“ไปดูหมู่บ้านเพนกวินกัน” ป้าติ๋ม ประธานชุมชนบ้านมั่นคงที่ผมไปเยี่ยมเอ่ยปากชวน แรกๆ ก็ไม่สนใจว่าคืออะไร แต่พอป้าติ๋มเอ่ยปากชวนเป็นครั้งที่3 ผมก็ตัดสินใจตามป้าติ๋มไปดู พวกเราเดินลัดเลาะเลียบคลองม้า คลองเล็กๆ ที่เคยใสในอดีต ปัจจุบันตื้นเขินและเน่าเหม็น มีบ้านไม้โทรมๆ ริมคลองสองฝั่งประปราย ที่เราเคยเห็นจนชินตา
เราเดินเข้าไปลึกขึ้น จนถึงกลุ่มบ้านที่ดูจะทรุดโทรมมากกว่าหลังอื่น ที่นี่คือ ‘หมู่บ้านเพนกวิน’ ที่ป้าติ๋มตั้งชื่อให้ เมื่อเจอเด็กๆ ตัวน้อยที่วิ่งและเดินต้วมเตี้ยมไปมาราวกลุ่มนกเพนกวินผมก็หายสงสัยทันที ที่นั่นมีเด็กตัวเล็กตัวน้อยวิ่งออกมารับ บ้างเขินอายแอบอยู่บนบันไดบ้าน บ้างอยู่กับแม่และยายที่ชานบ้าน ด้วยความที่บ้านทรุดโทรมมากบางจุดของบ้านนั้นแทบไม่มีพื้น มันผุพัง และน่าจะพังลงในไม่ช้า
ภาพความเดียงสา ซ้อนอยู่บนสภาพที่อยู่อาศัยที่ทรุดโทรม ดูห่างไกลจากคำว่าบ้านทั้งในเชิงสภาพความเป็นอยู่ และสภาพสมาชิกในครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ เพราะเด็กๆที่นี่ส่วนใหญ่คือเด็กที่เกิดจากความไม่พร้อมของพ่อและแม่ บ้างท้องก่อนวัยอันควร และบ้างขาดเงินที่จะดูแลต่อ จึงเป็นภาระของยายและเพื่อนบ้านที่มาช่วยกันดูแลต่อ ป้าติ๋มบอกว่า ที่นี่เป็นเพียงที่ซุกหัวนอนของเด็กๆ และพี่น้องที่หาเช้ากินค่ำทำงานในร้านอาหาร และรับจ้าง ที่ยังไม่รู้ว่าจะเข้าถึงเงินเยียวยาของรัฐได้หรือไม่
ถ้า ‘บ้าน’ คือหน่วยเล็กที่สุดในสังคมที่กำลังทำหน้าที่หล่อเลี้ยงให้เด็กๆ เหล่านี้ เติบโตเป็นผู้ใหญ่และพลเมืองที่ดี ต่อทั้งตนเองและสังคมในอนาคต หน่วยที่เล็กที่สุดนี้จะทำหน้าที่ได้อย่างไร ในเมื่อแค่ให้มีชีวิตรอดวันต่อวันยังยาก จะถามถึงความฝันและโอกาสในชีวิต มันยิ่งยากกว่าที่จะจินตนาการถึง
หมู่บ้านเพนกวิน นี้คือภาพสะท้อนของสภาพชุมชนคนจนเมือง และปัญหาความเหลื่อมล้ำในทุกมิติทั้งอาชีพ สุขภาวะ การศึกษา การเข้าถึงสวัสดิการ และโอกาสในการเติบโตอย่างมีคุณภาพ เหล่านี้เป็นปัญหาที่ซ่อนตัวอยู่ในซอกหลืบของเมือง เราเห็นและผ่านเลย จนชาชินว่ามันคือสิ่งที่อยู่คู่กับเมือง เราอยู่กับมันและจะไม่ทำอะไรตราบใดที่ปัญหานั้นไม่มากระทบความปกติสุขของสังคมโดยรวม จนคำว่าความเหลื่อมล้ำ กลายเป็นคำพูดที่ใช้กล่าวอ้างแต่เราไม่เคยเข้าใจจนวันนี้
ภาพความเหลื่อมล้ำของหมู่บ้านเพนกวินที่มาปะทะอยู่ตรงหน้า กระตุกให้ผมที่หันกลับมามอง และทำความเข้าใจ เพื่อหาทางลดช่องว่างที่ดำรงอยู่
ป้าติ๋มและชุมชนบ้านมั่นคงคลองลัดภาชี เขตภาษีเจริญ ไม่ได้มองผ่านปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้ ป้าและชุมชนได้ยื่นมือเข้าช่วยในการส่งต่ออาหารและของบริจาคที่มายังชุมชนบ้านมั่นคงไปยังเด็กๆ เหล่านี้ และในยามวิกฤติชุมชนบ้านมั่นคงได้คิดที่จะสร้างความมั่นคงทางอาหารผ่านการทำแปลงผัก และฟาร์มเห็ดเพื่อแปรรูป จากทรัพยากรที่ดินและความรู้ที่มี เพื่อแบ่งเบารายจ่าย และเป็นวัตถุดิบในครัวกลางเพื่อเลี้ยงทั้งคนในชุมชนและยังเผื่อแผ่ไปยังบ้านใกล้เรือนเคียงที่เดือดร้อนกว่าเช่นกัน
แนวคิด ‘ชุมชนเข้มแข็ง’ อยู่ใน DNA หรือจิตสำนึกคนไทยมาตลอดโดยที่เราไม่เคยดูดายผู้คน และบ้านใกล้เรือนเคียงที่เดือดร้อนกว่า เมืองและความบีบคั้นจากการงานระบบเศรษฐกิจ ตลอดจนค่านิยม ทำให้บางครั้งเรามองผ่านเพื่อนร่วมเมืองและไม่เหลือช่องว่างของความเอื้ออาทรต่อกัน จนช่องว่างความเหลื่อมล้ำยิ่งห่างกันมากขึ้น
การทำบ้านให้มั่นคงและชุมชนเข้มแข็งน่าจะเป็นคำตอบจากบทเรียนวันนี้ เพราะเมื่อเรามีบ้านเป็นหลักแหล่งและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่เราเป็นหลังพิงต่อกันได้ทั้งในยามสุขและทุกข์ เราจึงคิดฝันถึงอนาคตที่จะมีร่วมกันทั้งต่อตนเอง คนในครอบครัวและสังคมรอบข้าง เราพร้อมจะมุ่งมั่นทำวันนี้ทั้งอาชีพ การศึกษาให้ดีเพื่อบรรลุถึงฝันของเราและลูกๆให้จงได้
ป้าติ๋มเองเคยถูกไล่รื้อจากที่อื่น ไม่มีบ้านเป็นหลักแหล่งไม่ต่างจากหมู่บ้านเพนกวิน จนมาเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงที่สมาชิกในโครงการต้องเก็บออมเพื่อผ่อนบ้านของตัวเอง ป้าบอกว่าอีกไม่กี่ปี “ป้าจะเป็นไทแล้ว”( ป้าเล่าด้วยสายตาที่เเต็มไปด้วยความภูมิใจ) และด้วยความร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชน มีการจัดตั้งกองทุน ช่วยเหลือกันดูแลกัน มันจึงเกิดเป็นชุมชนที่เข้มแข็งที่พร้อมแบ่งปันชุมชนรอบๆในวันนี้
เด็กๆ ดูดนมกล่องที่พี่ๆ มาหยิบยื่นให้พออิ่มทัองไปหนึ่งมื้อ และอาจมีข้าวจากป้าติ๋มและชุมชนมาประทังหิวในมื้อต่อๆ ไป แต่เด็กๆ เพนกวินเหล่านี้ และอีกหลายๆ “หมู่บ้านเพนกวิน”ในเมืองใหญ่แห่งนี้ จะหลุดพ้นจากความเหลื่อมล้ำสู่การเข้าถึงโอกาสที่ดีในชีวิตแบบป้าติ๋มและใครหลายคนหรือไม่ คือสิ่งที่พวกเราต้องมาช่วยกัน ผ่านการแบ่งปันทรัพยากรที่เรามีเหลือ ทั้ง ทุน ที่ดิน ความรู้ เครื่องมือ เวลา เพื่อมาสร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำกับชุมชนที่ขาด
เพื่อให้เมืองไม่ใช่เป็นบ้านที่มีความสุขของบางคน แต่เป็น ‘บ้าน’ ที่ทุกคนจะมีความสุขได้ด้วยกัน
- Yossapon Boonsom
ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker