CITY CRACKER

ปลูกไว้ไม่มีกลัว 7 ต้นไม้ป้องกันภูติผีและปีศาจ

แทบจะทุกวัฒนธรรมมีความเชื่อเรื่องภูติผี เรามีเรื่องเล่าตำนานของสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติ บ้างก็เป็นนิทานไว้สอนใจ บ้างก็เป็นส่วนเล็กๆ ของเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ในพื้นที่นั้นๆ แต่แง่หนึ่ง มนุษย์เราต้องอยู่กับธรรมชาติ และสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของ ‘ธรรมชาติ’ ของเรา ไม่ว่าจะเป็นความตายในฐานะคาบสุดท้ายของชีวิต หรือกระทั่งการหลงผิดจนกลายสภาพเป็นผี เป็นปีศาจ

 

นึกภาพมนุษย์ ในยุคสมัยที่เรายังแสนจ้อย ธรรมชาติรอบตัวเรานี่แหละที่ยิ่งใหญ่และทรงอิทธิพล เมื่อเราเจอกับสิ่งเหนือธรรมชาติทั้งหลาย ธรรมชาติก็เลยเป็นสิ่งที่เรานำกลับมาเพื่อต่อกร รับมือกับเรื่องชั่วร้ายหรือภัยคุกคามต่างๆ ต้นไม้ พืชพรรณก็มักถูกเชื่อมโยงเข้ากับความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆ ต้นไม้ใหญ่ที่ยืนต้นมาอย่างยาวนานล้วนมีเรื่องเล่าและตำนานเป็นของตัวเอง เป็นสิ่งที่คุ้มกันเราทั้งในทางกายภาพและในแง่ของจิตวิญญาณ

ในช่วงวันผีออกแบบนี้ City Cracker ชวนกลับไปรู้จักกับพืชพรรณที่ประกอบขึ้นบนความเชื่อจากหลายเชื้อชาติ เป็นต้นไม้ที่มีเรื่องเล่าและความหมาย มีความสามารถพิเศษในการปกป้องคุ้มครองเราจากผีในช่วงคืนวันปล่อยผี ไปสำรวจว่าเอ๊ะ ทำไมกระเทียมไปเกี่ยวอะไรกับโรคพิษสุนัขบ้าในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ไปดูว่าต้นตีนเป็ดที่เราเหม็นๆ กันนี้ทำไมถึงได้ชื่อว่าต้นไม้ของเหล่าภูติพราย

 

กระเทียม

พูดถึงต้นไม้กันผี แล้วพูดถึงกระเทียมอาจจะรู้สึกว่าเชย แต่กระเทียมที่ถูกโยงเข้าไปกับแวมไพร์อาจเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์โรคระบาดในยุโรปด้วย ก่อนอื่นต้องย้อนเล็กน้อยว่ามีนักวิชาการที่พยายามศึกษาเรื่องแวมไพร์ในฐานะเรื่องเล่าและวรรณกรรม เพราะแวมไพร์เป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ที่เป็นผีในยุคที่ยุโรปเริ่มเกิดเมืองใหญ่ เกิดความทันสมัยขึ้น เป็นผีในเมืองที่ทำตัวเหมือนคน ทีนี้หนึ่งในความเชื่อมโยงคือนักวิชาการเริ่มโยงแวมไพร์เข้ากับโรคพิษสุนัขบ้า อีกหนึ่งโรคที่ระบาดแถบยุโรปตะวันออกในช่วงศตวรรษที่ 18 ยุคนั้นพาหะสำคัญก็คือค้างคาวและหมาป่า นึกภาพยุคมืดๆ ทึมๆ มีโรคระบาด อาการพิสุนัขบ้าส่งผลคนมีโอกาสกัดคนด้วยกัน คนป่วยจะมีอาการทางประสาทโดยประสาทการรับรู้ต่างๆ ไวขึ้น ดังนั้น การจะกลัวแสง หรือกระทั่งกลิ่นกระเทียมที่ฉุนรุนแรงก็ดูจะเชื่อมโยงกับอาการเหล่านี้ได้ จึงเป็นข้อสันนิษฐานหนึ่งว่าทำไมกระเทียมถึงถูกโยงเข้ากับเรื่องเล่าตำนานแถบโรมาเนีย

 

หนาด

กลับมาที่ผีพื้นบ้านแบบไทยๆ เรามีผีกระสือและกระหังเป็นตำนานดั้งเดิม จริงๆ กระสือก็ถือว่าเป็นผีที่ประหลาด นอกจากความน่าขยะแขยงแล้วก็ดูจะไม่มีพิษภัยเท่าไหร่ บ้านเราจึงมีความเชื่อสำคัญว่าใบหนาดเป็นต้นไม้ที่มีพลังพิเศษ สามารถช่วยป้องกันผีกระสือได้ นอกจากพลังบางอย่างของต้นไม้แล้ว การที่หนาดสามารถกันกระสือได้ก็อาจมาจากลักษณะใบที่ค่อนข้างสาก หยาบ ทำให้มีโอกาสเกี่ยวไส้-พุงของกระสือได้ ถ้าพูดถึงแต่ลักษณะใบ หากเราปลูกกระบองเพชรก็น่าจะได้ผลดีสยดสยอง เกี่ยวไส้พุงกะสือได้คล้ายๆ กัน

 

พญาสัตบรรณ

ต้นนี้อาจไม่เชิงป้องกันผี แต่เป็นต้นไม้ในเมืองใหญ่ที่เราคุ้นกลิ่นดี เป็นต้นไม้ที่ช่วยปรุงบรรยากาศของหน้าหนาว ให้เมืองทึมๆ ในเขตร้อนของเรามีบรรยากาศและเรื่องราวต่างออกไป พญาสัตบรรณในหลายวัฒนธรรมเรียกว่าเป็นต้นไม้ของภูติผี แง่หนึ่งกลิ่นตีนเป็ดเป็นกลิ่นฉุนประหลาดที่เราก็พอจะจับความรู้สึกแปลกๆ และทำให้หน้าหนาวมีความลึกซึ้งขึ้น ตามความเชื่อบอกว่า กลิ่นของตีนเป็ดมักจะหอมช่วงโพล้เพล้ ในยามนั้นเองมันจะดึงดูดมนุษย์และสัตว์เข้าไปนั่งๆ นอนๆ ใต้ร่มไม้และดมกลิ่นหอมนั้น ผลคือสิ่งมีชีวิตที่ผล็อยหลับไปอาจเข้าสู่ห้วงนิทราไปตลอดกาล

 

โอ๊ก

ไปที่ตำนานโลกตะวันตกบ้าง จริงๆ ความเชื่อก็คล้ายๆ กันทั่วโลก คือไม้ใหญ่ทั้งหลายมักมีความเชื่อบางอย่างติดมากับความเก่าแก่โบราณนั้น ต้นโอ๊กเป็นต้นไม้ที่ถูกโยงเข้ากับความศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้นไม้แห่งการปกป้องคุ้มครอง นอกจากการคุ้มภัยแล้วต้นโอ๊กยังมีความเชื่อเรื่องการบำบัดรักษาด้วย เช่นการใช้น้ำที่ไหลผ่านไม้โอ๊กในการรักษาบาดแผลและอาการเจ็บป่วย ในทางวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งก็ด้วยว่าโอ๊กมีสารแทนนินที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้ออ่อนๆ ดังนั้นไม้โอ๊กจึงใช้ได้ดีในการบ่มไวน์ คือสารแทนนินนี้แหละที่เป็นส่วนหนึ่งในการปรับสมดุลจุลชีพ ในทำนองเดียวกัน ไม้ใหญ่มักมีความหมายกับวัฒนธรรมของเรา บ้านเราเองต้นไม้ใหญ่ๆ เช่นโพธิ์หรือไทรก็มักมีความเชื่อว่าเทพยดาสิงสถิตอยู่

 

โรสแมรี่

สมุนไพรเป็นอีกหนึ่งส่วนประกอบสำคัญ ไม่ว่าจะด้วยกลิ่น หรือสรรพคุณทางยา ในยุคก่อนหน้าการรักษาและศรัทธาเป็นสิ่งที่ยังคงอยู่รวมกัน โรสแมรี่จึงเป็นอีกหนึ่งสมุนไพรประจำบ้านที่นอกจากจะมีกลิ่นล้ำลึกแล้ว ยังถูกใช้ในการปกป้องรักษา ในยุคกลางเชื่อว่าโรสแมรี่มีฤทธิ์ในการป้องกันขับไล่ภูติผีและแม่มด และบางครั้งช่อโรสแมรี่จะถูกหย่อนลงสู่หลุมฝังศพ เพื่อให้คนๆ นั้น เป็นที่จดจำเป็นตลอดกาล

 

ท้อ

ชื่อภาษาไทยฟังแล้วท้อแท้ แต่จริงๆ ต้นท้อเป็นต้นไม้สำคัญของจีน เป็นไม้ยืนต้นที่ออกดอกสวยงาม ต้นท้อเป็นตัวแทนของชีวิตยืนยาวแถมช่วยป้องกันสิ่งชั่วร้ายต่างๆ ได้ ถ้าใครชอบดูหนังจีนที่มีสวรรค์ มีเง็กเซียนฮ่องเต้ก็คงจะพอนึกออกว่าบนสวรรค์มีสวนท้อ ต้นท้อเป็นไม้ของสวรรค์ มีฤทธิ์ทำให้เป็นอมตะ พ่อมดหมอผีจีนโบราณจึงเชื่อว่าท้อเป็นไม้วิเศษ ตัวกิ่งใช้บังคับควบคุมผี ในขณะที่หมอแผนโบราณมักใส่ใบท้อลงในหม้อยา เพื่อไล่ผีที่สิงและสร้างความป่วยไข้กับคนป่วย

 

ฟักทอง

ส่งท้ายรายชื่อด้วยต้นไม้ พืชประจำวันฮาโลวีน เจ้าฟักทองที่ถูกแกะเป็นหน้า จนกระทั่งกลายเป็นสัญลักษณ์วันฮาโลวีนค่อนข้างยาวนานและหยั่งรากกลับไปถึงยุโรปก่อนจะโยกย้ายมาที่อเมริกาโลกใหม่ ฟักทองแกะหน้ามาจากความเชื่อเรื่อง jack-o’-lantern ประกายแว้บๆ ในป่าทึบแถบอังกฤษและไอร์แลนด์ ทีนี้มีการสันนิษฐานว่าการแกะหัวพืชเพื่อประดับในฮาโลวีนเริ่มขึ้นในไอร์แลนด์ แต่ตอนโน้นแถวๆ นั้นไม่มีฟักทองแต่แกะ turnip พืชหัวฉุนคล้ายหัวไชเท้าบ้านเรา ก่อนจะได้รับความนิยมในภูมิภาคแถบๆ นั้นอังกฤษตอนเหนือ สก๊อตแลนด ทีนี้ยุคหนึ่งคนแถบๆ นั้นอพยพย้ายมาตั้งถิ่นฐานในสหรัฐ พอถึงฮาโลวีนก็เลยเอาประเพณีเดิมติดมาด้วย จากแกะ turnip หัวจิ๋วๆ ก็มาเจอกับฟักทอง พืชท้องถิ่นของทวีปอเมริกา หลังจากนั้นการแกะฟักทองในวันฮาโลวีนจึงกลายเป็นอีกกิมมิกที่ผลักดันทั้งวงการเกษตร ไปจนถึงโลกการค้าแบบอเมริกัน อิทธิพลทางวัฒนธรรมของอเมริกาที่มีต่อทั่วโลกนี้เองที่ทำให้การแกะฟักทองแบบอเมริกันกลายเป็นสัญลักษณ์ของวันฮาโลวีนทั่วโลก

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

blog.nationalgeographic.org

gardenerspath.com

welovesphanat.blogspot.com

merriam-webster.com

 

Illustration by Thitaporn Waiudomwut

 

Share :