CITY CRACKER

ปลูกต้นไม้ในจุดที่ขาด? ลงทุนกับพื้นที่สีเขียวอย่างไรให้ยั่งยืน

การลงทุนกับพื้นที่สีเขียวนั้นยั่งยืนและเป็นทางรอดของโลกที่กำลังเผชิญกับวิกฤติภาวะโลกร้อน หลายประเทศเริ่มแล้วอย่างเป็นรูปธรรม เช่น อินเดียหนึ่งในประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก ได้เริ่มทำตามพันธะสัญญาที่ให้ไว้ในข้อตกลง Paris Agreement ในการที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวอีก 31 ล้านไร่ภายในปีค ศ 2030 โดยที่อินเดียมีการรณรงค์ให้ปลูกต้นไม้ภายในวันเดียวถึง 66 ล้านต้น

 

กทม. เองก็กำลังมีนโยบายปลูกต้นไม้ 100,000 ต้นใน 1 ปี ตามสถานที่ต่างๆ ของทั้งรัฐและเอกชน ถ้าเลือกได้ เราอยากให้มันถูกปลูกที่ไหน? แต่สำหรับผมการนำต้นไม้ไปปลูกใน ‘สวนสาธารณะ’ คือสถานที่สุดท้ายที่นึกถึง เพราะมันเต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียวและต้นไม้มากพอแล้ว ทำไมเราไม่เอางบประมาณและต้นไม้เหล่านี้ืิไปปลูกในจุดที่ ‘ขาด’ เช่น ปลูกบริเวณทางเท้าเพื่อให้ร่มเงา ลานคอนกรีตต่างๆ อย่างลานจอดรถตามสถานที่ราชการหรือศูนย์การค้า ดาดฟ้าอาคาร พื้นที่รกร้างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ทั้งของรัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดประโยชน์ตามเจตนารมณ์ แต่ก็ยังมีหลายสิ่งที่ต้องนำมาคิดต่อคือ

1. เราควรมีฐานข้อมูลเพื่อบอกว่าตรงไหน หรือเขตไหนของเมืองที่ขาดปริมาณต้นไม้ เพื่อกำหนดเป็นพื้นที่เป้าหมาย มากกว่าเลือกปลูกตามความสะดวกอย่างเดียว

2. ทำไมต้อง 100,000 ต้น? เราต้องการการวิเคราะห์ในเชิงข้อมูลเพื่อสรุปปริมาณต้นไม้ หรือ Tree Coverage Area ที่เมืองต้องการในการต่อสู้กับภาวะเกราะความร้อนในเมือง (urban heat island) และรวมถึงต่อสู้กับปัญหามลภาวะอากาศอย่าง pm2.5 หลายเมืองในโลกทำฐานข้อมูลของปริมาณต้นไม้ในเมืองเพื่อใช้ในการอนุรักษ์และวางแผนการดำเนินการอย่างจริงจังเช่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ เป็นต้น

3. เราควรเลือกต้นไม้แบบไหนมาปลูกเพื่อช่วยเพิ่มความหลากหลายของระบบนิเวศน์ของเมือง เป็นป่าให้กับเมือง เช่นการเลือกพุ่มใบที่ช่วยกรองฝุ่นดูดซับ CO2 ได้มาก หรือเลือกพุ่มใบที่แผ่กว้างให้ร่มเงาที่เหมาะกับเมืองร้อนอย่าง กทม.

4. ผลักดันให้มี ‘นโยบาย’ ที่ช่วยกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เมืองอย่างยั่งยืน มากกว่าการขอความร่วมมือเป็นครั้งคราวอย่างที่เป็นอยู่ บางเมืองในสหรัฐอเมริกา มีการออกมาตรการให้ประชาชนสามารถนำเงินที่ซื้อต้นไม้ไปปลูกมาลดหย่อนภาษีได้ หรือไทเปเองก็มีกองทุนที่สนับสนุนให้ชุมชนพัฒนาพื้นที่รกร้างเป็นสวนสาธารณะขนาดเล็ก

5. องค์กรที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ต้องมีอำนาจ บุคลากร และวิสัยทัศน์ ที่มองพื้นที่สีเขียวเป็นกลไกเชิงรุกเพื่อเปลี่ยนเมือง ในโลกที่เมืองกำลังเป็นเครื่องมือต่อกรสร้างความแข่งขัน สร้างเศรษฐกิจ และสร้างโอกาสให้กับผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ

 

ถ้าเราไม่เปลี่ยนตัวเองให้ทันกับความท้าทายและมีเป้าหมายที่ชัดเจน เราก็จะพัฒนาเมืองไม่เต็มศักยภาพและเกิดการเสียโอกาส แต่เมื่อเป้าหมายชัดเจนเราทุกคนก็จะเป็นส่วนเติมเต็มในนั้นได้

 

Illustration by Thitaporn Waiudomwut

 

  • Yossapon Boonsom

    ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker

Share :