การพัฒนาเมืองเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์นั้นใช้เวลายาวนาน เนื่องจากต้องระดมทรัพยากรและความร่วมมือจากหลายฝ่าย แต่มีกลยุทธ์อย่างหนึ่งที่หลายเมืองใช้ ซึ่งเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ช่วยย่นเวลา สามารถประสานความร่วมมือและทรัพยากรได้ และให้ผลลัพธ์มากกว่าตัวเงิน นั่นคือการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิก หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นกระสุนวิเศษที่ไม่บ่อยครั้งนักจะใช้ได้ในการพัฒนาเมืองเช่นนี้
จุดเริ่มต้นของการก่อตั้งกีฬาโอลิมปิกเกม หรือกีฬาโอลิมปิกเกมสมัยใหม่ (modern olympic) นั้นเกิดขึ้นในปี 1896 โดย Pierre de Coubertin ซึ่งมีจุดประสงค์ที่จะใช้การกีฬาเพื่อเชื่อมมนุษยชาติไว้ด้วยกัน และหยุดพักความขัดแย้งชั่วคราว แน่นอนว่าอาจไม่ใช่การเห็นโอกาสในการใช้อีเวนต์งานโอลิมปิกเพื่อการพัฒนาเมืองเสียทีเดียว แต่หลายเมืองในโลกได้ใช้โอกาสนี้ฟื้นฟูเมืองเก่าและสร้างเมืองใหม่เพื่อรองรับมหกรรมดังกล่าว เช่นพัฒนาสถานที่จัดการแข่งขัน และระบบคมนาคมและสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งมีแผนให้เกิด Olympic legacy ที่จะได้ประโยชน์ยั่งยืนหลังมหกรรมสิ้นสุดลง
แต่ใช่ว่าทุกเมืองจะประสบความสำเร็จ บางเมืองถึงขั้นล้มละลายเนื่องจากขาดโมเดลธุรกิจที่ดี ประกอบกับสถานการณ์โลกที่ท้าทายมากขึ้น ทั้งจากปัญหาโลกร้อน โรคระบาด และรูปแบบขอบการชมกีฬาที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้หลายเมืองเริ่มทบทวนต่อแนวทางการเป็นเจ้าภาพที่ยากจะจัดไหว เห็นได้ชัดจากการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพครั้งล่าสุดในปี 2020 ที่มีเมืองสนใจเข้าร่วมเพียง 5 เมืองจากที่เคยเสนอราวกว่า10 เมืองทั่วโลกในปี 2004
ดังนั้นการจัดโอลิมปิกกับการพัฒนาเมืองในยุคใหม่นี้จึงจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้เพื่อปรับตัวสู่กลยุทธ์ที่จะทำให้ Olympic Game ยังเป็นกระสุนวิเศษที่ช่วยเมืองพัฒนาให้สอดคล้องและยั่งยืนกับอนาคตที่ท้าทายขึ้นกว่าที่ผ่านมา
success story
ย้อนกลับไปในปี 1992 ภาพของนักกีฬากระโดดน้ำกระโดดหมุนตัวจากแพลตฟอร์มโดยมีฉากหลังเป็นเมืองด้านล่างและทะเลเมดิเตอเรเนียนในระยะไกล คือภาพจำของการแข่งกีฬาที่ถ่ายทอดสู่คนทั่วโลกอย่างตั้งใจของโอลิมปิกที่บาร์เซโลน่า (Barcelona) ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ้าภาพโอลิมปิกที่ประสบความสำเร็จที่สุด ทั้งในเชิงรายได้และการสร้างการรับรู้ต่อการปักหมุดให้บาร์เซโลน่าพลิกจากเมืองยุคหลังอุตสาหกรรม (post industrial) ริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่ไม่มีใครรู้จักให้กลายมาเป็นเมืองจุดหมายปลายทาง (world destination) และเมืองร่วมสมัย (contemporary city) ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวหลายสิบล้านคนต่อปี อีกทั้งยังส่งต่อ Olympic legacy ในการฟื้นฟูเมืองเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ชาวเมือง
บาร์เซโลน่าได้วางแผนการพัฒนาเมืองไว้ล่วงหน้าหลายปี โดยใช้โอกาสการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฟื้นฟูเมืองหลังยุคเผด็จการที่ซบเซา คือการเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมริมทะเล บาร์เซโลน่าได้เสนอให้เกิดโครงการพัฒนาพื้นที่เมือง 12 โครงการเพื่อรองรับการแข่งขันกีฬา และให้กระจายไปตามจุดต่างๆ ที่มีแผนการพัฒนาเมืองรอไว้ ตั้งแต่การปรับปรุงชายหาดที่ถูกตัดขาดโดยถนนหลายเลนให้เข้าถึงได้ เปลี่ยนจากท่าเรือที่ใช้ในกิจการอุตสาหกรรมเป็นท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยว สร้างโรงแรมและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อรองรับและฟื้นฟูย่านอุตสาหกรรมเก่าผ่านการพัฒนาเป็นหมู่บ้านนักกีฬา สร้างสิ่งอำนายความสะดวกต่างๆ ไปแทรกตัวในย่านนั้นๆ ซึ่งหลายอาคารเป็นการปรับปรุงจากอาคารโรงงานอุตสาหกรรมเก่า ตลอดจนสร้างระบบรถไฟใต้ดิน ถนนวงแหวน (ring road) และทำอุโมงค์รถยนต์ผ่านจุดตัดต่างๆ เพื่อให้เมืองเป็นมิตรกับการเดินและทางจักรยานมากขึ้น
สิ่งสำคัญที่ทำให้บาร์เซโลน่าประสบความสำเร็จก็คือการมีแผนรองรับที่ชัดเจน โดยแผนทั้งหมดนั้นก็มาจากความต้องการของชุมชนในพื้นที่ที่ได้แสดงความต้องการว่า หลังจากมหกรรมโอลิมปิกสิ้นสุดลง อาคารเหล่านั้นจะถูกใช้ไปเพื่ออะไร ซึ่งทั้งหมดทุกๆ กระบวนการได้ผ่านการทำงานร่วมของเมืองกับประชาคมในเมืองตั้งแต่แรกเริ่ม
White elephant
หลายเมืองที่เป็นเจ้าภาพประสบปัญหาเรื่องอาคารขนาดใหญ่ที่สร้างมารองรับปริมาณคนจำนวนมากในช่วงการจัดการแข่งขันไม่ได้รับการใช้ต่อ อาคารขนาดใหญ่กลายเป็นสิ่งแปลกปลอมในเมืองและถูกปล่อยให้ทิ้งร้าง เนื่องจากอาคารเหล่านี้ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการดูแล อีกทั้งหลังจากมหกรรมกีฬาจบลงก็ไม่มีงานกิจกรรมขนาดใหญ่เกิดขึ้น ซึ่งปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นในหลายเมือง เนื่องจากขาดแผนงานที่เป็นระบบสำหรับรองรับการใช้ภายหลัง ทำให้ส่งผลต่อภาระภาษีที่ชาวเมืองต้องจ่ายไปในการก่อสร้างและการดูแล
ในกรณีโอลิมปิกของ Athens 2004 ด้วยจำนวนประชากรในเมืองนั้นมีน้อย และไม่สามารถที่จะมีกิจกรรมขนาดใหญ่ที่ยั่งยืนได้ สนามกีฬาขนาดใหญ่เหล่านั้นทำให้งบประมาณที่ลงทุนไปหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แทบจะใช้งานได้แค่ครั้งเดียว คือช่วงโอลิมปิก เนื่องจากขาดแพลนธุรกิจที่ดีและขาดแผนหลังการใช้ อันเป็นหนึ่งในสาเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจที่ตามมาหลังจากการใช้เงินเกินตัวและไม่สามารถสร้างรายได้ได้ตามเป้า ซึ่งของเอเธนส์เองก็ไม่ต่างจาก Rio de Janeiro 2014 ที่สนามกีฬาหลายแห่งถูกทิ้งร้างเพราะขาดแผนการจัดการ ทั้งนี้ไม่นับรวมถึงความเร่งรีบในการก่อสร้าง และการขาดเงินงบประมาณสนับสนุนที่ทำให้ทั้งสนามกีฬาและที่พักต่ำกว่ามาตรฐานจนยากที่จะเรียกได้ว่าส่งต่อเป็นมรดก (legacy) ได้
Olympic Park as New Town
หลายเมืองเลือกที่จะสร้าง Venue หรือ Olympic Park แยกออกมาจากเมืองเพื่อเป็นที่รวมของสนามกีฬาและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ใช้ในการแข่งขัน ด้วยหวังว่าโครงการที่ลงไปนั้นจะเข้าไปพลิกฟื้นย่านโดยรอบ Olympic Park ผ่านการพัฒนาทั้งสถานที่และระบบสาธารณูปโภคที่ตามไป อีกทั้งยังหวังให้เกิดการลงทุนของนักพัฒนาที่จะตามมาในอนาคตตามแผนที่วางไว้หลังงาน โดยมุ่งหวังว่าจะพลิกฟื้นย่าน กระทั่งสร้างย่านใหม่รองรับแหล่งงานและแหล่งพักอาศัยที่จะตามมาในอนาคต ดังจะเห็นได้จากกรณี Olympic Park ที่ Sydney 2000 และที่ London 2012
ผ่านไปกว่า 20 ปี กับ Sydney Olympic Park หลังจัดงานเมื่อปี 2000 ยังพบว่าเป็นการยากที่จะดึงดูดกิจกรรมขนาดใหญ่หรือการแข่งขันกีฬามาใช้ในพื้นที่ที่ห่างจากตัวเมือง เนื่องด้วยคนมักจะมีกิจกรรมก่อน และหลังการแข่งขันชอบที่จะอยู่ในเมืองที่มีร้านค้า มีที่แฮงก์เอาต์ต่างๆ ที่มีชีวิตชีวามากกว่า ซึ่งเมืองซิดนีย์กำลังอยู่ในช่วงทำแผนของการใช้ที่ดินบางส่วนของ Olympic Park เพื่อสร้างเป็นย่านใหม่ที่จะมีทั้งแหล่งงาน แหล่งพักอาศัย และแหล่งชอปปิ้ง เพื่อทำให้ Olympic park ไม่ได้มีแค่ venue แต่เป็นย่านที่มีชีวิตชีวา
นอกจากนี้ยังมี London Olympic Park ที่เป็นการใช้โอกาสของการจัดมหกรรมโอลิมปิกในปี 2012 เปลี่ยนย่านลอนดอนตะวันออกที่เป็นย่านทรุดโทรมของแหล่งอุตสาหกรรม ย่านที่เต็มไปด้วยโรงงานทิ้งร้าง ย่านของพื้นที่ปนเปื้อนสารเคมี กระทั่งการเป็นย่านของผู้อพยพและผู้มีรายได้น้อยให้กลับมามีชีวิต และขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมืองในยุคใหม่ ซึ่งสิ่งที่ ลอนดอนพยายามทำคือการใช้อาคารชั่วคราวและปรับลดขนาดสนามกีฬาหลังงานให้เพียงพอที่จะใช้ในระดับย่านและชุมชน เช่นประมูลให้ main stadium สำหรับสโมสรฟุตบอลท้องถิ่น เปลี่ยนอาคารแข่งขันกีฬาให้เกิดการใช้เป็นสโมสรกีฬาของย่าน เชื้อเชิญให้กิจกรรมทางวัฒนธรรม ทางการศึกษา มหาวิทยาลัยมาตั้งในพื้นที่ ตลอดจนเปลี่ยนหมู่บ้านนักกีฬาเพื่อเป็น social housing รองรับความต้องการของที่อยู่อาศัยราคาไม่แพง
นอกจากนั้นพื้นที่สีเขียวใจกลาง Olympic park ยังได้กลายเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่เกิดจากการเปลี่ยน brownfield หรือพื้นที่ปนเปื้อนของอุตสาหกรรมให้กลายเป็นแหล่งพักผ่อนที่สำคัญของย่าน ซึ่งสิ่งเหล่านี้กำลังค่อยๆเปลี่ยนลอนดอนตะวันออก พร้อมๆ กับการเข้ามาของนักพัฒนาที่มาพัฒนาที่พักอาศัยรอบๆ รวมทั้งแหล่งชอปปิ้งเพื่อสร้างให้ Olympic park กลายเป็นโหนดใหม่ของย่าน และเมืองที่มีชีวิตชีวามากขึ้น
ทั้งนี้สิ่งที่เป็นประเด็นถกเถียงคือการพัฒนาเหล่านี้แทนที่จะเป็นlมรดกที่ชุมชนในพื้นที่ได้ประโยชน์นั้น บางทีมันอาจกำลังจะเป็นไปในลักษณะเจนทริฟิเคชัน (gentrification) ที่ทำให้ย่านราคาแพงขึ้นจนชุมชนต้องย้ายออกและไม่สามารถจ่ายได้อีกต่อไปหรือไม่
Revitalization not gentrification
เพื่อให้การพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับกับ Olympic Game เป็นไปเพื่อการฟื้นฟูเมืองอย่างแท้จริงจึงจำเป็นที่จะต้องมองถึง เป้าหมายสุดท้ายเป็นสำคัญ ซึ่งเป้าหมายสุดท้ายนี้จะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในเมือง เศรฐกิจของเมือง และป้องกันหรือสร้างสมดุลของการเก็งกำไรราคาที่ดินที่จะเกิดขึ้นจากนักพัฒนา อันอาจนำไปสู่การเจนทริฟิเคชันที่ส่งผลให้คนท้องถิ่นไม่สามารถอยู่ได้จากราคาที่ดินและที่พักอาศัยตลอดจนค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากการพัฒนา สิ่งสำคัญคือกลไกการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายตั้งแต่แรก โดยจะเป็นไปเพื่อวางเป้าหมายและสร้างกฎเกณฑ์หรือกรอบการพัฒนาสำหรับวางสัดส่วนของกิจกรรมหลังจากงานเสร็จสิ้นลง ตลอดจนการจ้างงานและการจัดสรรระบบสาธารณูปโภคที่ให้ความสำคัญกับชุมชนในพื้นที่เป็นลำดับต้นๆ เพื่อให้ประโยชน์ของการฟื้นฟูเมืองจากมหกรรมโอลิมปิกนั้นสร้างโอกาสให้กับทุกคนอย่างแท้จริง
New agenda 2020
คณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ International Olympic Committee (IOC) ได้เล็งเห็นปัญหาต่อความท้าทายในการเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกที่ผ่านๆ มา เพื่อให้เป้าหมายในการจัดโอลิมปิกนั้นสามารถสอดคล้องกับยุคสมัยและความท้าทายในอนาคตมากขึ้นจึงได้กำหนด agenda 2020 เพื่อวางทิศทางการจัดโอลิมปิกที่ยั่งยืนขึ้นนับจากนี้ โดยมีการเน้นให้เมืองที่เป็นเจ้าภาพนั้นไม่ต้องปรับเมืองเพื่อการแข่งขัน แต่ให้การแข่งขันนั้นปรับเข้ากับเมืองมากขึ้น ให้การจัดพื้นที่จัดการแข่งขันมีความกระชับ เน้นให้การจัดมีความสนุกสนาน (enjoyable) มีความยืดหยุ่น (resilience) และมีความยั่งยืน (sustainable) เน้นการลงทุนร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนมากขึ้นเพื่อลดภาระทางงบประมาณกับเมืองที่เป็นเจ้าภาพ และสุดท้ายคือเมืองที่เป็นเจ้สภาพไม่จำเป็นต้องเป็นเมืองเดี่ยว แต่เป็นการร่วมกันเป็นเจ้าภาพของหลายเมืองและหลายประเทศได้
New game
การเป็นเจ้าภาพของโอลิมปิกเกมที่กำลังสะท้อนทิศทางของ agenda 2020 ได้เกิดขึ้นแล้วที่กรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น ถึงแม้จะประสบกับปัญหาโควิด-19 แต่แนวทางการจัดมหกรรมครั้งนี้แตกต่างไปจากเดิมมาก ตั้งแต่การเน้นใช้ venue ของสนามกีฬาเดิมในเมืองโดยแบ่งพื้นที่เป็น 2 โซน คือ Historic Zone และ Tokyo Bay Zone โดยมีหมู่บ้านนักกีฬาอยู่ตรงกลางระหว่างสองโซนนี้ที่จะสามารถเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ในรัศมีไม่เกิน 8 กิโลเมตร ซึ่งข้อดีของการจัดในเมืองและใช้สิ่งอำนวยความสะดวกเดิมนั้น ส่งผลให้การเข้าถึงผ่านระบบคมนาคมเดิมสามารถสนับสนุนการเชื่อมโยงได้ง่ายและทำให้ความมีชีวิตชีวาของกิจกรรมกีฬาและเมืองผสานเป็นหนึ่งเดียวกัน
นอกจากนั้นมาตรการทางสิ่งแวดล้อมของการใช้พลังงานสะอาด รถยนต์ไฟฟ้า วัสดุรีไซเคิลทั้งการก่อสร้างอาคารตลอดจนเครื่องใช้ต่างๆ ก็เป็นไปเพื่อลดปริมาณคาร์บอนฟรุตปริ้นต์อันเกิดจากการจัดการแข่งขันเป็นสำคัญ ซึ่งในการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกของกรุงปารีสในปี 2024 นั้นก็ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นการจัดงานที่คำนึงถึงความยั่งยืนที่สุด โดยตั้งเป้าจะลดคาร์บอนฟรุตปริ้นต์ให้ถึงระดับกลาง (neutral) ตั้งแต่ช่วงเตรียมงานจนถึงช่วงจัดงาน ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพของทรัพยาการในเมืองอย่างเต็มที่ ซึ่งปารีสได้วางแผนไว้ดังนี้
- การใช้สนามกีฬาเดิมทั้งในปารีสและเมืองอื่นๆ โดยรอบราว 95 เปอร์เซ็นต์ และจะมีการก่อสร้างใหม่เพียง 5 เปอร์เซ็นต์ คือหมู่บ้านนักกีฬา และกลุ่มอาคารแข่งขันกีฬาบางชนิดที่จะกระจุกตัวอยู่ในบริเวณเดียวกัน
- ควบคุมการเดินทางของนักกีฬาไปยัง venue ต่างๆ ในปารีสในรัศมีไม่เกิน 10 กิโลเมตร ผ่านระบบโครงข่ายคมนาคมเดิมในเมือง
- จะมีการก่อสร้างสนามชั่วคราวไปตามแลนด์มาร์กต่างๆ ของเมือง ทั้งบริเวณหอไอเฟล ริมแม่น้ำแซน พระราชวังแวร์ซาย ถนนช็องเอลีเซ ฯลฯ ที่นอกจากจะประหยัดทรัพยากรแล้วยังได้ภาพลักษณ์และประสบการที่เป็นเอกลักษณ์ของปารีส
- มีการคำนึงถึงเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) คือการหมุนเวียนทรัพยากรจะมาใช้ในการจัดงาน รวมถึงแหล่งของการผลิตอาหารที่ปลอดภัย
- พลังงานทั้งหมดในช่วงจัดงานจะมาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน (Renewable energy resources)100 เปอร์เซ็นต์
- สนับสนุนผลิตภัณฑ์และบริการจาก SME และ Start up เพื่อใช้ในการจัดงาน เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น และการก่อเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ จากผู้ประกอบการรุ่นใหม่
- สุดท้ายสิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งองค์กรทางสิ่งแวดล้อม ทางกีฬา องค์กรนอกภาครัฐ (NGO) ภาคธุรกิจ และประชาชน เพื่อให้ทุกคนมีส่วนในการสร้างเกมที่จะเป็นหมุดหมายของการสร้างเมืองที่ยั่งยืนขึ้นในอนาคตต่อไป
theguardian.com
Future Game and Future City
ในอีก 10 หรือ 20 ปีข้างหน้า โอลิมปิกเกมอาจไม่ได้มีรูปแบบอย่างที่เราเข้าใจหรือคุ้นเคยอีกต่อไป ด้วยเจเนเรชั่น (generation) ที่เปลี่ยนไป ทำให้พฤติกรรมต่อการดูและคุณค่าต่อกีฬาไม่เหมือนเดิม ดังจะเห็นได้จากการมีชนิดกีฬาใหม่ๆเข้ามาอย่างสเก็ตบอร์ด หรือแม้กระทั่ง E-sport ซึ่งในอนาคตเราอาจไม่ได้ต้องชมกีฬาในสนามจริงอีกต่อไป ยิ่งด้วยข้อจำกัดของโรคระบาดและการเดินทาง ประกอบกับเทคโนโลยีในการถ่ายทอดและมุมกล้องต่างๆ ที่ทำให้เราสามารถมีประสบการณ์เสมือนอยู่ในสนามจริง ก็ยิ่งทำให้เห็นว่าเราอาจรับชมผ่านการรวมกลุ่มในสนามในท้องถิ่น หรือในพื้นที่ที่จำกัดจำนวนเพื่อชมการถ่ายทอดผ่านระบบ VR หรือ hologram ก็สามารถทำได้
การลงทุนต่อการจัดมหกรรมกีฬาที่ใช้เป็นกลไกในการฟื้นฟูเมืองอาจเหมาะกับประเทศที่มีความพร้อมทางทุนและทรัพยากร ด้วยระบบสาธารณูปโภคที่พร้อมทั้งสนามกีฬาและระบบคมนาคม ทำให้การจัดสามารถสร้างกำไรหรือไม่ขาดทุนอีกทั้งยังช่วยประหยัดทรัพยากรได้มาก เราอาจเห็นการหมุนเวียนการเป็นเจ้าภาพในไม่กี่ประเทศ หรือการร่วมกันเป็นเจ้าภาพระหว่างเมือง ประเทศ หรือในภูมิภาคมากขึ้นในอนาคต
การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกนั้นเป็นเหมือนยากระตุ้นที่ทำให้ทุกฝ่ายในเมืองหันมาให้ความสำคัญต่อการสร้างมาตรฐานและอุดมคติของการมีชีวิตที่ดีในเมืองที่เราอยากเห็นในทุกวันไม่ใช่เฉพาะแค่ในงาน สิ่งสำคัญคือการที่จะสานต่ออุดมคตินั้นให้เป็นรูปธรรมและยั่งยืนหลังการจัดงาน หรือแม้กระทั่งจะไม่ได้มีมหกรรมโอลิมปิกมาเป็นตัวกระตุ้นก็ตาม เพราะเราทุกคนล้วนปรารถนาให้เมืองของเรา stronger ด้วยการพัฒนาผ่านการ together ของเราเช่นกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.paris2024.org/en/a-pioneering-ambition-for-the-environment/
https://www.dw.com/en/how-the-olympics-transform-urban-space/a-16124393
https://www.urban-hub.com/cities/olympics-spark-urban-change/
https://architectureau.com/articles/sydney-olympic-park-2030-the-city-in-a-park/
https://tomorrow.city/a/olympics-economic-impact-of-host-cities
Graphic Design by Prapawit Intun
- Yossapon Boonsom
ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker