CITY CRACKER

3 ความเป็นไปได้ของเมืองรูปแบบใหม่หลังการล็อกดาวน์

ไม่มีช่วงเวลาไหนจะเหมาะไปกว่าช่วงเวลานี้ ที่เราจะจินตนาการถึงเมืองรูปแบบใหม่ที่จะอยู่ร่วมกับความปกติใหม่หลังการล็อกดาวน์ ที่มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ปลอดภัยขึ้น และแข็งแรงขึ้นกว่าที่ผ่านมา

 

เพราะเราไม่สามารถอยู่ในภาวะของการล็อกดาวน์แบบนี้ตลอดไป ไม่สามารถที่จะกลับไปเสี่ยงเผชิญภาวะโรคระบาดซำ้ได้อีกครั้ง และเราไม่สามารถกลับไปพัฒนาเมืองแบบที่ผ่านมาที่ทำให้คุณภาพชีวิตและสุขภาพเราสุ่มเสี่ยงต่อโรคภัยในอนาคต เมืองจึงจำเป็นที่จะต้องเตรียมการปรับปรุง เพื่อรองรับ หรือ กระตุ้น ให้เกิดพฤติกรรมใหม่ของผู้คนที่จะใช้ชีวิตได้ดีขึ้น ยั่งยืนขึ้น และยืดหยุ่นต่อการรับมือกับภัยในอนาคตที่อาจเกิดขึ้น

พื้นที่สาธารณะ ถนน ทางเท้า ลานโล่ง พื้นที่สีเขียว เป็นปัจจัยที่อยู่ควบคู่กันไปกับการพัฒนาเมืองเพื่อสร้างสมดุลให้ชีวิตคนมีคุณภาพและสุขภาพที่ดีขึ้น ภายหลังโรคระบาด เพราะคนยังต้องการอากาศบริสุทธิ์ไว้หายใจ น้ำอุปโภคบริโภคที่สะอาด อาหารปลอดภัย สถานที่ไว้ออกกำลังกาย พื้นที่สีเขียวและธรรมชาติไว้พักผ่อนจิตใจ

เมืองหลังโรคระบาดครั้งนี้ จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ไม่เพียงแค่ปลอดภัยจากโรคระบาด แต่มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น กว่าเมืองที่เราเคยอยู่อาศัยมา

 

 

เรียนรู้จากการล็อกดาวน์

เราได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงในช่วงของการล็อกดาวน์ถึงความเป็นไปได้ของการมีชีวิตในอีกรูปแบบที่หลายอย่างดีขึ้นกว่าเดิม ที่บางครั้งมันอาจชี้ช่องของทางออกของปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่เราไม่วามารถแก้ไขได้ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

เราเรียนรู้ว่าเมื่อรถยนต์หายไปจากท้องถนน ส่งผลให้สภาพอากาศดีขึ้น และคนได้เวลาที่สูญเสียไปกับการจราจรที่ติดขัด เราสามารถทำงาน เรียน ประชุม และทำอะไรอีกหลายๆอย่างผ่านonline จากที่ไหนก็ได้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานที่และการพบปะกันเสมอไป ย่านใกล้บ้านคือสถานที่ที่เราสามารถพึ่งพาได้ในการดำเนินชีวิตที่ไม่ต้องเดินทางไกลเข้าเมือง สวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวนั้นสำคัญต่อการดำรงชีวิตของเรา เพราะมนุษย์ขาดธรรมชาติไม่ได้ การเดินเท้าและทางจักรยานสามารถเป็นทางเลือกของการเดินทางในชีวิตประจำวันได้แทนรถยนต์และบริการสาธารณะ ความมั่นคงทางอาหารที่เราจะสามารถปลูกเพื่อบริโภคได้เองในครัวเรือนนั้นสำคัญในยามวิกฤติ

หลักฐานเชิงประจักษ์นี้สมควรได้รับการพิจารณาเพื่อที่สามารถใช้เป็นแนวทางของการอยู่อาศัยกับเมืองรูปแบบใหม่ ที่ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานและกลไกต้องมารองรับ เพื่อให้สิ่งเหล่านี้ยังประโยชน์ได้ต่อเนื่องและครอบคลุมถึงทุกกลุ่มคนในสังคม เพื่อการอยู่หลังการล็อกดาวน์ที่ปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

 

ปรับตัวกับความปกติใหม่ในอดีต

หากมองไปในประวัติศาสตร์ของการพัฒนาเมือง เราจะพบว่าหลังวิกฤติเมืองจะคิดค้นนวัตกรรมและปรับเมืองให้สอดคล้องกับความปกติใหม่ที่เกิดขึ้นเสมอ

ในศตวรรษที่ 19 ภายหลังจากการเกิดระบายของอหิวาตกโรคอันเป็นผลจากการปฏิวัติอุคสาหกรรมที่ทำให้สภาพเมืองแออัดขึ้น ส่งผลให้เกิดการตัดถนนที่ผสานระบบสาธารณูปโภคในการระบายน้ำและจัดการน้ำเสียเพื่อสร้างสุขลักษณะของเมืองที่ดีขึ้น ที่ปารีสภายหลังจากการเกิดอหิวาตกโรคและวัณโรค เมืองต้องการพื้นที่ที่จะช่วยลดความแออัด สร้างการไหลเวียนของอากาศที่ดีขึ้น จึงเกิดการสร้างสวนสาธารณะกระจายอยู่ตามจุดต่างๆ ของเมือง

ศตวรรษที่ 20 เมืองนิวยอร์กมีความหนาแน่นของตึกสูง จึงเกิดมาตรการกำหนด set back ให้มีระยะถอยร่น เกิดพื้นที่ว่างระหว่างอาคารและลานโล่งหน้าอาคาร เพื่อให้แสงอาทิตย์ส่องถึงถนนและชีวิตผู้คนเบื้องล่าง อีกทั้งยังเกิดสวนสาธารณะขนาดใหญ่และเล็กเพื่อลดความแออัด รวมถึงแนวคิดการกระจายออกไปอยู่ชานเมือง เพื่อหลีกหนีมลพิษในเมือง

 

fodors.com

 

ความเป็นไปได้ของเมืองรูปแบบเมืองใหม่

สาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคระบาดและกระตุ้นให้เกิดการระบาดของโรค คือ ความแออัด (crowded) หากเราสามารถกระจายความแออัดแต่ยังให้กิจกรรมต่างๆ ทางสังคมและเศรษฐกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ ย่อมส่งผลต่อการลดและป้องกันการแพร่ระบาดได้

 

1. เมืองเหลื่อมเวลา

การลดปริมาณคนที่จะเข้ามาทำงานในเมือง ผ่านการเหลื่อมเวลา หรือเหลื่อมวันทำงานของอาชีพที่สามารถทำได้ เช่น ข้าราชการ พนักงานออฟฟิศ นักเรียน นิสิตนักศึกษา โดยอาจกำหนดโควตาในการออกจากบ้านไม่เกินสัปดาห์ละ 3 วันทำการ โดยวันที่เหลือสนับสนุนให้เกิดกลไกการทำงานจากบ้านอย่างมีประสิทธิภาพ เมืองเหลื่อมเวลานี้จะสามารถช่วยลดความแออัดของปริมาณคนใช้บริการรถสาธารณะ พื้นที่สาธารณะ ตลอดจนสถานที่และบริการสาธารณูปโภคต่างๆ ของเมืองลงไปในแต่ละวัน เพื่อรักษาระยะปลอดภัย อีกทั้งยังช่วยลดปริมาณรถยนต์บนท้องถนนอันส่งผลดีต่อสภาพอากาศของเมืองที่ดีขึ้นด้วย

 

2. เมืองกระจาย

เพื่อลดความแออัดของปริมาณคนที่จะมากระจุกตัวในย่านศูนย์กลางเมือง เพื่อมาทำงาน เรียน จับจ่าย และพักผ่อน เราจำเป็นที่ต้องพิจารณาการกระจายแหล่งงาน แหล่งพักอาศัย การพักผ่อน การเรียน ตลอดจนสาธารณูปโภคต่างๆ ไปยังจุดอื่นๆ ของเมืองมากขึ้น เพื่อให้เกิดเป็นละแวกบ้านขนาดเล็กที่ครบครัน พึ่งพาตนเอง และมีประสิทธิภาพในการใช้ชีวิต ขับเคลื่อนกิจการและกิจกรรมต่างๆ ของเมืองได้

หลายเมืองในโลกอย่างเช่น ปารีส เมลเบิร์น โคเปนเฮเกน ได้หันมาพัฒนาแนวคิดนี้ ที่เรียกว่า 15 mins city หรือเมืองเดินถึง 15 นาที ที่มีองค์ประกอบของเมืองในละแวกบ้านเพื่อการพักอาศัย เรียน ทำงาน พักผ่อน รักษา และผลิตอาหาร

และด้วยความที่การ work from home มีทีท่าว่าสามารถพัฒนาให้มีประสิทธิภาพได้ ก็ยิ่งส่งเสริมแนวคิดของการอยู่กับละแวกบ้านขนาดเล็ก ทั้งในเมือง ชานเมือง หรือแม้กระทั่ง ในชนบทมากยิ่งขึ้นว่าเราสามารถมีชีวิตที่ห่างไกลจากความแออัด แต่ยังสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพควบคู่กันไปได้

 

Paris en Commun

 

3. เมืองหลวม

ในส่วนของพื้นที่เมืองศูนย์กลางที่ยังจำเป็นต่อการรวมกลุ่มของคนในปริมาณมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จำเป็นที่จะต้องมีวิธีการบริหารจัดการ และปรับกายภาพให้การใช้ชีวิตและเคลื่อนที่ของผู้คนนั้นสามารถรักษาระยะห่างปลอดภัยได้ ผ่านการทำเมืองให้หลวมมากขึ้นด้วยการเพิ่มพื้นที่ open space ของคน ลดพื้นที่รถยนต์ และอาคาร

การขยายทางเท้าให้กว้างขึ้น ในบริเวณที่มีปริมาณคนหนาแน่น เช่น จุดเปลี่ยนถ่ายการคมนาคม ย่านการค้า ย่านสำนักงาน โดยพิจารณาปิดถนนบางเลนให้สัมพันธ์กับปริมาณรถยนต์ที่เข้าสู่เมืองน้อยลงผ่านมาตรการการเหลื่อมเวลาและวันทำงาน ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมการสัญจรทางเท้าที่มีระยะห่างปลอดภัย อาจเริ่มจากการทดลองปิดเลนถนนเพื่อศึกษาและปรับพฤติกรรมของผู้คน ที่อาจนำมาสู่การขยายทางเท้าถาวรในอนาคต เช่น เมืองโอ๊กแลนด์ประเทศนิวซีแลนด์ รัฐบาลกำลังให้เงินสนับสนุนการขยายทางเท้า เพื่อรักษาระยะห่างการเดินที่ 2 เมตร โดยการขยายทางเท้านี้จะเน้นในย่านที่มีการสัญจรของผู้คนพลุกพล่าน และใช้วิธีการที่เรียบง่ายแต่สนุกที่เรียกว่า tactical urbanism ด้วยการวางกระถางต้นไม้ หรือทาสีบอกขอบเขตของทางเท้าที่กว้างขึ้นลงไปบนพื้นถนน เพื่อเป็นการพัฒนาในระยะเริ่มต้นหลังการล็อกดาวน์

 

nzherald.co.nz

 

พัฒนาเส้นทางจักรยานเป็นทางเลือกใหม่ของการเดินทางที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ โดยการมีเลนเฉพาะจากการลดพื้นที่ถนนที่ไม่จำเป็น หรือการพัฒนาจากพื้นที่ใต้ทางด่วนที่มีอยู่เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะเส้นที่ตัดเชื่อมย่านพักอาศัยสู่พื้นที่ศูนย์กลางเมือง เช่น ใต้ทางด่วนศรีรัช เลียบถนนพระราม6 ที่สามารถเชื่อมศูนย์กลางคมนาคมบางซื่อผ่านย่านพักอาศัยบริเวณอารีย์ เชื่อมถึงย่านธุรกิจสีลมสาทร ทั้งนี้เพื่อลดความแออัดของการใช้บริการขนส่งมวลชนสาธารณะ ที่เมืองมิลานกำลังมีแนวคิดในการปรับเลนถนนบางส่วนมาเป็นเลนจักรยานหลังการล็อกดาวน์เพื่อตอบสนองกับพฤติกรรมการเดินทางใหม่ที่จะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อ โดยมีระยะทางรวม 35 กิโลเมตร ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการจับจ่ายของร้านค้าสองข้างทางจักรยาน และก่อให้เกิดการขยับทางกายเพื่อสร้างเสริมสุขภาพที่ดีของพลเมืองด้วย

เพื่มพื้นที่สาธารณะขนาดเล็ก เมื่อเมืองมีขนาดเท่าเดิม แต่ปริมาณคนมีแนวโน้มจะมีมากขึ้น เราจะสามารถทำเมืองให้หลวมพอที่จะมีพื้นที่สาธารณะเพื่อการพักผ่อนและกิจกรรมของผู้คนได้อย่างไร เพราะทุกวันนี้ผู้คนต่างไปแออัดเพื่อพักผ่อนตามสวนสาธารณะขนาดใหญ่ ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า มาตรการหนึ่งที่สามารถทำได้ คือการเพิ่มพื้นที่สาธารณะขนาดเล็กให้กระจายไปตามย่าน ตามชุมชน โดยพัฒนาจากพื้นที่ที่เป็นเศษเหลือของการพัฒนาที่เมืองปล่อยร้างไม่ใช้ประโยชน์ทั้งของรัฐและเอกชน เช่น ใต้ทางด่วน ริมคลอง ริมทางรถไฟ หรือแม้กระทั่งหลังคาตึก เพื่อมาเป็นพื้นที่สาธารณะต่อการทำกิจกรรมเพื่อการออกกำลัง พื้นที่สีเขียว พักผ่อน วัฒนธรรม ตลาด ผลิตอาหาร และสร้างสรรค์ต่างๆ ที่ตอบสนองความต้องการของคนเพื่อการปฏิสัมพันธ์รวมกลุ่มขนาดเล็ก มากกว่าการรวมตัวในพื้นที่ขนาดใหญ่ดังเช่นที่เป็นมา นอกจากนั้น พื้นที่ทางเท้าที่จะขยายใหญ่ขึ้นสามารถพัฒนาให้เป็นหนึ่งในพื้นที่สาธารณะใกล้บ้าน ที่มีต้นไม้หลากหลายชนิดให้ร่มเงา ฟอกอากาศ และแทรกกิจกรรมที่ตอบสนองกับแต่ละย่านได้

 

Photographer: Francesca Volpi/Bloomberg

 

องค์ประกอบสำคัญที่จะทำเมืองให้หลวมขึ้นคืออาคาร ผ่านการสร้าง void หรือ open space กับเมืองที่มากพอให้เกิดพื้นที่ของผู้คนที่จะกระจายตัวทำกิจกรรมนอกอาคารในระยะที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการไหลเวียนของอากาศและการส่องของแสงแดดที่ทั่วถึง สร้างภาวะน่าสบายที่เหมาะสมแทนการใช้พื้นที่ปิดในอาคารที่มีระบบ air conditioning ที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ทั้งนี้ต้องทำควบคู่กันไปกับการเพิ่มปริมาณต้นไม้และพื้นที่สีเขียวในเมือง เพื่อให้ void หรือ open space ที่เกิดขึ้น ช่วยดูดซับความร้อน สร้างร่วมเงาให้กับเมือง การสร้าง openspace กับย่านใจกลางเมืองนั้นทำได้หลายรูปแบบ ทั้งการมีระยะถอยร่นที่มากขึ้น มีพื้นที่ใต้ถุน พื้นที่ระเบียง พื้นที่void ในอาคารหรือ สวนหลังคา ที่จะส่งเสริมให้เมืองพรุนขึ้นสำหรับผู้คน อากาศ แสงแดด พื้นมี่สีเขียว และธรรมชาติ

 

ในช่วงเวลาของการล็อกดาวน์ผู้คนต่างอยู่ด้วยความหดหู่ แต่ในขณะเดียวกัน มันมาพร้อมกับความหวัง และจินตนาการ ถึงชีวิตหลังสถานการณ์พ่นพ้นไป ใช้โอกาสที่เราจะกลับไปใช้ชีวิตอีกครั้งกับเมือง มาทำเมืองให้เปลี่ยนไป ด้วยการสร้างคุณภาพชีวิตของเราทุกคนให้สุขภาพแข็งแรงขึ้น และมีความสุขมากขึ้น ไม่ใช่เป็นเมืองที่สร้างความเสี่ยงต่อโรคภัยเพื่อที่เราจะไม่หวนกลับมาล็อกดาวน์ตัวเองอีกครั้ง

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

nzherald.co.nz

theguardian.com

citylab.com

 

Illustration by Napon Jaturapuchapornpong
  • Yossapon Boonsom

    ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker

Share :