CITY CRACKER

เมื่อสิงคโปร์ทำได้แต่เรา (ยัง) ทำไม่ได้

เรามักมีข้ออ้างเสมอในการจะไม่ทำสิ่งต่างๆ หรือในสิ่งที่เราคิดว่าทำไม่ได้ เช่นเรื่องการพัฒนาเมืองที่เรามักบอกว่า…

“เราทำไม่ได้หรอกประเทศเขามีเงินเยอะกว่าเรา”

“เขาทำได้เพราะประเทศเขาเล็กกว่าเราเยอะ”

“เขาทำได้เพราะเขามีรัฐบาลเข้มแข็งน่ะสิ”

เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ข้ออ้างเหล่านี้คงไม่อยู่ในความคิดของคนที่ชื่อ ‘ลีกวนยู’ เมื่อเขาต้องแบกรับภาระผู้นำที่ต้องพัฒนาเกาะเล็กๆ ที่ชื่อ ‘สิงคโปร์’ ที่แทบไม่มีทรัพยากรอะไรเพื่อให้อยู่รอดและอยู่อย่างรุ่งเรืองได้ แต่หนึ่งในหลายเรื่องที่ลีกวนยูทำคือการกำหนดวิสัยทัศน์ของการพัฒนาเกาะเล็กๆ นี้ให้เป็น Garden City ด้วยเล็งเห็นว่า ประเทศชาติจะพัฒนาได้ดีก็มาจากคน ดังนั้น คนจึงต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี และสภาพแวดล้อมที่ดีก็จะดึงดูดผู้คนให้มาเที่ยวมาลงทุนเพื่อพัฒนาเกาะเล็กๆ นี้ให้เจริญได้ สิงคโปร์ในวันนี้ไม่ใช่แต่เพียง garden city แต่เป็น city in the garden และกำลังเปลี่ยนตัวเองไปเป็นcity in the nature หรือประเทศที่มีพื้นที่สีเขียวต่อประชากรมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

1. สีเขียวคือกลยุทธ์

พื้นที่สีเขียวของเขาไม่ใช่แค่ความร่มรื่น แต่มันคือกลยุทธ์หรือกลไกที่สำคัญต่อการพัฒนาเมืองในทุกมิติ สิงคโปร์มีสภาพแวดล้อมที่ดีจนเป็นปัจจัยให้เป็นเมืองที่น่าอยู่อันดับต้นๆ ของเอเชียและโลก ซึ่งก็ดึงดูดต่างชาติมาอาศัยมาทำงานกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนประชากรทั้งหมด สิ่งนี้เองจึงเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสิงคโปร์ โดยลีกวนยูยอมกันที่ดินที่ถมทะเลออกไปเพื่อสร้าง New CBD(Central Business District) ซึ่งมีมูลค่ามหาศาลเพื่อสร้างเป็นสวนสาธารณะในชื่อว Garden by the Bay ที่เขามองว่านอกจากจะช่วยกระตุ้นการพัฒนาเมืองแล้วยังกระตุ้นเศรษฐกิจจากการมาของนักท่องเที่ยวปีละหลายล้านคนด้วย

อีกหนึ่งพื้นที่สีเขียวที่เป็นกลไกสำคัญต่อการพัฒนาเมืองของสิงคโปร์ก็คือ Singapore Botanical Garden สวนสาธารณะที่เก่าแก่ที่สุดที่ได้รับการพัฒนาปรับปรุงจนกลายเป็นมรดกโลก (world heritage) และช่วยให้สิงคโปร์ให้เป็นผู้นำในเวทีโลกอันว่าด้วยการให้ความสำคัญต่อพื้นที่สีเขียวและพฤกษศาสตร์ โดยมี park connector ที่เชื่อมโยงไปยังสวนสาธารณะต่างๆ และแหล่งทำงานแหล่งพักอาศัยเพื่อให้คนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการพื้นที่สาธารณะได้โดยง่าย ไปจนถึงสร้างสังคมแห่งสุขภาวะที่ดีและเท่าเทียม นอกจากนั้น park connector เหล่านี้ยังช่วยกระตุ้นการพัฒนาย่านที่เงียบเหงาให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

ตามแนวการพัฒนาของลีกวนยูนั้นคือการพัฒนาสวนสาธารณะอย่างมีคุณภาพ ทั้งมีกิจกรรมที่ตอบสนองต่อคนทุกวัย มีการปรับปรุงปรับให้ทันสมัยอยู่ตลอดทั้งเครื่องเล่นและคาเฟ่ อันสร้างบรรยากาศที่ดึงดูดให้คนเข้ามาใช้งาน โดยลีกวนยูนั้นตระหนักว่านี่คือบริการสาธารณะที่พึงมีให้ประชาขน สวนสาธารณะหรือพื้นที่สีเขียวนั้นจะต้องสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าห้างสรรพสินค้าให้กับประชาชน

ด้วยความที่เมืองสิงคโปร์มีแนวโน้มที่จะหนาแน่นขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของประชากร ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อประชากรมากขึ้น ตึก อาคาร และสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ย่อมเพิ่มขึ้นตาม ดังนั้นเพื่อให้ป่าคอนกรีตเหล่านี้ไม่แผ่ความร้อนจนเมืองร้อนระอุ สิงคโปร์จึงได้วางแผนที่จะสร้างเมืองใหม่ คือออกนโยบายให้อาคารต่างๆ ในเขตเมืองที่มีความหนาแน่นสูงสร้างพื้นที่ทางธรรมชาติโดยใช้แนวคิด biophilic เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบอาคา เช่นแต่ละอาคารจะต้องมีผนังสีเขียวและสวนดาดฟ้า (Roof garden) เป็นต้น

นอกจากนี้คูคลองต่างๆ ยังเปลี่ยนจากคลองคอนกรีตที่ไม่ต่างจากท่อระบายน้ำให้มีภูมิทัศน์สวยงามและเอาธรรมชาติกลับคืนมา ซึ่งนั่นได้ช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศน์ให้คืนสู่เมือง ช่วยบำบัดน้ำ เป็นพื้นที่รองรับน้ำท่วม และเป็นแหล่งพักพิงสัตว์ ซึ่งล่าสุดการพัฒนาเมืองเช่นสิงคโปร์นี้ทำให้ตัวนากสามารถเข้ามาอาศัยในเมืองได้ นอกจากนี้ก็ยังมีการวางแผนกักเก็บน้ำจืดจากแหล่งต่างๆ ทั้งน้ำฝน น้ำรีไซเคิล น้ำจากการกลั่นน้ำทะเล เพื่อนำมากักเก็บในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ซึ่งช่วยให้สิงคโปร์ลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำจืดจากเพื่อนบ้านได้เกือบครึ่งของการนำเข้าเดิม

 

2. มีงานวิจัยรองรับ

สีเขียวไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันดังนั้นต้องมีการวิจัยรองรับว่าทำแล้วเมืองจะดีขึ้นอย่างไรในมิติต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ต้องจับต้องได้ (quantify) ว่าจะใช้เงินลงทุนเท่าไร คุ้มค่าไหม นอกจากนั้นการวิจัยเขายังมองไปข้างหน้าในอีก20-50 ปีว่าเมืองจะเปลี่ยนไปอย่างไรเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนั้น ไม่ใช่เสียเงินทำวิจัยขึ้นหิ้ง หรือทำวิจัย (หลอกๆ) เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของเมือง

3. หน่วยงานทำงานร่วมกัน 

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ถูกถ่ายทอดจากวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน สู่นโยบายให้แต่ละหน่วยงานทำหน้าที่ประสานสอดคล้องกัน ทั้งURA (Urban Redevelopment Authority ) ที่ทำหน้าที่วางผังเมือง ออก guideline ควบคุม อนุญาตให้เกิดการสร้างตามผังนั้น Npark ที่ดูแลเรื่องพื้นที่สีเขียวของเมืองให้มีทั้งปริมาณและคุณภาพที่ดี PUB (Public Utility Board )ที่ดูแลเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ในคูคลองให้ผนวกรวมเป็นพื้นที่สีเขียวที่ใช้ประโยชน์ได้ด้วย HDB (Housing Development Board ) องค์กรที่ดูแลเรื่องpublic housing ที่ทำให้แหล่งพักอาศัยที่ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาะสิงคโปร์มีสภาพแวดล้อมที่ดี และมีส่วนสร้างพื้นที่สีเขียวให้เมืองด้วย

4. มีตัวชี้วัด

เขายังกำหนดตัวชี้วัดที่ครอบคลุมและชัดเจนว่าต้องทำอะไรบ้าง เพื่อให้แน่ใจว่าทุกฝ่ายจะไม่ตกหล่นและมีการประเมินผลอย่างจริงจัง

5. นโยบายกระตุ้นแบบ win win

สิ่งสำคัญคือรัฐทำเมืองสีเขียวคนเดียวไม่ได้ แต่ต้องออกนโยบายและกระตุ้นให้เอกชนช่วยทำด้วย แบบ win win เอกชนเองต้องการกำไร ในขณะที่ประชาชนต้องการสิ่งแวดล้อมที่ดี รัฐจึงต้องเข้ามาเป็นกลไกที่ออกกฎเกณฑ์ นโยบาย มอบรางวัล มอบเงินทุน เพื่อกระตุ้นให้เอกชนมีส่วนในการสร้างเมืองสีเขียวที่เขาเองก็ยังได้ประโยชน์ทางธุรกิจ และได้รับการชื่นชมด้วย เช่นถ้าคุณให้พื้นที่อาคารมีพื้นที่สาธารณะมีพื้นที่สีเขียวที่มาก คุณสามารถสร้างได้มากขึ้นด้วย เราจึงเห็นว่าพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่สาธารณะนั้นไม่ได้มีแค่สวนของรัฐ แต่ผนวกรวมกับอาคารสำนักงาน สนามกีฬา โรงพยาบาล และโรงแรมได้ด้วย

6. การสื่อสารสาธารณะ

การสร้างการรับรู้กับสังคมเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้สังคมเข้าใจและตระหนักร่วมกันว่าเมืองกำลังเดินไปสู่เป้าหมายอะไร มีความท้าทายอะไรที่เผชิญ และใครกำลังทำอะไรอยู่ หรือถึงไหนแล้วในเส้นทางนั้น เพื่อที่พลเมืองจะได้ตระหนักในหน้าที่ตนเองและรู้ว่า เขาจะมีส่วนสนับสนุนให้ความเห็น ตรวจสอบสิ่งที่รัฐกำลังดำเนินอยู่ได้อย่างไร โดยสื่อสารผ่านนิทรรศการ รายการทีวี เวทีรับฟังความคิดเห็น คอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ เพื่อให้เรื่องการพัฒนาเมืองซึมซับอยู่ในชีวิตผู้คนแม้แต่คนขับแท็กซี่ก็ต้องเข้าใจได้

7. สร้างค่านิยม

มีการปลูกฝังค่านิยมกับพลเมืองต่อการรักธรรมชาติ รักต้นไม้ ตระหนักในคุณค่าของสิ่งแวดล้อมและเมืองที่ดี รวมถึงคุณค่าในประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นตนเองผ่านการสอนในโรงเรียน รายการทีวี พิพิธภัณฑ์ และที่สำคัญผ่านสร้างประสบการณ์ตรงเมื่อได้ใช้สวนสาธารณะ หรืออาศัยอยู่ในเมืองที่ออกแบบและวางผังมาดีว่ามันมีผลต่อชีวิตเขา เช่นครอบครัวใช้ชีวิตใกล้กันมากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดี ราคาสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาสวนสาธารณะใกล้บ้าน และเมื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีคือคุณค่าและค่านิยมของสังคม จึงไม่มีใครกล้าที่จะทำงานแย่ๆ สู่ตลาด หรือใช้การตลาดสร้างค่านิยมที่บิดเบี้ยวให้ผู้บริโภค

8. การปรับตัวเพื่อฟังเสียงประชาชน

เมื่อ10 ปีก่อนเราแทบจะไม่ได้ยินว่ารัฐบาลสิงคโปร์จะพูดเรื่องการสร้างการมีส่วนร่วมกับสังคมมากนักในเรื่องการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ แต่การตื่นตัวของประชาชนทำให้ปัจจุบันรัฐเปิดช่องทางต่อการให้คนมาทำกิจกรรมร่วม บริหารจัดการพื้นที่ มีพื้นที่สวนของชุมชน (community garden) มีเวทีรับฟังความคิดเห็นต่างๆ ในการพัฒนาเมืองมากขึ้น

9. สร้างอุตสาหกรรมและบุคลากรรองรับ

เพื่อขับเคลื่อนเมืองสีเขียวนี้จึงต้องยกระดับอุตสาหกรรมการพัฒนาเมืองที่ไม่ใช่มีแค่นักผังเมือง ภูมิสถาปนิก หรือสถาปนิกที่ทำงานออกแบบ แต่ต้องการวิศวกรเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานทางเลือก นักพฤกษศาสตร์ นักนิเวศน์วิทยา นักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม ผู้รับเหมาก่อสร้างที่เชี่ยวชาญ ผู้ผลิตวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิตเทคโนโลยีที่ตอบสนองการพัฒนาเมืองยุคใหม่ มีการเรียนการสอน การฝึกอบรมให้รางวัล จัดงานสัมมนาเครือข่ายเพื่อให้การพัฒนาเมืองเป็นธุรกิจที่ครบวงจรและเป็นจริงได้ ไม่ใช่มีแค่นโยบายแต่ไม่มีคนขับเคลื่อน

10. สิ่งที่เราไม่มี

หัวใจสำคัญนอกจากการมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ มีผู้บริหารที่ไม่ยอมจำนนต่ออุปสรรคและระบบการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพแล้ว สิ่งสำคัญที่ออกมาจากปากของผู้บริหารระดับสูงของ สิงคโปร์ คือ good governance หรือธรรมาภิบาล เพราะถ้าปราศจากสิ่งนี้ก็จะไม่มีสิ่งใดตามมา ความเลวร้ายคือรัฐที่ล้มเหลวจะใช้ข้ออ้างของการพัฒนาเมืองอย่างผิดวิธี ทั้งด้วยความไม่รู้และจงใจ เพื่อหาผลประโยชน์และทำลายความเป็นเมืองที่มีชีวิตให้ค่อยๆ ตายลงจากการพัฒนาที่ผิดทาง เหมือนที่กำลังเกิดกับบ้านเรา ที่ครั้งหนึ่งรัฐบาลสิงคโปร์มาดูเราเป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองเมื่อ 50 ปีที่แล้ว

 

 

ที่สำคัญเมื่อความผิดพลาดจากการพัฒนาเมืองโดยรัฐและเอกชนเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ยิ่งทำลายความหวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงว่ามันเกิดขึ้นได้ และมันยิ่งสร้างระยะห่างของความไว้เนื้อเชื่อใจที่จะร่วมมือกันสร้างสังคมร่วมกันของทุกฝ่าย ซึ่งนั่นคือสิ่งที่เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเมืองและประเทศ เพราะเมืองที่จะผาสุกและยั่งยืนได้นั้นทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันและทำหน้าที่ของตนเอง

ใช่ว่าสิงคโปร์โมเดลจะเหมาะกับบ้านเราทั้งหมดแต่มันทำให้เราได้เรียนรู้เพื่อปรับใช้ ซึ่งเราต้องหาว่าอะไรคือคุณค่าร่วม(Shared Value) ที่เรามีร่วมกันให้เจอก่อนเพื่อออกแบบโมเดลการพัฒนาของเราให้นำไปสู่เป้าหมายนั้น ถามว่าเราคิดไม่เป็นเหรอเรื่องแบบนี้ ? คำตอบ คือไม่ใช่ พียงแค่เราคิดได้แต่ (ยัง) ทำไม่ได้ และมันไม่ควรเป็นข้ออ้างของเราอีกต่อไป

Graphic Design by Prapawit Intun
  • Yossapon Boonsom

    ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker

Share :