CITY CRACKER

รถไฟ อาซากุสะ ย่านเริงรมย์ อ่านความเป็นเมืองและประวัติศาสตร์โตเกียว ในดาบพิฆาตอสูร

ดาบพิฆาตอสูรเริ่มกลับมาฉายอีกครั้ง- เรื่องราวของทันจิโร่ หน่วยพิฆาตอสูร การต่อสู้ระหว่างมนุษย์กับเหล่าอสูรผ่านวิถีดาบและพลังปราณ ภายใต้การต่อสู้ที่ดูเหนือจริง ด้วยการเลือกเล่าดาบพิฆาตอสูรที่เลือกยุคไทโช อันเป็นตัวเชื่อมต่อสำคัญของญี่ปุ่นระหว่างญี่ปุ่นดั้งเดิมไปสู่ญี่ปุ่นสมัยใหม่ เราจะเห็นพัฒนาการของเรื่องที่สัมพันธ์กับมิติทางสังคม จากภาพหมู่บ้านบนเขา ทันจิโร่ค่อยๆ เข้าไปเผชิญหน้ากับเมืองไปพร้อมๆ กัน

จริงอยู่ว่าประเด็นการปะทะเข้าสู่โลกสมัยอาจไม่ใช่ประเด็นหลักของดาบพิฆาตอสูร ทว่า ไม่ว่าผู้เขียนจะเจตนาหรือไม่ ตามท้องเรื่องด้วยฉากของสมัยไทโชที่ต่อเนื่องมาจากยุคเมอิจิ รวมถึงการย้อนไปขนบการต่อสู้ที่รื้อฟื้นวิถีบูชิโดหรือการฝึกฝนดาบไปจนถึงระเบียบวินัยและวิถีรวมกลุ่มอื่นๆ เพื่อต่อสู้กับอสูรร้ายของมุซัน ลำดับเรื่องสามภาคจนถึงภาคล่าสุดที่กำลังฉายนั้น ก็ดูจะเป็นลำดับที่สัมพันธ์กับยุคสมัยและความเป็นสมัยใหม่ได้อย่างน่าสนใจ

การเดินทางและการเติบโตของทันจิโร่ ถ้าแบ่งตามภาคอย่างสังเขป จะเห็นว่าทันจิโรเริ่มต้นจากหมู่บ้านเล็กๆ ในฐานะคนเก็บถ่าน ก่อนจะค่อยๆ ฝึกฝนและเดินทางเข้าสู่เมือง ในภาคย่อยหรือภาคหนังนั้น ตัวเรื่องได้รับการเชื่อมเข้าสู่ภาคสองด้วยรถไฟ ซึ่งในเรื่องเราก็จะเห็นว่ารถไฟนั้นเป็นของใหม่ที่ตัวเองของเรารู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่ง ในขณะที่ภาคปัจจุบัน ตัวเรื่องมีฉากเป็นย่านเริงรมย์คือย่านโยชิวาระในโตเกียว

ดังนั้น ด้วยยุคสมัยที่เป็นรอยต่อ และร่องรอยของเรื่องราวที่สัมพันธ์กับการเผชิญหน้ากับโลกสมัยใหม่ในพื้นที่เมือง ในโอกาสที่ดาบพิฆาตอสูรกลับมาฉายอีกครั้ง City Cracker จึงชวนไปสำรวจประเด็นเมือง (urbanism) ที่ปรากฏในดาบพิฆาตอสูร ตั้งแต่อาการของทันจิโร่เมื่อเจอกับย่านอาซากุสะในช่วงค่ำคืน ภาพของกรุงโตเกียวใหม่ที่เต็มไปด้วยอาคารอิฐ ถนนหนทาง รถราง ไปจนถึงการขึ้นรถไฟ และการผจญภัยล่าสุดในย่านเริงรมย์ หนึ่งในพื้นที่สำคัญในการกินดื่มของพื้นที่เมือง พื้นที่ของกิจการอันเป็นย่านหนึ่งของเมืองที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองวิถีชีวิต และเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่ไม่มีวันหลับใหล

  

อาคารอิฐ ถนนปูหิน และความเป็นตะวันตก มรดกจากยุคเมอิจิ

แน่นอนว่าฉากของดาบพิฆาตอสูรวางไว้ในยุคไทโช คือเป็นช่วงทศวรรษสั้นๆ คาบเกี่ยวทศวรรษ 1910s-1920s เรียกตามการปกครองภายใต้จรรพรรดิไทโช ทว่า ยุคไทโชนั้นเป็นยุคต่อเนื่องจากสมัยเมอิจิ ยุคสมัยที่โด่งดังของญี่ปุ่นในการรวมชาติ การย้ายเมืองหลวงจากเกียวโตและสถาปนากรุงเอโดะก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นโตเกียวในฐานะศูนย์กลางอำนาจใหม่ โดยในยุคเมอิจิยังนับว่าเป็นยุคที่ญี่ปุ่นก้าวกระโดดเข้าสู่ยุคสมัยใหม่อย่างเต็มรูปแบบ

ในเรื่องดาบพิฆาตอสูรในช่วงหลังจากที่ทันจิโร่เข้ามารับตำแหน่งในเมือง ซึ่งก็จะหมายถึงโตเกียว เราก็จะเห็นภาพของโตเกียวในฐานะเมืองมหานคร(metropolis) เราจะเห็นภาพของเมืองสมัยใหม่ โดยกรุงโตเกียวนั้นถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่ช่วงต้นของยุคคือ 1868 (โดยสิ้นสุดยุคที่ปี 1912) กรุงโตเกียวก็เริ่มมีการสร้างอาคารอย่างตะวันตก มีการใช้อิฐและปูนในการก่อสร้างตึกอาคาร มีการตัดถนนสายหลักและปูด้วยหินกลม

ยุคไทโช ยุคบริโภค รากฐานของผังเมืองและกับปรับโตเกียวให้ดีขึ้น

หลังจากยุคเมอิจิ ในยุคไทโชพื้นที่เมืองหลวงของโตเกียวนั้นก็ค่อยๆ แอออัดขึ้นเรื่อง เริ่มมีผู้คนเดินเข้าสู่เมืองหลวงเพื่อทำงานพร้อมๆ กับการพัฒนาระบบการศึกษา โตเกียวและญี่ปุ่นในยุคนั้นถือว่าก้าวกระโดดเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม และเกิดการพัฒนาของเมืองอย่างไม่มีทิศทาง เฉพาะเมืองโตเกียวเองมีตัวเลขจำนวนประชากรสูงราว 1.2 ล้านคน ก่อนที่จะกระโดดไปสู่ตัวเลข 2.17 ล้านคนในช่วงปี 1920 แน่นอนว่าเมืองที่ขยายอย่างไร้ทิศทางนำไปสู่ปัญหาเรื่องที่พักอาศัยทั้งที่ไม่เพียงพอและไม่ได้คุณภาพ ลักษณะของเมืองที่ไม่ถูกสุขอนามัยจนนำไปสู่การระบาดของอหิวาห์ ตลอดจนการมาถึงของสงครามโลกที่ทำให้เกิดภาวะว่างงานและความยากจน ไปจนถึงปัญหาสวัสดิภาพเด็ก

บรรยากาศหนึ่งในดาบพิฆาตอสูรจึงดูจะสัมพันธ์กับบริบทยุคฟื้นฟูของญี่ปุ่น และการก่อตัวขึ้นของเมืองที่แม้ว่าเมืองจะถูกวาดออกมาให้มีความสวยงามและความทันสมัย เต็มไปด้วยแสงสี ดอกไม้และอาคารที่คงทนถาวร แต่ทว่าในบางพื้นที่ของเมืองก็เต็มไปด้วยปัญหา ยังคงมีกลุ่มคนที่ยากจนและได้รับผลกระทบทั้งจากสงครามทั้งภายในและผลกระทบของสงครามโลก ผลกระทบจากภัยธรรมชาติ กลุ่มคนที่อาจจะปรับไปตามการเปลี่ยนแปลงไม่ทัน เด็กๆ ในเรื่องจึงมีภูมิหลังที่แหลกสลาย ไม่ถูกผลักดันให้กลายเป็นอสูร ก็เข้าร่วมกับหน่วยพิฆาตอสูร

ความพิเศษของยุคไทโชหนึ่งคือการเกิดขึ้นของระบบผังเมือง ระบบที่ญี่ปุ่นพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาหลักๆ ของโตเกียวและเมืองอื่นๆ ที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงและปัญหาต่างๆ ที่กำลังเผชิญเช่นภาวะว่างงาน ปัญหาของเด็ก ความยากจนและทหารผ่านศึก หมุดหมายสำคัญคือปี 1918 ที่มีการก่อตั้งสำนักผังเมือง หรือ City Planning Bureau (Toshi Keikaku Ka) มีการร่างกฏหมายผังเมืองใหม่พร้อมกับกฏหมายควบคุมอาคาร มีระบบการแบ่งโซน การวางแผนพัฒนาที่ญี่ปุ่นนั้นรับวิธีการอย่างหลากหลายทั้งจากฝรั่งเศสและเยอรมัน ความพิเศษของยุคไทโชคือความพยายามแก้ไขปัญหาของโลกสมัยใหม่โดยเฉพาะในพื้นที่เมือง

ปริมณฑลสาธารณะ ผู้หญิง และความปลอดภัยของเมือง

ภาวะเมือง (urbanity) หรือการจะอธิบายว่าความเป็นเมืองคืออะไร มีองค์ประกอบอะไรบ้างนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ตายตัวนัก ในแต่ละพื้นที่ก็มีการก่อตัวของเมืองและบริบทสังคมวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไป แต่ทว่าเมืองก็มีจุดร่วมบางอย่างอยู่เสมอ เช่นการอยู่รวมกันอย่างหนาแน่นของผู้คนเป็นจำนวนหนึ่ง มีความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตจากเกษตรกรรมไปสู่อุตสาหกรรม ค่อนข้างสัมพันธ์กับวิถีสมัยใหม่ มีการทำงาน การบริโภค โดยในองค์ประกอบสำคัญหนึ่งของเมืองคือการเปลี่ยนจากโครงสร้างสังคมที่เรียบง่าย จากหมู่บ้านเล็กๆ ไปสู่รูปแบบการอยู่อาศัยที่ซับซ้อน

หัวใจหนึ่งของความเป็นเมืองคือการรวมตัวและอยู่ร่วมท่ามกลางคนแปลกหน้า ดังนั้นในช่วงกลางของซีซั่นแรก เมื่อทันจิโร่เข้ามาถึงในเมือง สิ่งที่ทันจิโร่เจอคือการหายตัวไปอย่างลึกลับของผู้หญิงในย่าน การหายไปของผู้หญิงส่วนหนึ่งให้ภาพการที่ผู้หญิงและคนเมืองอื่นๆ ออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านก่อนจะถูกลักพาตัวไป ความวิตกกังวลและการหายไปของผู้คนจึงสัมพันธ์กับความรู้สึกในการอยู่ท่ามกลางคนแปลกหน้าและการอยู่ร่วมกับคนจำนวนมากในเมืองใหญ่

ดังนั้นนอกจากบทบาทของทันจิโร่ในการมองเห็น ‘คนแปลกหน้า’ ซึ่งก็คือเหล่าอสูรที่เดินอยู่เคียงข้างเราเหมือนกับฆาตกรในเมืองใหญ่ได้แล้วนั้น เราจะเริ่มเห็นว่าเมืองเริ่มมีสาธารณูปโภคส่วนกลาง มีระบบรักษาความปลอดภัย มีระบบส่องสว่างเพื่อสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้กับผู้คนนั่นเอง

 

อาซากุสะ ดาวน์ทาวน์ และเมืองที่ไม่หลับไหล

ฉากสำคัญของการปะทะกันระหว่างโลกเก่าและโลกใหม่ คือตอนที่ทันจิโร่เดินทางมาถึงย่านอาซากุสะของโตเกียว แน่นอนว่าทันจิโร่ทั้งเกิดในยุคที่ความเจริญและความเป็นเมืองเพิ่งจะก่อตัวในกลางเมืองหลวง และเดินทางมาจากพื้นที่ชนบทที่แน่นอนว่าไม่คุ้นเคยกับความทันสมัยและรูปแบบชีวิตแบบใหม่นัก ภาพของอาซากุสะที่ถูกวาดออกมาจึงเต็มไปด้วยแสงสี เต็มไปด้วยความฉูดฉาดและความเคลื่อนไหวที่ไม่หยุดนิ่ง มีรถราง ย่านการค้า ผู้คนที่แปลกประหลาดจากหลายเชื้อชาติ

ความเร็ว (velocity) และการไหลอย่างไม่หยุดยั้งนั้นจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของความเป็นเมืองดังที่เราเห็นได้ทั้งจากภาพของรถยนต์และผู้คนที่เดินสวนไปมา ความเคลื่อนไหวของเมืองที่ไม่หยุดนิ่งรวมถึงข้อมูลข่าวสารและวิถีชีวิตที่ไม่เคยหลับนั้นจึงทำให้ทันจิโร่ผู้ที่แม้ถูกฝึกมาในวิถีดั้งเดิมอย่างหนักเกิดอาการวิงเวียนและรับการหลั่งไหลอย่างไม่รู้จบนั้นไม่ไหว นอกจากนี้ความพิเศษของเมืองใหญ่คือการที่เมืองนั้นๆ มีชีวิตไปจนถึงเวลากลางคืนและอาจไม่มีวันหลับไหล เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยแสงสว่างที่ไม่รู้จบ

รถไฟ เครื่องจักร และอสูรที่คืบคลานไปในภูมิภาค

รถไฟกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของดาบพิฆาตอสูรช่วงรอยต่อ คือภาครถไฟนิรันดร์ ตามเนื้อเรื่องรถไฟเป็นช่วงการต่อสู้หนึ่งหลังจากที่ทันจิโร่เจอกับพวกเสาหลัก ตามท้องเรื่องเมื่อกลุ่มของทันจิโร่เดินเข้าสู่สถานีรถไฟ และเจอกับรถไฟเป็นครั้งแรกก็เกิดอาการแตกตื่นกับวิทยาการที่ดูทรงพลังของโลหะและไอน้ำ

ในมิติของความทันสมัย แน่นอนว่ารถไฟเป็นตัวแทนของนวัตกรรมและเทคโนโลยี นอกจากการเป็นตัวแทนความยิ่งใหญ่ทางวิทยาการแล้ว รถไฟยังถือเป็นตัวแทนที่สัมพันธ์กับมิติทางสังคม โดยเฉพาะในบริบทประวัติศาสตร์ร่วมสมัย กล่าวคือรถไฟเป็นนวัตกรรมและการลงทุนที่สัมพันธ์กับการสร้างชาติ ด้วยรถไฟและเครือข่ายระบบรางนอกจากจะใช้เพื่อการขนส่งและระบบเศรษฐกิจแล้ว รถไฟเป็นตัวแทนของการรวมศูนย์อำนาจ ทำให้พื้นที่เช่นส่วนกลางนั้นเชื่อมต่อพื้นที่ต่างๆ ของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยในภาครถไฟนั้นไม่ได้ระบุไว้ว่ารถไฟที่เรียกว่า Mugen หรือ infinity train นั้นเดินทางไปที่ไหน แต่สำหรับโตเกียว กรุงโตเกียวมีการเดินรถไฟตั้งแต่ปี 1872 เป็นสายการเดินรถจากชิมบาชิไปยังโยโกฮามา โดยระบบโครงขายรถไฟของญี่ปุ่นก็มีการสร้างระบบรางขึ้นเป็นลำดับ จากการเชื่อมเมืองท่าต่างๆ เช่นโอซาก้า เมืองเก่าเช่นเกียวโต โออิตะ เรื่อยมาจนถึงระบบรถไฟอื่นๆ ที่ซับซ้อนและทั่วถึงมากขึ้น

 

ย่านเริงรมย์ และความหลากหลายของพื้นที่เมือง

ดาบพิฆาตอสูรภาค 2 นั้นชื่อภาคว่า ‘ย่านเริงรมย์’ ตัวเรื่องเกิดขึ้นในย่านเริงรมย์ หรือย่านโคมแดงอันโด่งดังของโตเกียวที่เก่าแก่มาตั้งแต่สมัยเอโดะ ด้านหนึ่งนั้นทำให้เราเห็นว่าความเป็นเมืองอาจเป็นสิ่งที่ปรากฏมาก่อน ซึ่งย่านเริงรมย์ที่มีที่มาจากย่านโยชิวาระ (Yoshiwara) นั้น ก็สะท้อนการก่อตัวขึ้นของเมืองและการพยายามจัดการพื้นที่เมืองที่มีมาตั้งแต่ยุคก่อนสมัยใหม่ ซึ่งเมืองเอโดะเองนั้นถือว่ามีลักษณะเป็นเมืองมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17-18 ก่อนที่จะได้รับอิทธิพลจากตะวันตก

ย่านโยชิวาระถือเป็นย่านสำคัญคู่เมืองเอโดะ พูดง่ายๆ คือแทบทุกเมืองใหญ่มักจะมีย่านเริงรมย์หรือย่านโคมแดง สำหรับโยชิวาระนั้นมีมานานมากแล้ว ตัวย่านสำหรับค้าบริการนี้เริ่มต้นตั้งแต่สมัยโชกุนคนแรกที่สร้างย่านเริงรมย์เพื่อจำกัดพื้นที่การค้าประเวณีขึ้นในย่าน Ningyocho คือแถวๆ นิฮงบาชิหรือกลางโตเกียวในปัจจุบัน จนกระทั่งในปี 1656 เกิดไฟไหม้ใหญ่ และเมืองเอโดะขยายตัว ต้องการพื้นที่ โชกุนก็เลยสั่งย้ายย่านโยชิวาระไปอยู่ทางตอนเหนือของวันเซนโซจิในย่านอาซากุสะ

ตัวย่านเริงรมย์นั้นมีรากฐานจากการเปิดพื้นที่ให้บริการกับชายหนุ่มเพื่อหาความสำราญ ความพิเศษของย่านเริงรมย์จึงถือเป็นย่านการค้าแรกๆ ที่เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหวและกิจการการค้ารายรอบ จากการค้าประเวณีเฉยๆ เริ่มกลายเป็นพื้นที่ของความวูบไหวและสุนทรียะ เกิดกิจการรายล้อมที่เรียกว่า mizu shobai (water trade) คำเลี่ยงกิจการการคืนซึ่งหมายถึงการสร้างความบันเทิงเพื่อขายน้ำและอาหาร

ในย่านก็จะเริ่มสัมพันธ์กับความเริงรมย์และสิ่งบันเทิงอื่นๆ เช่นละครคาบูกิ คาบาเรต์ นักแสดงตลก นักแสดงอื่นๆ ดังนั้นย่านเริงรมย์นี้จึงกลายเป็นย่านที่มีสีสัน เป็นย่านการค้าที่หวือหวา มีรายได้และกิจการอื่นๆ เฟื่องฟูขึ้นไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องดื่ม กิจการบันเทิง เสื้อผ้า และแฟชั่นที่ทั้งเหล่าสาวบริการและหนุ่มเจ้าสำราญมาใช้เวลา เป็นย่านของการบริโภคและการใช้เวลาว่างหลังเลิกงาน

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

researchgate.net

metro.tokyo.lg.jp

yorku.ca

animenewsnetwork.com

japantoday.com

Share :