CITY CRACKER

เมืองที่ชืดชาทำให้เรานกและเป็นโสด? เมื่อการออกแบบเมืองส่งผลต่อความสัมพันธ์

ฟังดูเป็นการโทษขำๆ ที่เราจะโทษว่า นี่ไง ที่เรายังโสดเป็นเพราะฟ้า เป็นเพราะอากาศ และล่าสุดก็มีข้อสังเกตจำนวนมากว่าเมืองใหญ่ทั้งหลาย โดยเฉพาะเมืองที่ออกแบบไม่ดีนี่แหละที่ทำให้เรายังโสด เป็นคนเหงา และนอนกลับบ้านกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอย่างเดียวดายในเมืองที่แสนชืดชานี้

 

ชีวิตที่เร่งรีบในเมืองใหญ่ ตึกระฟ้าที่ท่วมไปด้วยผู้คน แต่คนเหล่านั้นไม่แม้แต่จะมองหน้ากัน เมืองใหญ่ก็ดูจะเป็นดินแดนไร้อารมณ์ เราจะตกหลุมรักใครซักคนในภาพเมืองดิสโทเปียแบบนี้ไหวได้อย่างไร ไม่นานมานี้คุณแหม่ม-วีรพร นิติประภา นักเขียนหญิงเจ้าของรางวัลซีไรต์แสนเท่เพิ่งจะนิยามกรุงเทพฯ ว่าเป็น ‘เมืองที่ไม่โรแมนติก’ ประกอบกับข้อสังเกตมากมายที่เริ่มอธิบายว่านอกจากประเด็นเรื่องเราใช้เวลาไปก้บการเดินทาง เมืองที่เดินไม่ได้นำไปสู่การไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่แล้ว เมืองใหญ่ๆ ทั้งหลายก็ดูเป็นเมืองแห่งคนเหงา อย่างกรุงเทพฯ เองก็ดูมีคนเหงามากกว่าเสาไฟฟ้า

คำว่าเมืองที่ ‘ไม่โรแมนติก’ นี้ฟังดูเป็นคำนิยามสำคัญ นอกจากเรื่องพฤติกรรมส่วนตัวแล้ว เราลองนึกภาพคำว่า ‘เมือง’ อย่างที่บอกว่าเมืองเองมีความชืดชาอยู่แล้ว ยิ่งเมืองที่แสนผุพัง ถนนหนทางก็เดินไม่ได้ สวนก็ไม่มี แต่ในทางกลับกัน ลองนึกภาพเมืองที่ขึ้นชื่อว่าโรแมนติก เราอาจเห็นภาพตัวเองเดินอยู่บนถนน รายล้อมด้วยต้นไม้ แม่น้ำ เป็นเมืองที่ทำให้เรามีชีวิต ปลุกความโรแมนติก และอยากจะออกไปเดท ไปตกหลุมรัก และลงเอยด้วยรอยจูบกับใครซักคน ขณะเดียวกัน เมืองที่ดีก็ทำให้เรามองความเป็นไปได้ของอนาคต ทำให้เราอยากที่จะลงหลักปักฐาน มากกว่าจะนั่งอุดอู้บนรถ กลับถึงบ้านนอนหรือเอาตัวรอดไปวันๆ

 

Open Public Space เมืองใหญ่กับความเป็นไปได้ของความโรแมนติก

แน่นอนครับว่าสภาพแวดล้อมย่อมส่งผลกับผู้คน ต่อให้เราอยู่ในยุคเดทออนไลน์ แต่พื้นที่กายภาพก็ย่อมส่งผลกับชีวิต และชีวิตทางสังคมอยู่ดีเนอะ ถ้าเป็นเรื่องความสัมพันธ์ การเป็นคนเมือง กับการใช้ชีวิตในพื้นที่ที่แปลกหน้าน้อยกว่า รีบและเหงาน้อยกว่าก็อาจทำให้เรามีคู่ง่ายขึ้น

ในข้อเขียนของ Amanda Hess พูดถึงประสบการณ์ของการออกเดทและทำลายคำสาปความโสด เธออธิบายว่าการออกเดทในเมืองใหญ่และเล็กมีความลำบากต่างกันเยอะ เธออธิบายว่าการเดทและเริ่มความสัมพันธ์ในเมืองใหญ่เช่นนิวยอร์กยากกว่าในเมืองที่ย่อมกว่าอย่างวอร์ชิงตันเยอะเลย

เธอบอกว่าทั้งๆ ที่นิวยอร์กดูจะเป็นเมืองที่หาความรักได้ง่ายๆ จากจำนวนประชากรคนโสดที่อาศัยอยู่อย่างหนาแน่น แต่เธอบอกว่าไม่เลย เธอพบว่า เมืองที่แออัด โดยเฉพาะการต้องเดินทางด้วยรถไฟใต้ดินที่แน่นขนัดทำให้ความรู้สึกโรแมนติกของเธอพังลงไปได้ง่ายๆ ในทางกลับกัน เมืองโล่งๆ เช่นดีซีที่มีศูนย์กลาง มีผู้คนไปรวมตัวกันที่นั่นกลับทำให้ชีวิตและบรรยากาศในการใช้ชีวิตเป็นไปได้ดีกว่า

พูดเรื่องความโรแมนติก ฟังดูเป็นเรื่องที่แสนจะนามธรรม มีข้อสังเกตสำคัญที่น่าคิด มาจาก TED Talk ของผู้ร่วมสร้างไฮไลน์ (The Highline) ของนิวยอร์ก บอกว่า สวน หรือพื้นที่เขียวๆ ที่มาตกแต่งเมืองเนี่ย มันทำให้หัวใจเราฟูขึ้น และแน่นอนว่านำไปสู่ปฏิสัมพันธ์ที่เป็นรูปธรรม แกบอกว่า ‘หลังจากที่เปิดไฮไลน์แล้ว เห็นว่ามีคนเดินจูงมือกันที่ไฮไลน์ ผมก็นึกขึ้นได้ว่าคนนิวยอร์กไม่เดินจับมือกันโดยทั่วๆ ไป แต่การเดินจับมือกลับปรากฏขึ้นในไฮไลน์ นั่นแหละผมถึงคิดถึงพลังของพื้นที่สาธารณะที่ส่งผลกับผู้คน’

ฟังแล้วก็นึกหวนกลับมาที่กรุงเทพฯ อย่างรวดเร็ว พี่แหม่มบอกว่าเรามีแต่ถนนหนทาง และห้าง และก็เหมือนกับนิวยอร์กที่เราเองก็ไม่มีที่ให้เดินจูงมือ เรานึกถึงสวนดีๆ เป็นที่ที่เปิดโอกาสให้เราสัมผัสใกล้ชิดกัน คิดถึงถนนสายสวยๆ ที่มีเงาไม้ทอดคลุม คิดถึงการเดินเคียงคู่ไปกับคนที่เราแอบชอบ ซีนแบบที่เราเห็นในหนังเกาหลีหรือโรแมนติกคอมเมดีสักเรื่อง ที่ถ้าจะมาเกิดในกรุงเทพฯ ก็จะกลายเป็นหนังตลกร้าย หลบหลุมบ่อ วิ่งขึ้นรถเมล์กันไปโดยปริยาย

 

ความสมเหตุสมผลของการลงหลักปักฐาน

นอกจากเมืองจะเกี่ยวข้องกับจิตใจ เป็นภาพดินแดนของความโรแมนติก เป็นพื้นที่ที่เอื้อให้เรารัก และอยากจะรักใครบางคนแล้ว เรื่องความสัมพันธ์เองก็ดูจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของเหตุผล และความสมเหตุสมผลด้วย มนุษย์เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่คิดคำนวณตลอดเวลา และแน่นอนว่าสภาวะแวดล้อมก็เป็นสิ่งที่ส่งอิทธิพลกับการตัดสินใจ และแรงจูงใจในการทำหรือไม่ทำอะไร

เอาง่ายๆ คือ เมืองแย่ๆ ที่แค่ใช้ชีวิตไปวันๆ ยังลำบากเลย นอกจากจะไม่เอื้อกับการออกเดทและสานต่อความรักแล้ว เราเองลองมองไปข้างหน้าก็แทบไม่เห็นทาง ไม่เห็นอนาคต การสละโสดเป็นการตัดสินใจก้าวไปสู่บทใหม่ๆ ภาระใหม่ๆ ของชีวิต จึงเป็นสิ่งที่ตัดสินใจก้าวไปได้อย่างยากเย็น

ในทางกลับกัน ถ้าเราอยู่ในเมืองที่ดี มีสาธารณูปโภคครบครัน เรานึกภาพการทำงานในอนาคตของเราออก เห็นภาพก้าวต่อๆ ไปอย่างชัดเจน ว่าเอ้อ จะไปลงหลักปักฐานที่ไหน บ้านที่ใหญ่ขึ้นต้องลงทุนอะไร เดินทางไปมาได้อย่างสะดวก มีศูนย์กลางของเมืองที่มีทุกอย่างให้เรา และครอบครัวได้มีชีวิตที่ดีได้ตามอัตภาพ เห็นภาพการไปรับ-ส่งลูก ภาพของสถานพยาบาลยามเจ็บป่วย ศูนย์ดูแลเมื่อแก่ชรา เมืองที่เอื้อทำให้เราจินตนาการอนาคตได้ดีขึ้น และการจินตนาการนี้แหละที่ทำให้เรายินดีที่จะก้าวไปสู่บทใหม่ๆ ของชีวิต ไม่แตะเบรกและประวิงการมีคู่ต่อไป

 

จริงๆ เรื่องการมีคู่ การแต่งงานก็ถือเป็นทางเลือก การอยู่เป็นโสดไปเรื่อยๆ ก็ถือเป็นเส้นทางหนึ่งที่เราเลือกได้ แต่สำหรับความรักเองที่ฟังดูเป็นเรื่องส่วนตัว ในที่สุดแล้ว เมือง ผังเมือง และนโยบายระดับรัฐเองก็ดูจะเป็นสิ่งที่เข้ามามีผลกับเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง สุดท้ายก็กลับไปที่เรื่องเดิมๆ การมีชีวิตที่ดี เอื้อให้กับการเติบโต เอื้อให้กับทางเลือกในชีวิตก็เป็นสิ่งที่ผลักดันให้เราเดินไปต่อ หรือติดเบรกให้ชีวิตเราดำเนินต่อไปได้ยากขึ้น

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

voicetv.co.th

dailynews.co.th

archdaily.com

citylab.com

 

Illustration by Napadon Wongcharoensawad
Share :