CITY CRACKER

พื้นที่สาธารณะเป็นของใคร ? พัฒนาเมืองด้วยการฟังเสียงทุกคนอย่างเท่าเทียม

เวลาเราพูดถึงพื้นที่สาธารณะอย่างทางเท้า สวนสาธารณะ แม่น้ำลำคลอง ฯลฯ เรามักเข้าใจว่าคือที่ของรัฐ คือสิ่งที่รัฐต้องทำตามแต่ที่รัฐจะเห็นสมควร แต่ความเป็นจริงแล้ว รัฐไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินสาธารณะเหล่านั้น หากแต่เป็นสมบัติของเรา ที่รัฐมีหน้าที่ในการดูแลบริหารจัดการเพื่อสร้างให้เกิดประโยชน์แก่คนทุกคน

อำนาจการคิด ออกแบบ หรือกระทั่งการสร้าง ดูจะเป็นความคุ้นชิน เป็นวัฒนธรรมหรือความเข้าใจของรัฐไปแล้วว่ารัฐมีอำนาจในการทำและบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะนั้น (เอง) โดยไม่ต้องคำนึงถึงเสียงความต้องการของชุมชนและสังคม (ก็ได้) และหลงลืมไปว่า งบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการนั้นก็ได้มาจากภาษีของประชาชนทุกคน

ชองกเยชอนเมืองไทย ชองเอลิเซ่เมืองไทย สวนดอกไม้ สนามหญ้าเรียบๆ ทางเดินริมน้ำแบบต่างประเทศ ฯลฯ คือสิ่งที่รัฐและตัวแทนรัฐมักหยิบยื่นหรือครอบความคิดให้สังคมว่าคือ ‘สิ่งที่ดี’ เป็นสิ่งที่เราควรจะมี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี โดยหลงลืมไปว่าสังคมคิดและเห็นอย่างไร แต่แท้จริงแล้วพื้นที่สาธารณะมีมิติที่สร้างประโยชน์และมีทางเลือกได้มากกว่านั้น ดังที่เราเห็นตัวอย่างดีๆ ต่อการใช้ที่ดินรัฐเป็นพื้นที่อาหารปลูกผัก เป็นพื้นที่ป่าสร้างระบบนิเวศน์ เป็นที่รับน้ำท่วม เป็นที่สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ไปจนถึงสะท้อนอัตลักษณ์วัฒนธรรม และเป็นลานกิจกรรมชุมชน พื้นที่สาธารณะจึงไม่ได้มีแต่แบบแผน (stereotype)  หรือกรอบความคิดที่รัฐหยิบยื่นให้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น 

ด้วยทัศนคติที่สะท้อนสู่วิธีการทำงานที่ไม่ชวนสังคมร่วมคิดไปด้วยกัน หลายครั้งทำให้เกิดระยะห่างระหว่างคนกับรัฐ ระหว่างคนกับพื้นที่สาธารณะที่เราไม่ได้เห็นว่ามันคือ ของร่วม หรือเป็นของเราทุกคน เมื่อไม่ใช่ของเราแต่เป็นของรัฐ ความรู้สึกต่อความหวงแหน ดูแล และเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมพัฒนาต่อยอดเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเราทุกคนจึงไม่มี

 

 

ด้วยกลไกและวิธีการเดิมนี้ทำให้ไม่มีช่องทางใดให้เราเข้าไปมีส่วนร่วมได้ นอกจากไปใช้ ไปถ่ายรูป ตามแต่ที่รัฐจะเอื้อให้เกิด หรือวิธีการที่อาจเรียกได้ว่า top down หรือ exclusive ที่กดทับภาวะพลเมืองให้อ่อนแอลงไปเรื่อยๆ จนเราไม่ได้ตระหนักว่าเรามีสิทธิ์ที่จะให้ความเห็น หรือมีสิทธิ์ที่จะฝันและรัฐมีหน้าที่รับฟัง มีหน้าที่ในการเป็นกลไกทำพื้นที่สาธารณะเพื่อตอบสนองสังคม อย่างแท้จริง ไม่ใช่เพื่อตอบโจทย์อื่น ไม่ว่าจะเป็นโจทย์ทางการเมือง อำนาจ หรือกลุ่มทุน

 

“ขอบคุณนะที่มาถามความคิดเห็น ป้าไม่รู้เลยว่ามีสิทธิ์ที่จะบอกด้วย”

คำขอบคุณเชิงตัดพ้อจากชุมชนในพื้นที่เวลามีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่อการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ

 

ถ้าเรามอง หรือมีทัศนคติต่อการพัฒนาพื้นที่สาธารณะที่เปลี่ยนไป เพื่อให้กระบวนการนี้สร้างกายภาพควบคู่ไปกับการสร้างสังคมและพลเมือง และมองพลเมืองทุกคนอย่างเท่าเทียมในฐานะเจ้าของ ไม่ใช่ผู้ไปใช้สวนด้วยแล้ว เราจะมีวิธีการพัฒนาพื้นที่สาธารณะและเมืองที่ต่างออกไปจากนี้มาก

เราจะสื่อสารทุกขั้นตอนกับสังคม

เราจะรับฟังแบบได้ยิน ไม่ใช่เพียงแค่ทำ

เราจะยืดหยุ่นต่อทางเลือกที่หลากหลายปราศจากธง

เราจะเห็นพื้นที่สาธารณะมากกว่าสีเขียวและสวนสวย

เราจะเห็นพื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่โอกาสสำหรับพลเมืองที่เปลี่ยนแปลงได้

เราจะให้เวลาและความสำคัญกับกระบวนการมากกว่าเร่งรีบตอบโจทย์ทางการเมือง

เราจะลงทุนกับการสร้างกลไก องค์ความรู้ กฎเกณฑ์ที่จะเอื้อ กระตุ้นให้เกิดโครงการดีๆ ให้มากพอๆ กับการลงทุนเพื่อสร้างกายภาพ

เราจะสนับสนุนการสร้างคนและพลเมืองผ่านการมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน เพราะพื้นที่สาธารณะเป็นของเราทุกคนตั้งแต่แรก เราจึงต้องร่วมกันสร้าง เพื่อประโยชน์ร่วมของเราทุกคน

 

การพัฒนาผ่านการมีส่วนร่วม หรือ Co Creation คือกลไกของการพัฒนาใหม่ที่ไม่เพียงแสวงหาแนวทางแก้ใหม่ๆ แต่เป็นการคืนอำนาจเพื่อให้ผู้คนได้ดึงศักยภาพกลับมากำหนดการพัฒนาเมืองได้อีกครั้ง โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่สาธารณะผ่านการมีส่วนร่วม ที่แท้จริงแล้วเราไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูเมืองและคุณภาพชีวิตของผู้คนเท่านั้น แต่ด้วยกระบวนการที่เข้าไปช่วยปลุกความเชื่อมั่นของเราทุกคนกลับมาอีกครั้งว่า เราสามารถที่จะร่วมกำหนดทิศทางของการใช้ทรัพยากรเพื่อการพัฒนาเมืองด้วย

หากแต่ว่าสิ่งที่เราทุกคนลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างมีส่วนร่วมนี้ (Co creation) กลับยังเป็นในระดับของการสะกิดระบบและอำนาจเดิมที่ยังดำรงอยู่ แต่ใช่ว่าจะไม่มีผล เพราะหลายๆ การสะกิดจากพลังเล็กๆ เหล่านี้ก็ได้ลงมือทำผ่านงานในพื้นที่ ทำสวนเล็กๆ ทำบ้านผู้มีรายได้น้อย ทำผังเมืองอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่ได้มีแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่คิดแบบนี้ แต่ทุกคนกำลังคิดตรงกัน และกำลังสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคม

และความท้าทายคือ เราจะทำอย่างไรให้การลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างมีส่วนร่วมนี้สามารถสร้างให้วิสัยทัศน์ของใหม่ให้กับสังคม รวมถึงให้รัฐที่จะหันมาใช้การส่วนร่วมมีส่วนร่วมเป็นหนึ่งเครื่องมือกของการพัฒนาเมือง อันจะเป็นการพัฒนาที่สร้างประโยชน์สำหรับเราทุกคนอย่างแท้จริงอย่างไร

  • Yossapon Boonsom

    ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker

Share :