CITY CRACKER

อกหักจากเมืองใหญ่ ปรากฏการณ์คนรุ่นใหม่ไปชนบทใน Hometown Cha-Cha-Cha

นึกภาพการไปอยู่ในเมืองเล็กๆ อาจจะเป็นบ้านเกิดหรือไม่ใช่ เมืองเล็กดูจะเป็นความฝันอีกด้านของคนรุ่นใหม่ที่ดูจะเป็นไปได้จริงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นภาพการไปเปิดคลินิกทำฟันเล็กๆ ในเมืองชายฝั่งที่สงบงาม ได้พบกับหนุ่มผู้มีความสามารถรอบด้านแบบหัวหน้าฮง การย้ายจากเมืองใหญ่ไปตั้งรกรากในเมืองเล็กก็ดูจะเป็นการแก้อาการ ‘อกหัก’ และก้าวไปสู่วิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่เลือกจะเดินทางออกจากเมืองหลวง

ถ้าเรามองการเริ่มเรื่องของเรื่องรักแนวโรแมนติก ส่วนใหญ่ตัวเรื่องก็มักจะเริ่มจากปมปัญหาบางอย่าง การรอนแรมจากพื้นที่ที่คุ้นเคยมักจะสัมพันธ์กับอาการอกหัก ซึ่งถ้าเรามองกรณีของหมอยุนฮเยจิน ทันตแพทย์สาวสวยวัย 34 ปี เราอาจอธิบายคำว่าอาการ ‘อกหัก’ ของเธอว่าเป็นอาการอกหักที่เกิดจากเมืองใหญ่ จากความฝันในการมีชีวิตที่ดี ในการตั้งรกราก และทำงานเติบโตไปเรื่อยๆ

อันที่จริง อาการอกหักจากเมืองใหญ่ของนางเอก สำหรับผู้ชมในปี 2021 แล้ว เราอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว และฟังดูเป็นจริงได้มากขึ้นเรื่อย ทั้งความผิดหวังจากสภาพอันบีบคั้นของเมืองใหญ่ และความเป็นไปได้ที่เราจะย้ายออกจากเมืองหลวงและไปเริ่มต้นชีวิตที่เมืองเล็กๆ ที่ไหนซักแห่งกันใหม่ โดยเฉพาะในยุคหลังโรคระบาดที่การทำงานไม่ขึ้นอยู่กับสถานที่ และเมืองใหญ่เริ่มเผยปัญหาทั้งภาวะโรคระบาด ความแออัด น้ำท่วม ไปจนถึงปัญหาฝุ่นควัน

ดังนั้น Hometown Cha-Cha-Cha หรือการกลับมาของความฝันการเริ่มชีวิตใหม่ในเมืองเล็กๆ ในแง่หนึ่งจึงอาจเป็นภาพความฝันและวิถีชีวิตใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับปรากฏการณ์คนรุ่นใหม่อพยพจากเมืองหลวง เมื่อเมืองหลวงไม่ได้ใจดีกับเราและไม่ตอบโจทย์ความฝัน โดยพื้นที่เมืองเล็กหรือในชนบทเองก็อาจจะเจอปัญหาจากการหายไปของคนรุ่นใหม่และการหวนกลับมาก็อาจจะเป็นคำตอบ

 

เมืองหลวงใจร้าย และปรากฏการณ์คนรุ่นใหม่ย้ายออก

ยุคหนึ่งเรามีเมืองใหญ่เป็นพื้นแห่งโอกาส เป็นพื้นที่แห่งความฝัน เราจะเห็นว่ากรณีของหมอฟันฮเยจินเองก็คล้ายๆ กับปัญหาที่หลายคนเจอ คือต้องใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวอยู่ในเมืองใหญ่ แม้ว่าจะสวยงามแต่ชีวิตความเป็นอุดมคติก็อาจจะไม่ได้เป็นไปดังหวัง ไหนจะเจอปัญหากับนายจ้าง กับวิธีคิดจากการทำงาน ถ้าเรามองภาพที่กว้างขึ้น ยิ่งในยุคหลังโควิดเราจะเห็นว่าเมืองใหญ่ก็เจอปัญหาเรื่อยมา ตั้งแต่ฝุ่นควัน ความแออัด ปัญหาเรื่องความเหงา ไปจนถึงเรื่องน้ำท่วม การจราจร

ยิ่งหลังโควิด ความแออัดและวิถีชีวิตแบบเดิมเช่นการเข้าออฟฟิศเริ่มเปลี่ยนโฉมและเปิดข้อจำกัดเดิมๆ ขึ้นใหม่ ประเด็นเรื่องคนอายุน้อยย้ายออกจากเมืองใหญ่ หรืออย่างน้อยคือศูนย์กลางเมืองเป็นรายงานที่ค่อนข้างสอดคล้องกันในหลายประเทศ และเป็นกระแสที่มีมาก่อนโรคระบาดและโรคระบาดทำให้กระแสชัดเจนขึ้น

ตัวอย่างรายงานเช่นรายงานจากแคนาดาที่พบว่ามีการไหลออกจากเมืองใหญ่คือโตรอนโต มอนทรีออล และแวนคูเวอร์ ตัวเลขรายงานการย้ายออกระหว่างปี 2019-2020 กว่า 87,000 ในจำนวนนี้เป็นประชากรที่มีอายุน้อยคือ 15-29 ปี โดย 82% ของการย้ายออกจากเมืองเป็นประชากรที่มีอายุต่ำกว่า 45 ปี ในทำนองเดียวกันสหรัฐฯ เองก็มีงานวิจัยที่ให้ผลใกล้เคียงกันคือพบว่าคนในยุคมิลเลนเนียมที่อยู่ในช่วงวัยกำลังตั้งรกรากคือ ช่วงอายุ 30 และ 40 หลังจากอยู่ในเมืองมาอย่างยาวนานก็มีรายงานว่าจะย้ายออกจากเมือง แต่คนอายุน้อยกว่านั้นอาจจะยังเลือกที่จะอยู่ในเมืองต่อไป

ออฟฟิศในเมืองน้อยก็น่ารัก เงื่อนไขและความฝันใหม่ๆ ของคนรุ่นใหม่

ความน่าสนใจของการเลือกย้ายถิ่นฐาน โดยเฉพาะในช่วงวัยที่ถือว่าเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญของชีวิต ด้านหนึ่งเนื้อเรื่องจากในซีรีส์ก็พอจะตอบปรากฏการณ์ข้างต้นได้บ้าง คือด้านหนึ่งความฝันใหม่ๆ ของคนรุ่นใหม่อาจจะไม่ได้อยู่ในเมืองอีกต่อไป เมืองอาจจะไม่ใช่พื้นที่ของโอกาสทั้งการเป็นเจ้าของกิจการ การเริ่มต้นกิจการเล็กๆ ของตัวเอง ไปจนถึงความฝันที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี หรือการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพกายและใจ

ทั้งนี้ในปัจจุบันคนรุ่นใหม่เช่นคนในยุคมิลเลนเนียลเริ่มให้นิยามและวิธีการทำงานที่แตกต่างออกไป มีรายงานจากสื่อด้านธุรกิจขนาดเล็กรายงานว่า 80% ของคนยุคมิลเลนเนียลมองตัวเองว่าเป็นผู้ประกอบการ ดังนั้นการย้ายไปสู่เมืองเล็กจึงตอบสนองการก่อตั้งธุรกิจเล็กๆ มากกว่าทั้งราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่สูงเท่าในเมือง ตลาดงานที่ยังไม่แออัด รวมถึงคติการทำงานที่ไม่ขึ้นกับสถานที่และเวลา การเกิดขึ้นของการทำงานทางไกลทำให้พื้นที่เมืองเล็กหรือเมืองในชนบทที่ปัจจุบันก็ได้รับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ไฟฟ้า ประปา และอินเตอร์เน็ตไว้เพียงพอกับความต้องการแล้ว

บ้านเล็กๆ ที่บ้านนอก ชีวิตริมชายฝั่งหรือในภูเขาอันสวยงาม

หลายคนที่เป็นคนเมืองมีความฝัน คือ ‘อยากมีบ้านเล็กๆ ที่บ้านนอก’ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นฝันในการไปซื้อหรือวางแนวทางไว้สำหรับชีวิตหลังเกษียณซึ่งก็มักเป็นไปได้ยาก ภาพของชีวิตในเมืองเล็กที่ตรงข้ามกับเมืองใหญ่เป็นสิ่งที่อยู่ในความฝันของเราอยู่เสมอ เราอยากมีบ้าน มีชีวิตที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ใช้ชีวิตอย่างเนิบช้ากับชุมชนเล็กๆ อันอบอุ่น

จากความฝันที่อาจเป็นแค่ฝันไกลๆ เมื่อการทำงานอันยาวนานนับสิบปีจบลง ปัจจุบันด้วยเงื่อนไขและวิธีคิดใหม่ๆ ที่มองถึงชีวิตปัจจุบัน และตามเงื่อนไขที่การทำงานไม่ยึดติดกับออฟฟิศในเมืองอีกต่อไป การตัดสินใจย้ายไปสู่สภาพชีวิตที่แตกต่างออกไป ด้านหนึ่งเป็นความฝันในการผนวกการพักผ่อนรวมเข้าสู่ชีวิตประจำวัน เรามีงานศึกษามากมายที่พูดถึงปัญหาของเมืองใหญ่ต่อสุขภาพ ประโยชน์ของพื้นที่ธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นสีเขียวหรือฟ้า ความสามารถในการเยียวยารักษาของท้องทะเล ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ในซีรีส์จะพานางเอกไปพักใจในทิวทัศน์ที่งดงามของเมืองริมหาด ซึ่งเราเองก็เริ่มเห็นการที่คนรุ่นใหม่ย้ายออกจากกรุงเทพฯ ไปอยู่เมืองที่แออัดน้อย และมีความสงบเงียบมากกว่า

ชนบทกับปัญหาสังคมสูงวัย

ชนบทเป็นพื้นที่สัมพันธ์กับการเกิดขึ้นของเมืองใหญ่ในหลายๆ ด้าน ด้านหนึ่งคือในยุคที่คนรุ่นใหม่และคนวัยทำงานไหลทะลักเข้าสู่เมืองหลวงเพื่อทำงาน ชนบทจึงเกิดปัญหากลายเป็นพื้นที่ที่ไม่ถูกพัฒนาและเป็นพื้นที่ที่เหลือแต่ผู้สูงอายุและเด็ก ยิ่งในปัจจุบันที่อัตราการเกิดลดลงและกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ภาพของพื้นที่ชนบทจึงคล้ายกับที่ปรากฏในซีรีส์คือเป็นพื้นที่ชุมชนที่เต็มไปด้วยสูงอายุ ขาดสาธารณูปโภคโดยเฉพาะการสาธารณสุขที่เพียงพอ ในระดับเมืองเราก็จะเห็นว่าเมืองเองพยายามส่งความห่วงใยให้กับผู้สูงอายุเช่นการส่งนมกล่องไปให้ ในระดับเรื่อง Hometown Cha-Cha-Cha ให้ภาพที่ยังโชคดีของชาวเมืองที่ยังมีคนหนุ่มทำงานและเป็นธุระในด้านต่างๆ ให้กับเหล่าผู้สูงอายุที่อยู่กันเอง รวมถึงการมาถึงของสาธารณสุขเช่นคลินิกทำฟันแห่งใหม่

ปัญหาเรื่องสังคมสูงวัยและเมืองร้างเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ เมืองในชนบทในบางประเทศเช่นอิตาลีที่เป็นเมืองเก่า มีทิวทัศน์สวยงามแต่เต็มไปบ้านที่ถูกทิ้งร้างอันเกิดจากการขาดพลเมืองจากปัญหาสังคมสูงวัย เมืองเหล่านั้นก็เลยเริ่มออกนโยบายเพื่อดึงดูด ‘digital nomad’ คือคนทำงานรุ่นใหม่ๆ ที่ทำงานโดยไม่จำกัดสถานที่และพเนจรไปตามที่ต่างๆ เพื่อหาประสบการณ์ให้ไปตั้งรกรากใหม่ในเมืองของตัวเอง นอกจากการที่เมืองเล็กๆ เช่นแถบทัสคานีหรือในแถวตอนใต้ของสเปนจะโฆษณาถึงชีวิตอันสวยงามกลางธรรมชาติพร้อมโบนัสต่างๆ เช่นมีเงินตั้งตัวให้ มีการสนับสนุนบ้านเพื่อดึงดูด ในระดับประเทศเช่นที่อิตาลีก็มีการลงทุนจากรัฐ เช่นการสนับสนุนงบพันล้านยูโรในสหภาพยุโรปเพื่อพัฒนาโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงให้ไปยังหมู่บ้านเล็กๆ และหมู่บ้านที่กำลังเสื่อมถอยลงจากการลดลงของประชากร เป็นการกระตุ้นให้เกิดการตั้งถิ่นฐานของคนรุ่นใหม่ในเมืองเก่าเหล่านั้น

กิจการของคนรุ่นใหม่กับการฟื้นฟูเมือง และการกระตุ้นระดับนโยบาย

กระแสการไหลกลับสู่เมืองน้อยของคนรุ่นใหม่จึงถือเป็นการตอบปัญหาที่พื้นที่เมืองเล็กและพื้นที่ชนบทในพื้นที่ห่างไกลกำลังเผชิญ จากการเกิดขึ้นของกิจการขนาดเล็ก และเงื่อนไขในการทำงานใหม่ๆ เราจะเริ่มเห็นการก่อตั้งสตาร์ทอัพเล็กๆ ในเมืองเล็กๆ ที่ตอบสนองปัญหาประชากรและความซบเซาของเมือง เช่นที่เกาหลีในเมืองเล็กๆ ชื่อ Mungyeong มีสตาร์ทอัพชื่อ RE:PLACE เป็นเหมือนนักสร้างสรรค์ท้องถิ่นที่คอยกระตุ้นเมือง เช่นมีการปรับอาคารเก่าเป็นคาเฟ่และเกสต์เฮ้าส์ ทำอีเวนต์เชิงสร้างสรรค์ ตัวสตาร์ทอัพได้รับความนิยมโดยผู้ก่อตั้งนั้นมีอายุเพียง 28 ปี

ทว่าการกระตุ้นและกระจายทรัพยากรโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ให้กระจายไปเติบโตและทำให้เมืองคึกคักนั้น ก็ไม่เชิงว่าจะเกิดโดยธรรมชาติหรือความเปลี่ยนแปลงแต่อย่างเดียว แต่ยังสัมพันธ์กับนโยบายและการกระตุ้นของภาครัฐด้วย เช่นกรณี RE:PLACE ผู้ประกอบการได้รับเงินสนับสนุนจากทางภาครัฐราว 130,000 เหรียญสหรัฐฯ เงินสนับสนุนสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการจะออกไปสร้างธุรกิจในพื้นที่ต่างจังหวัด ในทำนองเดียวกันในซีรีส์ก็จะมีการพูดถึงเงินเดือนที่รัฐสนับสนุน รวมถึงการได้เช่าอาคารเพื่อสร้างคลินิกในราคาต่ำกว่าตลาด

ในระดับนโยบายรัฐบาลเกาหลีมีความพยายามผลักดันให้คนรุ่นใหม่กลับไปสู่ชนบท มีรายงานว่าปีที่แล้ว (2020) ที่เกาหลีมีตัวเลขการย้ายออกไปใช้ชีวิตในชนบทราว 460,000 คน (ซีรีส์เรื่องนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างฝันและความเป็นไปได้ให้คนรุ่นใหม่ไปสร้างกิจการเล็กๆ ในเมืองเล็กๆ ด้วยก็ได้)

ธุรกิจชุมชน กับการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

แน่นอนว่าการย้ายไปยังพื้นที่ชนบท การเปลี่ยนวิถีชีวิตจากสังคมเมืองสู่ชุมชนแบบใกล้ชิดกันนั้นย่อมมีอุปสรรคที่จะต้องปรับตัว ในเรื่องเราจะเห็นภาพของความเป็นชุมชนคือลักษณะรูปแบบความสัมพันธ์ของผู้คนที่มีความใกล้ชิดกันจนบางครั้งอาจจะรู้สึกอึดอัดอยู่บ้าง แต่ด้านหนึ่ง ความสัมพันธ์ในชุมชนนั้นไม่ได้มีลักษณะเป็นคนแปลกหน้า แต่เน้นความใกล้ชิด การเกื้อกูลดูแลกัน ทำให้เรามองเห็นภาพบทบาทของธุรกิจโดยเฉพาะกิจการขนาดเล็กที่ไม่ได้มุ่งเพียงกำไรแต่อย่างเดียวแต่เน้นการเติบโตและตอบสนองไปกับความต้องการของชุมชน

กรณีคลินิกของหมอฮเยจินเองก็เช่นกัน ความเป็นอุดมคติและความฝันของหมอฮเยจินนั้นค่อนข้างถูกทำลายลงด้วยวิถีการประกอบธุรกิจในสังคมเมืองใหญ่ที่เน้นกำไรสูงสุดทำให้เธอรับไม่ได้กับการหาประโยชน์จากการรักษาที่จำเป็นกับคนไข้ การย้ายจากกิจการขนาดใหญ่ เช่นโรงพยาบาลเอกชนมาสู่คลินิกขนาดเล็กจึงเป็นฟื้นฟูความฝันและความหมายทั้งในการใช้ชีวิตและวิชาชีพโดยที่มีเงื่อนไขและวิถีปฏิบัติที่แตกต่างออกไป คือไม่ได้มีเรื่องผลกำไรอันเป็นตัวเงินเป็นที่ตั้ง แต่มีเรื่องสุขภาพของผู้คน ความสัมพันธ์และการเข้าใจความต้องการที่เฉพาะเจาะจงและมองเห็นว่าการงานหรืออาชีพของตนนั้นจะช่วยเติมเต็มผู้คนและชุมชนโดยที่ยังประกอบอาชีพโดยสุจริตได้ต่อไป

ชนบทและบ้านเกิดกับการเป็นพื้นที่ทางความรู้สึกและความทรงจำ

ความพิเศษหนึ่งที่ Hometown Cha-Cha-Cha กำลังแสดงให้เราเห็นคือมิติทางความรู้สึกและความทรงจำที่ซ้อนทับอยู่ในพื้นที่เมืองโดยเฉพาะเมืองเล็กๆ ที่เป็นบ้านเกิด มนุษย์เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ละเอียดอ่อนและสัมพันธ์อย่างซับซ้อนกับความทรงจำและความรู้สึก พื้นที่เมืองเองก็เช่นกันที่นอกจากการคิดเชิงเหตุผล การเปลี่ยนเงื่อนไขการทำงาน การย้ายหนีมลพิษและความแออัดแล้ว มิติของความรู้สึกและความทรงจำก็เป็นสิ่งที่สำคัญกับมนุษย์ที่อยู่ในเมืองด้วย

เราจะเห็นว่าการกลับไปสู่บ้านเกิดของพระเอกนั้น ส่วนหนึ่งคือการค่อยๆ คลี่คลายหรือกลับไปสำรวจอดีตของตัวเองและคลายปมบางอย่างลง การกลับบ้านเกิดของเขาจึงมีประเด็นที่ละเอียดอ่อนบางอย่างของตัวตนประกอบอยู่ นอกจากนี้พื้นที่ชนบทยังถูกวาดให้ตรงข้ามกับพื้นที่เมืองใหญ่ที่ชืดชาห่างเหิน เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยความสัมพันธ์ต่อกัน การแสดงความรู้สึก ดูแลเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน

  

ปัญหาของเมืองเล็ก

สุดท้าย ส่งท้าย ไม่ได้หมายความพื้นที่ชนบท เมืองเล็ก และเมืองห่างไกลจะกลายเป็นอุดมคติใหม่ หรือเป็นคำตอบสำหรับคนรุ่นใหม่ในการแสวงหาชีวิตที่ดี แน่นอนว่าการย้ายถิ่นฐานไปจนถึงการสร้างธุรกิจ และการปรับตัวเข้ากับสังคมและชุมชนที่มีรูปแบบความสัมพันธ์ที่เฉพาะเจาะจงล้วนมีความเสี่ยง และไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากนี้เมืองเล็กก็อาจจะมีปัญหาอยู่บ้างเช่นความฝันของผู้คนที่เมืองเล็กอาจจะไม่ตอบสนองความสามารถบางอย่างที่อาจจะไม่ได้เป็นไปในทางปฏิบัติเช่นงานช่าง เกษตรกรรม หรือการผลิตสิ่งจำเป็นก็อาจจะยังต้องอาศัยเมืองใหญ่ในการเติบโต

แต่ปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงทั้งปัญหาของพื้นที่ชนบท การไหลเข้าออก รวมถึงความฝันและวิถีชีวิตการทำงานที่กำลังเปลี่ยนแปลงก็ถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าจับตา และกำลังส่งผลกับภูมิทัศน์ทั้งเมือง ชนบท รวมถึงกระทบนโยบายและวิถีชีวิตต่อไปอย่างแน่นอน

อ้างอิงข้อมูลจาก

jchs.harvard.edu

bloomberg.com

theguardian.com

sparefoot.com

smallbiztrends.com

forbes.com

Graphic Design by Prapawit Intun
Share :