CITY CRACKER

ลงทุนกับพื้นที่ว่าง: จากสวนสาธารณะ The High Line สู่ ‘สะพานเขียวลอยฟ้า’

การนำเงินมาลงทุนกับที่ว่างอาจฟังดูเป็นเรื่องแปลก แทนที่จะเอาเงินมาเปลี่ยนที่ว่างนี้ให้เป็นตึก แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปที่ว่างกลายเป็นสินทรัพย์อันมีคุณค่าต่อเมืองที่คุ้มค่าต่อการลงทุนไม่แพ้การสร้างตึก

 

ซากทางรถไฟลอยฟ้าที่เป็น ‘ที่ว่าง’ ถูกทิ้งร้างจนเกือบจะทุบทิ้ง ในย่าน west side แมนฮัตตัน เมืองนิวยอร์ก ได้กลายเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้าชื่อว่า The High Line ความยาว 2.3 กม. ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวราว 4 ล้านคนต่อปี และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดการลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ มีโรงแรม ที่พักอาศัย ร้านอาหาร และคาเฟ่มากมายตลอดความยาวที่สวนสาธารณะลอยฟ้า The High Line พาดผ่าน ความสำเร็จของสวนสาธารณะแห่งนี้ต้องยกความดีให้กับการผลักดันของภาคพลเมือง ความร่วมมือของเอกชนและรัฐบาลท้องถิ่นที่ร่วมมือกัน ด้วยเล็งเห็นว่าที่ว่างหรือการทิ้งร้างคือ ‘โอกาส’ ท่ามกลางเมืองที่หนาแน่นนับวันผู้คนยิ่งต้องการพื้นที่ว่างเพื่อการพักผ่อน เพื่อการปฏิสัมพันธ์มากขึ้น

 

เมื่อ ‘ที่ว่าง’ ผสานเข้ากับความฝันและจินตนาการสวนสาธารณะลอยฟ้าจึงเกิด

สวนสาธารณะที่ให้คนได้ขึ้นไปชมวิวเมือง วิ่งเล่น จิบกาแฟ เอาเท้าแช่น้ำ และนอนบนสนามหญ้า หรือแม้กระทั่งชมการแสดงดนตรี ความพิเศษของ The High Line ไม่ใช่เพียงรูปแบบกิจกรรมและการผสานเข้ากับย่านได้อย่างลงตัวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงวิธีการก่อร่างสร้างที่มาจากการผลักดันของภาคประชาชน มีการประกวดแบบ ระดมความคิด ระดมทุนเพื่อสร้าง และที่สำคัญระดมอาสาสมัครจนเกิดเป็นกลุ่ม Friends of High Line อันเป็นองค์กรสาธารณกุศลเพื่อบริหารจัดการสวนร่วมกับรัฐ มีการรับเงินบริจาคเพื่อเอามาเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมและดูแลสวนในแต่ละปี

The High Line จึงเป็นตัวอย่างของการใช้ที่ว่างเป็นกลไกในการสร้างโอกาสในการพัฒนาเมืองอย่างมีนัยยะสำคัญทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่หลายเมืองทั่วโลกพยายามเอาไปปรับใช้ โดยเฉพาะการพัฒนา ที่ว่างในลักษณะแบบ ‘เส้นทาง’ ที่ดูเหมือนจะส่งผลกระทบได้มากกว่าการพัฒนาที่ว่างผืนใหญ่ ที่ว่างจึงไม่ใช่ที่ร้างหากผ่านการออกแบบที่ดี คิดวิเคราะห์ วางแผน สร้างการมีส่วนร่วม สร้างกิจกรรมให้เกิดประโยชน์เต็มศักยภาพที่เหมาะสมกับสังคมและยุคสมัย

ในกรุงเทพมหานครเองก็มีที่ว่างรอการพัฒนาทั้งของเอกชนและของรัฐอยู่มากที่สามารถเอามาเพิ่มศักยภาพเมืองได้ และรวมทั้งที่ที่พัฒนาไปแล้วแต่ยังร้างอยู่เพราะขาดการออกแบบอย่างเหมาะสมจนกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงใจกลางมหานคร อย่างกรณี ‘สะพานเขียวลอยฟ้า’ (ตามที่ชุมชนแถวนั้นเรียกกัน) ที่เชื่อมสวนลุมพินีและสวนเบญจกิติที่ต่อเนื่องเลียบคลองไผ่สิงโต มีความยาวประมาณ 1.3 กม. ทั้งๆ ที่อยู่ใจกลางเมืองแต่กลับประสบปัญหาเป็นแหล่งอันตรายและขาดการใช้งานที่เหมาะสม ทั้งที่มีศักยภาพในการเชื่อมชุมชนพักอาศัย สถานที่ทำงาน แหล่งพาณิชยกรรม และสามารถเข้าถึงได้ในระยะเดินของรถไฟฟ้าใต้ดินถึงสองสถานี

ถ้าเราสามารถนำสะพานคนเดินนี้กลับมาปรับปรุงให้เป็น ‘BKK High Line’ ได้มันจะดีแค่ไหน นอกจากจะเป็นทางเชื่อมการเดินทางด้วยทางจักรยานและเดินเท้าจากย่านสุขุมวิทถึงย่านวิทยุแล้ว ตัวสะพานเองยังสามารถเพิ่มกิจกรรมสำหรับทุกคน ทั้งสนามเด็กเล่น แปลงผัก ศาลาชมวิว ระเบียงชมเมือง น้ำพุจากน้ำคลองบำบัด สวนสุขภาพสูงวัย ที่เข้าถึงด้วยทางลาดและลิฟต์

และที่สำคัญสวนลอยฟ้านี้ยังช่วยผสานสวนลุมพินีและสวนเบญจกิติระยะที่ 2 ให้เป็นเนื้อเดียวกันมากขึ้นด้วยกิจกรรมที่ต่อเนื่อง อีกทั้งเส้นทางนี้ยังจะสามารถขยายโครงข่ายทางเดินสีเขียวให้เชื่อมโยงกับย่านและโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในอนาคต ทั้งมักกะสันและสถานีแม่น้ำ ที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาชุมชนตลอดจนกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดินสองข้างทางที่น่าสนใจมากขึ้นทั้งคาเฟ่, ตลาด, ห้องสมุดชุมชน, co working space , art gallery, พิพิธภัณฑ์ชุมชน , Homestay , Hostel หากทำสำเร็จพื้นที่ร้างนี้จะไม่เพียงเป็นทางผ่าน แต่จะเป็นจุดหมายใหม่ที่จะช่วยนำคนสู่ย่าน ช่วยเปิดย่าน เปิดเมือง สร้างคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมให้กับเมืองได้สมศักยภาพที่ควรจะเป็น แต่ทั้งนี้การพัฒนาต้องอยู่บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมและสอดคล้องกับวิถีผู้คนในพื้นที่ เพราะนั่นคือปัจจัยสำคัญที่จะให้แน่ใจได้ว่าที่ว่างจะไม่ถูกพัฒนาเพื่อกลายมาเป็นที่ร้างอีกในอนาคต

การลงทุนกับการพัฒนาที่ว่างนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วจากกรณี The High Line ที่นิวยอร์กว่าได้ผลคุ้มค่าทั้งเม็ดเงินและคุณค่าทางสังคม สิ่งแวดล้อมมากเพียงใด จึงไม่น่าแปลกใจที่รัฐ เอกชนและประชาชนมากมายช่วยกันลงขันลงแรงก่อร่างสร้างมันขึ้นมาจนกระทั่งยังลงขันช่วยกันดูแลจนกระทั่งวันนี้

 

เราเองก็ควรที่จะหันมาลงทุนกับที่ว่างที่มีอยู่มากมายในเมืองบ้างอย่าปล่อยให้ทิ้งร้าง เพราะนั่นเท่ากับเมืองและเราทุกคนกำลังเสียโอกาสที่สำคัญ รัฐไม่สามารถกุมอำนาจการพัฒนาที่ว่างนี้เพียงลำพัง ลองสร้าง ‘วัฒนธรรมของการลงขัน’ พัฒนาที่ว่างและเมืองอย่างที่เราฝันกันตามกำลังและบทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่ายทั้งรัฐ เอกชน ชุมชน ประชาสังคม เพราะเมืองคือเรื่องของเราทุกคน

 

Cover by Yossapon Boonsom
Illutration by Thitaporn Waiudomwut
  • Yossapon Boonsom

    ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker

Share :