นิทรรศการศิลปะ ระยะหลังจากนิทรรศการศิลปะก็คลี่คลายเป็นเทศกาลงานออกแบบ โดยรวมๆ แล้ว เทศกาลศิลปะและนิทรรศการออกแบบนั้นมักไปสัมพันธ์กับเมืองใดเมืองหนึ่ง หรือย่านใดย่านหนึ่ง การจัดงานใหญ่ๆ เช่นอาร์ตเบียนนาเล่ (Art Biennale) -หนึ่งในงานเทศกาลศิลปะที่เก่าแก่ที่สุดอายุกว่าร้อยปี ส่วนหนึ่งเป็นการตอกย้ำว่าเมืองๆ นั้นมีตัวตน มีประวัติศาสตร์ มีความสามารถในการสร้างสรรค์มากน้อยแค่ไหน แน่นอนงานเช่นอาร์ตเบียนนาเล่ทำให้เรายิ่งจดจำเวนิสในฐานะพื้นที่ระดับตำนาน ที่ร้างปรากฏการณ์ขึ้นในเมืองได้ด้วยพลังของศิลปินและผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก
ด้วยความที่การจัดเทศกาลศิลปะ นอกจากจะแสดงตัวตนหรือความเกรียงไกรด้านศิลปะวัฒนธรรมเช่นงานอาร์ตเบียนนาเล่แล้ว ตัวงานยังนำมาด้วยความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง ดังนั้นจึงไม่แปลกว่าในรอบ 10-15 ปีที่ผ่านมา หลายเมืองได้ใช้บางเทศกาลศิลปะเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างตัวตนของเมือง และเป็นเครื่องมือสำคัญในการฟื้นฟู รวมถึงสร้างจุดขายให้กับเมืองด้วย
ในสายตานักวิชาการและนักพัฒนาเมืองต่างเห็นตรงกันว่า เทศกาลศิลปะเป็นเครื่องมีที่มีประสิทธิภาพ เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า แต่ในที่สุดก็อาจจะเจอกับปัญหาจาก ‘ความเป็นเทศกาล’ ที่เป็นเพียงกิจกรรมชั่วครั้งชั่วคราว และกลายเป็นว่าเมื่องานใหญ่ขึ้น งานเทศกาลนี้กลายเป็นเพียงหมุดหมายของการท่องเที่ยวที่คนท้องถิ่นหรือเมืองเองไม่ได้รับประโยชน์ ซึ่งปัญหาที่มองเห็นนี้ก็ดูจะสอดคล้องกับภาวะโรคระบาดที่ผ่านมา เป็นโจทย์ในการใช้งานศิลปะและงานออกแบบเพื่อกระตุ้นกิจกรรม ย่าน และเมืองโดยมีชุมชนและการบริโภคภายในประเทศเป็นเป้าหมายสำคัญ
งานเทศกาลกับเมือง
เทศกาล (festival) หมายถึงช่วงเวลาจำเพาะที่ชุมชน กลุ่มคนจะใช้พื้นที่และช่วงเวลาหนึ่งๆ ในการจัดกิจกรรมร่วมกัน อาจจะเป็นทั้งการสร้างสรรค์บางอย่างร่วมกัน หรือเป็นการเฉลิมฉลองในวาระใดวาระใดวาระหนึ่ง เทศกาลที่เราเห็นกันบ่อยๆ ในมิติทางวัฒนธรรมถือว่าเป็นกิจกรรมที่มีความพิเศษ คือมีความเชื่อมโยงระหว่างอัตลักษณ์และสถานที่ (place)
แอนน์ คริสติน อีคแมน (Ann‐Kristin Ekman) พูดถึงมิติอันซับซ้อนของงานเทศกาลว่า งานเทศกาลเป็นการแสดงออกของความยึดโยงร่วม เป็นการดึงเอาประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและความคิดที่มีร่วมกันออกมาเป็นรูปธรรม ทั้งงานเทศกาลยังนำไปสู่ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เป็นการสืบสานความต่อเนื่องของชุมชน นึกภาพว่างานเทศกาลใดๆ ก็เป็นเหมือนภาคปฏิบัติที่ผู้คนและชุมชนจะนำเอาสิ่งที่เป็นนามธรรม ต่างคนต่างอยู่นั้นรวมกันสร้างขึ้นเป็นกิจกรรมในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง
ดังนั้น เทศกาลจึงสัมพันธ์กับเมืองมาอย่างยาวนาน เอเธนส์เป็นเมืองแห่งการเฉลิมฉลองของเทพไดโอนีซุส ยิ่งในยุคต่อมาเช่นศตวรรษที่ 18-19 เทศกาล งานศิลปะสัมพันธ์กับเมืองและการพัฒนาเมืองอย่างลึกซึ้ง เมืองที่กลายเป็นเมืองแถวหน้าที่ผลิตงานศิลปะของโลกเช่นซาลซ์บูร์ก (Salzburg) หรือเวนิส (Venice) เอง ตัวเมืองก็ย่อมมีการสร้างสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการเสพศิลปะ นอกจากโบสถ์วิหารที่เป็นส่วนหนึ่งของงาน การมีศิลปิน มีวิทยากรชั้นแนวหน้า เมืองๆ นั้นก็ย่อมต้องมีโรงละคร มีโรงมหรสพที่คุณภาพสูงทัดเทียมงานชั้นสูงเหล่านั้นด้วย
ถ้าไล่ลำดับเวลากลับไป เมืองสำคัญทางศิลปะดังกล่าวก็ล้วนเป็นเมืองแรกๆ ที่จัดนิทรรศกาลศิลปะเช่น Salzburger Festspiele ในปี 1920 หรือ La Biennale di Venezia ที่ย้อนกลับไปได้ถึงจุดเริ่มต้นที่งาน Biennial National Artistic Exhibition ในปี 1895 การก่อตัวของงานศิลปะชั้นแนวหน้า สาธารณูปโภค รวมถึงงานเทศกาลศิลปะที่ล้วนมีเมืองเป็นฉากหลังสำคัญเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเคียงข้างกัน
ความสำคัญของการพัฒนาศิลปะ งานเทศกาล และพื้นที่เมืองจนกลายเป็นงานเทศกาลศิลปะนั้น ทำให้ความเป็นเมืองแถวหน้าทางศิลปะ ความคิดสร้างสรรค์นั้น นอกจากจะเป็นแขนงศิลปะที่จริงจังแล้ว ยังยกระดับการรับรู้ตัวตนของเมืองนั้นๆ จากกิจกรรมภายในของประเทศ ของกลุ่มคน กลายเป็นเรื่องของตัวตนในสายตาของชนชาติอื่นๆ เป็นการเสนออัตลักษณ์ในระดับนานาชาติ การเป็นทั้งศูนย์รวมของนักสร้างสรรค์ และเป็นผู้กำหนดทิศทางที่อาจเป็นทั้งระดับภูมิภาค หรือบางแห่งบางเมือง แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลในระดับโลก
ความเฟื่องฟู ฟังก์ชั่น และปัญหาของเทศกาลศิลปะในฐานะเครื่องมือเยียวยาเมือง
งานศิลปะในยุคแรกๆ สัมพันธ์กับศิลปะชั้นสูง (high art) ความเปลี่ยนแปลงและเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทั้งกับลักษณะของงานศิลปะ เทศกาลศิลปะ และการใช้งานเทศกาลศิลปะเป็นเครื่องมือในการฟื้นฟูเมือง
ยุคหลังสงครามโลกเกิดปรากฏการณ์หลายๆ อย่างขึ้นพร้อมกัน ทั้งการเกิดขึ้นของตลาด การคลี่คลายตัวของงานศิลปะมาสู่การเป็นวิชาชีพ สู่การผลิตเป็นสินค้า การก่อตัวขึ้นของคนชั้นกลางที่มีกำลังบริโภค และที่สำคัญคือ ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลายเมืองใหญ่ตกอยู่ในภาวะที่ต้องบูรณะฟื้นฟูเมืองและประเทศชาติ ยุคที่ทุกประเทศและทุกเมืองค่อยๆ สร้างความมั่นคงทางการเมือง และเชื่อมต่อเข้ากับชาติอื่นๆ ผ่านการค้าระหว่างประเทศ ในยุคหลังสงครามนี้จึงเป็นยุคที่เทศกาลศิลปะผุดขึ้นในหลายเมือง เมืองใหญ่ต่างใช้งานศิลปะ มรดกและผู้คนรวมถึงเทศกาลศิลปะ
เมืองเช่นที่เอดินเบอระ หรือเอดินเบิร์ก (Edinburgh)ใ นสหราชอาณาจักรวางตัวเองเป็นเอเธนส์แห่งตอนเหนือ ซึ่งการใช้งานศิลปะนี้ไม่ได้เกิดแค่ในเมืองใหญ่ ในเมืองเล็กๆ ที่ห่างไกลก็เริ่มใช้งานศิลปะขึ้นเพื่อนิยามตัวตน และสร้างความรับรู้กับที่อื่นๆ ด้วย ความแตกต่างที่น่าสนใจคือเมืองใหญ่ๆ อาจจะยังใช้ศิลปะชั้นสูง เน้นการฟื้นฟู แต่เมืองเล็กๆ เช่นที่เมืองอาวินยง (Avignon) ทางตอนใต้ของฝรั่งเศสเริ่มจัดงานที่เน้นการนับรวมและความหลากหลาย
หลังจากยุคหลังสงคราม เทศกาลศิลปะก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงจากศิลปะชั้นสูงมาสู่งานออกแบบหรืองานเชิงพาณิชย์ และแน่นอนหลายเมืองใหญ่ก็เริ่มมอง และใช้งานศิลปะและเทศกาลศิลปะเป็นเครื่องมือในการฟื้นฟูเมือง ทั้งจากเมืองที่ซบเซาลงจากสงคราม จากความเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ กิจกรรมใดใด ซึ่งนักพัฒนาและนักผังเมืองก็เห็นพ้องว่าการใช้เทศกาลศิลปะเป็นการลงทุนที่ทั้งใช้ทรัพยากรทางวัฒนธรรมของตัว เป็นการลงทุนที่ถูกที่สุดถ้าเทียบกับการงานประเภทอื่นๆ ทั้งงานกีฬา เช่น เวิร์ลคัพ โอลิมปิก ไปจนถึงงานแสดงผลงานทางธุรกิจและนวัตกรรมเช่นเวิร์ลเอ็กโปร (world expo)
เทศกาลศิลปะคือภาคปฏิบัติ คือการนำเอาศิลปิน ศิลปะ มรดก และความสามารถที่บางครั้งเป็นนามธรรม ต่างคนต่างอยู่มารวมตัวและสร้างเป็นงานอันเป็นรูปธรรม นำไปสู่การสร้างตัวตน เช่นกรุงเทพฯ จะเป็นเมืองผู้นำด้านการออกแบบ หรือการใช้งานออกแบบและความร่วมมือของ TCDC (Thailand Creative & Design Center) และภาคีในการฟื้นฟูย่านเจริญกรุงและย่านอื่นๆ ตัวเทศกาลศิลปะนี้มีประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมคือนำไปสู่กิจกรรมในพื้นที่และความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ
แต่ก็แน่นอนว่าไม่มีคำตอบใดที่สัมบูรณ์ เทศกาลศิลปะหรือเทศกาลงานออกแบบเองก็เช่นกัน การบริหารจัดการสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม การเชื่อมโยงและบริหารจัดการทุนทางวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างหลากหลาย มีเงื่อนไขและปัญหาเฉพาะของแต่ละพื้นที่ก็เป็นกระบวนการที่ประกอบขึ้นอย่างซับซ็อนและเข้าใจ ไม่ใช่แค่จับโยนเข้าหากันแล้วเขย่า
และที่สำคัญคือ การย้อนกลับมาของปัญหาจากความเป็นงานเทศกาล คืองานเทศกาลนั้นเป็นเรื่องของวาระ เป็นสิ่งที่ขึ้นเป็นช่วงสั้นๆ ปัญหาซึ่งก็เกิดขึ้นในบางประเทศ คือเทศกาลเหล่านี้กลายเป็นเรื่องของการท่องเที่ยว เป็นสิ่งที่ไม่ได้นำประโยชน์หรือยึดโยงสู่ชุมชน ต่อผู้อยู่อาศัยในพื้นที่นั้นอย่างแท้จริง อะไรคือการสร้างความยั่งยืนต่อเนื่องจากงานเทศกาลที่จัดขึ้นอย่างมากก็สองถึงสี่สัปดาห์ให้ส่งผลยาวนานต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Preeyanuch Charoensiritayida
- Vanat Putnark
Writer