ในช่วงเวลายากลำบาก ตอนนี้กลายเป็นว่าการใช้ชีวิตแบบกักตัวของเราทำให้หลายคนที่ยังพอมีกำลังจับจ่าย พร้อมกับการเกิดขึ้นของกรุ๊ปค้าขายน้อย-ใหญ่ ตั้งแต่การฝากร้านภายในมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาไปจนถึงการฝากร้านแบบเฉพาะ
เราได้เจอกับเหล่าลูกหลานเกษตรกร ไปจนถึงเกษตรกรทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่ที่มาเสนอสินค้าสดๆ จากไร่ จากสวน จากบ่อกุ้ง กระชังปลา ส่งตรงถึงหน้าบ้านของเรา การชะงักงันของระบบค้าขายและตลาดแบบเดิม การขนส่งสินค้าผ่านตลาดและพ่อค้าคนกลางเปลี่ยนโฉมไปจากภาวะโรคระบาด โลกของสินค้าถูกผลักเข้าสู่โลกออนไลน์และการส่งตรงถึงหน้าบ้านไปโดยปริยาย
การเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิทัศน์- คำเก๋ๆ ที่หมายถึงชีวิตแบบเดิม การไปเดินตลาดสดตลาดนัด ไปจนถึงร้านค้าร้านอาหารยุติลงชั่วคราว รูปแบบการบริการสินค้าแบบใหม่ ที่เรียกว่า CSA – Community Supported Agriculture ที่จริงแล้วไม่ได้ใหม่เท่าไหร่ แต่แค่กลับมาเข้ากับยุคสมัยอย่างรวดเร็ว เจ้า CSA นี้พูดง่ายๆ ก็คือการผูกปิ่นโต รับผลผลิตวัตถุดิบเฉพาะจากเหล่าผู้ผลิตรายย่อย ที่พยายามบริการวัตถุดิบสดใหม่ส่งตรงถึงมือผู้บริโภคโดยตรง เป็นฟาร์มหรือผู้ผลิตขนาดเล็กที่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบสินค้าขนาดใหญ่ได้ บ้านเราเองเมื่อก็เริ่มมีทั้งฟาร์มขนาดเล็ก และการบริการกล่องวัตถุดิบราว 5-6 ปีมาได้แล้ว
ปรากฏการณ์การกลับมาของการส่งสินค้าจากฟาร์มถึงประตูบ้านนี้ ไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย ในหลายประเทศเช่นอเมริกาเอง เจ้ากล่องสินค้าจากผู้ผลิตโดยตรง เริ่มมีการเข้าถึงผู้ซื้อแบบครัวเรือนผ่านระบบอินเตอร์เน็ต การบอกต่อ และการบอกรับสินค้านั้นก็กลับมาเฟื่องฟูเช่นกัน ที่อเมริกาเองด้วยความที่วัฒนธรรมอาหารและการผลิตอาหารแบบฟาร์มท้องถิ่นเริ่มแข็งแรง ในด้านหนึ่งเมื่อร้านอาหารและบริการหยุดชะงัก พวกสินค้าเกษตรทั้งหลายก็ได้รับผลกระทบ และพยายามเอาตัวรอดแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในบ้านเรา
สำหรับบ้านเราเองก็ถือเป็นภาวะที่น่าตื่นเต้น และในขณะเดียวกันก็มีข้อจำกัดบางประการ เช่นการค้าขายที่เริ่มเฟื่องฟูตอนนี้ ทำให้เราได้เห็น ‘หน้าตา’ ของผู้ผลิตมากขึ้น จากที่เราเคยเห็นแค่กุ้ง เห็นไข่ไก่ที่นอนแน่นิ่งอยู่บนชั้น เรากลับได้เห็นว่าคนที่อยู่เบื้องหลังผลผลิตและสินค้าเหล่านั้นมีหน้ามีตา มีเรื่องราว มีเสียงอย่างไร ในหลายร้านค้าหลายบริการก็ล้วนเป็นรุ่นพี่รุ่นน้อง เป็นเพื่อนร่วมสถาบันเดียวกัน
พอว่าด้วยเรื่องสถาบัน จุดนี้ก็เลยเริ่มเห็นข้อจำกัดบางอย่าง เช่นความเฟื่องฟู การขายได้ หรือได้รับความสนใจก็มีตัวแปรต่างๆ มากมาย การมีลูกหลานเป็นศิษย์เก่าถึงจะเข้าขายได้ หรือปัจจัยเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจก่อให้เกิดข้อถกเถียงบางอย่าง เช่นสินค้าบางประเภทที่แน่นอนว่าซื้อกันไม่ไหว ที่ดินราคาหมื่นล้านถูกนำเข้ามาอยู่ในตลาด เบียดบังรายย่อยต่อไป และแน่นอนว่าไม่ใช่เกษตรกรทั้งหมดจะเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและผู้ซื้อได้ ในทางกลับกันภาระเรื่องค่าขนส่ง และการกำหนดราคาที่เป็นธรรมก็อาจเป็นประเด็นพิจารณาต่อเนื่องต่อไป
สุดท้าย แม้ว่าการได้เห็นวัตถุดิบ ได้ซื้อสินค้าจากผู้ผลิตโดยตรง และการพึ่งพาการขนส่งแบบเป็นครั้งๆ ในระดับรายย่อยนั้นจะมีความยั่งยืน คุ้มค่าไปได้มากน้อยแค่ไหน และการหายไปของรอยต่อ ปลายทางของร้านค้า ร้านอาหาร ไม่ว่าจะร้านอาหารเฉพาะที่มีการบอกรับวัตถุดิบ ร้านค้าเฉพาะจากชุมชน การเกิดขึ้นของโคโรน่าไวรัสนั้นก็ย่อมทำให้หน้าตาของวัฒนธรรมอาหาร สายพานการผลิตและการบริโภค อาจไม่กลับมาเป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก
Cover by Montree Sommut
- Vanat Putnark
Writer