CITY CRACKER

City in the Garden เมื่อสิงคโปร์ทำได้แต่เรา (ยัง) ทำไม่ได้

 

เราทำไม่ได้หรอกประเทศเขามีเงินเยอะกว่า

เขาทำได้เพราะประเทศเขาเล็กกว่าเราเยอะ

เขาทำได้เพราะเขามีรัฐบาลเข้มแข็งน่ะสิ

 

 

เรามักมีข้ออ้างในการจะไม่ทำสิ่งต่างๆ หรือทำในสิ่งที่เราคิดว่าเป็นไปไม่ได้ เรื่องการพัฒนาเมืองก็เช่นกัน แต่ข้ออ้างเหล่านี้คงไม่อยู่ในความคิดของ ‘ลีกวนยู’ เมื่อ 50 ปีที่แล้ว เขาต้องแบกรับภาระผู้นำ พัฒนาเกาะเล็กๆ อย่าง ‘สิงคโปร์’ ที่แทบไม่มีทรัพยากรอะไรให้อยู่รอดหรืออยู่อย่างรุ่งเรืองได้เลย

 

หนึ่งในหลายเรื่องที่ลีกวนยูทำคือการกำหนดวิสัยทัศน์ของการพัฒนาเกาะเล็กๆ นี้ให้เป็น garden city เพราะเขาเล็งเห็นว่าประเทศชาติจะพัฒนาได้ก็ด้วยคน คนจึงจำเป็นต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีด้วย ซึ่งสภาพแวดล้อมที่ดีก็จะดึงดูดผู้คนให้มาเที่ยวมาลงทุนเพื่อช่วยพัฒนาเกาะเล็กๆ นี้ให้เจริญด้วยสิงคโปร์ในวันนี้จึงไม่ใช่แค่เพียง garden city แต่เป็น city in the garden และกำลังแปรผันตัวเองไปเป็น city in the nature ด้วย ปัจจุบันสิงคโปร์มีพื้นที่สีเขียวทั้งบนดินและในอากาศต่อประชากรมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แล้วเหตุใดสิงคโปร์ที่เป็นเกาะเล็กๆ จึงทำแบบนี้ได้

 

 

สีเขียวคือกลยุทธ์

พื้นที่สีเขียวของสิงคโปร์ไม่ใช่แค่ความร่มรื่นแต่มันคือกลยุทธ์หรือกลไกที่สำคัญต่อการพัฒนาเมืองในทุกมิติ เขามีสภาพแวดล้อมที่ดีจนเป็นปัจจัยให้เป็น ‘เมืองน่าอยู่’ ในอันดับต้นๆ ทั้งในระดับเอเชียและระดับโลก กว่า 1ใน3 ของจำนวนประชากรทั้งหมดเป็นคนต่างชาติที่มาอาศัยหรือมาทำงานอยู่ในประเทศสิงคโปร์ อันเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลี่อนเศรษฐกิจของประเทศ

เขายอมกันที่ดินที่ถมทะเลออกไปเพื่อสร้าง New CBD (Central Business District) ที่มีมูลค่ามหาศาล เป็นสวนสาธารณะที่ชื่อว่า Garden by the Bay เขามองว่านอกจากจะช่วยกระตุ้นการพัฒนาเมืองแล้วยังกระตุ้นเศรษฐกิจจากการมาของนักท่องเที่ยวปีละหลายล้านคนด้วย หรือสวนสาธารณะที่เก่าแก่ที่สุดอย่าง Singapore Botanical Garden ก็พัฒนาปรับปรุง สืบค้น จนกลายเป็น world heritage ที่ทำให้สิงคโปร์ให้เป็นผู้นำในเวทีโลกเรื่องให้ความสำคัญของพื้นที่สีเขียวและพฤกษศาสตร์ สวนสาธารณะทั่วไปเองก็มีคุณภาพสูง มีกิจกรรมตอบสนองคนทุกวัย ปรับปรุงให้ทันสมัย ทั้งเครื่องเล่น คาเฟ่ บรรยากาศที่ดึงดูด เพราะเขาตระหนักว่านี่คือบริการสาธารณะที่ต้องมีคุณภาพทัดเทียมหรือดีกว่าห้างสรรพสินค้าที่ประชาชนควรได้รับ นอกจากนี้ยังมี park connector ที่เชื่อมโยงไปยังสวนสาธารณะต่างๆ และแหล่งทำงานแหล่งพักอาศัยเพื่อให้คนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการพื้นที่สาธารณะได้โดยง่าย สร้างสังคมแห่งสุขภาวะที่ดีและเท่าเทียม ช่วยกระตุ้นการพัฒนาย่านที่เงียบเหงาให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

 

ทางด้านการจัดการน้ำ สิงคโปร์ได้เปลี่ยนคลองคอนกรีตให้มีภูมิทัศน์สวยงามและเอาธรรมชาติกลับคืนมา ฟื้นฟูระบบนิเวศน์ให้คืนสู่เมืองซึ่งล่าสุดตัวนากก็สามารถเข้ามาอาศัยในเมือง บำบัดน้ำให้เป็นแหล่งพักพิงสัตว์ และเป็นพื้นที่รองรับน้ำท่วมได้อีกด้วย มีการวางแผนกักเก็บน้ำจืดจากแหล่งต่างๆ ทั้งน้ำฝน น้ำรีไซเคิล หรือการนำน้ำทะเลมากลั่นและกักเก็บในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เพื่อให้สิงคโปร์พึ่งพาการนำเข้าน้ำจืดจากเพื่อนบ้านน้อยลง

มีการออกนโยบายให้อาคารในเขตเมืองที่มีความหนาแน่นสูงทำผนังเขียวและ roof garden เพื่อลดการแผ่ความร้อนจากป่าคอนกรีตในเมืองที่นับวันจะหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันสิงคโปร์กำลังเผชิญกับความหนาแน่นของเมืองที่เพิ่มมากขึ้นจากกจากจำนวนประชากรทั้งภายในและภายนอกประเทศ จึงต้องวางแผนที่จะสร้างเมืองใหม่ที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ จึงเกิดเป็นแนวคิด biophilic ขึ้น

 

 

เมืองสีเขียวที่มีงานวิจัยรองรับ

สีเขียวไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันดังนั้นต้องมีการวิจัยรองรับว่า ทำแล้วเมืองมันจะดีขึ้นอย่างไรในมิติต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม มันต้องจับต้องได้ (quantify) ว่าจะใช้เงินลงทุนเท่าไร คุ้มค่าไหม นอกจากนั้นการวิจัยเขายังมองไปในอีก 20-50 ปีข้างหน้า ว่าเมืองจะเปลี่ยนไปอย่างไรเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับมัน ไม่ใช่เสียเงินทำวิจัยขึ้นหิ้ง หรือทำวิจัย (หลอกๆ) เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของเมือง

 

การทำงานร่วมกันของหน่วยงานรัฐ

วิสัยทัศน์ที่ชัดเจนนำไปสู่นโยบายที่แต่ละหน่วยงานทำหน้าที่ประสานสอดคล้องกัน ทั้ง URA (Urban Redevelopment Authority) ที่ทำหน้าที่วางผังเมือง ออก guideline ควบคุม อนุญาติให้เกิดการสร้างตามผังนั้น Npark (National Parks Board) ที่ดูแลเรื่องพื้นที่สีเขียวของเมืองให้มีทั้งปริมาณและคุณภาพที่ดี PUB (Public Utility Board) ดูแลเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ในคูคลองให้ผนวกรวมเป็นพื้นที่สีเขียวที่ใช้ประโยชน์ได้ด้วย HDB (Housing Development Board) องค์กรที่ดูแลเรื่อง public housing ที่ทำให้แหล่งพักอาศัย ที่เป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาะสิงคโปร์มีสภาพแวดล้อมที่ดี และมีส่วนสร้างพื้นที่สีเขียวให้เมืองด้วย นอกจากนี้ยังมีตัวชี้วัดที่ครอบคลุมและชัดเจนว่าต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้แน่ใจว่าทุกฝ่ายจะไม่ตกหล่นและมีการประเมินผลอย่างจริงจัง

 

นโยบายกระตุ้นแบบ win-win

สิ่งสำคัญคือรัฐทำเมืองสีเขียวคนเดียวไม่ได้ ต้องออกนโยบาย กระตุ้นให้เอกชนช่วยทำด้วย ซึ่งตัวเอกชนเองก็ต้องการกำไร ในขณะเดียวกันประชาชนก็ต้องการสิ่งแวดล้อมที่ดี รัฐจึงต้องเข้ามาออกกฏเกณฑ์ นโยบาย มอบรางวัล มอบเงินทุน เพื่อกระตุ้นให้เอกชนมีส่วนในการสร้างเมืองสีเขียวที่เขาเองก็ยังได้ประโยชน์ทางธุรกิจ และได้รับการชื่นชมด้วย เช่นถ้าคุณให้พื้นที่อาคารมีพื้นที่สาธารณะมีพื้นที่สีเขียวที่มาก คุณสามารถสร้างได้มากขึ้นด้วย เราจึงเห็นว่าพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่สาธารณะนั้นไม่ได้มีแค่สวนของรัฐ แต่ผนวกรวมกับ อาคารสำนักงาน สนามกีฬา โรงพยาบาล และโรงแรมได้ด้วย

การสื่อสารสาธารณะ

การสร้างการรับรู้กับสังคมเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้สังคมเข้าใจและตระหนักร่วมกันว่าเมืองกำลังเดินไปสู่เป้าหมายอะไร มีความท้าทายอะไรที่ต้องเผชิญ และใครกำลังทำอะไรอยู่ เพื่อที่พลเมืองจะได้ตระหนักในหน้าที่ตนเองและรู้ว่าเขาจะมีส่วนสนับสนุนให้ความเห็น ตรวจสอบสิ่งที่รัฐกำลังดำเนินอยู่ได้อย่างไร ผ่านนิทรรศการ รายการทีวี เวทีรับฟังความคิดเห็น คอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ จนเรื่องการพัฒนาเมืองซึมซับอยู่ในชีวิตผู้คน ไม่ว่าพูดกับใครก็เข้าใจ

ปลูกฝังค่านิยมที่มีต่อธรรมชาติ

มีการปลูกฝังค่านิยมกับพลเมือง ให้ตระหนักในคุณค่าของสิ่งแวดล้อมและเมืองที่ดี รวมถึงคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของตนเอง และสร้างประสบการณ์ตรงให้กับผระชาชนด้วยสวนสาธารณะและเมืองที่ถูกออกแบบมาอย่างดี ส่งผลอย่างไรต่อชีวิตบ้าง เช่น ครอบครัวใช้ชีวิตใกล้กันมากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดี ราคา property เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาสวนสาธารณะใกล้บ้าน

 

การปรับตัวเพื่อฟังเสียงประชาชน

เมื่อ 10 ปีก่อนเราแทบไม่ได้ยินว่ารัฐบาลสิงคโปร์สร้างการมีส่วนร่วมกับสังคมมากนักในเรื่องการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ แต่การตื่นตัวของประชาชนทำให้ปัจจุบันรั ฐเปิดช่องทางให้คนมาร่วมบริหารจัดการพื้นที่ มีพื้นที่ community garden มีเวทีรับฟังความคิดเห็นต่างๆ ในการพัฒนาเมืองมากขึ้น

สร้างอุตสาหกรรมและบุคลากรรองรับ

ในการขับเคลื่อนเมืองสีเขียว ต้องไม่ใช่แค่นักผังเมือง ภูมิสถาปนิก หรือสถาปนิกที่ทำงานออกแบบ แต่ต้องมีทุกภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น วิศวกรเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานทางเลือก นักพฤกษศาสตร์ นักนิเวศวิทยา นักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม ผู้รับเหมาก่อสร้างที่เชี่ยวชาญ ผู้ผลิตวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิตเทคโนโลยีที่ตอบสนองการพัฒนาเมืองยุคใหม่ มีการเรียนการสอน การฝึกอบรมให้รางวัล จัดงานสัมมนา networking เพื่อให้การพัฒนาเมืองเป็นธุรกิจที่ครบวงจรและเป็นจริงได้ ไม่ได้มีแค่นโยบายแต่ไม่มีคนขับเคลื่อน

 

Good Governance

หัวใจสำคัญนอกจากการมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ มีผู้บริหารที่ไม่ยอมจำนนต่ออุปสรรคและระบบการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพแล้ว สิ่งสำคัญที่ออกมาจากปากของผู้บริหารระดับสูงของ สิงคโปร์ คือ ‘good governance’ หรือธรรมาภิบาล เพราะถ้าปราศจากสิ่งนี้ก็จะไม่มีสิ่งใดๆ เลยตามมา ความเลวร้ายคือรัฐที่ล้มเหลวจะใช้ข้ออ้างในการพัฒนาเมืองอย่างผิดวิธี เพื่อหาผลประโยชน์และทำลายความเป็นเมืองที่มีชีวิตให้ค่อยๆ ตายลงจากการพัฒนาที่ผิดทาง เหมือนที่กำลังเกิดกับบ้านเรา หลายคนอาจไม่รู้ว่าครั้งหนึ่งรัฐบาลสิงคโปร์เคยมาดูเราเป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองเมื่อ 50 ปีที่แล้ว

เมื่อความผิดพลาดจากการพัฒนาเมืองโดยรัฐและเอกชนเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชน มันยิ่งทำลายความหวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลง และยิ่งสร้างระยะห่างของความไว้เนื้อเชื่อใจที่จะร่วมมือกันสร้างสังคมร่วมกันของทุกฝ่าย ซึ่งนั่นเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาเมืองและประเทศ เพราะเมืองจะยั่งยืนได้นั้น ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน

ใช่ว่าสิงคโปร์โมเดล จะเหมาะกับบ้านเราทั้งหมดแต่มันทำให้เราได้เรียนรู้เพื่อปรับใช้ ซึ่งเราต้องหาว่าอะไรคือ คุณค่าร่วม (Shared Value ) ที่เรามีร่วมกันให้เจอก่อนเพื่อออกแบบโมเดลการพัฒนาของเราให้นำไปสู่เป้าหมายนั้น

 

ถามว่าเราคิดเรื่องแบบนี้ไม่เป็นเหรอ ?คำตอบ คือไม่ใช่! เราคิดได้แต่ (ยัง) ทำไม่ได้ และมันไม่ควรเป็นข้ออ้างของเราอีกต่อไป

 

Illustration by Thitaporn Waiudomwut
  • Yossapon Boonsom

    ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker

Share :