CITY CRACKER

กำแพง อาคาร และหลังคา อ่านเมืองและผังเมืองจาก ‘Attack on titan’

ปลายปีที่ผ่านมาการ์ตูนยอดฮิตอย่าง ‘Attack on titan’ ได้ออกภาคปัจฉิมบท หรือ The final season มาให้เหล่าบรรดาแฟนๆ ได้สนุก และไม่วายที่จะตั้งหน้าตั้งตารอดูว่าบทสรุปของการ์ตูนเรื่องนี้จะจบลงแบบใด

Attack on titan หรือผ่าพิภพไททัน เป็นผลงานชิ้นเอกของฮาจิเมะ อิซายามะ (Hajime Isayama) นักเขียนการ์ตูนชาวญี่ปุ่น ที่ได้เล่าเรื่องอย่างน่าสนใจผ่านเมืองยุคกลางของยุโรปที่ผู้คนถูก ‘ไททัน’ สิ่งมีชีวิตขนาดมหึมาไล่ล่า ทำให้มนุษย์ต้องสร้างกำแพงขนาดใหญ่มาล้อมรอบเพื่อป้องกันไม่ให้มนุษยชาติต้องสูญสิ้น Attack on titan ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2009 ยาวต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน มียอดขายทะลุกว่า 100 ล้านเล่ม และออกสู่สายตาในรูปแบบอนิเมชั่นโดยโจจิ วาดะ โปรดิวเซอร์ของ Wit Studio

“แล้ววันนั้นมนุษย์ก็ได้รู้สำนึกถึงความน่ากลัวที่ต้องถูกพวกมันปกครอง และความอับอายที่ต้องถูกขังในกรง…” ประโยคที่เป็นบทเปิดจาก Attack on titan ฉบับมังงะ ได้ตีแผ่และนำเสนอเรื่องราวของผู้คน ที่ทนใช้ชีวิตในกำแพงเมืองอย่างไร้ความฝันและความจริง ผ่านตัวละครสำคัญอย่าง ‘เอเรน เยเกอร์’ ‘มิคาสะ แอคเคอร์แมน’ และ ‘อาร์มิน อาร์เลอร์ท’ ที่ต้องการเอาชีวิตรอดจากฝูงไททันและตามหาชีวิตอิสระเสรีที่อยู่นอกกำแพง ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงประเด็นทางการเมือง บทบาททางสังคม และการใช้ชีวิตของคนเมืองอย่างเราๆ ว่าสังคมเมืองและการอยู่อาศัย ที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนนั้นคือสิ่งที่ลำบาก

จากฉากเมืองเสมือนจริง แนวคิด และการออกแบบเมืองที่สอดคล้องกับบริบทสังคมเมืองยุคปัจจุบัน City cracker จึงอยากชวนทุกคนมาร่วมกันหาคำตอบ และอ่านเมืองผ่านการ์ตูนอย่าง Attack on titan ตั้งแต่กรงขังที่ไร้อิสระเสรีจากทฤษฎีกำแพงล้อมเมือง เมืองมายาคติกับแนวคิดชุมชนล้อมรั้วและชุมชนเสมือน อาคารและเมืองในยุคกลางที่ช่วยเราหลบหนีจากเหล่าไททัน การใช้ประโยชน์ที่ดินบนเกาะสวรรค์ ไปจนถึงโครงสร้างพื้นฐานและความหนาแน่นของเมือง ชนชั้นและความเหลื่อมล้ำที่ตอกย้ำความเป็นอยู่หลังกำแพง ทำให้เห็นว่าการอยู่อาศัยในเมืองเหล่านี้ก็ไม่ต่างอะไรไปจากในการ์ตูน

กรงขังที่ไร้อิสระจากทฤษฎีกำแพงล้อมเมือง

เรื่องราวทั้งหมดของเรื่องนี้เริ่มต้นมาจาก ‘กำแพง’ ที่มนุษย์ต้องการสร้างไว้เพื่อป้องกันตนเองจากเหล่าไททัน จึงได้สร้างกำแพงขนาดใหญ่สูงกว่า 50 เมตรขึ้นมาถึง 3 ชั้น ซึ่งในชีวิตจริงกำแพงถือเป็นระบบป้อมปราการที่ใช้ในการป้องกันเมืองจากผู้รุกรานมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้การกำแพงมักสร้างล้อมรอบบริเวณชุมชน โดยอาศัยภูมิประเทศของที่ตั้งเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบป้องกันเพื่อผสานและเสริมพลังให้กำแพงมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

การสร้างกำแพงนั้นไม่ได้มีไว้ใช้สำหรับการป้องกันเพียงอย่างเดียว แต่กำแพงยังไว้ใช้สำหรับการเป็นสัญลักษณ์ของผู้คนที่มีฐานะพิเศษและเหนือกว่า รวมไปถึงการเป็นอิสระจากผู้คนในพื้นที่เดิมๆ เช่นเดียวกันกับที่กษัตริย์ฟริซท์ได้นำพาผู้คนชาวเอลเดียกลุ่มสุดท้ายที่เหลือรอด มาตั้งถิ่นฐานยังเกาะสวรรค์ เพื่อให้เป็นอิสระจากสงครามและไททัน ทว่าในกำแพงกลับมีการแบ่งแยกชนชั้นและความสำคัญของผู้คนเกิดขึ้น ยิ่งกำแพงล้อมรอบมากชั้นเท่าไรยิ่งมีฐานะและความพิเศษมากเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากำแพงคือส่วนนึงของการแบ่งแยกและสร้างชนชั้นขึ้นมานั่นเอง

ในความจริงแล้ว กำแพงที่บอกว่าเป็นตัวสร้างอิสระกลับเป็นตัวขัดขวางที่ทำให้เราถูกตัดขาดจากโลกภายนอก อย่างที่เออร์วินถามอาจารย์ในห้องว่า “แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าภายนอกกำแพงไม่มีมนุษย์เหลืออยู่อีกแล้ว” คำถามของเออร์วินสะท้อนให้เห็นถึงความจริงที่เปิดเผยภายหลังว่า ภายนอกกำแพงยังมีมนุษย์หลงเหลืออยู่อีกมายมาย และเรานี่แหละคือกลุ่มสุดท้ายที่รู้ความจริง สิ่งนี้ทำให้เห็นว่ากำแพงคือกรงขังชั้นดีของผู้สร้างเมือง แทนที่จะเป็นกำแพงป้องกันมนุษย์จากเหล่าไททัน

ตั้งแต่ในช่วงยุคกลางการสร้างกำแพงได้ถูกวิวัฒนาการกันอย่างจริงจังในสมัยของสงครามครูเสดและต่อเนื่องมาถึงยุคความรุ่งเรืองของนครรัฐในยุโรป ทำให้การ์ตูนเลือกที่จะใช้เมืองที่มีลักษณะเหมือนถูกล้อมด้วยกำแพงอย่างเมือง เนิร์ดลิงเงิน (Nördlingen) ประเทศเยอรมนีเข้ามาเป็นเมืองต้นแบบของเกาะสวรรค์ เพราะนอกจากที่เนิร์ดลิงเงินจะเป็นเมืองมรดกจากยุคกลางที่น่าสนใจแล้ว ลักษณะของเมืองยังเป็นวงกลมที่ล้อไปกับการสร้างกำแพงล้อมเมืองได้ง่ายอีกด้วย

เมืองมายาคติกับการฟื้นฟูเมืองด้วยกำแพงผ่านแนวคิดชุมชนล้อมรั้วและชุมชนเสมือน

หลายคนอาจคิดว่าชีวิตหลังกำแพงปลอดภัย คือชีวิตที่ถูกสร้างขึ้นใหม่เพื่อป้องกันภัยจากไททัน แต่ที่จริงกำแพงคือสิ่งที่สร้างให้เกิดเมืองมายาคติ และปิดกั้นเราจากความหลากหลายของโลกภายนอก ซึ่งอีกแง่หนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การสร้างกำแพงคือการฟื้นฟูเมืองให้เป็นสังคมที่ดีกว่า หากพูดถึงแนวคิดการฟื้นฟูเมือง วัตถุประสงค์หลักก็คือการปรับ ‘พื้นที่’ ให้มีคุณค่าและมีความหมาย เอื้อให้มีปฏิสัมพันธ์และความยั่งยืนในการอยู่อาศัย เกาะสวรรค์จึงเป็นเมืองที่เกิดขึ้นจากแนวคิดการฟื้นฟูเมืองผ่านการล้อมกำแพง ทำให้เกาะสวรรค์จึงถือเป็นเมืองที่เกิดขึ้นจากแนวคิดการฟื้นฟูเมือง ผ่านการล้อมด้วยกำแพง เพื่อปรับความเลวร้ายจากสงครามและไททันให้กลายเป็นเมืองที่ปลอดภัย

กำแพงจึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อกันตนเองไว้จากผู้อื่น อย่างกำแพงใน Attack on titan ที่เกิดจากการสร้างของกษัตริย์ฟริซท์คือ รูปแบบของความตั้งใจที่จะสร้างพื้นที่ปิดล้อมเฉพาะกลุ่มของตนผ่านการแยกตัวออกจากเมืองใหญ่ เพื่อป้องกันและปกป้องตนจากเรื่องเลวร้าย ซึ่งสิ่งนี้เราจะเรียกว่า ‘ชุมชนล้อมรั้ว’ (gate communities) ส่วนสิ่งที่เกิดขึ้นคล้ายกันแต่มีความยืดหยุ่นกว่าคือ ยังสามารถอยู่รวมกันได้ในพื้นที่เดียวกัน แต่ไม่เปิดใจรับความแตกต่าง ไม่ยอมรับหรือใยดีกับคนเหล่านั้น เราจะเรียกสิ่งนี้ว่า ‘ชุมชนเสมือน’ (virtual communities) ทั้งนี้เราจะสังเกตุได้ว่าชุมชนล้อมรั้วจะเกิดขึ้นกับผู้คนภายนอกกำแพงเพียงอย่างเดียว ส่วนชุมชนเสมือนสามารถเกิดขึ้นกับคนในกำแพงด้วยกันได้ด้วย อย่างในฉากที่เอเรนและเด็กจากเขตชิกันชินะได้เข้าสู้เขตทรอสต์ในกำแพงโรเซ่ เอเรนกลับไม่ได้รับความเชื่อใจและกลายเป็นคนแปลกแยกไปในเขตนั่นไปโดยปริยาย

นอกจากนี้ Attack on titan ยังสะท้อนออกมาให้เห็นถึงบริบทของชุมชนล้อมรั้วในชีวิตจริงอย่าง ‘หมู่บ้านจัดสรร ’ ที่ถูกออกแบบมาสำหรับคนเฉพาะกลุ่มเพียงเท่านั้น เป็นกลไกที่นำไปสู่ผลตรงข้ามกับแนวคิดของการสร้างชุมชนแบบผสมผสานที่มีหลากหลายผู้คน ซึ่งก่อให้เกิดการแบ่งแยกเชิงพื้นที่ทำให้พื้นที่ทั้งสองมีวิวัฒนาการที่ต่างกันอย่างชัดเจน สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้อาจสรุปได้ว่า กำแพงอาจดูเสมือนเป็นภาพแทนของการปกป้องมนุษย์จากความเลวร้าย แต่จริงๆ แล้วมนุษย์เองที่กลับเอากำแพงมาเป็นตัวแบ่งแยกมนุษย์ในสังคม

หลบหนีจากเหล่าไททันด้วยอาคารและเมืองในยุคกลาง

หากใครจำฉากสำคัญใน Attack on titan ได้ ตั้งแต่ฉากต่อสู้ หลบหนีเอาชีวิตรอด ไปจนถึงฉากของการเปิดเผยความจริง ภาพจำของฉากเหล่านั้นคงหนีไม่พ้นภาพของเมืองภายในกำแพงที่มีลักษณะเหมือนกันไปทั้งเมือง ตั้งแต่ความสูงและความแข็งแรงของอาคารไปจนถึงสีสันเหลืองน้ำตาลเอิร์ธโทนสะดุดตา

ทางผู้เขียนได้เลือกนำเอาภาพของเมืองยุโรปในยุคกลางเข้ามาประยุกต์ใช้ในเรื่องนี้ เพราะนอกจากที่อาคารบ้านเมืองจะมีเอกลักษณ์จนทำให้ใครๆ หลายคนจำได้แล้ว เจ้าตัวอาคารที่สูงใหญ่ยังสนับสนุนการใช้เครื่องเคลื่อนย้ายสามมิติหรือ ODM gear ได้เป็นอย่างดี อาจเป็นเพราะว่าตัวอาคารบ้านเรือนในยุคกลางที่มีความสูงใหญ่กว่าเหล่าไททัน รวมถึงการมีพื้นที่สำคัญอย่างหลังคาที่มากพอ ทำให้เหล่าบรรทีมสำรวจใช้เครื่องเคลื่อนย้ายสามมิติวิ่งโลดโผนโจนทะยานต่อสู้กับเหล่าไททันได้อย่างง่ายดาย

นอกจากนี้สถาปัตยกรรมยุคกลางอย่างสถาปัตยกรรมแบบโรมาเนสก์และกอทิกก็ถือเป็นตัวแปรสำคัญที่เข้ามาช่วยให้เราหลบหนีจากเหล่าไททันได้ จากการก่อสร้างกำแพงที่ดูหนาทึบ แข็งแรง และมั่นคง มีบานหน้าต่างที่เรียวเล็ก รวมถึงมีบรรยากาศภายในที่มืดครึ้ม มองจากภายนอกเหมือนป้อมปราการ จึงทำให้เราหลบหนีจากเหล่าไททันได้เป็นอย่างดี

Landuse of paradise island แนวคิดการใช้ประโยชน์ที่ดินบนเกาะสวรรค์

หากพูดถึงในเรื่องของการอ่านเมือง สิ่งหนึ่งที่จะขาดไม่ได้คือ ความเข้าใจพื้นฐานการใช้พื้นที่สำหรับการตั้งถิ่นฐานและการใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่เป็นเรื่องสำคัญและเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเมือง

เกาะสวรรค์แบ่งพื้นที่ออกเป็นทั้งหมด 3 ส่วน ตามการล้อมของกำแพงเมือง แบ่งเป็นพื้นที่กำแพงมาเรีย กำแพงโรเซ่ และกำแพงชีน่า พื้นที่ที่อยู่ชั้นนอกสุดอย่างกำแพงมาเรียจะเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ล่าสัตว์ และค้าขาย พอขยับเข้ามาใกล้พื้นที่จุดศูนย์กลางของเมืองมากขึ้นเท่าใด การใช้ประโยชน์ที่ดินจะค่อยๆ ขยับความสำคัญและเข้มข้นมากขึ้น จนถึงกำแพงชั้นในสุดคือกำแพงชีน่า การใช้ประโยชน์ที่ดินจะใช้ไปกับการเป็นสถานที่สำคัญอย่างโบสถ์ สถานที่ราชการ และปราสาทพระราชวัง

ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการวางผังการใช้ประโยชน์ที่ดินในยุคปัจจุบันที่มักจะให้ความสำคัญกับพื้นที่ศูนย์กลาง อย่างในกรุงเทพฯ เองก็ให้ความสำคัญกับเขตเมืองชั้นใน ในการเป็นพื้นที่พาณิชยกรรมและวังเก่า เช่น สีลม พญาไท และดุสิต ส่วนพื้นที่ชั้นนอกอย่างหนองจอกและลาดกระบังจะถูกสงวนไว้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมและรับมือน้ำท่วม

การตั้งถิ่นฐานในเกาะสวรรค์จึงเป็นการตั้งถิ่นฐานที่ให้ความสำคัญกับศูนย์กลาง มีการขยายตัวเป็นวงกลมซ้อนกันคล้ายระลอกน้ำ พื้นที่ชั้นในคือพื้นที่สำคัญที่ควรปกป้อง และพื้นที่ชั้นนอกคือหน้าด่านที่เอาไว้ป้องกัน อย่างกระเปาะเมืองของเขตชิกันชินะที่เอเรนอาศัยอยู่นั้น คือหนึ่งในเมืองหน้าด้านชั้นดีที่ถูกสร้างเพื่อรับมือและหลอกล่อเหล่าไททัน โดยอาศัยการตั้งถิ่นฐานที่เป็นกลุ่มกระจุกกันในการล่อลวงให้ไททันอยู่แค่บริเวณนั้นพอ

โครงสร้างพื้นฐานและความหนาแน่นของเมืองคือหนทางสู่ชัยชนะ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการพัฒนาถนนและแม่น้ำที่เอื้อต่อการคมนาคม คือหนทางของการพัฒนาเมืองที่ดี ใน Attack on titan พื้นที่ภายเกาะสวรรค์ได้ออกแบบและวางผังที่พยายามลดบทบาทของถนนและแม่น้ำลง เหลือไว้แค่สำหรับการคมนาคมขนส่ง เพราะว่าสิ่งที่เอื้ออำนวยให้พวกเขารอดชีวิตได้คือการหนีไปบนกำแพงและหลังคา จะสังเกตได้ว่าตัวถนนถูกออกแบบมาให้เล็กและแคบ หน้าอาคารไม่มีการเว้นระยะถอยร่น (Setback) การหลบหนีและการต่อสู้จึงถูกย้ายไปอยู่ไว้บนหลังคาแทน

ภายในกำแพงเมืองยังมีการกระจายความหนาแน่นที่แตกต่างกันออกไป ยิ่งอยู่กำแพงรอบนอกมากเท่าไรยิ่งมีความหนาแน่นของการอยู่อาศัยมากเท่านั้น โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นกระเปาะของกำแพง อาจเป็นเพราะไททันไวต่อการรวมตัวกันของผู้คนการมีพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งหนาแน่นไปเลย โดยเฉพาะพื้นที่นอกเมือง ก็คงจะสามารถป้องกันสิ่งสำคัญของประเทศอย่างกำแพงชั้นในได้ดี รวมไปถึงยังสามารถจัดกองกำลังทหารไปดูแลพื้นที่หนาแน่นนั้นได้ง่ายกว่าการดูแลพื้นที่ที่กระจายกัน

นอกจากนี้ การที่มีบ้านเรือนหนาแน่นก็ช่วยสนับสนุนการใช้เครื่องเคลื่อนสามมิติ (อาวุธชนิดเดียวที่ใช้ในการต่อสู่กับเหล่าทัน) ด้วยความที่ไททันมีตัวสูงและขนาดใหญ่ การต่อสู้จึงต้องใช้สเปชของหลังคาเพื่อต่อสู้กับเหล่าไททัน บ้านหลายๆ หลังที่ทำให้มีความหนาแน่นจึงช่วยเสริมให้มนุษย์สามารถสู้กับไททันได้ง่ายขึ้น ส่วนกำแพงชั้นในที่ไม่ได้มีกองกำลังหาแน่น และหน่วยที่ดูแลสารวัตรก็ใช้แค่ปืน ไม่มีการใช่เครื่องเคลื่อนย้ายสามมิติ เพราะหน้าที่มีเพียงดูแลความสงบเขตกำแพงเมืองชั้นใน และไม่ต้องต่อสู้กับเหล่าไททัน ซึ่งทั้งหมดนี้สัมพันธ์กับการวางผังและการสร้างกำแพงนั่นเอง

ทั้งนี้ ยังสะท้อนให้เห็นว่า พื้นที่กำแพงชั้นนอกมีความเป็นอยู่ที่แออัดและหนาแน่นมากเกินไป ไม่มีพื้นที่สาธารณะ หรือลานโล่งๆ ให้ใช้งาน ตรงข้ามกับพื้นที่ในกำแพงชั้นในที่มีพื้นที่โล่งกว้าง พื้นที่สาธารณะ และลานกิจกรรม แถมการเป็นอยู่ของบ้านเรือนยังเป็นแบบหนาแน่นน้อย ดังนั้น การพัฒนาที่เท่าเทียมและต่อเนื่องก็อาจช่วยให้บ้านเมืองเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ลองคิดเล่นๆ ว่าหากไททันบุกบ้านเมืองยุคปัจจุบัน พื้นที่เมืองที่หนาแน่นและเต็มไปด้วยต้นไม้ก็คงเหมาะสมในการต่อสู้และใช้เครื่องสามมิติ มากกว่าบ้านเมืองที่มีแต่พื้นที่โล่งและขาดการพัฒนา

ดังนั้น หากการพัฒนาเมืองในปัจจุบันมีการนำพื้นที่ทิ้งร้างว่างเปล่ามาใช้งาน เมืองที่หนาแน่นก็อาจช่วยให้มีพื้นที่ต่อสู้กับไททันได้ หรือถ้ามองในมุมการพัฒนาเมืองจริงๆ การนำพื้นที่ร้างมาสร้างเป็นสาธารณูปโภคบางอย่างก็น่าจะดีกว่าการปล่อยทิ้งเป็นที่ร้าง

ชนชั้นและความเหลื่อมล้ำ สิ่งที่ตอกย้ำความเป็นอยู่หลังกำแพง

ชีวิตหลังกำแพงอาจดูเหมือนว่าปลอดภัยจากเหล่าไททัน แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะปลอดภัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากพอสำหรับการอยู่อาศัยและการใช้ชีวิต อาจเป็นเพราะกำแพงเป็นเสมือนภาพแทนของการปกป้องมนุษย์จากความเลวร้าย ทั้งที่จริงกำแพงก็ถือเป็นตัวแบ่งแยกมนุษย์และสร้างความเหลื่อมล้ำขึ้นมาในเมืองอีกเช่นกัน ยิ่งกำแพงล้อมเมืองมากชั้นเท่าไรความเหลื่อมล้ำก็ตามไปทั่วทุกย่อมหญ้ามากขึ้นเท่านั้น

ฐานะ ความรู้ และชื่อเสียง ถือเป็นเครื่องมือชั้นดีในการแบ่งแยกชนชั้น จะเห็นได้ว่ากำแพงชั้นนอกสุดจนมาถึงกำแพงชั้นในจะมีการแบ่งแยกกลุ่มคนตามความสามารถ หากกลุ่มไหนไม่มีปัญญาและฐานะยากจนจะกลายเป็นตัวแทนและด้านหน้าสำหรับการรับมือกับไททัน ส่วนกลุ่มที่มีปัญญาและฐานะที่ดีกว่าจะกลายเป็นกำลังสำคัญในอนาคตที่ต้องคอยปกป้องไว้ ทว่าสิ่งที่ตัดสินกันไม่ได้คือ ความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ดังนั้นควรจะมีวิธีการรับมือที่จะให้ทุกคนมีสิทธิในการเลือกใช้ชีวิตอย่างเท่าเทียม

ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในกำแพง ดูเหมือนจะเป็นความสัมพันธ์แบบแบ่งแยก ในขณะที่ฝ่ายนึงนิยามตนเองว่าเป็นผู้ที่เหนือกว่า ฝ่ายนั้นก็จะมอบนิยามที่ตรงกันข้ามว่าด้อยกว่าให้อีกฝ่ายโดยสิ้นเชิง เกิดเป็นช่องว่างและความขัดแย้งขึ้นมาในสังคม แต่ความขัดแย้งที่น่าสนใจอีกอย่างคือ กลุ่มคนที่ถือว่าตัวเองสูงกว่าเหล่านี้มักปิดกั้นตัวเองจากกลุ่มคนอีกกลุ่ม และมักหวังพึ่งพาและใช้ประโยชน์จากกลุ่มคนเหล่านี้ในฐานะตัวแทนและผู้ช่วยเหลืออยู่บ่อยคร้ง

นอกจากนี้ความไม่เท่าเทียมยังส่งผลต่อถึงความเป็นอยู่ต่างๆ ตั้งแต่ การกระจายทรัพยกรที่มีอยู่อย่างไม่ทั่วถึง ไปจนถึงการได้รับสาธารณูปโภคสาธารณูปการที่เพียบพร้อม ดังนั้น การเลือกที่จะอยู่ร่วมในพื้นที่เดียวกันด้วยความสงวนสถานะ ยอมรับในความต่าง อาจเป็นวิถีที่จำเป็นและควรจะนำมาใช้ในชีวิตสังคมเมืองปัจจุบัน หากสลายกำแพงที่กั้นในใจและเชื่อมต่อกันได้ กำแพงที่กั้นจริงนั้นก็ไม่สามารถแบ่งแยกเราอีกต่อไป

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

tuda.or.th

plotter.in.th

wikipedia.org

Illustration by Montree Sommut
Share :