เมืองเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความซับซ้อน มีมิติที่ซ้อนทับของผู้คน ของประวัติศาสตร์ ของความทรงจำ เมืองจึงไม่ใช่แค่พื้นที่ทางกายภาพ แต่เป็นพื้นที่ของความรู้สึก ของหัวจิตหัวใจ กระแสการออกแบบเมืองแต่เดิม- ที่แน่นอนว่าก็ยังสำคัญคือการออกแบบเมืองให้ดีกับการอยู่อาศัย-Livable City นั้น ในหลายเมืองที่บรรลุกฎเกณฑ์ทางกายภาพแล้ว ก็เริ่มพัฒนาแนวคิดใหม่ที่ทำให้เมืองนั้นนุ่มนวล และดีต่อผู้คนมากขึ้นด้วยแนวคิดที่เรียกว่า Lovable City
ถ้ามีคนมาถามว่าเรารักกรุงเทพฯ ไหม เชื่อว่าลึกๆ หลายคนยังมีความคิดว่ากรุงเทพฯ หรือเมืองใดๆ ก็ตามที่เกิด หรือที่เติบโตขึ้น เราอาจพูดได้ไม่เต็มปากว่าเรารัก กรุงเทพฯ แต่ในอีกด้าน ภาพของเมืองที่ไม่ได้ ‘น่ารัก’ และไม่เป็นมิตรกับเรา กับการใช้ชีวิต กับการเติบโต เหมือนกับดินที่ไม่ค่อยดี ทางเท้าพัง ขนส่งสาธารณะแย่ เต็มไปด้วยมลพิษ ถึงจุดหนึ่งเชื่อว่าหลายคนก็เริ่มถอนใจ ความรู้สึกรักกับเมืองๆ หนึ่งก็เหมือนกับคนๆ หนึ่ง คือในระยะยาว มันต้องมีความพยายามเพื่อให้เกิดความรักซึ่งกันและกันอยู่บ้าง
ความพิเศษของการเคลื่อนจากการออกแบบทางกายภาพ ไปสู่ความคำนึงถึงเมืองในฐานะพื้นที่ทางความรู้สึก ในแง่ของการออกแบบ แนวคิดเรื่อง Lovable City ที่สตีเฟน มัวร์ (Stephen Moore) พูดถึงนี้เป็นทั้งการศึกษาและแนวทางการพัฒนาที่มีความเป็นรูปธรรม เน้นการสร้างความรู้สึกที่ดีต่อเมืองทั้งทางกายและใจ ซึ่งงานศึกษาก็ได้พูดถึงองค์ประกอบทั้ง 7 ด้านที่จะมาส่งเสริมความรู้สึกรักเมือง เป็นการออกแบบโดยมีจุดตัดของพื้นที่ทางกายภาพและลักษณะอันเป็นนามธรรมได้อย่างน่าสนใจ จากการศึกษาในช่วงปี 2019 ภาครัฐเช่นเมืองซิดนีย์ก็ได้รับเอาแนวคิดเรื่องเมืองอันเป็นที่รักและสตูดิโอที่ทำการศึกษาก็กำลังพัฒนาเครื่องมือเพื่อให้รัฐนำไปใช้อย่างเป็นรูปธรรมต่อ
เงื่อนไข 7 ประการของเมืองที่เราจะรัก
แนวคิดเรื่องเมืองอันเป็นที่รัก และการออกแบบสิ่งแวดล้อมหรือเมืองที่เราจะรักได้เริ่มต้นที่ออสเตรเลีย เป็นงานศึกษาของสตูดิโอผังเมืองและการออกแบบชื่อ RobertsDay ก่อตั้งและเสนอแนวคิดโดยคุณสตีเฟน มัวร์ (Stephen Moore) ซึ่งคุณมัวร์ให้สัมภาษณ์ว่า แนวคิดเรื่อง lovable city เกิดจากการประชุมเรื่อง livable city นั่นแหละ เป็นการเติมบางอย่างที่งานออกแบบ และการวางผังเมืองแบบเดิมอาจจะมองข้าม และเมืองก็อาจจะขาดไป พร้อมเสนอคำสำคัญอันเป็นคอนเซ็ปต์ไว้ทั้งหมด 7 คำ ประกอบด้วย identity, equity, greenery, urbanity, mobility, wellness และ resilience
ทางนักวิจัยที่เสนอคำสำคัญที่ดูเป็นนามธรรมก็ได้อธิบายไว้อย่างสนใจว่า แนวคิดเรื่องเมืองที่เราจะรักได้นี้ให้ความสำคัญกับความผูกพัน และความหมายในการออกแบบเมือง เป็นการออกแบบที่เน้นว่าอัตลักษณ์ (identity) จะมาสัมพันธ์กับการตัดสินใจต่างๆ ความสัมพันธ์ของผู้คนในทุกระดับจะได้รับความสำคัญอย่างเสมอภาค (value equally) ด้วยการออกแบบสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างทั่วถึงและเข้าถึงได้ การเพิ่มความเป็นเมือง (urbanity) จึงสำคัญไปกว่าการเพิ่มขึ้นของความหนาแน่นภายในเมือง
การคำนึงถึงมิติพิเศษของเมืองจากการคำนึงทางสังคมข้างต้นนั้น นักออกแบบเสนอว่า คอนเซ็ปต์ทั้ง 7 จะทำให้ภาพเมืองสมบูรณ์ขึ้น ทำให้คนทุกกลุ่มมีตัวตน มีความสุข แข็งแรง และช่วยเติมความรู้สึก ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือเมืองที่ได้รับการออกแบบดีเป็นลำดับต้นๆ เช่นในออสเตรเลียนั้น นักออกแบบบอกว่าแนวคิดทั้ง 7 ข้อนี้กลับเป็นสิ่งที่เมืองใหญ่ๆ หลายแห่งขาดอยู่
เพราะเมืองมีตัวตน และความรักก็มีเงื่อนไข
ดังนั้นแล้ว เราจะรักเมืองได้อย่างไร จริงๆ ความสัมพันธ์ของเรากับเมืองมันก็คาบเกี่ยวทั้งมิติที่เป็นรูปธรรม และมิติทางจินตนาการ เหมือนที่เรามักนึกภาพว่าเมืองๆ หนึ่งมีตัวตนอย่างไร และในทางกลับกันตัวตนของเมืองนั้นๆ มันก็สัมพันธ์ย้อนกลับมาที่บรรยากาศและอิทธิพลที่ส่งย้อนกลับมาที่เรา เช่นกรุงเทพฯ ไม่ค่อยโรแมนติก
ในจุดนี้ เรื่องอัตลักษณ์และตัวตน ไปจนถึงความรู้สึกรักก็สอดคล้องกับคำอธิบายของทางผู้วิจัยที่เสนอแนวคิด lovable city ทางผู้วิจัยอธิบายเพิ่มเติมซึ่งสัมพันธ์กับองค์ประกอบทั้ง 7 ที่เสนอมาว่า จริงๆ แล้วเมืองเองก็มีตัวตน มีอัตลักษณ์ของตัวเอง ถ้าผู้อยู่อาศัยรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เป็นส่วนหนึ่งของเมือง แกนสำคัญหนึ่งคือการหามาตรวัดว่าผู้คนในทุกระดับ ทุกกลุ่มประชากรสามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคได้อย่างเท่าเทียมกัน ในขณะที่พื้นที่สีเขียวสัมพันธ์กับต้นไม้ใบหญ้าของเมือง ความเป็นเมืองคือการคำนึงถึงความหนาแน่นของเมืองที่เหมาะสมกับกิจกรรมของพื้นที่นั้นๆ ความเคลื่อนไหว (mobility) ก็คือตัวชี้วัดว่าผู้คนสามารถเดินทางได้โดยไม่ลำบาก คุณภาพชีวิตให้ความสำคัญกับการส่งเสริมไลฟ์สไตล์
ส่วนแนวคิดสุดท้ายคือความยืดหยุ่น หมายถึงความสามารถที่ว่าเมืองจะช่วยรับแรงกระแทกต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่ซ้ำเติม (ซึ่งการมีสาธารณูปโภคบางอย่างก็จะช่วยผู้คนให้รับกับเรื่องต่างๆ ได้ดีขึ้นได้ เช่น การสูญเสีย อกหัก ตกงาน ถ้าเมืองมีสาธารณูปโภคช่วยสนับสนุนเรา เช่นอกหักแล้วเดินริมถนนไม่ตกท่อ หรืออาจจะเรื่องใหญ่ๆ เช่นความตาย อุบัติเหตุ เมืองในฐานะสิ่งแวดล้อมหลักของเราย่อมมีส่วนเชื่อเหลือหรือบรรเทาลงได้)
คงด้วยความที่คนที่เสนอแนวคิด lovable city เป็นทั้งนักออกแบบ และนักผังเมือง ทำให้ข้อเสนอมีความเป็นรูปธรรมเช่นมีการพัฒนาดัชนีชี้วัดที่สัมพันธ์กับข้อเสนออย่างถี่ถ้วนละซับซ้อน ปัจจุบันทางสตูดิโอก็กำลังทำงานร่วมกับภาครัฐเช่นเมืองซิดนีย์ ร่วมกันศึกษาและวางแนวทางเพื่อทำให้เมืองใหญ่มีองค์ประกอบที่คนจะรักได้มากและสมบูรณ์มากขึ้น
จริงๆ แนวคิดเรื่องการออกแบบเมืองที่ก้าวไปถึงระดับความรู้สึก ถึงความรู้สึกรักและหวนแหนก็เป็นสิ่งที่หลายๆ เมืองคำนึงมานานแล้ว เมืองเช่นสิงคโปร์ ในฐานะหนึ่งในเมืองใหญ่หัวก้าวหน้าที่ตัวสิงคโปร์เองก็เริ่มจากเมืองที่คนอยู่ดี จนในห้วงพัฒนา 50 ปีในที่สุดสิงคโปร์ก็ถือว่าตัวเองมุ่งสู่การเป็นเมืองที่ทุกคนรักด้วยเช่นเดียวกัน
แน่นอนว่า ความรักเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนให้เราทำสิ่งดีๆ ต่อสิ่งนั้น ถ้าเราเริ่มรู้สึกว่าเมืองที่เราอยู่เป็นเหมือนบ้าน เกิดความรักและความหวงแหนขึ้นในที่สุด ความรักย่อมเป็นแรงผลักดันที่ดี ที่จะทำให้เมืองก้าวไปข้างหน้ามากกว่าแค่การเป็นที่อยู่อาศัย
อ้างอิงข้อมูลจาก
yourinvestmentpropertymag.com.au
Illustration by Montree Sommut
- Vanat Putnark
Writer