CITY CRACKER

Green and health infrastructure ลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานแห่งอนาคต

ถ้าเราอยากได้ผลลัพธ์เดิม เราก็ทำแบบเดิม แต่ถ้าอยากได้ผลลัพธ์ใหม่ที่ดีขึ้น เราก็ต้องเปลี่ยนวิธีการและวิธีคิดเสียใหม่

 

เรากำลังพูดถึง โอกาสที่ COVID-19 ให้เราในการ reset และ restart สังคมโลกอีกครั้ง ว่าเราจะสร้างโลกของเรากลับมาอย่างไร วิกฤติไวรัส COVID-19, climate change และอีกหลายภัยคุกคามทางสิ่งแวดล้อมที่กำลังตามมานั้น เป็นผลจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของมนุษย์ที่ทำลายสมดุลทางธรรมชาติ นักวิทยาศาสตร์พบว่า การทำชายป่าและการเสียสมดุลของระบบนิเวศ ส่งผลให้สัตว์ป่าเข้าใกล้กับมนุษย์มากขึ้น สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ของเชื้อไวรัสสู่มนุษย์ และยังพบว่า ภาวะโลกร้อนส่งผลโดยตรงต่อการเกิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ

นอกจากนี้ COVID-19 ยังทำให้เราเห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่าง สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และเศรษฐกิจว่ามันส่งผลต่อกัน ซึ่งจากการทำลายธรรมชาติในอดีตที่ผ่านมาส่งผลต่อราคามหาศาลทางเศรษฐกิจและสังคมที่เราต้องจ่ายในวันนี้ โดยหลายประเทศในโลก ได้ทุ่มเงินงบประมาณจำนวนมหาศาล เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคม และเมือง รวมถึงรัฐบาลไทยที่ทุ่มงบจำนวน 4 แสนล้านบาท เพื่อสร้าง infrastructure ที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างงานได้

คำถามสำคัญ คือเราจะใช้เงินเหล่านั้นไปพัฒนา infrastructure แบบไหน เพื่อให้แน่ใจว่า เราจะไม่เดินตามความผิดพลาดในอดีตที่นำมาสู่หายนะอย่างทุกวันนี้ การพัฒนานี้คงไม่ใช่ เขื่อนแข็งริมน้ำ หรือทางเลียบแม่น้ำที่เป็นสาธารณูปโภคคอนกรีตที่ทำลายระบบนิเวศชายน้ำ หรือแลนด์มาร์กหน้าตาประหลาด ที่ได้ผลต่อการท่องเที่ยว แต่ไม่ได้ช่วยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ป้องกันภัยพิบัติใดๆ ไม่ใช่เขื่อนกันคลื่นที่กันไม่ได้จริงซำ้ยังถูกคลื่นซัดทำลายและเอาชายหาดหายไปมากกว่าเดิม ไม่ใช่โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงงานอุตสาหกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่การทำเมืองเพื่อรถยนต์ที่ไม่เหลือที่ทางให้คนและต้นไม้ได้เติบโต และที่สำคัญคงไม่ใช่การพัฒนาที่ขาดการฟังเสียงประชาชน

เราน่าจะใช้โอกาสนี้ในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าพร้อมกับการแก้ไขปัญหาระยะยาวไปพร้อมกับเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมเราอย่างแท้จริง นั่นคือการลงลงทุน Green infrastructure เพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ในหลายประเทศ เช่นเยอรมนี มีการตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกิจกรรมที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปากีสถาน มีการใช้งบประมาณในการจ้างงานคนว่างงานจากผลกระทบ COVID-19 เพื่อปลูกต้นไม้ในทะเลทรายตามแผนการเพื่มพื้นที่ป่าจากทะเลทราย

มีรายงานจาก the Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD)ว่าระหว่างปี 2008-2009 ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจประเทศเกาหลีใต้ใช้เม็ดในการฟื้นฟูราว 70% ไปกับการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งสร้างผลการคืนทุนเร็วกว่าการลงทุนด้านอื่น หรือในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2009 ประเทศสหรัฐอเมริกาใช้เงินฟื้นฟูไปกับการลงทุนด้านพลังงานสะอาดและระบบขนส่งมวลชน ซึ่งสามารถสร้างงานได้มากกว่าการลงทุนด้านอื่น

Green and health infrastructure ที่จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ทุกคนมีชีวิตที่ดี แข็งแรง ยั่งยืน และต่อสู้กับ climate change ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (zero emission ) ได้ในขณะเดียวกัน

 

 

10 สิ่งที่ควรลงทุน green and health infrastructure

1. พื้นที่สีเขียวฟอกอากาศ

จากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์พบว่า มลพิษในอากาศส่งผลโดยตรงต่ออัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตมากขึ้นต่อไวรัส COVID-19 ดังนั้นการมีสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้อากาศบริสุทธิ์ปลอดมลพิษนั้นเป็นสิ่งจำเป็น ปริมาณต้นไม้และพื้นที่สีเขียวในเมืองคือเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยลดการแพร่กระจายของ pm 2.5 และดูดซับก๊าซพิษที่ปนเปื้อนในอากาศลงได้ อีกทั้งยังช่วยลดปริมาณเกราะความร้อนในเมืองที่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้คนด้วย หลายเมืองในโลกมีการรณรงค์ในการเพิ่มปริมาณต้นไม้ปกคลุมในเมืองให้มากถึง 40-60 %

ที่ปารีส ลงทุนกว่า 84 ล้านเหรียญในการเพื่มพื้นที่สีเขียวบนอาคารและบนดินกว่า 30 เอเคอร์ภายในปี 2020 มิลานมีแผนที่จะปลูกต้นไม้ให้ได้ 3 ล้านต้นภายในปี 2040 ในขณะที่ลอนดอนมีแผน National Park city โดยจะลงทุนให้เมืองมีพื้นที่สีเขียวมากถึง 50% ของพื้นที่เมือง

2. พื้นที่สีเขียวขนาดเล็กสร้างภูมิคุ้มกันทางกายและใจ

ด้วยวิถีการใช้ชีวิตในเมืองส่งผลให้คนป่วยด้วยโรคกลุ่มไม่ติดต่อ NCD (Non-Communicable Diceas) เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เป็นต้น ที่มีสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมเนือยนิ่งในชีวิตประจำวัน การเข้าถึงพื้นที่สวนสาธารณะเพื่อใช้เป็นที่สุขภาวะเพื่อออกกำลังกาย ได้ใกล้ชิดธรรมชาติ และเกิดการปฏิสัมพันธ์ จึงเป็นปัจจัยที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคกลุ่มนี้ได้ อีกทั้งยังส่งผลดีต่อภาวะจิตใจให้มีสุขภาพจิตที่แข็งแรงขึ้นอีกด้วย

มาตรฐานใหม่ของ WHO กำหนดไว้ว่า เราควรที่จะสามารถเข้าถึงพื้นที่สวนสาธารณะได้ทุกๆ 400 เมตร เพื่อให้แน่ใจว่าทุกกลุ่มของคนในเมืองจะสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพได้ (จากการศึกษาพบว่า คนที่อยู่ใกล้หรือเข้าถึงสวนสาธารณะได้ง่าย จะออกกำลังกายได้มากกว่า) pocket park หรือสวนสาธารณะขนาดเล็กที่จะกระจายแทรกไปตามจุดต่างๆ ของเมืองย่านและชุมชน คือสิ่งที่รัฐควรลงทุนเพื่อเป็นมาตรการเชิงรุกทางสาธารณะสุขเพื่อสร้างเสริมสุขภาพที่แข็งแรงของพลเมือง ซึ่ง pocket park เหล่านี้สามารถพัฒนาจากที่ดินของรัฐและเอกชน สถานที่ราชการ วัด โรงเรียน ที่ว่างหน้าอาคาร สำนักงาน เป็นต้น

3. เส้นทางเดินทางสีเขียว

การเดินทางเป็นกลไกสำคัญในเมือง แต่การเดินทางในปัจจุบันนั้นพึ่งพาระบบขนส่งมวลชนและรถยนต์ จึงก่อให้เกิดมลพิษในอากาศ และการรวมตัวในระบบขนส่ง และยังสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของไวรัส ในยุคที่พฤติกรรมของผู้คนมีความห่วงกังวลต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น การลงทุนสร้างโครงข่ายทางเดินทางจักรยานในเมืองที่มีคุณภาพ ปลอดภัย เพื่อเชื่อมแหล่งงาน แหล่งพักอาศัย ตลอดจนแหล่งกิจกรรมของผู้คน จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างทางเลือกการเดินทางที่ทั่วถึง ปลอดภัย และมีคุณภาพมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดการใช้พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดมลพิษในอากาศ และส่งเสริมสุขภาพให้ดีขึ้นด้วย ในหลายเมืองใหญ่ทั่วโลกเริ่มมีการลงทุน เพื่อลดเลนถนน เพิ่มเลนจักรยาน ขยายทางเท้า เพื่อตอบสนองกับพฤติกรรมใหม่ของผู้คนที่เห็นการเดินและจักรยาน เป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันมากกว่าแค่การพักผ่อน

ที่อังกฤษทุ่มเงินราว 250 ล้านปอนด์เพื่อปรับโครงข่ายจักรยานและขยายทางเท้า มิลานกำลังลงทุนในการสร้างทางจักรยานเพิ่มราว 35 กม ในเมือง ) เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพ มีพื้นที่รกร้างที่อยู่ริมคลอง ริมทางรถไฟ และใต้ทางด่วน ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เป็นจำนวนมาก ที่เราสามารถนำมาเชื่อมโยงให้เกิดเป็นโครงข่ายการเดินทางจักรยานและสวนสาธารณะ (linear park) ควบคู่กันไปได้

 

 

4. แปลงผักจากพื้นที่ว่างในเมือง

การสร้างความยั่งยืนทางอาหารเป็นสิ่งที่สำคัญในยุคหลังจากนี้ เพราะที่ผ่านมาเมืองต้องพึ่งพาการผลิตจากภายนอกซึ่งสร้างความเปราะบางในช่วงวิกฤติ การพึ่งพาการผลิตอาหารด้วยตัวเองในเมืองนอกจากจะช่วยลดรายจ่ายแล้ว ยังเป็นการสร้างอาหารที่ปลอดภัย ลดการขนส่งและสร้างความร่วมมือของสังคมที่แบ่งปันกันด้วย ความจริงมีพื้นที่ในเมืองที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ทั้งของรัฐและเอกชนจำนวนมาก ทั้งบนดิน ใต้ทางด่วน หรือแม้กระทั่งบนหลังคา หากรัฐสามารถกระตุ้นการนำพื้นที่เหล่านี้มาพัฒนาเป็น urban farm ผ่านการสร้าง incentive policy เชื่อมโยงเครือข่ายทางเกษตรที่มีองค์ความรู้ สร้างความมีส่วนร่วมกับชุมชนและหน่วยงานท้องถิ่นในการบริหารจัดการ จะสามารถกระตุ้นให้เมืองสามารถผลิตอาหารที่ยั่งยืนได้ในอนาคต

5. การฟื้นฟูแม่น้ำคูคลอง

โครงข่ายคูคลองที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำถือเป็นเส้นเลือดฝอยและเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนและระบบนิเวศตั้งแต่อดีต แต่การพัฒนาเมืองใหญ่ในปัจจุบันได้ทำให้คูคลองและแม่น้ำกลายเป็นท่อระบายน้ำด้วยการสร้างเขื่อนคอนกรีตริมสองฝั่งคลองและแม่น้ำ ทำลายพื้นที่ชายน้ำและวิถีชีวิต ตลอดจนมีการระบายน้ำเสียจากเมืองที่ยังขาดระบบบำบัดที่เพียงพอ การฟื้นฟูคลองให้กลับมาเป็น green infrastructure ของเมืองเหมือนในอดีตอีกครั้งจึงเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้เมืองอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้และช่วยเมืองในการเผชิญกับภัยพิบัติในอนาคตได้ โดยการเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำท่วม ผสานพื้นที่เกษตรและพื้นที่ว่างริมคลองในการเป็นแก้มลิง ฟื้นฟูไม้ชายน้ำริมตลิ่งช่วยในการบำบัดน้ำและเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ เก็บรักษาต้นไม้ริมคลองสร้างเป็นโครงข่ายพื้นที่สีเขียวต่อการพักผ่อนและเป็น natural corridor ให้กับสัตว์ในเมือง เป็นทางเลือกเส้นทางสัญจร กระตุ้นการใช้ที่ดินและเศรษฐกิจของย่านริมคลองที่จะช่วยฟื้นวิถีนิมน้ำให้กลับมาอย่างร่วมสมัย

6. อาคารเขียว

อาคารถือเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ทรัพยากรในการทำทั้งวัสดุการขนส่ง ตลอดจนการใช้พลังงานในการทำให้อาคารตอบสนองกับการใช้งานต่างๆทั้งเครื่องปรับอากาศ ไฟฟ้าแสงสว่าง นอกจากนั้นอาคารยังสร้างภาวะเกราะความร้อนที่ส่งผลต่ออุณหภูมิในเมืองที่สูงขึ้น ประกอบกับความท้าทายเรื่องสุขลักษณะที่มากขึ้นจาก COVID-19 การปรับเปลี่ยนอาคารที่มีอยู่แล้วในเมืองหรือแนวทางในการสร้างอาคารต่อจากนี้ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สามารถมีอากาศถ่ายเทกับภายนอก ลดการใช้เครื่องปรับอากาศ มีหลังคาเขียวตลอดจนพื้นที่สีเขียวแทรกตามจุดต่างๆ เพื่อลดความร้อนสู่อาคารและแสงสะท้อนสู่ภายนอก ตลอดจนใช้วัสดุที่ผลิตได้ในพื้นที่ ใช้พลังงานสะอาด มีระบบการจัดการขยะที่ดี มีระบบการคัดกรองและทำความสะอาดเชื้อที่ได้มาตรฐาน มีระบบเทคโนโลยีบริหารจัดการการใช้พลังงานในอาคารอย่างมีประสิทธิภาพทั้งนี้เพื่อให้อาคารไม่เพียงแต่เป็นที่ทำกิจกรรมผู้คนได้อย่างปลอดภัยแต่ยังลดผลกระทบทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย การลงทุนนี้จะสร้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากจากอุตสาหกรรมการก่อสร้างและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เช่น ลอนดอนได้กำหนดให้อาคารสร้างใหม่จากนี้ต้องเป็น net zero emission คือปล่อยก๊าชเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี 2030)

eco-business.com

7. การจัดการขยะ

ด้วยCovid 19 ทำให้เราผลิตขยะมากขึ้นมากขึ้นจนกกิจกรรมเพื่อการบริโภค การdelivery และเพื่อการรักษาสุขอนามัย ส่งผลให้ปริมาณขยะเพิ่มขึ้น (ขยะจากครัวเรือนทั้งประเทศไทยเพิ่มขึ้นในช่วง lockdown กว่า 15% เทียบกับช่วงเวลาปกติ) สิ่งที่รัฐต้องลงทุนจากนี้ คือการส่งเสริมวัสดุ อุปกรณ์ ที่ย่อยสลายได้ให้สามารถใช้ได้อย่างทั่วถึง เพื่อลดปริมาณขยะต้นทาง อีกทั้งระบบการทิ้งขยะที่ต้องรวมขยะติดเชื้อ นอกจากนั้นอาจต้องนำเทคโนโลยีมาช่วยในการ คัดแยกขยะเพื่อใช้ในการรีไซเคิลแทนการใช้คนเพื่อลดโอกาสของการแพร่เชื้อที่จะเสี่ยงมากขึ้น

8. พลังงานสีเขียว

เราได้เห็นปรากฏการณ์ที่การลดการใช้พลังงานที่มาจากฟอสซิลในช่วงล็อกดาวน์ส่งผลให้การปล่อยก๊าชเรือนกระจกลดลง ส่งผลดีต่อวิกฤติโลกร้อนที่เรามีเป้าหมายในการลดปริมาณการปช่อยก๊าซก่อนที่สถานการณ์จะเลวร้ายไปมากกว่านี้ พลังงานสีเขียวคือการลงทุนที่คุ้มค่าในเมื่อกิจกรรมของมนุษย์ยังต้องดำเนินไปบนโลกใบนี้ เพราะนอกจากจะสร้างงานแล้ว ยังเป็นการสร้างทางเลือกของพลังงานทดแทนฟอสซิลที่กำลังจะหมดไป และที่สำคัญเป็นพลังงานที่ยั่งยืนไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันจะนำมาซึ่งปัญหาได้ในอนาคต ในเมืองมีหลังคาและพื้นที่ดาดแข็งลานจอดรถ ลานคอนกรีต อยู่เป็นจำนวนมาก ที่เป็นทรัพยากรต้นทุนที่มีที่เราสามารถปรับมาเป็นแหล่งพลังงานจากsolar ได้ มีการประเมินว่า การลงทุนด้าน พลังงานสีเขียวจะช่วยสร้าง GDP ของโลกได้ประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์ และสร้างงานได้ราว 42 ล้านอัตรา ภายในปี 2050

photo by REUTERS/Muyu Xu

9. โครงสร้างพื้นฐานด้านสุขลักษณะ

เมืองในยุคต่อจากนี้ต้องการโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขลักษณะในพื้นที่สาธารณะที่จะสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการออกไปใช้ชีวิตในเมือง ทั้งทางเท้า ตลาด ร้านค้าร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ซึ่งรัฐต้องหันมาสนับสนุนการลงทุนนี้ ทั้งการปรับกายภาพให้เกิดsocial distance ที่เหมาะสมต่อการนั่ง เดิน ทานอาหาร จับจ่าย เดินทาง ใช้สอย มีระบบ touch less ต่างๆ เพื่อให้การใช้ชีวิตไม่ต้องสัมผัสกับสิ่งรอบตัว มีระบบจัดปริมาณคนและระยะเวลาในการใช้สถานที่ มีระบบทำความสะอาดบุคคลและสถานที่ให้ปลอดเชื้อทั้งก่อนและหลังการใช้งาน มีระบบติดตามประวัติการเดินทางของบุคคลเพื่อแจ้งเตือนและติดตามตัวหากเกิดเหตุการติดเชื้อ เช่น หลายเมืองในสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย เรื่มติดตั้ง ระบบ touchless crossing ที่สัญญาณไฟจะเขียวจะเป็นไปตามการคำนวณปริมาณคนที่ข้ามถนนแต่ละจุด เพื่อหลีกเลี่ยงการต้องกดปุ่มเพื่อควบคุมสัญญาณไฟ

10. โครงสร้างพื้นฐานด้าน IT และ smart city

เมื่อชีวิตต้องมีระยะห่างมากขึ้น เทคโนโลยีการสื่อสารจะเข้ามามีส่วนสำคัญในการทำให้ธุรกิจ กิจกรรม การปฏิสัมพันธ์ การเรียนการสอน สามารถดำเนินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านนี้ให้มีประสิทธิภาพและรวมถึงให้เกิดการเข้าถึงได้ของคนทุกกลุ่มนั้นเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งวิถีของออนไลน์นี้มันยังส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมในภาพรวมต่อกสรลดการเสียทรัพยากรที่ใช้ไปมนการเดินทางและทรัพยากรเวลาด้วย

 

นอกจากมีเป้าหมายที่ชัด (clear goal ) เพื่อการสร้างความยั่งยืนเป็นที่ตั้งแล้ว ยังต้องอาศัยความร่วมมือของหุ้นส่วนในการพัฒนา (partnership) ที่ประกอบไปด้วยทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน วิชาชีพ วิชาการ ประชาสังคม ประชาชน โดยมีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน (public paticipation) ในทุกขั้นตอนเพื่อสร้างความเป็นเจ้าของร่วมและเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการที่สอดคล้องกับสถานการณ์ การมีฐานข้อมูล (data) จึงเป็นปัจจัยสำคัญ

 

สิ่งสำคัญเมื่อรัฐไม่อาจขับเคลื่อนเพียงลำพัง การมีนโยบายกระตุ้น (inventive policy ) จะเป็นกลไกที่เอื้อให้แต่ละฝ่ายสามารถแบ่งปันทรัพยากรที่มีเพื่อช่วยในการพัฒนาได้ ทั้งทุนที่ดิน องค์ความรู้ และเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงทุกฝ่ายให้ทำงานร่วมกันกลไกกลาง (platform ) จึงมีบทบาทสำคัญในกระบวนการนี้ สุดท้ายกระะบวนการฟื้นฟูนี้ต้องทำพร้อมๆ ไปกับการสื่อสารและค้นหาคุณค่าใหม่ (new norms) ที่จะเป็นจุดร่วมของสังคมนับจากนี้

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

wri.org

weforum.org

mymodernmet.com

wri.org/after-covid-19-5-ways-india-can-pursue-sustainable-and-resilient-recovery

voicetv.co.th

e-zigurat.com

reuters.com

project-syndicate.org

unescap.org

jll.co.th

assets.website-files.com

theverge.com

bangkokpost.com

theguardian.com

unenvironment.org

patch.com

 

  • Yossapon Boonsom

    ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker

Share :