ต้นปาล์ม มังกรยักษ์ ชองเกชอน เสาไฟกินรี หรืออย่างล่าสุดคือลานคอนกรีตโล่งที่จะมาแทนที่ต้นไม้ประจำถิ่น นี่คือภาพสะท้อน ‘ภูมิทัศน์แบบไทยๆ’ ที่สะท้อนให้เห็นการพัฒนาที่เชื่อมกับคำว่า ‘ยิ่งใหญ่ ยิ่งแปลก ยิ่งเหมือนต่างประเทศ’ นั่นแหละดี แต่สิ่งปลูกสร้างเหล่านี้ไม่ใช่เพียงความเป็นไทยๆ ในเชิงกายภาพเท่านั้น แต่ยังมีความไทยๆ ในเชิงกระบวนการด้วย
กระบวนการเกิดขึ้นของสิ่งปลูกสร้างนี้ต้องผ่านวิสัยทัศน์ผู้นำท้องถิ่นเป็นใหญ่ แต่ใช้กระบวนการรับฟังความคิดเห็นคนในพื้นที่พอเป็นพิธีเพื่อให้ได้สิ่งที่มีธงไว้แล้ว ข้อมูลดีๆ ด้านเดียวถูกชี้นำแต่ไม่เผยทางเลือก ไม่เผยผลกระทบ หรือความท้าทายที่เมืองเผชิญ ไปจนถึงผลกระทบทางภาระการดูแลรักษาที่จะตามมา ซึ่งทั้งหมดคือเงินภาษีของประชาชนที่เสียไป เพราะเป้าหมายไม่ใช่การพัฒนาที่ยั่งยืนขอเพียงได้ชื่อว่าสวย ว่าใหญ่ ว่าแปลก นั่นแหละที่ต้องการเพื่อสร้างชื่อสร้างภาพและสร้างผลงานว่า ‘พัฒนาแล้ว’
การพัฒนาแบบไหนกันที่เราได้มาภายใต้ข้ออ้างของการปรับปรุงภูมิทัศน์ การพัฒนาที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นเพียงตกแต่ง (cosmetic) ปะหน้าปะจมูกที่ซ่อนปัญหามากมายไว้ใต้พรม ทั้งๆ ที่เมืองกำลังเผชิญกับภาวะโลกร้อน น้ำท่วม ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น การกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงขึ้น แต่คุณภาพชีวิตของผู้คนกำลังอยู่บนความเสี่ยงและเปราะบาง และสิ่งที่เลือกทำกลับเป็น การขยายถนนกินเข้าไปในชายหาด รื้อทิ้งไม้ประจำถิ่นที่มีระบบรากยึดทรายไว้ ทำลายพลวัตของชายหาดที่มีที่ราวกับสร้างเพื่อซ้ำเติมปัญหา
ตกลงเราพัฒนาขึ้นหรือลงกันแน่ ?
การพัฒนาที่ยั่งยืนที่ต้องมองแบบองค์รวม มองยาวไม่มองสั้น แต่ต้องใช้การพูดคุยเพื่อร่วมกันหารือ หรือมีส่วนร่วมระหว่างกัน ซึ่งดูเป็นสิ่งที่รัฐและคนที่ได้ประโยชน์จากการพัฒนาแบบเดิมไม่อยากได้ยิน เพราะนั่นหมายถึงกระบวนการที่โปร่งใส และมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายและสิ่งที่จะทำร่วมกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อันเป็นการมองประโยชน์ของสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจที่สมดุลกัน และในหลายๆ ครั้งต้องให้ธรรมชาติเป็นที่ตั้ง หรืออีกด้านหนึ่งคือการทำงานด้วยองค์ความรู้ของผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาวิชา ตั้งแต่นักนิเวศวิทยา วนศาสตร์ ผังเมือง ภูมิสถาปนิก รุกขกร นักสังคมศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม และรัฐ
ไทยในอดีตเราเคยพัฒนาอยู่ร่วมกับธรรมชาติ และชื่นชมให้คุณค่ากับทรัพยากรต้นทุนที่มีของแต่ละถิ่นจนหล่อหลอมเป็น ‘ภูมิทัศน์ไทย’ อันเป็นเอกลักษณ์ของบ้านเรือนชุมชนริมน้ำ ของนิเวศป่าชายหาด คูคลอง ตรอกซอย บ้านเรือนและเมือง จนมาวันนี้ที่ความอยากเป็นถิ่นอื่นจากการไปดูงาน จากการอบรมสัมมนาแบบผิวเผินให้ชื่นชมถิ่นอื่นว่าเป็นของดี กลายเป็นค่านิยมที่ระบาดไปทั่วในทุกวงการโดยเฉพาะผู้มีอำนาจ กลายเป็นโรคร้ายที่ไม่ได้ทำลายแค่ภูมิทัศน์ไทยที่เคยมีมา แต่คือการอาศัยช่องโหว่ของระบบ เพื่อใช้เงินภาษีประชาชนกัดกร่อนทำลายพลังพลเมืองให้เป็นเพียงผู้รับบฟัง และที่สำคัญคือทำลายโอกาสที่เราจะได้ใช้การพัฒนานั้นสร้างสรรค์เมืองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ของเราทุกคน
ถึงเวลาแล้วที่เราต้องแก้ทั้งระบบและคน
ระบบต้องแก้ไขเพื่อเป็นหลักไม่ให้เกิดช่องโหว่ของการใช้อำนาจและเงินภาษีไปสู่การพัฒนาที่ทำลายและปกป้องประโยชน์สาธารณะ โดยยึดกระบวนการมีส่วนร่วมและขับเคลื่อนด้วยความรู้เป็นสำคัญ ซึ่งต้องสร้างให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันในสังคมเพื่อฟื้นคืนค่านิยมการพัฒนาที่ทั้งเป็นเราและยั่งยืนให้กลับคืนมา เพื่อให้เกิดเป็นพลังร่วมของสังคมที่จะปฏิเสธไม่ยอมรับการพัฒนา ‘ภูมิทัศน์ไทยๆ’ หรือการพัฒนาที่ทำลายเช่นนี้
ในสถานการณ์ที่โลกและสังคมอยู่ในจุดเปราะบางที่ไม่สามารถแบกรับความผิดพลาดได้อีก เราคงไม่สามารถมีโครงการที่ให้บทเรียนราคาแพงได้อีกต่อไป และอาจถึงเวลาที่การพัฒนาต่อจากนี้ต้องเป็นไปเพื่อความอยู่ร่วมของคนและธรรมชาติที่ยั่งยืนกว่าที่ผ่านมา ก่อนที่เราและลูกหลานของเราจะไม่อยู่รอดในโลกใบนี้
ความเห็นและข้อคิดจากเวที Clubhouse City Cracker EP.1 พัทยาไมอามี่ไทยแลนด์ ภาพสะท้อนภูมิทัศน์แบบไทยๆ
Illustration by Montree Sommut
- Yossapon Boonsom
ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker