CITY CRACKER

สนามบินที่ดีที่สุดในโลก? สุวรรณภูมิกับการพัฒนา

สนามบินสุวรรณภูมิเปิดให้บริการเมื่อปี 2549 ด้วยความคาดหวังว่าจะติดอันดับเป็น 1 ใน10สนามบินที่ดีที่สุดในโลกภายใน 5 ปีหลังเปิดทำการ หวังจะมัดใจคนทั้งโลกด้วยแนวคิด ‘Airport of Smile’  จนตอนนี้ผ่านมา 13 ปีแล้ว สนามบินถูกติติงในเรื่องคุณภาพของอาคารสถานที่และการให้บริการที่ไม่ได้มาตรฐานในระดับสากล ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำ แอร์ ความสะอาดสวยงามของสถานที่ คุณภาพร้านค้าและสินค้าในสนามบิน บริการของtaxi และอื่นๆมากมาย จึงไม่น่าแปลกใจว่าในการจัดอันดับสนามบินที่ดีที่สุดในโลกของปี 2019 จาก Skytrax สนามบินสุวรรณภูมิของเราก็ถูกจัดในอันดับที่ 46

 

สนามบินที่ดีที่สุดในโลก

ในขณะที่สนามบินชางกี ของสิงคโปร์ สามารถครองตำแหน่งสนามบินที่ดีที่สุดในโลกติดต่อกันเป็นปีที่ 7 ถ้าใครเคยไปจะพบว่าบรรยากาศที่นั่นราวกับเราเข้าไปเดินในห้างสรรพสินค้าชั้นนำและได้รับบริการดีเยี่ยมราวกับโรงแรมห้าดาว ที่สำคัญสนามบินมีการปรับปรุง facility และการบริการให้ตอบรับกับความต้องการของผู้มาเยือนตลอดเวลา ทั้งสระว่ายน้ำ สวนผีเสื้อ โรงภาพยนตร์ พื้นที่พักผ่อนทั้งในและนอกอาคารภายใต้บรรยากาศแบบ ‘city in the garden’ ที่สะท้อนความเป็นสิงคโปร์ และล่าสุดสิงคโปร์ได้เปิดตัวแลนด์มาร์กแห่งใหม่อย่าง The Jewel ขึ้น เป็นสวนในอาคารกระจกขนาดใหญ่ ที่กลายเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญของสนามบิน นอกจากนั้นยังมีการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกอีกด้วย แนวคิดสำคัญของสิงคโปร์คือสนามบินไม่ใช่เพียงอาคารรองรับผู้โดยสารแต่คือที่หมาย (destination) ของคนทั่วโลก

 

Hub การคมนาคมทางอากาศของไทยที่กำลังถูกท้าทาย

สิงคโปร์มีการวางแผนขยายสนามบินอย่างต่อเนื่องทั้งคุณภาพและปริมาณ มีการเพิ่มเที่ยวบินไปยังเมืองต่างๆ ทั่วโลก และการtransit ที่ดี มีการบริหารจัดการ cargo สินค้าที่ได้มาตรฐาน มีการเชื่อมต่อการสัญจรจากทะเลสู่อากาศจากเมืองต่างๆ ในภูมิภาค และแรงจูงใจต่างๆ เพื่อให้สายการบินมาใช้บริการที่นี่มากขึ้น มีการจัดeventระดับโลกอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยว

ปัจจุบันสนามบินชางกีสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ถึง 85 ล้านคนต่อปี แถมยังมีแผนพัฒนาอาคารสนามบินแห่งที่5 (terminal 5) ที่มีขนาดอาคารและอาณาบริเวณรวมกันใหญ่กว่าสนามบินชางกีปัจจุบันถึง 1 เท่าตัวเพื่อให้สนามบินชางกีรองรับนักเดินทางได้ถึง 150 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2030 โดยได้สถาปนิกและศิลปินชื่อดังชาวอังกฤษอย่าง Thomas Heatherwick

 

การบริหารที่ต้องการมืออาชีพ

เพื่อให้เป็นสนามบินที่ดีที่สุดของโลกและ hub ของการคมนาคมทางอากาศในภูมิภาค ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็ทำได้ มันต้องการทั้งบุคลากรที่มีคุณภาพสูง เชี่ยวชาญ และกลไกที่เอื้อให้การบริหารจัดการมีความคล่องตัวและโปร่งใสในระดับสากล

สิงคโปร์แยกบริษัทลูก ที่ชื่อ Changi Airport Group :CAG ออกจากการท่าอากาศยานแห่งชาติเพื่อมาทำหน้าที่ในการบริหารจัดการ facility รวมถึงดูแลการขยายตัวของสนามบินชางกีให้เป็นไปตามแผน ที่สำคัญคือดูแลเรื่องการหารายได้ของสนามบิน ทั้งเรื่อง commercial การพัฒนาที่ดินโดยรอบ การบริการ ที่สำคัญสิงคโปร์กำลังเพิ่มมูลค่าจากองค์ความรู้ที่มีด้วยการทำสนามบินให้มีคุณภาพระดับโลก เพื่อไปบริหารสนามบินอื่นๆ ทั่วโลก ทั้งในจีนและอินเดีย (CEO ของ CAG ปัจจุบันคืออดีตผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ชื่อ Capital Land ) ส่วนหน่วยงานการท่าอากาศยานของสิงคโปร์จะทำหน้าที่ในการควบคุมการบินและควบคุมทางด้านการบินเท่านั้น ฟังถึงตรงนี้หลายคนคงอยากให้หน่วยงานนี้ของสิงคโปร์มาบริหารจัดการสุวรรณภูมิให้เห็นเป็นตัวอย่างบ้าง

 

แค่อาคารที่ดีไม่สามารถทำให้เราเป็นสนามบินที่ดีได้

สนามบินที่ดีเยี่ยมได้มาตรฐานระดับสากลถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมของภูมิภาคอันส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ ต้องพร้อมทั้งประสิทธิภาพ ความปลอดภัย ระบบ infrastructure อาคารสถานที่และการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ โดยมียุทธศาสตร์และะแผนงานที่ชัดเจนในการขับเคลื่อน

สนามบินทีดี จึงไม่ใช่แค่การมีอาคารที่ดีหรือสวยเท่านั้น แต่หากไม่มีกลไกการพัฒนา แบบแผน และวิสัยทัศน์ที่ดีรองรับควบคู่กันไป มันจะนำไปสู่การทำผิดพลาดซ้ำรอยเมื่อ 13 ปีที่แล้ว ที่เราได้อาคารสนามบินสุวรรณภูมิใหม่เอี่ยมมา แต่กลับไม่สามารถใช้ facility นี้ขับเคลื่อนได้อย่างมืออาชีพ และมีพลังในการผลักดันไทยให้เป็น hub ทางการบินอย่างที่คาดหวังไว้ได้

 

อาคารสนามบินที่ดีควรเป็นอย่างไรและอะไรที่คนไทยคาดหวัง

ปัจจุบันมีการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจาก 45 ล้านคน เป็น 60 ล้านคน ในฐานะคนไทยเราคาดหวังว่า อาคารสนามบินจะสะท้อนคุณค่าของประเทศไทย เพราะมันคือความประทับใจแรกที่คนต่างถิ่นจะพบ และเป็นสิ่งที่ย้ำเตือนพลเมืองถึงความเป็นบ้านเมื่อมาถึงหรือกำลังจะเดินทางไกล นอกจากนี้ สนามบินยังควรที่จะสะท้อนคุณค่าใหม่ต่อมวลมนุษย์ชาติในสิ่งที่ไทยเราอยากเป็นในอนาคต ถึงคุณค่าที่เราพยายามไปให้ถึงด้วยเช่นกัน

อาคารสนามบินเป็นประตูเชื่อมไทยกับโลก และที่สำคัญเราคาดหวังว่าเมื่อเสร็จสมบูรณ์แล้ว สนามบินจะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย พอๆ กับอบอุ่นและเป็นมิตรกับผู้คน แถมเรายังคาดหวังว่า แอร์จะเย็น สถานที่จะสะอาด มีห้องน้ำเยอะ ดูแลรักษาง่าย มีร้านค้าบรรยากาศดี มีป้าย ไม่รกรุงรัง และเราคาดหวังจะเห็นการrestructure การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยสู่การบริหารจัดการแบบมืออาชีพอีกด้วยเพื่อที่เงินภาษีของเราจะได้ถูกนำไปใช้อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ

 

สถาปัตยกรรมคือคำตอบ?

สถาปัตยกรรมมักเป็นปลายทางของความคาดหวัง และเป็นที่รวมปัญหาที่สั่งสมมาจากแผนที่้เร่งรัด งบประมาณที่จำกัด การบริหารที่ผิดพลาด และทุกคนคาดหวังว่ามันจะเป็นคำตอบเพราะสถาปัตยกรรมคือสิ่งเดียวที่สามารถแปลงความคาดหวังออกมาได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่สถาปัตยกรรมคงไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของการเป็นสนามบินที่ดี หากขาดวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ขาดการวางแผนและบริหารจัดการที่ดีตั้งแต่ต้น เสียงวิพากษ์วิจารณ์ปนความคาดหวังที่เกิดขึ้นในสังคมต่ออาคารสนามบินแห่งที่ 2 ของสนามบินสุวรรณภูมินี้ กำลังจะนำไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ ที่ต้องทำมากกว่าการสร้างอาคารและ infrastructure ที่ดี

อดคิดไม่ได้ว่าการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิและการพัฒนาอีกหลายเรื่องในประเทศไทยกำลังสะท้อนถึงความล้มเหลวที่เราไม่สามารถ สร้างเป้าหมายที่เหมาะสมกับยุคสมัย ขาดการบริหารจัดการวิธีการที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้เดินไปสู่ผลลัพธ์ตามยุทธศาสตร์และความคาดหวังของสังคมได้เลย

เมื่อพลาดมันย่อมหมายถึงการสูญเสียโอกาสของประเทศ และที่สำคัญเมื่อความคาดหวังแปรเปลี่ยนเป็นความผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่ามันยิ่งสร้างระยะห่างต่อความเชื่อมั่นของสังคมกับภาครัฐมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงเวลาที่เราต้องคิดทบทวนเป้าหมาย เปลี่ยนวิธีการที่ล้มเหลว และเปลี่ยน mindset สู่วิธีการใหม่และผลลัพธ์ใหม่ที่เรายังไม่เคยไปถึง

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

worldairportawards.com/

straitstimes.com/…/changi-airport-sees-record-n…

straitstimes.com/…/changi-airport-group-awards-…

  • Yossapon Boonsom

    ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker

Share :