CITY CRACKER

‘Shared City’ แนวคิดการแบ่งปันทรัพยากรในเมืองเพื่อช่วยเหลือคนที่ยั่งยืนกว่าการบริจาค

ในช่วงวิกฤติ เราได้เห็นภาพของการบริจาคและรับบริจาค เพื่อช่วยเหลือคนจนเมืองที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ซึ่งเขาไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐได้อย่างเพียงพอ เช่น พี่วินมอเตอร์ไมค์ พนักงานห้างสรรสินค้า ลูกจ้างโรงงาน พนักงานรักษาความปลอดภัย คนงานก่อสร้าง พี่คนขับแท็กซี่ กลุ่มผู้พิการ คนสูงอายุ แรงงานต่างถิ่นต่างชาติ เหล่านี้คือผู้คนในสังคมเดียวกับเราที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเมือง หากแต่มีเส้นของรายได้ตำ่กว่าเกณฑ์ (รายได้ต่อเดือน ตำ่กว่า 3,137 บาท ในเขตกรุงเทพมหานคร) ขาดแหล่งพักอาศัยที่เป็นหลักแหล่งมั่นคง และขาดสวัสดิการที่ดีพอ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี

 

จากข้อมูลพบว่า ปริมาณคนจนทั้งประเทศมีมากถึง 7-10 % ของประชากร โดยมีกลุ่มคนเปราะบางอย่างผู้สูงอายุ มีสัดส่วนมากถึง 10 % ในขณะที่ผู้พิการ มีสัดส่วน 3% ของประชากร ทั้งประเทศ ความจนในเมืองนี้ เกิดจาก การไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากร ของเมืองที่มีอยู่อย่างจำกัดและถูกจับจองแล้วโดยรัฐ นายทุน และคนอื่นๆ ด้วยการพัฒนาเมืองที่รวดเร็ว กับวิกฤติที่เกิดขึ้นทั้งจากโรคระบาด ภัยพิบัติ เศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้พร้อมที่พร้อมจะผลักให้ทุกคนเข้าถึงสภาพของความจน ได้เช่นกัน

จากวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ในปี 2541-2543 จำนวนคนจนเพิ่มขึ้น 5.5 ล้านคน วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ในปี 2551 ได้ ผลักให้มีคนจนเพิ่ม ราว 398,000 คน และในวิกฤติ Covid-19 จากการสำรวจพบว่าได้ส่งผลให้คนจนมีรายได้หายไปกว่า 70 % เหลือเพียง 3900 บาทต่อเดือน  นอกจากความจนที่วัดจากรายได้ตำ่กว่าเกณฑ์แล้ว เราอาจเผชิญกับความจนในรูปแบบอื่นในเมืองได้ทั้งด้านที่อยู่ โอกาส ความสามารถ ที่ดิน ความรู้ สุขภาพ เวลา ฯ

 

อาจไม่ใช่แค่การบริจาคที่ช่วยเหลือคนจนเมืองได้

“ถ้าเป็นไปได้ฉันไม่อยากมารับบริจาคหรอก อยากทำงานแลกมากกว่า” เสียงสะท้อนของผู้รับบริจาคที่บอกกับเราว่า การบริจาคดูจะไม่ใช่การแก้ปัญหาความยากจนที่ยั่งยืน เพราะมันอาจมาพร้อมกับการลดศักยภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนในสังคม และเมื่อการบริจาคหมดไปในอนาคตพวกเขาจะอยู่ต่อไปอย่างไร เป็นไปได้ไหม ถ้าเราแบ่งปัน เชื่อมโยง จากคนที่มี ในสิ่งที่เราขาด เพื่อสร้างโอกาสต่อกัน จะช่วยสร้างโอกาสให้ชีวิต รายได้ และโอกาสในการมีสังคมที่ดีมากกว่าที่เป็นอยู่

ประเทศไทยได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก ทรัพยากรส่วนใหญ่ที่เรามีเป็นเจ้าของโดยคนส่วนน้อยของประเทศ และเมื่อทรัพยากรที่มีเกินนั่นไม่ถูกแบ่งใช้อย่างมีประสิทธิภาพ มันย่อมส่งผลต่อการสิ้นเปลืองทรัพยากรและสูญเสียโอกาส ในโลกที่เราทุกคนคำนึงถึงสิ่งแสดล้อม ความยั่งยืน และความเท่าเทียมมากขึ้น

 

 

Shared city เมืองแห่งการแบ่งปัน

เมืองที่ดี ที่คำนึงถึงทุกคน จะมีวิธีบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เกิดการแบ่งปัน และสร้างประโยชน์ร่วม เพื่อกระจายโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำได้ ใช่ว่า คนที่อยู่บนยอดปิระมิดเท่านั้น จะเป็นผู้ให้หรือผู้บริจาคฝ่ายเดียว แต่รวมถึงการแลกเปลี่ยนระหว่างคนบนยอดและคนบนฐาน คนเมืองกับคนชนบท มีผู้ให้และผู้รับ เพื่อสร้างศักยภาพ เศรษฐกิจ สังคม และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ควบคู่กันไป

Shared city คือเมืองแห่งการแบ่งปันที่มากกว่าการบริจาค เป็นการสร้างความร่วมมือ เชื่อมโยง แบ่งปันทรัพยากร ที่แต่ละคนมีไม่เท่ากันให้ส่งเสิรมกัน เพื่อสร้างเมืองที่เป็นประโยชน์สำหรับทุกคน ทั้งในมิติของสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมดีกว่า การเก็บไว้ใช้คนเดียว หรือปล่อยทิ้งร้างไม่สร้างประโยชน์ โดยมีเป้าหมายต่อการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สร้างความยุติธรรม ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วมในสังคมเป็นสำคัญ

10 อย่างที่เราสามารถแบ่งปันกันได้ มีตั้งแต่เรื่องการเดินทาง พื้นที่ว่าง ทักษะหรือองค์ความรู้ ทุน สุขภาพ เครื่องมือ ด้านสาธารณูปโภค สินค้า อาหาร การเรียนรู้ ไปจนถึงเรื่องของเวลา

การแลกเปลี่ยนนี้ ไม่ใช่สิ่งใหม่แต่มันอยู่ควบคู่กับมนุษย์มาตั้งแต่ยุคโบราณ แต่สิ่งที่ทำให้มันกลับมามีความสำคัญในบริบทที่เปลี่ยนไป คือ ความห่วงใยต่อสถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่โลกกำลังเผชิญ ซึ่งเมืองนั้นใช้ทรัพยากรและส่งผลกระทบต่อโลกมากที่สุด อีกประการหนึ่งคือ ด้วยระบบเทคโนโลยีการสื่อสาร ทำให้เกิด platform หรือช่องทางที่คนจะแลกเปลี่ยนทรัพยากรระหว่างกันได้ง่ายขึ้น ซึ่งในวิกฤติ Covid-19 ยิ่งทำให้คนเห็นถึงสังคมที่ต้องอยู่ร่วมกันและช่วยเหลือระหว่างกันมากขึ้นเพื่อความอยู่รอดร่วมในอนาคต

ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การแลกเปลี่ยนประสบความสำเร็จ

ในการแลกเปลี่ยนนั้นจำเป็นต้องเชื่อมโยงโอกาสกับสิ่งที่ขาดให้มาเจอกัน มี platform ที่เป็นกลไกให้ทุกหน่วยในสังคมสามารถเข้าถึงบริการเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ ต้องมีฐานข้อมูลที่ดี และครอบคลุม รัฐมีกฏเกณฑ์เป็นธรรม สำหรับทุกคน ทั้งภาษี เงินสนับสนุน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเชื่อใจ ไม่เกิดการเลือกปฏิบัติเฉพาะกลุ่ม นอกจากนี้ยังต้องกระตุ้นให้หน่วยต่างๆ ในสังคมมีบทบาท ทั้งองค์กรธุรกิจ วิสาหกิจชุมชน ชุมชน ผู้บริโภค เพื่อให้เกิดระบบนิเวศของการแลกเปลี่ยนที่มาจากคนข้างล่าง โดยในหลายเมืองก็มีโครงการที่แลกเปลี่ยนแบ่งปันกัน

เช่น ที่เมลเบิร์น มีโครงการแบ่งปันอาหาร โดยเอาที่ดินว่างเปล่าของรัฐมาทำเป็น urban farm เพื่อผลิตอาหารให้คนเมือง นอกจากนั้น ยังมีโครงการแลกผลผลิตที่แต่ละคนปลูก มีการรณรงค์ให้เอาอาหารส่วนเกินมาแบ่งปันเป็นอาหารสำหรับกลุ่มคนที่ต้องการในเมือง ซึ่งโครงการทั้งหมดบริหารจัดการโดยอาสาสมัคร

 

sbs.com.au

 

Seattle มีโครงการ Library of Things ให้เป็นที่สำหรับการยืมอุปกรณ์ในครัวเรือน เพื่อซ่อมแซมสิ่งต่างๆ โดยเน้นไปที่กลุ่มคนผู้มีรายได้น้อย

 

theguardian.com

 

ใน New York เองก็มีโครงการ 569 Organization Arcre ที่สนับสนุนให้คนในเมืองเสนอโครงการเพื่อมาใช้ที่ดินว่างของรัฐในการทำประโยชน์เพื่อชุมชน เป็นcommunity garden หรือ สวนสาธารณะ

Barcelona เกิดโครงการธนาคารเวลา TimeBank ที่ให้คนมาลงเวลาเพื่อขอให้ไปช่วยทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่การไปดูแลผู้สูงอายุ ดูแลสุนัข ไปซื้อของ เป็นต้น

London มีการจัดตั้ง Cloud Funding Platform โดยรัฐ เพื่อให้ประชาชนเสนอโครงการเพื่อแลกกับการสนับสนุนเงินทุน

Seoul มีเว็บไซต์ให้คนเข้ามาจองใช้ facility ของรัฐ ทั้งสนามกีฬา lecture hall ห้องประชุม เพื่อกิจกรรมทางวัฒนธรรมและการศึกษา ไม่ได้เก็บไว้ให้รัฐใช้งานอย่างเดียว นอกจากนั้น ยังเกิดโครงการแบ่งปันกว่า 97 โครงการนับตั้งแต่ปี 2012 ทั้งเรื่องการแบ่งจักรยานที่จอดรถ เสื้อผ้าเด็ก จนถึงการแบ่งกันใช้ ที่ดินของรัฐและทรัพยากรต่างๆ ของเมือง

Bologna Italy ได้ผ่านกฏหมายที่เปิดโอกาสให้ประชาชน ร่วมกันจัดการเมืองร่วมกันในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเป็นการขยับจาก การบริหารเมืองแบบ centralize เป็น ply centric governance มากขึ้น

บ้านเราเอง ก็มีโครงการครัวกลาง โดยสถาบันพัฒนาอง์กรชุมชนร่วมกับภาคีเครือข่าย ที่สนับสนุนเพิ่มศักยภาพ ให้แต่ละชุมชนเมืองกว่า 21 ครัวกลาง 270 ชุมชน ในกทม. และปริมณฑล จัดตั้งครัวกลาง ที่นำวัตถุดิบจากเครือข่ายเกษตรกร มาเพื่อผลิตอาหารช่วยเหลือคนในชุมชนและชุมชนข้างเคียง ข้าวสารมาจากการแบ่งปันของชาวนาในโครงการปันกันกิน ปลามาจากชาวประมงพื้นบ้านในชนบท ที่ผ่านการสนับสนุนของคนเมืองที่ระดมทุนช่วยกัน นอกจากนั้นยังสนับสนุนให้เกิดการ จัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่สร้างปัญหาภาระให้เมือง อีกทั้งยังสนับสนุนให้แต่ละชุมชนทำสวนปลูกผักจากที่ว่างในชุมชนและพื้นที่ว่างของรัฐเพื่อนำผลผลิตเหล่านั้นมาแบ่งปันให้ครัวกลาง สามารถทำอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัยเลี้ยงคนให้อิ่มท้องทั้งในยามวิกฤติและยามปกติต่อไป

 

 

ทั้งกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่ตางๆ ในประเทศไทย มีทรัพยากรที่จำกัด และมันควรถูกใช้อย่างรู้คุณค่าและสร้างผลกระทบต่อทุกคนในสังคม ไม่ใช่เฉพาะกับกลุ่มคนที่เป็นเจ้าของ เพราะแท้จริงแล้ว เราทุกคนมีสิทธิที่จะได้สูดอากาสที่ดี ทานอาหารปลอดภัย เติบโต เรียนรู้ ในสังคม ที่จะทำให้คุณภาพชีวิตเราดีขึ้น เพราะนั่นคือเป้าหมายของการมาอยู่ร่วมเป็นสังคม เพื่อเกื้อกูลแบ่งปัน ไม่ใช่เพื่อแก่งแย่งและในทุกวิกฤติมันยิ่งตอกย้ำให้เราเห็นแล้วว่า เราไม่สามารถมีชีวิตที่อยู่รอด อยู่ดี ได้เพียงลำพังหากสังคมไม่อยู่ร่วมไปกับเราด้วย

 

หากเปลี่ยนวิธีคิดต่อการมองสินทรัพย์ที่มีในเมือง และในการครอบครองของเราแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็น เวลา ที่ดิน ความรู้ เครื่องมือ ว่าสิ่งเหล่านี้คือโอกาส ที่จะส่งต่อและเกื้อกูลกัน ในฐานะทั้งผู้ให้และผู้รับ เราจะเห็นความเป็นไปได้ที่สังคมจะไม่เพียงรอดพ้นวิกฤติแต่จะเข้มแข็งและสร้างศักยภาพให้เราทุกคนด้วย

 

หมายเหตุ : สามารถร่วมบริจาคค่าข้าวในโครงการปันกันกินที่ บัญชีของผู้ก่อตั้งกลุ่มเพื่อนปลูกเพื่อนกิน บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกสิกรไทย 007-1-95763-2 โดยสามารถติดตามรายการเดินบัญชีได้ทาง FB Page khonkinkhao เพื่อความโปร่งใส่ในการดำเนินการ

 

  • Yossapon Boonsom

    ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker

Share :