CITY CRACKER

พืชพรรณในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ตามคติความเชื่อแบบไทยและโลกตะวันออก เราเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์และความหมายต่างๆ สถิตอยู่ในธรรมชาติ ธรรมชาติและพืชพรรณจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สัมพันธ์ข้องเกี่ยวกับความเชื่อและวัฒนธรรมแบบไทยเสมอ ในพระพิธีบรมราชาภิเษกเองก็มีการใช้ธรรมชาติ เช่นน้ำเป็นหัวใจสำคัญในการเปลี่ยนสถานะสู่ความเป็นพระมหากษัตริย์ในการสรงมุรธาไปจนถึงการรดน้ำอภิเษก

 

นอกจากน้ำแล้ว พืชพรรณก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่เกิดขึ้น การใช้ใบไม้และพรรณพืชอันเป็นมงคลภายในพระราชพิธีนั้นสัมพันธ์กับคติความเชื่อ รวมถึงตำนานแบบฮินดูและพุทธอันเป็นพื้นฐานความคิดในคติแบบเทวราชาของบ้านเรา พืชพรรณเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงเข้ากับสภาวะที่พ้นไปจากความเป็นมนุษย์ ไปสู่ภาวะที่ศักดิ์สิทธิ์สัมพันธ์กับทวยเทพและสรวงสวรรค์

 

มะเดื่ออุทุมพร

ในภาษาบาลีสันสกฤต อุทุมพร หมายถึงต้นมะเดื่อ ตามคติพราหมณ์เชื่อว่าไม้มะเดื่อเป็นไม้สำคัญและเป็นไม้ของพระผู้เป็นเจ้า มีตำนานเล่าว่าไม้มะเดื่อเป็นที่ประทับของพระตรีมูรติ เทพเจ้าสำคัญสูงสุดในศาสนาฮินดู ดังนั้น ด้วยคติเทวราชาที่เชื่อว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมุติเทพ จึงมีการใช้ไม้มะเดื่อในการสร้างพระที่นั่งและพระแท่นประทับในพระราชพิธีสำคัญ
มีหลักฐานใน ‘คำให้การชาวกรุงเก่า’ ว่ามีการใช้ไม้มะเดื่อในการบรมราชาภิเษกตั้งแต่ครั้งอยุธยาความว่า “พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาจึงโปรดให้เอาไม้มะเดื่อนั้นมาทำตั่งสำหรับประทับสรงพระกระยาสนานในการมงคล เช่น พระราชพิธีราชาภิเษก เป็นต้น” พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในปัจจุบันก็มีการใช้ไม้มะเดื่อในการสร้างตั่งไม้สำหรับประทับขณะรับน้ำพระพุทธมนตร์ในการสรงน้ำมุรธาภิเษก และใช้สร้างพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ พระที่นั่งทรงแปดเหลี่ยมสำหรับประทับเพื่อรับน้ำเทพมนตร์จากพระมหาราชครูและพราหมณ์ โดยมีความเชื่อว่าพระที่นั่งทรงแปดเหลี่ยมนี้มีเทพยดาประจำทิศทั้งแปดรักษาคือ พระอินทร์ พระยม พระไพศรพณ์ พระวรุณ พระอีศาณ พระอัคนี พระนิรฤติ และพระพาย

หญ้ากุศะ

หญ้ากุศะ ตามความเชื่อและเรื่องเล่าปนเปมากับหญ้ากุศะที่เรารู้จักกันดี ถือเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของทางพราหมณ์ ตามประเพณีเมื่อมีการร่ายพระเวทจะมีการปูหญ้ากุศะเพื่อใช้นั่งและเชื่อกันว่าหญ้ากุศะ เป็นหญ้าที่ชำระให้พื้นที่นั้นบริสุทธิ์ขึ้นได้ ใน ‘นิยายเบงคลี’ ของ เสถียรโกเศศเล่าถึงการใช้หญ้ากุศะจุ่มน้ำ แล้วนำมาพรมสถานที่จัดพิธีกรรมเพื่อ ‘ชำระลามกในบ้าน’ ตามตำนานการกวนเกษียรสมุทร เมื่อเทวดากวนเกษียรสมุทรจนได้น้ำอมฤตแล้ว พระนารายณ์จึงแปลงเป็นนางอัปสรและกระเดียดหม้อน้ำอมฤตเข้าเอวเดินแจกจ่ายให้กับเทวดา ว่ากันว่ารอยริ้วที่หม้อขูดกับเอวจนผิวนางอัปสรร่วงหล่นลงบนพื้นและได้งอกเป็นหญ้ากุศะขึ้น อีกตำนานกล่าวว่าในการกวนน้ำอมฤต เส้นผมของเทวดาที่หลุดร่วงลงไปในทะเลเมื่อลอยเข้าถึงฝั่งก็ได้กลายเป็นหญ้ากุศะในที่สุด

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกใช้หญ้ากุศะเพื่อปูลาดพระที่นั่งภัทรบิฐ โรยแป้งสาลีก่อนจะลาดด้วยหลังหรือแผ่นทองรูปราชสีห์ พระที่นั่งภัทรบิฐเป็นพระที่นั่งที่พระเจ้าอยู่หัวจะประทับเพื่อรับพระสุพรรณบัฏ เครื่องราชกกุธภัณฑ์และพระแสงอัษฎาวุธอันเป็นขั้นตอนที่พระองค์ทรงรับการถวายพระเกียรติยศในฐานะพระเจ้าแผ่นดิน การประทับบนหญ้าที่เชื่อเป็นส่วนหนึ่งของพระนารายณ์จึงสัมพันธ์กับความเชื่อที่ว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีความสัมพันธ์กับเทพยดาในการปกครอง ทั้งนี้จากความเชื่อเรื่องการทำพื้นที่ให้บริสุทธิ์ ในพระราชพิธีพราหมณ์จะใช้หญ้ากุศะถักเป็นเส้นสายสิญจน์โยงรอบพระมหามณเฑียร

ใบมะตูม


ใบมะตูมเป็นใบไม้สำคัญและถือเป็นใบไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ประกอบในพิธีสำคัญของไทย ตามธรรมเนียมพระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานใบมะตูมเพื่อทัดที่หูในพิธีอันเป็นมงคล เช่น พระราชทานให้กับพระยาแรกนาและเทพีในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ไปจนถึงพิธีเสกสมรสและสมรสพระราชทาน ตามความเชื่อว่าด้วยความที่ใบมะตูมมีลักษณะเป็นสามแฉกจึงเชื่อว่าใบมะตูมเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับเทพเจ้าทั้งสาม ตามคัมภีร์ศิวะปุราณะกล่าวว่าต้นมะตูมเป็นต้นไม้ของพระศิวะ ใบมะตูมมีอำนาจในการทำลายบาป แฉกทั้งสามของใบมะตูมเทียบได้กับตาที่สามและตรีศูลของพระศิวะ ในการสรงพระกายาสนาน เมื่อพราหมณ์ถวายน้ำพระมหาสังข์แล้วจะถวายใบมะตูมเพื่อทรงทัดที่พระกรรณ อันเป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะและความเป็นมงคล

ใบสมิต

คำว่าสมิตแปลว่ากิ่งแห้งของต้นไม้ ในพิธีพราหมณ์ใบสมิตคือช่อของใบไม้ที่พราหมณ์ทำขึ้นเพื่อใช้ในการปัดภัยอันตรายในพิธีสำคัญ แต่เดิมใบสมิตประกอบด้วยใบไม้จำนวนหลากชนิด เพื่อลดความยุ่งยากลง รัชกาลที่ 5 จึงทรงโปรดให้ลดใบไม้ลงเหลือ 3 ชนิดประกอบด้วยใบมะม่วง ใบทอง และใบตะขบ โดยจำนวยของแต่ละใบก็จะใช้เพื่อปัดอันตรายต่างกันคือ ใช้ใบมะม่วง 25 ใบ ใบทอง 32 ใบ และใบตะขบ 69 ใบ ใบทั้งสามใช้เพื่อปัดเป่าภัยอันตราย อุปัทวันตราย และโรคันตราย ตามลำดับ 


ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจึงมีการถวายใบสมิตเพื่อทรงปัดอันตราย ตามโบราณราชประเพณีระบุขั้นตอนการรับใบสมิตไว้ว่าพระเจ้าอยู่หัวจะทรงรับช่อใบมะม่วงด้วยพระหัตถ์ขวาและทรงปัดพระพาหา(แขน)ซ้ายถึงพระกรณ์ข้างซ้ายก่อนพระราชทานคืนแก่พราหมณ์ สำหรับช่อใบทองทรงรับด้วยพระหัตถ์ซ้ายและทรงปัดพระพาหาขวาถึงพระกรณ์ขวา และสำหรับช่อใบตะขบทรงรับด้วยพระหัตถ์ขวาและทรงปัดพระอุระถึงพระบาท เมื่อสิ้นพิธีพราหมณ์จึงนำใบสมิตนั้นกลับเทวสถานเพื่อเผาให้ไหม้ไปภายในคืนนั้น

 

จั่นหมาก


การเฉลิมพระราชมณเฑียรเป็นส่วนหนึ่งของพิธีบรมราชาภิเษก กล่าวคือเมื่อมีการเถลิงถวัลย์ขึ้นสู่ราชสมบัติแล้วก่อนที่พระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จประทับประจำที่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานได้ก็ต้องมีการ ‘ขึ้นบ้านใหม่’ เสียก่อน ในพระราชพิธีนี้จะมีการตั้งขบวนสตรีจากราชสกุลสำคัญเพื่อเชิญเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียรและเครื่องราชูปโภคบางชิ้นตามเสด็จฯ ขึ้นประทับในพระที่นั่ง เครื่องเฉลิมราชมณเฑียรก็จะคล้ายๆ กับการเชิญของอันเป็นมงคลต่อการอยู่อาศัยต่อไปนั้น เช่น มีวิฬาร์—หรือแมวเพราะความเชื่อว่าแมวเป็นสัตว์ที่รู้ถิ่นสามารถกลับมาบ้านตัวเองได้ แมวจึงเป็นตัวแทนของการไม่โยกย้าย นอกจากนี้ยังมีจั่นหมากทองคำ ที่เชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ในขณะที่ทองคำหมายถึงความหนักแน่น

 

พิกุล

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงรับการถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์และทรงมีปฐมบรมราชโองการ หลังจากมีประโคมดนตรีเพื่อรับพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่แล้วจะทรงโปรยดอกพิกุลเงินพิกุลทองพระราชทาน เพราะมีความเชื่อว่าดอกพิกุลเป็นต้นไม้ในสวนของพระอินทร์ และพระบรมมหาราชวังเป็นเสมือนสรวงสวรรค์ การโปรยดอกไม้นี้จึงแสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์

ใบอ้อ


ในพิธีสรงมุรธา จะมีการทอดใบไม้อวมงคลหรือใบไม้นามกาลกิณีไว้ที่พระมณฑปพระกระยาสนานเพื่อให้พระเจ้าอยู่หัวทรงเหยียบในขณะที่ทรงรับน้ำ การเหยียบไม้นามอวมงคลนี้ก็เป็นเสมือนการแก้เคล็ด ข่มสิ่งอันไม่มงคลที่จะเกิดขึ้นในขณะที่ทรงครองราชย์ สำหรับไม้นามกาลกิณีนี้ในแต่ละรัชกาลจะมีไม้นามกาลกิณีที่แตกต่างกัน เช่น ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้ารัชกาลที่ 6 ปูลาดด้วยไม้กระถิน รัชกาลที่ 7 ปูลาดด้วยไม้ตะขบ และในรัชกาลที่ 9 ปูลาดด้วยใบอ้อให้ทรงเหยียบ

Illustration by Thitaporn Waiudomwut

 

Share :