CITY CRACKER

Green infrastructure ระบบสาธารณูปโภคสีเขียวที่ต้องลงทุน

ได้เวลา ‘ขยายปอด’ ของเมืองเพื่อให้ปอดของคนแข็งแรง พร้อมรับมือกับความท้าทายของสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมในเมืองที่จะมีมากขึ้นในอนาคต

 

เพราะเมืองที่เราอยู่อาศัยทุกวันนี้ไม่ได้พัฒนาโดยคำนึงถึง ‘สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ’ เป็นตัวตั้ง เราเปลี่ยนจากเมืองฐานน้ำเป็นเมืองบก เปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ธรรมชาติที่เป็นปอดและพื้นที่รับน้ำของเมืองให้เป็นตึกคอนกรีต ซึ่งมันทั้งปิดกั้นการไหลเวียนของน้ำและที่สำคัญปิดกั้นการไหลเวียนของอากาศ เช่น การสะท้อนของป่าคอนกรีตและการดักฝุ่นที่เกิดขึ้นจากสภาพจราจร โรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงฝุ่นควันจากการเผาทางการเกษตรที่แพร่กระจายเข้ามา

การแก้ปัญหาด้วยการต่างคนต่างอยู่ใน ‘ตึกติดแอร์’ ด้วยเทคโนโลยีอย่างเดียว มันอาจไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน เพราะมันไม่ได้ช่วยแก้ต้นตอของปัญหาและมันยิ่งซ้ำเติมปัญหาคุณภาพอากาศของเมืองให้มากขึ้นด้วย

เราลงทุนกับการสร้างระบบสาธารณูปโภคทางวิศวะกรรมและสิ่งปลูกสร้างมามากพอแล้วอันนำมาซึ่งปัญหา ถึงเวลาที่เราจะมาสร้าง”ระบบสาธารณูปโภคสีเขียว”( green infrastructure )เพื่อปรับเมืองให้น่าอยู่และให้เราอยู่รอดในเมืองที่กำลังเผชิญกับความท้าทายทางสภาพภูมิอากาศนี้ได้ในอนาคต

 

Green infrastructure

การใช้ ‘ธรรมชาติ’ ในที่นี้คือพื้นที่สีเขียว ( พื้นที่สีเขียว 2.5 ไร่ดูดซับฝุ่นได้ 13 ตันต่อปี) และคูคลอง แม่น้ำ มาเป็นเครื่องมือเพื่อเยียวยาเมืองและทำให้เมืองรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมได้ ด้วยการสร้าง 5 องค์ประกอบด้วยกัน

 

1. Green Buffer

แนวพื้นที่ธรรมชาติและพื้นที่เกษตรกรรมรอบเมืองที่ควรถูกฟื้นฟูให้กลับมาเป็นแนวป้องกันฝุ่นควันจากภายนอก อีกทั้งยังช่วยรับน้ำหลากในฤดูฝนได้ด้วย นอกจากนี้แนว green buffer ยังช่วยตีกรอบเมืองให้กระชับ ไม่ขยายไปมากกว่านี้ และหันมาพัฒนา node ของเมืองตามจุดตัดการคมนาคมทางรางในอนาคตเพื่อเป็นแหล่งงาน พักอาศัย และพักผ่อน เพื่อไม่ให้คนต้องเดินทางไกล ช่วยลดการใช้รถยนต์

 

2. Green Patch

พื้นที่สีเขียวที่ทำหน้าที่เป็นปอดของเมืองในการดูดซับฝุ่นควัน กทม.มีพื้นที่เพียง 6 ตารางเมตร ต่อคน ซึ่งคิดเป็นเพียง 2 % ของพื้นที่เมือง เมื่อเทียบกับสิงคโปร์เพื่อนบ้านเราที่มีพื้นที่สีเขียว 66 ตารางเมตรต่อคน คิดเป็น 47 % ของพื้นที่เมืองทั้งหมด เราสามารถสร้างพื้นที่สีเขียวนี้ได้มากขึ้นด้วยการใช้ incentive policy เพื่อให้เอกชนหันมาพัฒนาพื้นที่สีเขียวไปพร้อมกับการพัฒนาด้านอื่นๆ รวมถึงการย้ายพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นต้นตอของมลพิษออกไป แล้วพัฒนาที่ดินเหล่านั้นเป็นพื้นที่สีเขียวแห่งใหม่

 

3. Green Corridor

จริงๆ แล้ว หากเกิดการพัฒนาถนนและพื้นที่ใต้ทางด่วนที่มีมากในเขตเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเอาสายไฟลงดินหรือจัดระเบียบทางเท้า เราก็สามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวช่วยกรองฝุ่นจากท้องถนนให้เมืองได้มาก และยังใช้ในการเชื่อมต่อกับพื้นที่สีเขียวที่กระจายอยู่ทั่วเมืองให้เกิดเป็นโครงข่ายสีเขียวให้คนและสัตว์เดินเชื่อมถึงกัน

 

4. Green Building

การกระตุ้นให้เอกชนเพิ่มพื้นที่สีเขียวไปพร้อมๆ กับการพัฒนาอาคาร เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในเขตเมืองที่หนาแน่นเช่นนี้ เพื่อลดภาวะเกราะความร้อนและกรองฝุ่น ไม่ว่าจะเป็น สวนทางตั้ง สวนหลังคา หรือยกตัวอาคารสูง ให้แสงธรรมชาติและพื้นที่สีเขียวไหลเข้ามาใต้อาคาร อีกทั้งยังสามารถเปิดพื้นที่เหล่านี้ให้เกิดการใช้เป็นพื้นที่สาธารณะได้ด้วย

 

5. Green Canal and River

เราควรหันมาฟื้นฟูและใช้ประโยชน์แม่น้ำคูคลองทั้งในเชิงนิเวศและผลิตพลังงานมากขึ้น พื้นที่คลองกว่า 2,000 คลองและแม่น้ำเจ้าพระยาถือเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ ผืนน้ำช่วยในการดูดซับ Co2 ธรรมชาติของทั้งสองฝั่งน้ำและพืชน้ำช่วยในการผลิต O2 และเป็นแหล่งนิเวศได้อย่างดี แต่นับวันพื้นที่เหล่านี้ถูกแทนที่ด้วยเขื่อนคอนกรีต

 

องค์ประกอบเหล่านี้ของ green infrastructure ไม่เพียงดูดซับ ควันและมลพิษต่างๆ ผ่านการใช้พันธ์ุไม้ที่เหมาะสม แต่ยังทำหน้าที่ในการเปิดเมือง ให้มีที่ว่างช่วยระบายอากาศและระบายความร้อนได้ดีขึ้นด้วย ที่สำคัญพื้นที่สีเขียวเหล่านี้ยังช่วยเมืองจัดการเรื่องการระบายน้ำฝน เป็นแหล่งพักผ่อน ผลิตอาหาร ฟื้นฟูระบบนิเวศ สร้างคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจที่ดีให้กับเมืองด้วยในขณะเดียวกัน

เพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคสีเขียว (green infrastructure) ให้กับเมือง เราจำเป็นต้องมี ‘การลงทุน’ เราใช้ธรรมชาติมามากแล้วโดยไม่เคยต้องเสียค่าใช้จ่ายใดจนละเลยและทำลาย อันนำมาซึ่งปัญหาที่เราต้องจ่ายในวันนี้

ถึงเวลาที่เราควรมีการเก็บ ‘ภาษีสิ่งแวดล้อม’ จากการพัฒนาโครงการ บริการ และสินค้าต่างๆ เพื่อนำเงินนั้นมาตั้งเป็นกองทุนเพื่อพัฒนาระบบสาธารณูปโภคสีเขียวนี้ ที่สำคัญที่เราต้องสร้างจิตสำนึกร่วมกันว่า ธรรมชาติในเมือง อากาศบริสุทธิ์ น้ำที่ใสสะอาด นั้นมีมูลค่า

 

โดยเฉพาะในยุคที่เมืองเต็มไปด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อมเช่นนี้และมันไม่สามารถได้มาโดยง่ายถ้าเราไม่ดูแลและลงทุนกับมัน เพราะอย่าลืมว่าเราอยู่ไม่ได้โดยปราศจากธรรมชาติและอากาศที่เราจะหายใจได้เต็มปอด

 

Illustration by Thanaphum Thongprasert and Thitaporn Waiudomwut 
  • Yossapon Boonsom

    ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker

Share :