CITY CRACKER

เมื่อความเร่งรีบหายไป โอกาสใหม่ของ ‘สังคมเพื่อนบ้าน’ ที่อาจกลับมาอีกครั้ง

คุณเห็นพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าที่บ้านครั้งสุดท้ายเมื่อไร คำถามนี้สำหรับคนเมือง คงได้คำตอบว่า นานมากแล้ว หรือไม่เคยเลย แล้วถ้าถามอีกว่าคุณคุยกับเพื่อนบ้านครั้งล่าสุดเมื่อไร คำตอบก็คงไม่แตกต่างกัน

 

ที่ผ่านมาชีวิตในเมืองเต็มไปด้วยความรีบเร่ง รีบออกจากบ้าน รีบไปโรงเรียน รีบไปทำงาน เพราะกลัวรถติด กลัวเข้างานไม่ทัน และเมื่อกลับถึงบ้าน ก็เป็นเวลาดึกดื่นที่เราไม่เหลือเวลาให้มองท้องฟ้า หรือ พูดคุยทักทายใคร อย่าว่าแต่เพื่อนบ้านเลย คนในบ้านก็ยังแทบจะไม่ได้คุย วิถีความรีบเร่งในเมืองใหญ่นี้ ราวกับเป็นชีวิตปกติที่ยอมรับได้ และมันได้ส่งผลต่อรูปแบบการอยู่อาศัยที่ประกอบเป็นเมืองของเราทุกวันนี้

รั้วบ้านในหมู่บ้านอาจเป็นตัวสะท้อนสุขภาพทางสังคมที่เรามีในวันนี้ ที่เราอยู่ภายในกำแพงทึบสูง ที่ขังตัวเราไว้จากเพื่อนบ้านและสังคมรอบข้าง ทำให้เราปฏิสัมพันธ์กันน้อยลง เข้าใจกันน้อยลง และขาดความเป็นสังคมที่เราพึงมี

มันช่างแตกตากจากบ้านเรือนในชนบท ที่ตั้งเรือนเป็นกลุ่ม เป็นหมู่ เป็นชุมชน ที่ไม่ได้มีรั้วทึบมาแบ่งแยกขอบเขต แต่รู้กันด้วยกลุ่มต้นไม้ ด้วยหลักเขต เพราะมันคือสังคมเดียวกัน ของญาติของพี่ของน้องของเพื่อนบ้าน ที่ต่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ดูแล แบ่งปันทรัพยากรกัน

ตัวอย่างชุมชนริมน้ำที่จังหวัดปทุมธานี สามารถสะท้อนความจริงข้อนี้ดี พวกเขาสามารถเดินลอดใต้ถุน ผ่านสวนเชื่อมถึงกัน เพื่อไปมาหาสู่กัน หรือเพื่อไปยังท่าน้ำได้ และด้วยความเชื่อมโยงถึงกัน ก็ยิ่งทำให้แน่นแฟ้นมากขึ้น เราเห็นกัน คุยกัน จากระเบียงบ้านหรือใต้ถุนที่เป็นเสมือน พื้นที่รอยต่อระหว่างความเป็นส่วนตัวและความเป็นสาธารณะเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกัน และเมื่อปราศจากรั้วทึบ มันยังส่งผลให้ลมเย็นๆ จากแม่น้ำสามารถพัดผ่านถึงบ้านแต่ละหลัง และไม่กีดกั้นการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำ

สังคมหมู่บ้านแบบไทยๆ นี้นับวันมันค่อยๆเลือนหายไปจากเมืองใหญ่ สู่การเป็นคอนโด อพาร์ตเมนต์ ตึกสูง และหมู่บ้านจัดสรร แต่ด้วยความเป็นสัตว์สังคม เราก็ยังพยายามที่จะออกแบบ ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมเพื่อเรียกคืนความเป็นสังคมท่ามกลางเมืองใหญ่ที่รีบเร่งเมืองนี้

 

การกักตัวจาก Covid 19 ทำให้ชีวิตเราช้าลง และห่างไกลกับผู้คน แต่มันก็ได้นำพาให้เราได้ ‘ใกล้’ กับบางอย่างที่เราอาจหลงลืมไปอย่าง

 

เป็นครั้งแรกในรอบ30 ปีที่ผมได้วิ่งรอบหมู่บ้านเพื่อออกกำลังกาย และทำให้ผมค้นพบความอบอุ่นของชีวิตในหมู่บ้านที่ผมอยู่และเติบโตมา การวิ่งครั้งนี้เหมือนการเดินทาง ‘ย้อนเวลา’ ที่ทำให้เราเห็นภาพตัวเองกับที่นี่สมัยเมื่อเป็นเด็ก ผมวิ่งวนบนถนนคอนกรีตรอบหมู่บ้านที่เต็มไปด้วยร่มเงาจากต้นไม้ของแต่ละบ้าน ที่แข่งกันแผ่กิ่งก้านลอดรั้วโปร่งบ้างทึบบ้าง เผื่อแผ่ความเขียวให้สายตาและร่มเงามาที่ถนน

ระหว่างทางพบเจอคุณลุงคุณป้าข้างบ้านที่เห็นเรามาแต่เด็ก “สวัสดีครับลุง” “ อ้าว…เป็นไงบ้าง สบายดีไหม” เจอเพื่อนเก่าที่โตมาด้วยกันที่ได้มาคุยกันอีกครั้ง ได้เห็นแก๊งเด็กรวมกลุ่มเล่นกันอยู่ท้ายรถกะบะที่จอดหลบเงาใต้ต้นมะม่วง

เจอเด็กน้อยที่เอารถบังคับวิทยุมาเล่นที่ถนนวนไปมาไม่เหน็ดเหนื่อย เจอป้าๆ แม่ๆ จับกลุ่มกันเดินแกว่งแขนพร้อมๆ กับแลกเปลี่ยนข้อมูลที่คุยสนุกไม่ต่างจากในกลุ่มline คุณลุงบ้านตรงข้ามตะโกนทักทายข้ามรั้วกัน เจอหนุ่มสาวรุ่นเด็กเดินจูงหมา บ้างกระโดดเชือกอยู่ที่โรงรถ หรือนั่งพักอยู่ที่แคร่ริมคลอง นอกจากเสียงและภาพที่มีชีวิตระหว่างการวิ่งแล้ว ยังมีกลิ่นกับข้าวโชยมาจากห้องครัว บอกเวลาอาหารเย็นที่เด็กๆ จะโดนเรียกไปทานข้าวและทำการบ้าน

ถนนรอบหมู่บ้านคือสวนสาธารณะขนาดเล็กดีๆ นี่เอง แต่ที่มันพิเศษกว่าสวนสาธารณะทั่วไป คือมันมีชีวิตของความเอื้ออาทร และมิตรภาพอยู่ในนั้น ผู้คนที่ออกมาหน้าบ้าน มาเดินรอบหมู่บ้าน คงไม่ได้มาเพื่อออกกำลังกายหรือเดินเล่นอย่างเดียว แต่เขามาเพื่ออยากมาพบปะพูดคุย เจอหน้า เพื่อน พี่ น้อง ลุงป้า ลูกหลาน ที่เขารู้จักหรือเพียงคุ้นหน้า แม้ไม่ใช่ญาติแต่นี่คือ สัญญาณที่กระตุกต่อมความเป็นเพื่อนร่วมสังคมเดียวกันว่ามันยังมีอยู่ท่ามกลางเมืองใหญ่ที่เร่งรีบเมืองนี้ ที่บางครั้งเราแทบหาใครไม่เจอนอกจากตัวเรา

ถนนรอบหมู่บ้านนี้ มันกำลังสะท้อน ว่าลึกๆแล้ว ความสุขในชีวิตเราไม่ได้เกิดจาก การมีสิ่งแวดล้อมที่ตอบสนองทางกายภาพและความปลอดภัยอย่างเดียว แต่คนยังแสวงหา การเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เป็นที่ยอมรับซึ่งกัยและกันดังที่ มาสโล ได้กล่าวไว้

ในหนังสือลุกกะ: วิถีความสุขจากทุกมุมโลก เล่าถึงแนวคิดของการทำหมู่บ้านแนวใหม่ในเดนมาร์กที่มุ่งเน้นเรื่องการสร้างสังคมมากกว่าเพียงเป็นสถานที่ที่คนมาอยู่รวมกันเท่านั้น เพราะความเป็นสังคม มันตอบโจทย์ต่อการสร้างความสุขในชีวิตต่อครอบครัวที่อยู่ร่วมกันและรวมถึงเด็กๆ ที่จะเติบโตมาด้วย

บูเฟลเลสสเกบ ( bofaellesskab) คือโครงการบ้านพักอาศัยที่ใช้พื้นที่ส่วนกลางร่วมกัน แต่มันไม่ใช่ส่วนกลางแบบคลับเฮาส์สวยๆ อย่างที่เราเข้าใจกัน อโครงการนี้ประกอบด้วยบ้านประมาณ 27 หลังที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน โดยทุกหลังจะเชื่อมถึงกันกับบ้านส่วนกลาง ที่มีห้องทานอาหารรวม ที่ทำอาหาร ที่จัดกิจกรรม workshopต่างๆ มีสวนผักที่ใช่ร่วมกัน ที่ก่อกองไฟ และที่วิ่งเล่นของเด็กๆ ท่ามกลางธรรมชาติ แต่ละสัปดาห์สมาชิกในหมู่บ้านจะผลัดเวรมาทำอาหารด้วยกันที่จะทำให้สมาชิกในหมู่บ้านได้พูดคุยพบปะและมีเวลาให้กับครอบครัวมากขึ้น อีกทั้งเด็กๆ ที่เติบโตมาก็จะได้รับการดูแลซึ่งกันและกัน เสมือนสมาชิกในครอบครัว

แนวคิดดังกล่าวคือการสร้างสังคมผ่านหมู่บ้านที่อยู่ร่วมกัน ที่สร้างสมดุลของความเป็นส่วนตัวและความรวมกลุ่มทางสังคมที่มันช่วยเติมเต็มสิ่งที่เมืองยุคใหม่ให้ไม่ได้ แนวคิดดังกล่าวกำลังแพร่ขยายสู่หลายเมืองทั่วโลกทั้ง แคนาดา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เยอรมัน สหรัฐอเมริกา และเนเธอร์แลนด์ เป็นแนวคิดที่ตอบโจทย์ทั้งกลุ่มครอบครัวและสังคมสูงวัย ที่ต่างฝ่ายต่างต้องการสังคมที่จะช่วยโอบอุ้มดูแลซึ่งกันและกันมากขึ้น ซึ่งจะว่าไปแนวคิดนี้ก็ไม่แตกต่างไปจากสังคมไทยสมัยก่อนที่อยู่กันแบบเครือญาติที่พึ่งพาซึ่งกันและกันเลย

เราลองมาใช้โอกาสที่เราอยู่กับบ้านและหมู่บ้านของเรามากขึ้นในช่วงวิกฤตินี้ มาสร้างสังคมเพื่อนบ้าน ที่ห่างหายไปจากสังคมไทยให้กลับคืนมาอีกครั้ง ด้วยการเริ่ม เดินรอบหมู่บ้าน ทักทายทำความรู้จัก (แต่ก็ยังรักษาระยะห่างทางสัมคมอยู่) สำรวจสมาชิก และค่อยๆ ขยับสู่การสร้างพื้นที่และกิจกรรมที่สามารถทำร่วมกันต่อจากนี้

 

การขยับทีละเล็กละน้อยเหล่านี้เป็นการส่งสัญญาณถึงกันและกันว่า ท่ามกลางเมืองใหญ่ที่เราอาศัยอยู่นี้ ยังมีผู้คนที่พร้อมจะสร้างสังคมที่มีเราและเพื่อนบ้านอยู่ในนั้นเสมอ และเมื่อวิกฤติผ่ายพ้นไป เราอาจได้สิ่งที่ความรีบเร่งของเมืองใหญ่ได้พรากจากเราไป กลับคืนมา ‘เพื่อนบ้าน’

  • Yossapon Boonsom

    ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker

Share :