ก่อนหน้านี้เรามีคำว่ายั่งยืน (sustainability) และหลังจากนั้นราวปี 2012-2013 ก็เริ่มมีกระแสใหม่เรื่องความยืดหยุ่นเข้ามาร่วมเปลี่ยนวิธีคิด จนเกิดสถาบันการออกแบบเพื่อความยืดหยุ่นอย่าง The Resilient Design Institute (RDI) ขึ้น เกิดข้อเขียนที่ตั้งคำถามว่าอะไรหรือความยืดหยุ่น และงานออกแบบที่เน้นการปรับตัวกำลังจะมาแทนที่ความยั่งยืนแล้วหรือเปล่า
ส่วนหนึ่งคงด้วยในตอนนั้นโลกเราเริ่มเผชิญความเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงสังคมที่มนุษย์เองเริ่มเข้าสู่โลกดิจิทัล ค่านิยม และวิถีชีวิตเริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เกิดความต้องการใหม่ๆ แต่แนวคิดเรื่องการปรับตัวและความยืดหยุ่นนั้นโดดเด่นเมื่อเราเริ่มเผชิญภาวะโลกร้อน ธรรมชาติต่างๆ เริ่มรุนแรงขึ้น โลกเราเริ่มเผชิญวิกฤติหลายระลอกซ้ำแล้วซ้ำเล่า การจะที่จะอยู่ได้นั้น ก็ต้องรู้จักปรับตัว ปรับใจ พื้นที่อยู่อาศัย และวิถีชีวิตให้กับความเปลี่ยนแปลงอันเป็นธรรมดาของโลกนี้
แต่ในที่สุดคำว่า ‘ยืดหยุ่น’ มันคืออะไรกันแน่ เรารู้ว่าการยืดหยุ่นปรับตัวดูจะเป็นหัวใจสำคัญของการรับมือความเปลี่ยนแปลง แล้วในแง่ของเมือง คำว่าเมืองยืดหยุ่นนั้นหมายถึงอะไร แล้วเราจะนำไปสู่ปลายทางที่ ‘รอดไปด้วยกันได้’ อย่างไร นักวิชาการเช่น Lorenzo Chelleri ประธานเครือข่าย Urban Resilience Research Network และนักวิจัยระดับหลังปริญญาเอกบอกว่ามโนทัศน์เรื่องเมืองยืดหยุ่นนั้นเป็นเรื่องซับซ้อน ไม่ใช่แค่สิ่งปลูกสร้าง แต่คือการบริหารจัดการแบบองค์รวม
เข้าใจความยืดหยุ่น ตั้งแต่เรื่องหัวใจถึงเรื่องเมือง
เวลาเราพูดถึงความยืดหยุ่น เรามีภาพบางอย่าง มีชุดออกแบบเฉพาะ เราเห็นการลงทุนต้นไม้ เห็นการสร้างสถาปัตยกรรมที่ตัวมันเองยืดหยุ่น รับมือกับความเปลี่ยนแปลง มีแนวต้นไม้ มีพื้นที่ซับน้ำเวลาน้ำท่วม เป็นการลงทุนขนาดใหญ่ในเมือง เช่นแนวต้นไม้ช่วยดูดซับฝุ่น
แน่นอนว่าความยืดหยุ่นสัมพันธ์กับภาวะวิกฤติ ถ้าโลกนี้หรือชีวิตไม่มีปัญหาอะไร เราก็ไม่ต้องมีแนวคิดเรื่องความยืดหยุ่นก็ได้ แต่ความยืดหยุ่นก็มีหลายระดับ และมุมสำคัญคือการที่เราเรียนรู้ เติบโต และรับมือกับวิกฤติปัญหาต่างๆ ก็เป็นการฝึกความยืดหยุ่นในตัวเอง ถ้าเปรียบกับชีวิต ก็เหมือนเราอกหัก เจอวิกฤติรัก เราเจ็บร้าวครั้งแรกแล้วพยายาม resilient เข้าใจ โอบรับ และก้าวพ้นวิกฤติ ฉุดตัวเองขึ้นจากหลุมบ่อของความเจ็บปวดได้ จากรักร้าวครั้งแรกใช้เวลาปรับตัวอยู่สามเดือน พอรักบ่อยๆ เข้า เราก็ยืดหยุ่นกับรัก เริ่มยึดติดน้อยลง ไม่ค่อยคาดหวัง อยู่กับความจริง ก็แปลว่าในแง่วิชาชีวิต เราก็ค่อยๆ ยืดหยุ่นปรับตัวเก่งขึ้น แกร่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็โอนอ่อนมากขึ้น
อะจริงๆ ต้องออกตัวว่าเรื่องหัวใจก็อาจจะไม่ได้เก่งขึ้นง่ายๆ แต่มันก็มีการปรับตัวเรียนรู้อยู่ในนั้นเนอะ ทีนี้ในระดับเมืองก็เช่นเดียวกัน เราพูดว่ายืดหยุ่นๆ แต่ในระดับความเคลื่อนไหว ไอ้เจ้าความยืดหยุ่นนั้นมันก็มีขั้นตอนกระบวนการต่อไป ทีนี้ ตรงนี้เป็นข้อคิดเห็นของ Lorenzo Chelleri ที่ใช้กรอบคำอธิบายจากงานวิจัยที่ตัวเองร่วมวิจัยชื่อ Resilience trade-offs: addressing multiple scales and temporal aspects of urban resilience ดังตารางนี้
การเมืองของความยืดหยุ่น’
จากตารางว่าด้วยความยืดหยุ่นนั้น เราจะเห็นว่าแนวคิดเรื่องความยืดหยุ่น- เมืองยืดหยุ่น สิ่งที่ผู้วิจัยชี้ให้เห็นความซับซ้อนและการรับไม้อย่างต่อเนื่องกันในการสร้าง ‘เมืองยืดหยุ่น- urban resilient’ อย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม คือคำว่าการยืดหยุ่นมีหลายเฟส จากเฟสแรกเมื่อเจอน้ำท่วม เจอพายุปุ๊บ เรา recover หลังจากนั้นเราก็เริ่มปรับตัวเป็นขั้น adaptation เช่นทุกวันนี้เราเริ่มใส่หน้ากาก เริ่มทิ้งระยะห่าง หลังจากนั้นก็เริ่มนวัตกรรมที่สอดรับกับภาวะที่เปลี่ยนไปนั้นๆ – transformation
ประเด็นสำคัญมากๆ ที่ Lorenzo พยายามพูดคือ ไอ้การเปลี่ยนแปลงนี้ ที่เราทำๆ กัน มันดูจะไม่ได้ไปสู่องค์รวมของมัน คือเราดูจะหยุดแค่การ recovery – ในระดับสิ่งปลูกสร้าง ตึก อาคาร เขื่อน พื้นที่ซับน้ำ แนวต้นไม้ และกลับไปสู่ข้อโต้แย้งคลาสสิกที่ว่า ในที่สุดแล้วบริบทและมิติทางสังคม-การเมืองเป็นสิ่งที่ต้องอยู่ในแกนของการสร้างความยืดหยุ่น
Charles Redman นักวิชาการและผู้อำนวยการผู้ก่อตั้ง School of Sustainability แห่งมหาวิทยาลัย Arizona State University บอกว่าเนี่ยถ้ามองเรื่องการปรับตัวนะ บริษัทในระบบทุนนิยมปรับตัวและทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้เก่งทั้งนั้นแหละ คำว่าการปรับตัวจึงอาจจะได้มีมนต์ขนาดนั้น เพราะในโลกที่บริษัทอาจจะสร้างตึกที่ปรับตัวกับโลกขึ้นมา ก็ไม่ได้หมายความว่าโลกนี้จะดีขึ้น บริษัทเหล่านั้นอาจจะเติบโตอยู่บนความฉ้อฉล ความไม่ยั่งยืน และระบบที่ไม่เป็นธรรมก็ได้
จุดนี้ไม่เชิงว่าอะไรๆ ก็เป็นเรื่องการเมืองเนอะ แต่นักวิชาการสายปรับตัว ที่มองเห็นความสำคัญของนิเวศเมืองก็ย่อมมองเห็นความสัมพันธ์อันซับซ้อนในพื้นที่เมือง ที่ไม่ได้มีแค่สิ่งปลูกสร้าง แต่ยังสัมพันธ์กับสังคม นโยบาย การเมืองและมุมมองอย่างซับซ้อน ดังนั้นในสเกลการปรับตัวจากการ recovery จะไปสู่transformation นั้น เราจะเห็นว่านักวิจัยระบุว่าเป็นขั้นที่เป็น Social- Ecological Resilient
คนๆ เมืองๆ กับความซับซ้อนของอนาคตเมืองยืดหยุ่น
ด้วยภาวะความเปลี่ยนแปลง ความยืดหยุ่น การปรับตัว และเมืองนั้นสำคัญแน่ๆ แต่ต้องไม่เป็นไปอย่างเก๋ๆ หรือนำมาปะหน้าเพื่อเพิ่มมูลค่าหรือปกปิดประเด็นปัญหาในระบบทุนนิยมและสังคมร่วมสมัย ข้อวิจารณ์ของ Lorenzo จริงๆ หลายข้อก็ยังเป็นปัญหาแบบเดิม เช่น มองเห็นการแก้ปัญหาระยะสั้นมากกว่าระยะยาว คนที่ทำงานเพื่อสร้างความยืดหยุ่นให้เมืองนั้นไม่ได้รวมหรือฟังทุกคนเข้าไปด้วย หรือไปทำให้การสร้างความยั่งยืนไม่เป็นการเมือง ลอยตัวจากโลกของอำนาจและแนวนโยบายรวมไปถึงการได้เสียผลประโยชน์ของผู้คนรอบๆ และข้อชี้แจงสำคัญคือการมองไม่เห็นมิติอื่นๆ ของการจะปรับตัวให้ได้ ว่าตัวมันเองมีมิติซับซ้อนอย่างไร เช่น การสร้างแนวพื้นที่สีเขียวเพื่อรับคลื่นความร้อน แต่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าคลื่นความร้อนนั้นสัมพันธ์กับปัญหาของเมือง เกิดจากความต้องการที่อยู่อาศัย และมูลค่าที่ดินที่สูงขึ้นเกิดการกระจุกตัว อาคารสูง ซึ่งก็ล้วนสัมพันธ์กับปัญหาสังคมและแนวทางการพัฒนาเมือง
ดังนั้นเอง เรื่องเมืองยืดหยุ่นในทัศนะของนักวิชาการก็เลยบอกว่าเนี่ย ไม่ใช่แค่การสร้างนะ แต่มันคือการบริหารจัดการ การปรับตัว เช่น ภาวะโลกร้อน หรือโรคระบาดในปัจจุบัน นี่ไม่ใช่แค่เรื่องลอยๆ แต่มีคนจริงๆ มีกลุ่มคนที่อ่อนไหว ผู้มีรายได้น้อย คนยากคนจนที่ได้รับผลกระทบหนักจากการต้องปรับตัวอย่างเป็นรูปธรรม และมิติเชิงสังคมนี้ก็ย่อมเกี่ยวข้องกับสารพัดสิ่งที่ร่วมเป็นแกนของปัญหา จากตลาดที่ถูกผูกขาด การพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ไม่เพียงพอ การกระจายทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม การแค่สร้างจึงไม่พอ เราจึงต้องจัดการทุกมิติของเมืองให้มีความยืดหยุ่นด้วย
ในที่สุด เมืองเป็นเรื่องของคน ในข้อเขียนของ Young Academics of the Association of the European Schools of Planning เองก็พูดถึงประเด็นเรื่องการปรับตัวว่าเป็นเรื่องของผู้คน และชี้ให้เห็นว่าเมืองแต่ละเมืองนั้นมุ่งสู่การเป็นเมืองยืดหยุ่น โดยมีแกนความคิดในระดับผู้คนที่แตกต่างกัน ที่บอสตัน ความยืดหยุ่นของเมืองเริ่มต้นที่ชาติพันธุ์และความเท่าเทียม หรือที่นิว ออร์ลีนที่จะพูดเรื่องสมาร์ตซิตี้ พอใช้เทคโนโลยีแผนที่ดูผลกระทบของเฮอริเคนแคทรีน่าแล้วก็พบว่าพื้นที่ที่เสียหายหนักหนาและต้องการการเยียวยาจากภัยธรรมชาติที่ดูไม่เลือกหน้า พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงก็เป็นพื้นที่กลุ่มชายขอบทางเชื้อชาติและชายขอบททางเศรษฐกิจสังคม
ดังนั้นถ้าจะพัฒนาไปในทางใด ก็ย่อมต้องมองความไม่เท่าเทียมนี้เป็นแกนของการพัฒนาเพื่อนำไปสู่เมืองแห่งความยืดหยุ่นที่ ปรับตัวได้โดยถ้วนหน้า
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Montree Sommut
- Vanat Putnark
Writer