ซูเปอร์มาร์เก็ต ดูจะเป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานของคนเมือง เป็นแหล่งอาหารสำคัญในการดำรงชีวิตทุกวันนี้ หากมันปิดไป หรือระบบขนส่งใช้การไม่ได้ ชีวิตคนเมืองอาจดำเนินต่อไปไม่ได้เลย สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความเปราะบางทางอาหารที่สังคมเมืองมีเป็นอย่างมาก
“เอามะกอกน้ำแบ่งไปกินบ้างไหม จิ้มกับน้ำพริกอร่อยนะ “ คำพูดเชิญชวนจากพี่คนดูแลสวนที่เปลี่ยนที่ดินว่างใจกลางเมืองมาเป็นสวนครัว มองไปตรงไหน ก็น่าจะหยิบกินทำแกงได้หมด มะกอกน้ำ มะม่วง ส้มโอ กระเพรา ตะไคร้ ใบมะกรูด พริก ฯลฯ แถมยังมีไก่และเป็ดที่เลี้ยงไว้เพื่อเอาไข่ด้วย คนเมืองอย่างผมและหลายคนคงไม่คุ้นชินกับการปลูกผักสวนครัว แต่ที่นี่มีทั้งผักและไข่ มีอาหารราวกับเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตมีชีวิตนี้ไม่เพียงให้ครอบครัวได้พึ่งพิงแต่ยังแบ่งปันไปถึงชุมชนรอบๆ ด้วย
ความเป็นเมืองไม่เพียงพรากที่ดินอันอุดมที่เคยเป็นเรือกสวนไร่นาเพื่อการผลิตอาหารไปเป็นเมืองคอนกรีตเท่านั้น แต่ยังพรากความสามารถในการพึ่งพิงธรรมชาติ เพื่อพึ่งพาตัวเองไปด้วย ในภาวะวิกฤติ COVID-19 มันยิ่งทำให้เราตระหนักว่าเมืองและเรามีความเปราะบางเพียงใดต่อการพึ่งพาทรัพยากรจากแหล่งอื่นเพื่อดำรงชีวิต ที่พึ่งเดียวที่เรามีคือเงินเพื่อซื้ออาหาร เพราะอาหารมันได้แปรเปลี่ยนจากทรัพยากรที่ทุกคนเคยผลิตเองได้ไปเป็นสินค้าเสียแล้ว คนที่มีเงินจึงมีศักยภาพในการเข้าถึงและแม้กระทั่งกักตุนอาหาร ในขณะที่มีใครหลายคนที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้เพราะขาดทั้งเงินและศักยภาพที่จะผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงตัวเองได้
‘ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว’ ดูเป็นคำพูดที่ไม่จริงอีกต่อไปในบริบทของเมืองใหญ่ทุกวันนี้
ถึงแม้ประเทศไทยจะมีตัวชี้วัดทางความมั่นคงทางอาหารอยู่ในลำดับที่ 51 ของโลก จาก113 ประเทศทั่วโลกที่ประเมินโดย องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) โดยประเมินจาก 4 ประเด็นสำคัญ คือ ความพอเพียงของอาหาร (food availability) การเข้าถึงอาหาร (food access) การใช้ประโยชน์จากอาหาร (food utilization ) และการมีเสถียรภาพด้านอาหาร (food stability) ที่บ่งบอกถึงภาพรวมพื้นที่เพาะปลูกพืชเกษตรเพื่อใช้ในการบริโภคและการส่งออกอย่างเพียงพอ
แต่กลับปรากฏความเสี่ยงที่ท้าทายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลดลงของพื้นที่เกษตรเพื่อกิจกรรมอื่น เช่น การขยายตัวของเมือง พื้นที่อุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งการถือครองพื้นที่เกษตรโดยกลุ่มทุน แทนเกษตรกรรายย่อยส่งผลให้ความมั่นคงทางอาการถูกครอบครองโดยกลุ่มคนบางกลุ่ม การใช้สารเคมีปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ส่งผลต่อสุขภาพผู้บริโภคและระบบนิเวศ การกระจายรายได้ที่ไม่ทั่วถึง ส่งผลให้ประชากรบางส่วนไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพได้ การขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตรซึ่งส่วนใหญ่เป็นผ้สูงอายุ และชาวต่างชาติ การหาคนรุ่นใหม่มาสานต่อการเกษตรที่สอดคล้องกับโลกและเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็ยากขึ้นทุกขณะ
ในฝั่งการบริโภค เราพบว่ายุคนี้อาหารถูกแปรสภาพจากการผลิตเพื่อบริโภคอย่างอิสระ สู่การเป็นสินค้าที่มีผู้ผลิตแยกออกจากผู้บริโภคชัดเจน มีกลไกราคา กลไกตลาด การกระจายสินค้า เป็นตัวกำหนดการบริโภค เมื่อทรัพยากรที่ดินมีเจ้าของและองค์ความรู้มีจำกัด คนเมืองจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะเป็นฝ่ายพึ่งพาการเลี้ยงดูจากภายนอก โดยใช้เงินเพื่อแลกอาหารผ่านซูเปอร์มาเก็ต ตลาด ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า
จากข้อมูลพบว่า 1/4 ของรายจ่ายของครอบครัวคนรุ่นใหม่ในเมือง (อายุต่ำกว่า35 ปี) หมดไปกับเรื่องอาหาร (ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศที่ไม่ควรถึง 1/4 ) อีกทั้งคนเมืองสามารถผลิตอาหารได้เพียงร้อยละ 10.6 จากสิ่งที่บริโภค หรือ อาจผลิตไม่ได้เลย (ตำ่กว่าค่าเฉลี่ยที่ 22%) ในขณะที่คนชนบทมีศักยภาพในการผลิตและเข้าถึงทรัพยากรทางอาหารได้มากกว่า เนื่องจากปัจจัยทางที่ดินและองค์ความรู้ที่มี
แต่สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญของความเปราะบางเรื่องความมั่นคงทางอาหารในเมืองคือ การเข้าถึงอาหาร ( food access) ของกลุ่มคนผู้มีรายได้น้อย ที่ค่าใช้จ่ายด้านอาหารสูงถึง 47.2 % ของรายได้ อีกทั้งยังประสบปัญหาสารอาหารไม่เพียงพอ เราจึงเห็นภาพพี่น้องเราแบกข้าวสาร ข้าวเหนียว กลับมาจากบ้านในชนบทหลังจากวันหยุดยาวเพื่อเสริมความมั่นคงทางอาหารที่เมืองใหญ่ไม่สามารถให้ได้
และในอนาคต ความเปราะบางทางอาหารนี้จะยิ่งทวีความรุนแรง จากการคาดการขององค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติ (FAO) คาดว่า โลกต้องการที่ดินเพื่อผลิตอาหารเพิ่มขึ้นราว 680 ล้านไร่ เพื่อรองรับประชากรที่เพิ่มขึ้นในปี2050
เราจะเอาที่ดินจากไหนมาเลี้ยงผู้คนในเมืองและโลก ?
หากมองย้อนกลับไปในอดีตจะพบว่าพื้นที่เกษตรและเมืองมีความสัมพันธ์กัน โดยอยู่รอบๆ เป็นทุ่งนาและร่องสวน ผลิตข้าว ผลไม้ ผัก ปศุสัตว์ ที่นอกจากได้อาหารแล้วแล้วยังใช้เป็นแนวดูดซับน้ำตามธรรมชาติด้วย
อย่างกรณีของกรุงเทพมหานคร องค์ความรู้นี้พัฒนามาคล้ายคลึงกับที่ฝั่งตะวันตกใช้ในการวางผังเมือง ด้วยการกำหนด green belt (พื้นที่สีเขียว) รอบเมืองเพื่อใช้ในการผลิตอาหารป้อนเมืองและเพื่อประโยชน์ต่อการจำกัดการขยายตัวของเมือง ให้ไม่เกินศักยภาพของระบบสาธารณูปโภคที่วางแผนไว้
ทุกวันนี้ทุ่งนา ร่องสวนรอบพระนครหรือ green belt ในยุคใหม่ ถูกจับจองเป็นบ้านจัดสรรนิคมอุตสาหกรรม ห้างสรรพสินค้า สนามบินและเมืองขนาดย่อม ไปเกือบหมดแล้ว ในขณะที่พื้นที่เมือง เกือบ 50 % คือตึก ถนน และลานคอนกรีต
พื้นที่ผลิตอาหารถูกหลีกทางให้กับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อาหารจึงไม่ได้ถูกผลิตทั้งในและรอบเมืองอีกต่อไป เราขนส่งอาหารมาจากชนบท มีระบบตลาด การกระจายสินค้า ร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาเก็ต ทำหน้าที่เลี้ยงคนในเมือง ไม่ต่างจากไก่ในฟาร์มที่ถูกป้อนอาหารด้วยกลุ่มทุน เสียทั้งทรัพยากรในการขนส่ง และเสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารเคมีที่เราไม่อาจล่วงรู้และควบคุมได้
ถึงเวลาที่เราจะฟื้นฟูความมั่นคงทางอาหารสู่เมือง และศักยภาพในการพึ่งพาธรรมชาติและตนเองกลับมาเพื่อให้เราทุกคนมีคุณภาพชีวิตและรับมือกับวิกฤติได้ดีขึ้นในอนาคต เป็นไปได้ไหมที่เราจะหันมาพัฒนาศักยภาพที่ดินในเมืองเพื่อเพื่มความมั่นคงทางอาหาร เกื้อหนุนทุกคนในสังคม ให้เข้าถึงอาหารที่ดีและปลอดภัยมากขึ้นด้วยวิธีต่างๆ
ภาษีที่ดิน
ตัวกระตุ้นสำคัญให้เอกชนที่ถือครองที่ดินว่างในเมือง ลุกขึ้นมาใช้ประโยชน์บางอย่าง แต่แทนที่จะเป็นการทำเกษตรเพื่อลดภาษีโดยการปลูกกล้วย มะนาวเพียงไม่กี่ต้น รัฐควรมีมาตรการที่ดีพอทั้งเกณฑ์ในการลดหย่อนภาษี การให้ทุนสนับสนุน การรับซื้อผลผลิต และควบคุมดูแล เพื่อให้แน่ใจว่า ที่ดินเหล่านั้นจะเป็นประโยชน์ในการสร้างความมั่นคงทางอาหารตามเป้าหมายที่วางไว้
ที่ดินของรัฐ
ที่ดินรัฐที่รอการพัฒนานั้นมีอยู่มาก สามารถนำมาใช้ประโยชน์เป็น urban farm ได้ในระยะสั้นหรือระยะยาว เพื่อนำร่องให้เห็นความเป็นไปได้ในการเป็นแหล่งอาหารคนเมือง ที่สามารถให้คนได้ใช้พักผ่อนและเรียนรู้ ส่งเสริมศักยภาพองค์ความรู้ด้านการเกษตรให้คนเมืองมากขึ้น
สวนสาธารณะ
พื้นที่สวนสาธารณะไม่ได้มีบทบาทเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป เมื่อที่ดินมีน้อย เราจึงต้องบริหารการใช้ที่ดินให้ใช้สอยได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น เราสามารถแบ่งพื้นที่บางส่วนของพื้นที่สวนสาธารณะทั่วกรุงเทพมหานครที่มีมากกว่า 40 แห่งเพิ่อใช้ในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้กับเมืองได้ โดยสวนสาธารณะเองอาจทำหน้าที่ในการกระจายผลผลิตเพื่อเข้าถึงครัวเรือนและชุมชนโดยรอบ ทั้งนี้ศักยภาพของสำนักสิ่งแวดล้อมที่ดูแลพื้นที่สวนสาธารณะทั่วกรุงเทพมหานคร มีทั้งกำลังคน เครื่องมือ ทรัพยากร และองค์ความรู้ที่สามารถเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน urban farm ได้
เกาะกลางถนน ทางเท้า
แทนที่จะปลูกต้นไม้ให้ร่มเงาหรือเพื่อความสวยงามเพียงอย่างเดียว เราสามารถผนวกไม้ผล ไม้สมุนไพรให้เป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์ถนน ไม่ว่าจะเป็นเกาะกลางถนน หรือทางเท้า ให้พลเมืองเด็ดไปใช้ประโยชน์ได้ ทั้งนี้มีโครงการนำร่องแล้วกับหลายเมืองทั่วโลกเช่น Copenhagen, Ottawa และ บางเมืองใน USA ที่นอกจากจะสร้างเสริมอาหารที่ดีมีประโยชน์แล้ว ยังช่วยปลูกฝังเด็กๆ ให้เห็นถึงสิ่งที่มีและความสำคัญของอาหารในเมืองด้วย
หลังคาคอนกรีตบนอาคาร
ในเมืองนั้นมีอาคารจำนวนมาก พื้นที่หลังคาบนอาคารนั้นมีศักยภาพต่อการใช้เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญให้กับเมืองได้ ด้วยความที่มันรับแสงอาทิตย์ตลอดวันและอยู่ท่ามกลางแหล่งชุมชนที่เข้าถึงได้สะดวก การเปลี่ยนหลังคาคอนกรีตเป็น urban farm นั้นสามารถจัดการได้ด้วยรูปแบบการปลูกสมัยใหม่ ใช้พื้นที่น้อยแต่ได้ผลผลิตมาก อีกทั้งยังช่วยเมืองในการลดเกราะความร้อนจากการแผ่รังสีของหลังคาคอนกรีตด้วย
ที่ประเทศสิงคโปร์รัฐบาลมีการสนับสนุนแนวคิดนี้ที่ทำให้ผู้ประกอบการมากมายปรับเปลี่ยนหลังคาอาคารจอดรและห้างสรรพสินค้า มาเป็นแหล่งผลิตอาหารสำหรับชุมชนโดยรอบ ด้วยการใช้ระบบไฮโดรโปนิกส์ทางตั้ง ที่ให้ผลผลิตมากในพื้นที่จำกัด โดยรัฐบาลสิงคโปร์ตั้งเป้าว่า จะเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตอาหารผ่าน urban farm จาก 10 % เป็น 30 % ภายในปี 2030 หรือที่กรุงปารีส รัฐบาลเมืองตั้งเป้าที่จะเปลี่ยนหลังคาคอนกรีตในเมืองมากกว่า 625 ไร่ ให้เป็นพื้นที่สีเขียวโดยหนึ่งในสามของพื้นที่นั้นต้องใช้สำหรับการปลูกพืชทางการเกษตร
โอกาสของที่ดินในการสร้างความมั่นคงทางอาหารนั้นมีอยู่ แต่ขาดการหนุนเสริมทรัพยากรต่างๆ ที่จำเป็นเพื่อให้เจ้าของที่ดินและหน่วยงานสามารถขับเคลื่อนการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้เมือง ที่จะเป็นประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทรัพยากรทั้งด้านนโยบาย ภาษี องค์ความรู้ ทุน แรงงาน ที่ต้องรวบรวมทั้งจากรัฐ เอกชน และเครือข่ายภาคประชาสังคมที่มีอยู่ รวมถึงการสร้างกลไกที่จะบริหารจัดการดูแลพื้นที่เกษตรในเมือง และการแจกจ่าย จำหน่ายผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้แน่ใจว่า ทุกกลุ่มในสังคมสามารถเข้าถึงอาหารที่ดีและปลอดภัยได้ ที่สำคัญมีเงินหมุนเวียนใช้ในการดูแลพื้นที่เกษตรในเมืองให้มีความยั่งยืนในระยะยาว
นอกจากการแสวงหาที่ดินโอกาสให้เกิดรูปธรรมที่ยังประโยชน์ทั้งต่อคุณภาพชีวิตผู้คน ฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน และ ฟื้นความสัมพันธ์เชิงสังคมผ่านการทำ urban farm หรือเกษตรในเมืองนี้แล้ว สิ่งสำคัญคือการถ่ายทอดเชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านการเกษตรเหล่านี้ ให้เกิดขึ้นกับพลเมือง ที่เขาสามารถนำกลับไปใช้ได้กับที่บ้าน ที่สวน ที่หลังคา ที่ระเบียง
ค่อยๆปลุกความสามารถในการผลิตอาหารและรวมถึงการพึ่งพาตัวเองอันมีธรรมชาติเป็นต้นทุนที่สำคัญกลับคืนมา เพื่อมีอิสรภาพของการผลิต และบริโภคอาหารที่มีมากกว่าแค่ในซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน
อ้างอิงข้อมูลจาก
theaseanpost.com
Cover by Yossapon Boonsom
- Yossapon Boonsom
ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker