CITY CRACKER

Kampung Admiralty งานออกแบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัยจากสิงคโปร์

เมื่อคนอายุยืนขึ้นแต่อัตราการเกิดลดลง หลายประเทศในโลกกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ที่คาดว่าราว 1 ใน 4 ของประชากรโลกจะเข้าสู่วัยชราในปี 2050 ( 2.1 พันล้านคนจาก 9.5 พันล้านคน )

 

รัฐจึงจำเป็นต้องบริหารจัดการชีวิตความเป็นอยู่เพื่อรองรับสังคมสูงวัยในหลายๆ ด้าน ซึ่งนั่นหมายรวมถึงการออกแบบเมืองด้วย แต่ก่อนองค์ประกอบของเมืองและแม้กระทั่งหน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละเรื่องจะทำงานแยกจากกัน ไม่แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ไม่ว่าจะเป็นที่พักอาศัย สาธารณสุข สวนสาธารณะ community center และพาณิชยกรรม ซึ่งการทำงานแบบนั้นไม่เหมาะกับการสร้างสังคมแห่งการอยู่ร่วมของคนทุกวัยการเคหะแห่งชาติสิงคโปร์ (Housing and Development Board) จึงคิดค้นนวัตกรรมการอยู่อาศัยรูปแบบใหม่ ร่วมกับ WOHA บริษัทสถาปนิกสิงคโปร์

 

straitstimes.com

 

WOHA เสนอองค์ประกอบเมืองแบบใหม่สำหรับอนาคต ด้วยการนำทุกอย่างมา ‘ซ้อนกัน’ บนที่ดินขนาดพอเหมาะ โดยให้ลานสาธารณะและพื้นที่พาณิชยกรรรมอยู่ด้านล่าง มีสถานพยาบาล (Healthcare ) อยู่ตรงกลางซ้อนด้วยศูนย์กิจกรรมของเด็กและผู้สูงอายุ ซึ่งทั้งหมดถูกคลุมด้วย community park ที่ลดหลั่นกันเป็นชั้นๆ อีกที ง่ายต่อการเข้าถึงจากอาคารพักอาศัยที่ออกแบบมาสำหรับผู้สูงอายุ

 

archdaily.com

 

การซ้อนของกิจกรรมแบบ ‘แซนด์วิช’ นอกจากทำให้เกิดสังคมทางตั้งแบบหมู่บ้านที่ใกล้ชิด มองเห็น และมีปฏิสัมพันธ์กันของคนแก่ เด็ก ชุมชน ธรรมชาติ แล้ว ยังตอบรับกับการใช้ที่ดินที่มีจำกัดให้มีประสิทธิภาพสูงสุดด้วย และที่สำคัญมันได้ทำให้หน่วยงานที่ทำงานแบบแยกส่วนในที่ดินของตัวเองต้องบูรณาการกันเพื่อเป้าหมายเดียวกัน

 

archdaily.com

 

แนวคิดนี้ถือว่าเป็นนวัตกรรม โดยมี Kampung Admiralty แห่งนี้ เป็นโปรโตไทป์ที่สามารถขยายผล ปรับใช้สู่ส่วนอื่นๆ ของเมืองสิงคโปร์หรือเมืองอื่นๆ ในโลกเพื่อรองรับสังคมสูงวัยในอนาคตต่อจากนี้ จนได้รับการยกย่องว่าเป็น สถาปัตยกรรมยอดเยี่ยมของโลกประจำปี 2018 จากงาน World Architecture Festival

 

architectmagazine.com

 

ปัจจุบัน Kampung Admiralty หรือหมู่บ้านทางตั้งนี้มีผู้คนมาใช้และเยี่ยมเยือนสร้างความคึกคักมีชีวิตชีวาทั้งกับตัวสถานที่และย่านโดยรอบไม่น้อยด้วยพื้นที่ที่เอื้อต่อกิจกรรมที่หลากหลายของคนทุกวัย จากย่านที่เคยมีแต่ตึกพักอาศัย สวนสาธารณะและฟู้ดคอร์ตที่เงียบเหงา สู่ต้นแบบเมืองแห่งอนาคต

 

สถาปัตยกรรมชิ้นนี้เป็นประจักษ์พยานของนโยบายที่มีวิสัยทัศน์ที่สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้คนได้จริง ความสำเร็จนี้เป็นหมุดหมายให้เกิดการพัฒนาต่อยอด และที่สำคัญย่อมสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐว่าสามารถนำพาเขาสู่อนาคตที่ดีได้

 

อ้างอิงข้อมูลจาก
metropolismag.com

 

Illustration Thitaporn Waiudomwut

 

  • Yossapon Boonsom

    ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker

Share :