CITY CRACKER

จากคานส์ถึงปูซาน เมื่อเทศกาลหนังทำให้เมืองขึ้นแถวหน้า กับผลสองด้านของงานเทศกาล

สัปดาห์ที่ผ่านมาเราเพิ่งฮือฮาไปกับการปรากฏตัวของพี่เจ้ย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ในเทศกาลหนังเมืองคานส์ หนึ่งในเทศกาลหนังร่วมสมัยที่ทรงอิทธิพลและทรงเกียรติที่สุดของวงการภาพยนตร์โลก

แน่นอนว่าภาพยนตร์เป็นทั้งสื่อบันเทิง เป็นศิลปะร่วมสมัย และเป็นอุตสาหกรรมขนาดมหึมา ในด้านหนึ่งคานส์เองเป็นเมืองตากอากาศตอนใต้สุดขอบของฝรั่งเศส ทุกวันนี้เมื่อพูดถึงคานส์เราจะนึกถึงเมืองที่เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมร่วมสมัย เป็นเมืองแห่งภาพยนตร์ (city of movie) นอกจากเทศกาลหนังแล้ว คานส์ยังกลายเป็นศูนย์กลางของงานแสดงและงานเทศกาลเกี่ยวกับศิลปะและงานออกแบบอื่นๆ เช่น Cannes Lions เทศกาลด้านงานออกแบบและสื่อโฆษณาที่ทั่วโลกจับตา

ในทุกๆ ปี ไม่ว่าจะเป็นคานส์ละอีกหลายเมืองใหญ่ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นนครแห่งภาพยนตร์ไม่ว่าจะเป็นเวนิส ยูทาห์แห่งเทศกาลหนังซันแดนซ์ (Sundance Film Festival) ปูซานในฐานะเทศกาลหนังนานาชาติอันดับหนึ่งของเอเชีย เมืองใหญ่เหล่านี้จะกลายเป็นที่จับตา และกลายหมุดหมายปลายทางของทั้งคนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และเหล่าคนรักหนัง เทศกาลหนังจึงทำให้เมืองๆ หนึ่งกลายเป็นเมืองระดับโลก และในที่สุดก็ส่งผลกับการพัฒนาเมืองนั้น และในทางกลับกันการพัฒนาเมือง หรือสาธารณูปโภคต่างๆ ก็นำไปสู่ความเคลื่อนไหวของวงการภาพยนตร์ของเมืองและประเทศนั้นๆ ด้วย

 cannes
chromjuwelen.com

 

คานส์และซันแดนซ์ การกลายเป็นเมืองชั้นแนวหน้าของโลก

เทศกาลหนังยุคแรก- รวมถึงคานส์ด้วยเกิดขึ้นในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ในตอนนั้นเทศกาลหนังแห่งแรกคือเทศกาลหนังเวนิส เริ่มต้นในปี 1932 ส่วนหนึ่งคือเวนิสเป็นต้นทางของเทศกาลศิลปะ และในช่วงสงครามโลกนั้นศิลปะภาพยนตร์กำลังเฟื่องฟูในฐานะศิลปะแขนงใหม่ที่ทั้งผสานเทคโนโลยีใหม่ๆ และเข้าถึงคนหมู่มากได้ แต่ว่าเทศกาลหนังเวนิสในตอนนั้นอยู่ใต้การปกครองของเผด็จการมุสโสลินี และชาวอุตสาหกรรมหนังก็บอกว่าการตัดสินในตอนนั้นไม่ค่อยเป็นธรรม หนังจากอิตาลีและเยอรมันค่อนข้างได้รับความนิยมมากกว่า

ฝรั่งเศสในฐานะค่ายเสรี และเป็นหนึ่งในประเทศผู้กรุยทางอุตสาหกรรมภาพยนตร์โลกก็เลยวางแผนจัดเทศกาลหนังระดับนานาชาติขึ้นด้วยตัวเอง เทศกาลหนังเมืองคานส์ที่รู้จักก็เลยเกิดขึ้น ในตอนนั้นฝรั่งเศสเลือกระหว่างเมืองชายฝั่งสองแห่งคือบิอาร์ริตซ์และคานส์ ซึ่งคานส์ได้รับเลือกโดยนอกจากว่าคานส์จะเป็นเมืองตากอากาศที่สวยงามแล้ว ทางสภาเมืองยังยินดีจะเข้าร่วมลงทุนเพื่อรองรับเทศกาลหนังด้วย ทางเมืองคานส์เองได้ตกลงลงทุนพัฒนาพื้นที่และกิจกรรมต่างๆ ของเมืองเพื่อส่งเสริมอุตสหกรรมและศิลปะภาพยนตร์ เช่น ปรับปรุง Cannes municipal casino ของสภาเมืองเพื่อรองรับการจัดเทศกาล เชิญหลุยส์ ลูมีแยร์ (Louis Lumière) บิดาแห่งโลกภาพยนตร์เข้ามาเป็นผู้บริหาร ทั้งยังมุ่งมั่นเป็นพื้นที่สำหรับเชื่อมต่อระดับนานาชาติของประเทศผู้ผลิตภาพยนตร์ด้วย

แต่เดิมคานส์ก็เป็นเมืองตากอากาศ มีประชากรไม่ถึงแสนคน มีร้านอาหารไม่ถึง 500 ร้าน แต่หลังจากการวางหมุดให้คานส์กลายเป็นศูนย์กลางนานาชาติ คานส์จึงไม่ได้กลายเป็นแค่พื้นที่จัดงานเท่านั้น แต่อุตสาหกรรมการผลิตภาพยนตร์ทั้งหลายล้วนมีคานส์เป็นเป้าหมาย เกิดตลาดหนัง (film market) รวมถึงอีกหลายเทศกาลและงานแสดงทางด้านธุรกิจบันเทิงมากมายทั้งเทศกาลและงานประกวดดนตรี คานส์กลายเป็นศูนย์กลางของพื้นที่จัดงานเอ็กซ์โปและงานแสดงลำดับสองรองจากปารีส เมื่อครั้งที่คานส์จัดขึ้นครั้งแรก เทศกาลสองสัปดาห์นั้นได้สร้างงานกว่า 2,000 ตำแหน่งและมีเงินสะพัดอย่างน้อย 200 ล้านยูโร

หลังจากนั้นเทศกาลหนังก็กลายเป็นกระแสหนึ่งที่หลายเมืองใหญ่และเมืองผู้ผลิตภาพยนตร์เริ่มจัดเทศกาลของตัวเอง บางเมืองเช่นกรุงโคเปนเฮเกนก็มีเสนอแผนการใช้คอนเซปเมืองภาพยนตร์เพื่อร่วมนิยามเมืองของตัวเองขึ้นใหม่ ในระยะแรกเราจะเริ่มเห็นการจัดเทศกาลหนังจากทางยุโรป ปัจจุบันเรามี 3 เทศกาลหนังที่ได้ชื่อว่า Big 3 ของยุโรปคือเวนิส คานส์และเบอร์ลิน แต่ถ้านับระดับโลกก็จะนับเทศกาลหนังโตรอนโตและซันแดนซ์ของสหรัฐเข้าเป็น Big 5

สำหรับสหรัฐเอง ในมิติทางเศรษฐกิจ เทศกาลหนังซันแดนซ์ก็ถือเป็นเทศกาลหนังที่ทำให้เมืองเล็กๆ คือเมือง Park City ในยูท่าเกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดษ มีรายงานว่าในปี 2019 ก่อนโควิด มีรายงานว่าเทศกาลหนังซันแดนซ์มีผู้เข้าร่วมราว 1 แสนสองหมื่นคน สร้างงานราว 3,000 ตำแหน่งและก่อให้เกิดรายได้ราว 149 ล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจุบันเทศกาลหนังซันแดนซ์ก็เป็นภาพจำลำดับต้นๆ ทั้งผู้นำและภาคธุรกิจนึกถึงเมื่อมองไปที่รัฐยูท่า

First Cannes Film Festival | Sky HISTORY TV Channel
history.co.uk

 

เทศกาลหนังปูซาน กับการเป็น City of Film

ทุกวันนี้ถ้าเราพูดวงการหนัง แน่นอนว่าวงการหนังเกาหลีกำลังก้าวขึ้นสู่แถวหน้าของวงการหนังและสื่อบันเทิงของโลก เรารู้กันดีว่าเกาหลีมุ่งพัฒนาและใช้สื่อบันเทิงและวัฒนธรรมของตนเป็นสินค้าสำคัญ และในปัจจุบันถ้าเราพูดถึงเทศกาลหนังนอกยุโรปและอเมริกา เทศหนังปูซานก็นับเป็นเทศกาลแนวหน้าที่ได้รับการยอมรับเคียงคู่กับเหล่าเทศกาลเก่าแก่

สำหรับเทศกาลหนังปูซาน ตัวเทศกาลเริ่มต้นในปี 1996 ซึ่งแน่นอนว่าตัวเทศกาลสัมพันธ์กับแผนการหลักของเกาหลีในใช้สื่อบันเทิงเป็นสินค้าและกลยุทธ์หลักของเศรษฐกิจประเทศ เทศกาลหนังของเกาหลีเลือกเมืองปูซาน เมืองใหญ่อันดับสอง โดยเป้าหมายของเทศการคือการเปิดตัวหนังใหม่ ผู้กำกับหน้าใหม่ และการเป็นศูนย์กลางทางภาพยนตร์ของเอเชีย การพัฒนาเมืองปูซานสู่เมืองศูนย์กลางทางภาพยนตร์จึงเป็นการพัฒนาจากภาครัฐในพื้นที่ระดับเมืองควบคู่ไปกับโครงการอื่นๆ ที่มุ่งพัฒนาด้านวัฒนธรรม ตัวเมืองจึงมีการทั้งสร้างสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องเช่นศูนย์ภายนตร์ปูซาน (Busan Cinema Center) พื้นที่สาธารณะและโรงหนังของเมืองขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรม พื้นที่จัดกิจกรรมและพื้นที่สาธารณะ มีการสร้างหอภาพยนตร์เพื่อรักษาประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ของเมืองและประเทศ นอกจากนี้ตัวเมืองยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางและจุดเชื่อมต่อของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของเกาหลีและของเอเชีย

จุดสำคัญของการพัฒนาปูซานคือการที่ปูซานก้าวขึ้นเป็นเมืองแห่งภาพยนตร์ของยูเนสโก (UNESCO City of Film in) กระบวนการพัฒนาเมืองปูซานโดยมีภาพยนตร์ร่วมขับเคลื่อนนั้นจึงสัมพันธ์ทั้งกับการสร้างสาธารณูปโภคและการสร้างวัฒนธรรมภาพยนตร์ (film culture) เข้าสู่เมืองและผู้คนในเมืองด้วย

เราจะเห็นว่านอกจากอาคารสถานที่รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นศูนย์วัฒนธรรมและหอภาพยนตร์แล้ว ทางเมืองยังเน้นการสร้างบุคลากรและสร้างวัฒนธรรมภาพยนตร์เพื่อรวมเอาชุมชนและผู้คนเข้ากับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ด้วย ตัววัฒนธรรมภาพยนตร์นั้นก็สร้างตั้งแต่การจัดงานภาพยนตร์ที่มีความหลากหลาย เช่นมีเทศกาลหนังสั้น หนังนอกกระแส มีการสร้างพื้นที่สาธารณะที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงหนัง พิพิธภัณฑ์ ศูนย์ศึกษาสื่อร่วมสมัย มีการเปิดตลาดสื่อบันเทิงที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบันเทิงและภาพยนตร์เช่นเกม ซีจี ไปจนถึงการเปิดมหาวิทยาลัยและส่งเสริมหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง นอกจากมหาวิทยาลัยแล้วเมืองจังพยายามจัดงานดูและวิจารณ์หนังที่มีชุมชนและบุคคลทั่วไปเข้าร่วม

Cannes Film Festival 2021
yachtcharterfleet.com

 

ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นการพัฒนาเมือง และส่งเสริมขุดพรวนอุตสาหกรรมภาพยนตร์โดยมีทั้งตัวอุตสาหกรรมและชุมชนของเมือง รวมถึงผู้บริโภคร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การพัฒนาประเทศ

ประเด็นเรื่องความหลากหลายและกลยุทธ์การพัฒนาเมืองแห่งภาพยนตร์ในระดับวัฒนธรรมจึงเป็นเรื่องน่าพิจารณา สื่อเช่น Guardian รายงานว่าเทศกาลภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จส่งผลกับการตัดสินใจของคนรุ่นใหม่ในการอยู่ในเมืองต่อไป ส่งผลกับเศรษฐกิจของเมือง ทว่าก็มีข้อสังเกตอยู่บ้างเช่นเทศกาลระดับโลกมักดึงดูดคนดังและผู้สนใจระดับแนวหน้ามาที่เมืองนั้นๆ กิจการเฉพาะๆ เช่น ร้านอาหารระดับสูง บริการรับส่ง โรงแรม และกิจการความงาม รวมถึงดอกไม้ที่ได้รับอานิสงค์จึงเป็นกิจการระดับสูง ในขณะเทศเทศกาลหนังขนาดเล็กส่งผลกับธุรกิจภาพยนตร์รายย่อยและกิจการที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ของท้องถิ่น มีการฉายหนังจอเล็ก เปิดโรงหนังขนาดเล็ก สิ่งของอื่นๆ ก็จะได้รับผลดีไปด้วยเช่นร้านอาหารและย่านใกล้เคียง

การพัฒนาเมือง รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่มีเมืองในฐานะพื้นที่กายภาพซึ่งเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและต้องสัมพันธ์กับหลายมิติ ทั้งสาธารณูปโภคที่เฉพาะเจาะจง การสร้างวัฒนธรรมภาพยนตร์ การมองเห็นกลุ่มกิจการที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ การผลิตบุคลากร และสร้างบรรยากาศของเมืองในการเชื่อมต่อการเป็นพื้นที่ของผู้ผลิตภาพยนตร์และงานสร้างสรรค์ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.researchgate.net/publication/263328262_City_branding_and_film_festivals_Re-evaluating_stakeholder’s_relations

https://www.hollywoodreporter.com/movies/movie-news/cannes-unveils-major-development-expansion-plans-1249727/

https://variety.com/2021/global/global/cannes-2-1235007356/

https://www.theguardian.com/cities/2019/sep/11/do-film-festivals-help-or-hurt-their-host-cities-venice-sundance

https://thediplomat.com/2013/10/busan-international-film-festival-exploring-asias-cinematic-fringe/

https://citiesoffilm.org/busan/

https://english.busan.go.kr/bsfilm01

 

Illustration by Montree Sommut
Share :