงต้องไปเน้นไปที่การประนีประนอมและการรวมเอาผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องรอบๆ พื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมและหาทางออก หลังจากการเจรจาอันยาวนานและความพยายามในการลดปริมาณรถในเมืองด้วยการลดภาษี ในปี 2005 คลองชองกเยชอนกลายเป็นคลองน้ำใส เป็นพื้นที่สีเขียวที่ทันสมัย กลายเป็นจุดศูนย์กลางใหม่ มีทางเลียบคลองและพื้นที่หย่อนใจ เขื่อนชะลอน้ำ ทางข้าม พื้นที่ธรรมชาติใหม่ใจกลางเมืองช่วยลดอุณหภูมิลง 3.6% และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 750,000 ล้านบาท
China
ปัญหาฝุ่นควันบ้านเราเริ่มรุนแรงขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านและยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลาย จีนเป็นอีกเมืองหนึ่งที่ใกล้ชิดกับเราและเผชิญกับปัญหาหมอกควันอย่างหนักหน่วงมาตั้งแต่ราวปี 2012 เรามักเห็นภาพชาวจีนสวมหน้ากากสีขาวท่ามกลางดินแดนที่ถูกคลุมไปด้วยหมอกควันสีตุ่นกระทั่งในเมืองหลวงอย่างปักกิ่ง ปัญหามลพิษกำลังทำร้ายจีนอย่างหนัก จีนจึงลุกขึ้นสู้รบกับฝุ่นด้วยวิถีแบบจีนๆ ตั้งแต่วิธีการเล็กๆ เช่น ห้ามปิ้งย่างไปจนถึงการแก้ในระดับภาพรวม เช่น ผลักดันพลังงานสะอาด ก้าวไปสู่โลกของรถพลังงานไฟฟ้า นโยบายชุดแรกของจีนเป็นแผนนโยบายแก้ไขมลพิษเร่งด่วน 5 ปี เริ่มต้นลงมือตั้งแต่ในช่วยเดือนกันยายน 2013 และสิ้นสุดลงในปี 2017
ปักกิ่งเป็นพื้นที่สำคัญที่ภาครัฐต้องการลดปริมาณฝุ่นลงให้ได้อย่างรวดเร็วที่สุดถึงขนาดสั่งปิดโรงงานถ่านหินรอบปักกิ่ง สนับสนุนและพัฒนาระบบคมนาคมที่ใช้พลังงานสะอาด เปลี่ยนรถเมล์เกือบทั้งหมดเป็นระบบไฟฟ้า เน้นผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและเพิ่มสถานีชาร์จแบตเตอรี่สำหรับรถพลังงานไฟฟ้า ห้ามประชาชนจุดถ่านผิงไฟไปจนถึงแบนการปิ้งย่างในที่โล่ง ใครอยากกินหมาล่าก็ขอให้ไปกินในร้านที่ใช้เตาไฟฟ้าแทน มาตราการงดปิ้งย่างนี้ค่อนข้างทำร้ายจิตใจและถูกวิพากษ์วิจารณ์ชุดใหญ่พอสมควร แต่ด้านหนึ่งก็แสดงให้เห็นการลงมือสู้แบบจีนๆ ที่เอาทุกทาง นอกจากงดปิ้งย่างยังมีการใช้เทคโนโลยีสารพัดเพื่อเอาชนะฝุ่นตั้งแต่การใช้โดรนบินเพื่อพ่นสารกำจัดหมอก ติดสปริงเกอร์ขนาดยักษ์ หรือในปี 2018 จีนจัดการระดมทหาร 60,000 นาย ลงพื้นที่ปลูกต้นไม้ 84,000 ตารางกิโลเมตรเพื่อสร้างป่าเอาชนะฝุ่น
ผลของมาตราการเร่งด่วนทำให้จีนสามารถลดปริมาณฝุ่นละอองในปักกิ่งลงจาก 89.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เหลือ 58 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ได้ตามเป้า แต่ปริมาณฝุ่นที่ลดลงแล้วก็ยังไม่อยู่ในระดับมาตราฐานตามที่องค์กรอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 35 ไมโครกรัมฯ อยู่ดี และที่สำคัญคือนักวิทยาศาสตร์จีนพบว่าแม้จะสามารถลดค่าฝุ่น PM 2.5 ลงได้ แต่ค่ามลพิษในปักกิ่งกลับไม่ลดลงเลย นักวิทยาศาสตร์พบว่าการลดปริมาณฝุ่นลงอย่างรวดเร็วส่งผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศและทำไห้ค่าโอโซนเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่ออุณหภูมิในเมือง ภาวะเรือนกระจกและภาวะโลกร้อน แผนระยะต่อมาของจีนในนามแผน ‘การทำสงครามเพื่อท้องฟ้าสดใส (Three-year Action Plan for Winning the Blue Sky War)’ จึงมุ่งเน้นการลดมลพิษอย่างยั่งยืนและเป็นระบบ โดยไม่ได้เน้นแค่การจัดการมลพิษทางอากาศ แต่เป็นแผนที่ควบรวมเอาทั้งการจัดการมลพิษและการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนเข้าไว้ด้วยกัน
Stockholm, Sweden
ภาวะโลกร้อนกำลังทำให้ชีวิตเราลำบากขึ้น ภัยพิบัติทั้งหลายก่อตัวรุนแรงและบ่อยครั้งขึ้นเรื่อยๆ กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดนเป็นอีกหนึ่งเมืองที่วางมาตราการและออกแบบเมืองเพื่อความยั่งยืนไว้ตั้งแต่ทศวรรษ 1960s ซึ่งตอนนั้นกรุงสตอกโฮล์มมีการวางแนวทางการพัฒนาเมืองโดยเน้นการวางโครงข่ายคมนาคม การสร้างพื้นที่สีเขียวในเมืองและการจัดการน้ำและขยะ ในปี 2010 ทาง EU ได้เลือกให้สตอกโฮล์มเป็นเมืองสีเขียวลำดับที่ 1 ของยุโรป (European Green Capital)
ถ้าพูดถึงเรื่องภูมิอากาศต้องว่าด้วยการร่วมกันลดก๊าซเรือนกระจก ทางเมืองสตอกโฮล์มตั้งเป้าลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ด้วยการหันไปสู่พลังงานสะอาดต่างๆ ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990s ทางกรุงสตอกโฮล์มเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงสะอาด เช่น เชื้อเพลิงจากขยะ เชื้อเพลิงจากพืช เชื้อเพลิงหมุนเวียน ด้วยความที่เป็นเมืองหนาวก็เลยใช้เชื้อเพลิงนี้เป็นแหล่งความร้อนหลักของเมือง ในช่วงนั้นเมืองใช้พลังงานหมุนเวียนในการอุ่นเมืองไปได้ 80% แถมในหน้าร้อนทางกรุงสตอกโฮล์มยังพัฒนาระบบการหมุนเวียนน้ำเพื่อทำให้เมืองเย็นจากแหล่งน้ำธรรมชาติ จากนั้นกรุงสตอกโฮล์มเดินหน้าเพิ่มสัดส่วนการใช้และผลิตพลังงานสะอาดเพื่อเมืองเรื่อยมา มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์กว่า 13,500 ตารางเมตรบนหลังคาอาคารที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 1.3 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี ให้ความสำคัญกับการคัดแยกขยะเพื่อนำไปจัดการอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด มีโครงการ Biochar ถ่านชีวภาพในสวน ติดตั้งเตาเผาถ่านชีวภาพที่นำเอาขยะในสวนและสวนสาธารณะมาเผาเป็นถ่านเพื่อนำกลับไปบำรุงดินในสวนอีกครั้ง
ผลของความพยายามทำให้ในปี 2015 สตอกโฮล์มลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหลือเพียง 2.5 ตันต่อประชากรหนึ่งคนต่อปี ในขณะที่ในปีนั้นอเมริกามีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ที่ 15.53 ตัน
Tirana, Albania
- เด็กคืออนาคตของชาติ และแน่นอนว่าเด็กๆ เป็น ‘พลเมือง’ ที่สำคัญและอ่อนแอที่สุดกลุ่มหนึ่ง เด็กตัวเล็ก เดินช้า ขาสั้น รายได้ไม่มี เกิดอุบัติเหตุก็ง่าย ไวต่อมลพิษทั้งหลายของเมือง แถมเด็กๆ ยังต้องการพื้นที่เล่น ต้องการการออกแบบเมืองที่กระตุ้นพัฒนาการด้านต่างๆ ระยะหลังหลายเมืองใหญ่เริ่มพูดถึงการออกแบบเมืองที่ ‘เป็นมิตรกับเด็ก’ (child friendly) เมืองแห่งสนามเด็กเล่น
Tirana คือเมืองหลวงของ Albania ประเทศฝั่งยุโรปตะวันตกเป็นอีกหนึ่งเมืองใหญ่ที่สร้างเมืองเพื่อให้เด็กน้อยได้มีชีวิตที่ดี ได้วิ่งเล่นเดินเล่น ลดการใช้รถยนต์ลง นโยบายเมืองเพื่อเด็กเริ่มต้นในปี 2015 นำโดยนาย Erion Veliaj นายกเทศมนตรีประจำเมืองออกมาลุยปรับเมืองหลวงดินแดนคอมมิวนิสต์เก่านี้ด้วยแผนเปลี่ยนเมืองด้วยสนามเด็กเล่น หลักการพื้นฐานของแกก็ง่ายๆ คือลด หรือกระทั่งงดการใช้รถในพื้นที่สำคัญของเมือง ทำให้เมืองน่าเดินขึ้น เพิ่มพื้นที่สนามเด็กเล่นและออกแบบพื้นที่ที่อำนวยการเล่นของเด็กในเมือง
แผนของท่านเทศมนตรีหนุ่มเล่นใหญ่ด้วยการเริ่มจากจัตุรัส Skanderbeg Square จัตุรัสสำคัญมหึมากลางเมืองที่รายล้อมไปด้วยหน่วยงานและการจราจรคับคั่ง แกถึงขนาดให้ค่อยๆ ปิดถนนจนกระทั่งรอบจัตุรัสกลายเป็นเขตปลอดรถ มีการปรับภูมิทัศน์รอบๆ พื้นที่รอบจัตุรัสใหม่ เช่น ทำสนามหญ้าที่เป็นเนินเพื่ออำนวยให้เด็กๆ ใช้วิ่งเล่นหรือเตะฟุตบอล สุดท้ายจัตุรัสยักษ์ใหญ่นี้กลายเป็นที่ที่พ่อแม่และเด็กๆ เดินจูงมือ ขี่จักรยานกันมาพักผ่อนหย่อนใจและมีกิจกรรมสันทนาการร่วมกัน นอกจากใจกลางเมืองแล้วยังมีนโยบายต่อเนื่อง เช่น มีการปรับพื้นที่ที่ถูกนำไปใช้อย่างไม่ถูกต้องกว่า 40,000 ตารางเมตร ให้กลายเป็นสนามเด็กเล่น 31 แห่ง สร้างความร่วมมือกับเอกชน นำเอาโรงเรียนอนุบาลและเนิร์สเซอรีที่ปิดกิจการมาทำให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ 10 แห่ง ในแง่ความเขียวขจีทางภาครัฐออกนโยบาย ‘ต้นไม้วันเกิด’ คือเปิดพื้นที่ให้พ่อแม่พาลูกๆ ไปปลูกต้นไม้เพื่อเป็นแนวกำแพงป้องกันมลพิษในพื้นที่สวนที่จัดไว้ให้ มีนโยบายปลูกต้นไม้ทดแทน เช่น ปลูกต้นไม้สองต้นต่อรถขององค์กรหนึ่งคัน มีการเปิดสภาเมืองและให้เด็กๆ เข้าเสนอความคิด พูดคุยถกเถียงกัน
London, England
- เพราะว่าเมืองไม่ได้มีแค่เรา ก่อนนี้เวลาเราพูดถึงคำว่าระบบนิเวศดูจะเป็นเรื่องของป่าเขาลำเนาไพร เวลาพูดถึงเมืองเรามักนึกถึงแต่คน แต่ด้วยกระแสระบบนิเวศว่าด้วยความสำคัญและการเคารพต่อธรรมชาติ มนุษย์เริ่มมองเห็นเผ่าพันธุ์ของเราในฐานะส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เกื้อกูลและพึ่งพากัน ในแง่ของเมือง เราเองก็เริ่มเห็นว่าเมืองก็มี ‘นิเวศ’ มีสิ่งมีชีวิตหลายหลากที่รวมกันอยู่ กระแสการพัฒนาและความสนใจจึงเริ่มกลับมามองเห็นความสัมพันธ์และความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ต่างอาศัยอยู่ในเมืองร่วมกับเรา
ลอนดอนเป็นอีกหนึ่งเมืองใหญ่ที่หันกลับมาใส่ใจกับสิ่งมีชีวิตที่อยู่ร่วมกับเรา ลอนดอนมี action plan ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพมาหลายช่วงจนล่าสุดเป็นแผน the City of London Biodiversity Action Plan 2016-2020 โดยหลักการทางลอนดอนบอกว่าลอนดอนเองก็มีพื้นสีเขียวกระจายตัวเล็กใหญ่อยู่ในเมืองอยู่แล้ว แต่การเอาความหลากหลายทางชีวภาพเข้ามาเป็นแกนกลาง ทางการเลยส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่เขียวๆ พวกนั้นให้เอื้อกับการเจริญเติบโต ส่งเสริมที่อยู่อาศัยของสัตว์น้อยใหญ่ นก แมลง โดยในแผนลอนดอนพูดถึงสัตว์ 7 สายพันธุ์ประกอบด้วย นกกระจอกใหญ่(House Sparrow) นกเขนสีดำ (Black Redstart) นกแอ่น(Swift) เหยี่ยวเพเรกริน (Peregrine Falcon) ค้างคาว ผึ้ง(Bumblebees) และ ด้วงเขี้ยวกาง(Stag Beetle)
วิธีการส่งเสริมก็เริ่มตั้งแต่การปรับปรุงพื้นที่เป้าหมายอันเป็นที่อาศัยของสัตว์เช่น สวน สุสาน ลานกว้างของโบสถ์ โดยเน้นไปที่การปลูกพืชท้องถิ่นอันเป็นทั้งแหล่งอาศัยและแหล่งอาหารไปจนถึงการสร้างพื้นที่อาศัยด้วยวัตถุต่างๆ เช่นวางขอนไม้เก่า มีการติดตั้งโรงแรมแมลง บ้านนก ไปจนถึงจุดเล็กๆ เพิ่มพื้นที่เขียวๆ ให้กำแพงด้วยมอสและไลแคน การเลือกปลูกต้นไม้บางประเภทที่นกสามารถเอาไปทำรังได้ การปลูกดอกไม้ นอกจากการสร้างพื้นที่ที่คำนึงกับสัตว์น้อยใหญ่แล้วยังเน้นไปที่การชี้ชวนผู้คนให้มองเห็นและเข้าใจว่าเราอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกมากมาย เน้นการจัดกิจกรรม เช่นพัฒนาหลักสูตรกับทางโรงเรียน จัดกิจกรรมชมสัตว์ จัดพื้นที่สำหรับการดูนก
Fujisawa, Japan
- สังคมสูงวัยกำลังเป็นกระแสสำคัญ ด้วยอัตราการเกิดที่ลดน้อยลงและผู้คนก็เริ่มมีอายุยืนนานกันมากขึ้น ผู้สูงอายุกำลังจะกลายเป็นสัดส่วนประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ บ้านเราคาดการณ์ว่าในปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์คือมัดส่วนผู้สูงอายุอยู่ที่ 26% ต่อประชากรทั้งหมด บ้านเรายังถือว่าเล็กน้อย ญี่ปุ่นเองด้วยอัตราการเกิดที่ยิ่งลดลงแถมคนญี่ปุ่นก็อายุยืนนานกันยิ่งขึ้น ในปี 2005 ญี่ปุ่นมีสัดส่วนผู้สูงอายุต่อประชากรไปแล้วถึง 20% และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไปที่ 32% และ 41% ในปี 2030 และ 2055 ตามลำดับ
เมื่อผู้สูงอายุกำลังกลายเป็นคนส่วนใหญ่ เมืองเองก็ต้องปรับตัวเพื่อรองรับกลุ่มประชากรสูงวัยให้สูงวัยกันอย่างมีไออุ่น นอกจากประเด็นร่างกายที่ถดถอยลงตามกาลเวลาแล้ว กลุ่มผู้สูงอายุยังเป็นกลุ่มเสี่ยงในทางจิตใจด้วย นึกภาพการแก่ตัวลงและต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยว จากคนที่เคยทำงานและใช้ชีวิตยุ่งเหยิงไปสู่การไม่ได้ทำอะไร ทาง University of Tokyo เสนอแผนพัฒนาและออกแบบเมืองเพื่อชนสูงวัยโดยมีสภาเมืองคาชิวะ (Kashiwa Municipal Government) และ Urban Renaissance Agency รับเอาแนวคิดและลงมือเปลี่ยนย่าน Toyoshikidai ของเมืองคาชิวะ จังหวัดชิบะ (Chiba Prefecture) ให้กลายเป็นเมืองที่ดีต่อคนสูงวัย เป็นพื้นที่ที่บำรุงทั้งสุขภาพกายและใจให้กับผู้สูงอายุ
หลักการออกแบบสำคัญสำหรับผู้สูงอายุคือการเน้นการดูแลที่เหมาะสม พื้นฐานที่สุดคือการวางการให้บริการทางการแพทย์ที่เพียงพอ เริ่มต้นที่การปรับอาคารพักอาศัยเก่าให้กลายเป็นตึกพักอาศัย 14 ชั้น มีลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะกับการใช้ไม้เท้าและรถเข็น มีงานศึกษาพบว่าผู้สูงอายุยังไม่ต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์มากนักจนกระทั่งอายุ 75 ดังนั้นในทุกๆ หัวถนน ทางการจะจัดคลินิกเล็กๆ ไว้บริการ 24 ชั่วโมง เน้นทั้งการส่งบริการทางการแพทย์เพื่อไปบริการถึงบ้านและการมีคลินิกใกล้ๆ ทำให้ผู้สูงอายุสามารถไปหาหมอได้ยามเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ในโซนย่านพักสำหรับคนชรา ภาครัฐจะมีการจัดบริการและบุคลากรทางสาธารณสุขไว้อย่างครบถ้วนทั้งเภสัช พยาบาลและแพทย์ ให้ผู้สูงวัยใช้ชีวิตได้อย่างอุ่นใจ
นอกจากการเตรียมรองรับเรื่องทางกายภาพ เช่น การแพทย์ และการจัดภูมิทัศน์โดยรอบ เช่น ทางเดิน ต้นไม้และสิ่งอำนวยความสะดวกแล้ว ด้วยความเข้าใจว่าความว่างนั้นน่ากลัวจึงมีการจัดพื้นที่ที่ผู้สูงอายุสามารถทำกิจกรรมได้ มีการจัดพื้นที่เพาะปลูกให้คนชราได้ไปใช้เวลาผลิตอาหาร เรื่องการกินก็สำคัญทางการมีร้านอาหาร-ครัวส่วนกลาง เป็นพื้นที่ที่ใครๆ ก็ไปใช้ทำและรับประทานอาหารร่วมกัน หรือผู้สูงอายุคนไหนที่อยู่คนเดียวก็มีอาหารห่อกลับบ้านบริการให้ด้วย ตรงนี้ดูแล้วถือว่าเป็นการออกแบบเมืองที่เอาใจใส่ ลดภาพคนชราที่ต้องทำอาหารกินเองคนเดียวที่มักจะดูเหงาหงอยและอาจไม่ถูกโภชนาการเท่าไหร่นัก นอกจากเรื่องการผลิตอาหารตัวโครงการเห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างวัยเป็นการชุบชูใจที่ดี เลยจัดพื้นที่ เช่น เนิร์สเซอรีเป็นพื้นที่ให้ผู้สูงอายุได้เข้าไปดูแลเด็กๆ ไปจนถึงส่งเสริมและเปิดพื้นที่ให้เด็กและคนแก่ได้มาใช้เวลาร่วมกัน ตำโมจิ มาร่วมกันเรียนรู้เรื่องรวมของกันและกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
อ้างอิงข้อมูลจาก
wwf.panda.org
stockholm.se
openaccessgovernment.org
cityoflondon.gov.uk
- Vanat Putnark
Writer