CITY CRACKER

รำลึกและก้าวต่อไป อนุสรณ์สถานกับการจดจำความทรงจำทั้งดีและร้าย

เดือนเมษายนและพฤษภาคมถือเป็นช่วงเดือนที่สังคมไทยผ่านประวัติศาสตร์บาดแผลและการต่อสู้ พื้นที่สำคัญเช่นพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานครกลายเป็นพื้นที่ที่มีมิติทางการเมือง มีร่องรอยและบาดแผล มีการรำลึกนึกถึง มีการรวมตัวในสถานที่สำคัญที่เคยมีรอยหมาย มีคราบเลือด และมีความตาย ในการจดจำนั้นเรามักพูดถึงเสียงของผู้คนและความยุติธรรมที่สังคมจะไม่ลืมเลือน

สำหรับเดือนพฤษภาของทุกปีมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม จะมีการจัดการรำลึกถึงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ หนึ่งในเหตุการณ์ความรุนแรงและการสังหารหมู่กลางเมืองที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยของไทย โดยล่าสุดที่บริเวณสวนสันติพรก็กำลังมีโครงการออกแบบและจัดสร้างสวนสาธารณะและอนุสรณ์สถานสำหรับรำลึกถึงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬนำโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการศึกษาและนำเสนอแบบโดยนักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมเพื่อออกแบบพื้นที่ต่อไป

การเวียนมาของประวัติศาสตร์บาดแผลและความรุนแรง ในด้านหนึ่งสัมพันธ์กับความทรงจำร่วม (collective memory) ถ้าเรามองไปที่การสร้างพื้นที่สาธารณะทั่วโลก กระแสหนึ่งที่เราจะเห็นคือการสร้างอนุสรณ์สถานของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เป็นการจดจำและรำลึกถึงเหยื่อในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สร้างขึ้นทั่วโลก เราจะเห็นการสร้างอนุสรณ์ในพื้นที่สำคัญข้างรัฐสภาในลอนดอน จนถึงการสร้างอนุสรณ์สถานและพิพิธภัณฑ์ในสหรัฐอเมริกา หรือในการสู้รบที่เคียฟ อนุสรณ์สถานบาบิน-ยา (Babi Yar) ก็เป็นหนึ่งประเด็นของบาดแผลที่ถูกเปิดซ้ำอีกครั้ง ตัวบาบิน-ยาก็เป็นอีกหนึ่งอนุสรณ์ที่มีประวัติศาสตร์การต่อสู้ของการจดจำเหตุการณ์ความรุนแรงที่ถูกลบจนกลายเป็นพื้นที่จดจำและอนุสรณ์อันสำคัญ

นอกจากความทรงจำขนาดใหญ่หรือเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์แล้ว ไม่นานมานี้ก็ได้มีการพูดถึงอนุสรณ์ที่เฉพาะเจาะจงที่พูดถึงร่องรอยและการสูญเสียในระดับปัจเจกเช่น อนุสาวรีย์เหยื่อของอุบัติเหตุทางรถยนต์ของปูดาเปส อนุสรณ์สถานเล็กๆ ที่ทำให้เรามองเห็นมิติของบาดแผลและการสูญเสียที่เกิดขึ้นบนพื้นที่เมืองนั้นๆ

หลายครั้งที่เรามองไปในพื้นที่ใดใดก็ตาม หรือกระทั่งในความทรงจำของเราเอง เรามักจะอยากจะเห็นสิ่งอันสวยงาม และจดจำแต่เรื่องดีๆ ในระดับของความทรงจำสาธารณะและความทรงจำร่วม ทำไมเราถึงควรจดจำความทรงจำที่เจ็บปวด และเราจะจดจำอย่างไร

bangkokbiznews.com

 

เรียนรู้จากอดีตและความสำคัญของความเป็นธรรม

อนุสรณ์สถานไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ถือเป็นจุดสำคัญของพื้นที่เมือง และนับได้ว่าเป็นตัวแทนว่าเมืองๆ นั้น หรือชุมชนนั้นๆ มีประวัติศาสตร์อะไร และเลือกที่จะจดจำอะไร ความทรงจำและประวัติศาสตร์จึงมีความซับซ้อนคืออาจเต็มไปด้วยความหลากหลายขึ้นอยู่กับการเล่า และอาจกระจัดกระจาย แต่ทว่าความทรงจำอันหลากหลายนั้นอาจจะพอมีจุดร่วมคือพื้นที่ที่ความทรงจำนั้นๆ เกิดขึ้น ในทางกลับกันมิติความทรงจำของพื้นที่ก็ทำให้พื้นที่กายภาพนั้นๆ มี ‘ชั้น (layer)’ ของเรื่องราว ของประวัติศาตร์ ของเรื่องเล่าซ้อนทับกัน ต้นไม้ต้นหนึ่งในสนามหลวง ประตู พื้นที่ผิวดินขนาดหนึ่งตารางฟุต ไปจนถึงพื้นที่ริมถนน ทางเท้า โทเวล สะพานข้าม อาจเคยมีเรื่องราว มีการสูญเสีย มีความทรงจำของผู้คนล่องลอยอยู่

แน่นอนว่าการทำให้ความทรงจำที่เคยลอยล่องอยู่นั้น มองเห็นขึ้นมาได้ ทำให้ประวัติศาสตร์มีตัวตนขึ้น มิติที่สำคัญที่สุดไม่ว่าจะเป็นอนุสรณ์ลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือกรณีของพฤษภาประชาธรรม อนุสรณ์เหล่านี้กำลังพูดถึง ‘ความเป็นธรรม’ เราจดจำเรื่องราวในมุมของผู้ถูกกระทำ หลายครั้งการจดจำและการรำลึกนั้นเป็นประวัติศาสตร์ที่ยังไม่จบสิ้น ยังไม่นำไปสู่การชำระ การมองเห็นและการสำนึกเสียใจถึงผู้สูญเสียอย่างเป็นรูปธรรม มีคนที่สูญเสียจริง เกี่ยวข้อง มีเลือดเนื้อที่อาจจะยังต้องการความเป็นธรรมและการรับรู้

ดังนั้นแล้วในอีกมิติหนึ่งของอนุสรณ์สถาน คือมิติของความเป็นพื้นที่สาธารณะ ในแง่ของการเป็นพื้นที่รวมตัวกันของผู้คนเพื่อทำการรำลึกถึงเรื่องราวที่สังคมเห็นว่าสำคัญนั้นร่วมกัน โดยในการรำลึก นอกจากความเป็นธรรมแล้ว ในนัยของความเป็นธรรมและการจดจำคือการเรียนรู้ เราเรียนรู้ที่มาของความสูญเสีย มองเห็นปัญหาของความรุนแรง เข้าใจถึงอคติ ถึงการปฏิบัติที่เลวร้าย มองเห็นความไม่ถูกต้องของอำนาจ การจดจำนั้นจึงเป็นภาคปฏิบัติอันคลาสสิกของคำกล่าวเรื่องการเรียนรู้จากอดีต และบทเรียนที่เราจะเรียนรู้ได้ ย่อมไม่ใช่เรื่องราวที่สวยงามเพียงอย่างเดียว แต่คือความผิดพลาดและการสำนึกรู้ถึงความผิดพลาดนั้นๆ ร่วมกัน

 

พื้นผิวของความทรงจำ ในผนังและอิฐปูน

การจดจำและอนุสรณ์เป็นเรื่องใหญ่ ในระดับโลกเราได้เห็นวิธีการที่นักออกแบบได้ตีความและใช้วิธีการด้านการออกแบบในการสลักหรือเคลือบเรื่องราวต่างๆ ลงในพื้นที่กายภาพไม่ว่าจะเป็นสวน เป็นลาน เป็นอาคาร เป็นผนังหลังคา จาก Jewish Museum ผลงานของ Libeskind ลูกหลานชาวยิวและผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ จนถึงอนุสรณ์สถานสงครามเวียดนามโดยฝีมือของมายา ลิน นักศึกษาหญิงเชื้อสายจีนที่เปลี่ยนนิยามและสุนทรียศาสตร์ของการจดจำด้วยผนังและจารึกอันแสนเรียบง่าย

นอกจากการจดจำประวัติศาสตร์และความเจ็บปวดขนาดใหญ่ที่แน่นอนว่าเป็นสิ่งจำเป็น เป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ในระดับรัฐที่ผู้คนได้จดจำเรื่องราวต่างๆ ร่วมกัน ในมิติของพื้นที่เล็กๆ เราก็จะเริ่มเห็นการรักษาความทรงจำบางอย่างที่อาจจะไม่จำเป็นต้องสวยงามเพียงอย่างเดียว เช่นโปรเจคการปรับปรุงโรงฆ่าสัตว์และตลาดค้าเนื้อเก่าเป็นโรงหนังและพื้นที่เรียนรู้สาธารณะ Cineteca Matadero ในสเปน หนึ่งในวิธีการคือการเล่นกับประวัติศาสตร์และความต่อเนื่อง การเปิดโครงสร้างอิฐเดิมของอาคาร บรรยากาศอันนิ่งขรึมและการตัดกันของแสง ไปจนถึงการองค์ประกอบของตระกร้าถักที่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่เคยใช้ในตลาดค้าเนื้อมาใช้

 

Vietnam Veterans Memorial Wall in Washington DC. (Credit: Rolf Adlercreutz/Alamy Stock Photo)

 

ในพื้นผิว ในรอยแตกเต็มไปด้วยเรื่องราว ย้อนกลับไปที่ความสนใจเช่นอนุสรณ์สถานขนาดเล็ก งานศิลปะ ประติมากรรมขนาดเล็กนั้นหลายครั้งจึงมีลักษณะเป็นรอยแตกเล็กๆ ของเมืองที่ธรรมดา เป็นรอยแตกที่เชื้อเชิญเราเข้าสู่เรื่องราวและอาจจะหมายถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้นบนพื้นที่นั้นๆ รองเท้าเหล็กหกคู่ริมแม่น้ำดานูบในบูดาเปสชวนเรากลับไปมองเห็นร่างที่ร่วงหล่นลงแม่น้ำจากการสังหารหมู่ 3,500 ศพที่ 800 คนเป็นชาวยิว หรืออนุสรณ์เล็กๆ ในสวนของบูดาเปสที่ทำให้เรานึกถึงผู้คนที่เสียชีวิตลงบนท้องถนน

ความทรงจำเป็นเรื่องแปลกประหลาด บางครั้งความทรงจำก็แสนจะเหนียวแน่น แต่หลายครั้งก็หลุดลอยและเต็มไปด้วยความหลงลืม ในระดับของความทรงจำร่วม บาดแผลและความทรงจำที่เลวร้ายนั้นจึงอาจเป็นเรื่องจำเป็นการจดจำความไม่สวยงามเหล่านั้น นอกจากในเรื่องราวที่เราอาจไม่อยากจำจะมีคนที่จำต้องจดจำจากการสูญเสีย

และที่สำคัญคือการจดจำนำไปสู่การมองเห็น รำลึกนึกตรองและเรียนรู้เพื่อป้องกันไม่ให้ซ้ำรอยต่อไป

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

ethos-europe.eu

scotsman.com

matichon.co.th

matichon.co.th

history.com

dezeen.com

 

Graphic Design by Montree Sommut
Share :