CITY CRACKER

วาคานด้าคือเมืองในฝัน? 6 ประเด็นเรื่องผังเมืองและการพัฒนาเมืองจากวาคานด้า

กลับมาอีกครั้งกับการที่เราได้เยือนวาคานด้า แม้ว่าคราวนี้หนึ่งในบรรยากาศหลักของเรื่องคือความโศกเศร้าจากการสูญเสีย ‘แบล็ค แพนเธอร์’ ไป แต่ภาพของวาคานด้าที่นำเอาวัฒนธรรมชนเผ่าของอัฟริกามาตีความไปสู่เมืองล้ำยุคแห่งอนาคต​ ก็ยังสร้างความตื่นตาตื่นใจให้เราได้อีกครั้​ง และคราวนี้ยังมีอาณาจักรใต้ทะเลมาร่วมพาเราจินตนาการถึงเมืองรูปแบบอื่นด้วย

 

เรารักวาคานด้า แน่นอนว่าวาคานด้าถือเป็นภาพจินตนาการแรกๆ ที่มาเวลนำเอาวัฒนธรรมอัฟริกามานำเสนอให้กับโลกในมิติใหม่ เป็นภาพกลุ่มอารยธรรมที่ไม่ยากจน​ แต่ทว่าล้ำยุค และร่ำรวยจากทรัพยากรสำคัญคือแร่ไวเบรเนียม วาคานด้าในฐานะเมืองในจินตนาการ คือพื้นที่ที่เจริญเติบโตขึ้นท่ามกลางธรรมชาติและการปิดบังตัวเองออกจากสังคมโลกจนกลายเป็นรูปแบบเมืองที่เปิดโอกาสให้นักออกแบบสร้างเมืองที่มีลักษณะเฉพาะขึ้น​ นอกจากสีสัน งานออกแบบและการประยุกต์ประวัติศาสตร์ไปสู่การสร้างเมืองล้ำสมัยแล้ว ในช่วงที่แบล็คแพนเธอร์ภาคแรกสร้างกระแสสำคัญขึ้นมา นักผังเมือง สื่อชั้นนำรวมถึงสื่อด้านเมืองและสถาปัตยกรรม​เองต่างก็ออกมาให้ความเห็นว่า วาคานด้าเป็นเมืองที่น่าสนใจ​ บ้างก็บอกว่าตนเองยินดีจะไปใช้ชีวิตที่นั่น​ บ้างก็ชี้ให้เห็นว่าเมืองจินตนาการในป่าเขาที่แสนฉูดฉาดนี้ อาจให้บทเรียนเรื่องเมืองและอนาคตของเมืองที่ดีได้

ในโอกาสที่วาคานด้ากลับมาผงาดอีกครั้​ง​ City Cracker ชวนไปเยี่ยมชมเมืองวาคานด้า ถึงความเป็นเมืองที่ดี ลักษณะเฉพาะของเมืองในจินตนาการและเมืองแห่งอนาคตที่อาจช่วยแนะนำและวาดภาพเมืองแห่งอนาคตของเราต่อไป​ การเป็นเมืองของผู้คน​ ดินแดนที่เฟื่องฟูและไม่มีการแบ่งแยกจากพื้นที่ชนบทและธรรมชาติ​ รวมถึงการเป็นเมืองในอุดมคติที่ตอบแนวคิดสำคัญ​ๆ​ ทั้งเมืองเดินได้ การรักษาความเป็นชุมชนและการเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยสีสันและกลิ่นอายของความหลากหลาย

 

Grassroot Urbanism การพัฒนาเมืองจากรากฝอย

การวาดภาพเมืองขึ้น​มา​ ด้านหนึ่งวาคานด้ามีลักษณะเป็นเมืองในอุดมคติ​ เป็นประเทศลึกลับที่มีความเจริญก้าวหน้าและด้านหนึ่งก็นับว่าเป็นเมืองที่ดีเมืองหนึ่ง​ เป็นดินแดนแห่งความมั่งคั่งและความผาสุข เบื้องต้น​ ภาพเมืองวาคานด้าที่ล้ำสมัยและฉูดฉาดนั้นก็สะท้อนถึงการเป็นเมืองที่มอบความเป็นอยู่ที่ดีให้กับผู้คนในส่วนผสมของเทคโนโลยีและความเป็นพื้นถิ่นได้อย่างน่าหลงใหล

ในการพัฒนาเมืองนั้น​ ด้วยบริบทเฉพาะของวาคานด้าทำให้นักผังเมืองมองว่าวาคานด้าไม่ได้มีรูปแบบการเติบโตของเมืองเหมือนกับเมืองทั่วๆ ไป​ เช่น การแทนที่พื้นที่ชนบทไปสู่พื้นที่เมือง การมีวัฒนธรรมรถยนต์เป็นศูนย์กลาง​ มีนักวิชาการบางคนตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่าวาคานด้าน่าจะไม่ได้เป็นการพัฒนาแบบบนลงล่าง คือวาคานด้าน่าจะไม่มีแผนการพัฒนาหลัก ดูจากอาคารและลักษณะการเติบโตของเมืองที่เป็นกลุ่มก้อน​ แต่ละพื้นที่ตอบโจทย์การใช้งานของผู้คน เช่น ตึกสูงที่เป็นอาคารพักอาศัย ตลาด​ ลานกว้างและพื้นที่อื่นๆ การเติบโตนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาเมืองจากรากฝอย (Grassroot Urbanism) คือพลเมืองหรือผู้คนเป็นผู้กำหนดหน้าตาและรูปแบบการใช้งานพื้นที่เมืองจากล่างขึ้นบน อาคารสูงที่เป็นที่พักอาศัยอาจเป็นการอยู่อาศัยร่วมกัน ตลาดและการแลกเปลี่ยนค้าขายก็อาจเป็นไปโดยอิสระและพัฒนาต่อเนื่องมาจากการพื้นที่ของหมู่บ้าน

 

Human Scale and Pedestrian Friendly เมือง ‘สเกลมนุษย์’ ที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้คน

ในขั้นตอนการออกแบบงานสร้าง โปรดักชั่นดีไซเนอร์ Hannah Beachler ผู้ออกแบบหลักของวาคานด้าและนำแบล็คแพนเธอร์รับออสการ์ กล่าวว่าในการออกแบบวาคานด้า เทคโนโลยีของมหานครนั้นทำหน้าที่เชื่อมต่อ​ ‘ผู้คน’ เข้าหากัน หัวใจของวาคานด้าคือผู้คน​ เมืองและเทคโนโลยี โดยทีมออกแบบมีการศึกษาอย่างละเอียดและใช้วัฒนธรรมพื้นถิ่นผสมเข้ากับเส้นสายและอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมของซาฮา ฮาดิด

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ข้อสังเกตต่อเมืองวาคานด้าคือเป็นเมืองที่ให้ความสำคัญกับผู้คน​ เป็นเมืองที่มี ‘สเกลมนุษย์’ เป็นหัวใจของเมือง ในภาพรวมเราจะเห็นภาพของเมืองที่เต็มไปด้วยผู้คน​ วาคานด้าล้ำไปด้วยเทคโนโลยีก็จริง แต่ในเมืองเราจะเห็นผู้คนและวิถีชีวิตของชาววาคานด้าเสมอ เราเห็นเมืองที่ผู้คนทุกชนชั้นทุกเผ่าพันธุ์อยู่ตามท้องถนน​ ได้เห็นแผงอาหารของคนพื้นเมือง วาคานด้าแทบจะเป็นเมืองไร้รถยนต์​ มีระบบขนส่งสาธารณะเชื่อมต่อพื้นที่ต่างๆ เป็นเมืองแห่งอนาคตที่ไม่ได้มีแค่ตึกสูงเสียดฟ้าและกดให้คนตัวเล็กลง แต่ทั้งเมือง สาธารณูปโภคต่างก็เอื้อให้ผู้คนมีชีวิต

 

All Shape, Size and Texture City สถาปัตยกรรมที่สะท้อนความหลากหลาย

ความพิเศษของวาคานด้าในฐานะเมืองแห่งอนาคตคือ ‘ความหลากหลาย’ วาคานด้าเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยผู้คนและเต็มไปด้วยสีสัน วาคานด้าแตกต่างจากเมืองในอนาคตอื่นๆ ที่มักเป็นภาพของเมืองที่สูงเสียดฟ้าหรือใหญ่มหึหาและมีลักษณะที่ซ้ำกัน เช่น เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยกระจก​ โดมหรือโลหะ แต่วาคานด้าเป็นเมืองที่สร้างขึ้นบนความหลากหลายรวมถึงลักษณะทางสถาปัตยกรรมด้วย เราจะเห็นวัสดุที่แตกต่างกัน เห็นอาคารที่เต็มไปด้วยรูปทรงที่หลากหลาย เห็นพื้นผิว เห็นผ้า สี​ ลวดลายที่อยู่ร่วมกับวัสดุและเทคโนโลยีใหม่ได้อย่างน่าทึ่ง​ ในแง่นี้สถาปัตยกรรมของวาคานด้าจึงอวลไปด้วยกลิ่นอายของผู้คนที่สะท้อนถึงความหลากหลาย ทำให้เมืองเองก็มีสีสัน มีความเคลื่อนไหวไม่ต่างกับผู้คนและวัฒนธรรมที่หล่อเลี้ยงวาคานด้าจนกลายเป็นมหานครแห่งอนาคต

 

Co-exist of Past and Future เมืองที่เติบโตและรักษาอดีตไว้ได้อย่างลงตัว

มีคำกล่าวว่า เมืองที่ดีคือเมืองที่รักษาอดีตของตัวเองไว้ วาคานด้าจึงเป็นตัวอย่างที่มีความเป็นอุดมคติมากของการเป็นเมืองและกลุ่มอารยธรรมที่ทั้งรักษาอดีต ​เช่น ขนบธรรมเนียมให้เคียงคู่กับวิถีชีวิตและเทคโนโลยีแห่งอนาคต​ให้เฟื่องฟูไปพร้อมกันได้อย่างน่าสนใจ​ ในเมืองวาคานด้าเราจะเห็นถึงวิถีชีวิตและความเชื่อแบบพื้นถิ่นหรือชนเผ่า ที่ยังมีพื้นที่ของตัวเอง การเต้นรำ พิธีกรรม​ รวมถึงหลักความคิดบางอย่างที่ผู้คนยังยึดถือและทั้งหมดนั้นก็สะท้อนอยู่ในพื้นที่เมืองอันเป็นเมืองแห่งอนาคตที่มีอดีตอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน

 

Nature City เมืองล้ำสมัยท่ามกลางธรรมชาติ

แน่นอนว่าจุดเด่นที่สุดอย่างหนึ่งของวาคานด้าในฐานะเมืองที่เติบโตขึ้นอย่างเฉพาะ คือการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ​ วากันมีความน่าสนใจคือเป็นเมืองที่รักษาอดีต​ คำว่าการดำรงอยู่ของอดีตในที่นี้บางส่วนสัมพันธ์กับวิถีชีวิต​ เราจะเห็นว่าเมืองวาคานด้ามีความเชื่อมต่อกันของพื้นที่ชนบทและพื้นที่เมือง ชาวเมืองวาคานด้ามีความสัมพันธ์ทั้งกับพื้นที่เกษตรกรรม​ การค้าขายสินค้าประจำวันที่อยู่ร่วมกับวิถีชีวิตล้ำสมัยได้

ตัวเมืองวาคานด้าไม่ได้แบ่งแยกเมืองออกจากธรรมชาติ​ เราจะเห็นภาพเมืองที่เติบโตขึ้นโดยเชื่อมต่อกับสายน้ำ เห็นวิถีชีวิตที่ยังคงสัมพันธ์กับธรรมชาติ​ รวมถึงเห็นอาคารที่ปกคลุมด้วยพืชพรรณราวกับออกแบบโดยสเตฟาโน โบเอรี วาคานด้าเป็นเมืองกลางป่าที่สวยงาม สงบสุขและมีเทคโลยีเป็นตัวเชื่อมผู้คนและธรรมชาติเข้าหากัน

 

Community Based Relation ชุมชนเมืองขนาดใหญ่ที่ผู้คนใกล้ชิดกัน

วาคานด้าเป็นเมืองในจินตนาการที่ผู้ออกแบบนึกถึงเมืองที่กลมกลืนและเติบโตขึ้นโดยมีอดีตและบริบทชุมชนรวมถึงวัฒนธรรมดั้งเดิมปรากฏอยู่​ โดยในบรรยากาศของวาคานด้า เราได้เห็นภาพความสัมพันธ์ของผู้คนที่ค่อนข้างคล้ายกับชุมชนแบบดั้งเดิม คือผู้คนมีความใกล้ชิดกัน มีการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าบริเวณท่าน้ำหรือตลาดเปิดโล่ง เมื่อเกิดภัยเราจะเห็นท่าทีของผู้คนที่พยายามช่วยเหลือกัน​ ความสัมพันธ์ในวาคานด้าคล้ายกับการจำลองภาพของสังคมพื้นเมืองที่มีความเป็นชุมชนและใกล้ชิดกันแม้จะอยู่ในเมืองที่มีขนาดมหึมาและเต็มไปด้วยคนแปลกหน้าก็ตาม

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

archive.curbed.com

bloomberg.com

edition.cnn.com

architecturaldigest.com

 

Graphic Designed by Montree Sommut
Share :