CITY CRACKER

ไม่มีเรา ก็ไปขึ้นเขาได้นะ Urban Hiking ในเมืองก็เดินเขาได้ แถมยังได้ประโยชน์

อากาศหนาวๆ แบบนี้ เราอาจจะคิดถึงเขา หมายถึงภูเขาสูงๆ ที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เราคิดถึงการไปเดินขึ้นภูเขา ชมธรรมชาติ รับอากาศเย็นๆ แต่พอพูดถึงการไปเดินเขา เราก็อาจจะรู้สึกว่าต้องเตรียมตัว ต้องลางาน เดินทางไปไกลหน่อย บ้างก็รู้สึกว่าอาจจะลำบากนิดหนึ่ง การไปเดินป่าหรือ hiking ต้องเตรียมอุปกรณ์ เตรียมเต้นท์ เตรียมเสบียง บางทีก็ต้องเตรียมใจไปนอนกลางป่าด้วยบ้าง

นอกจากว่าการไปเดินเขาแบบที่ต้องไปไกลๆ หรือไปหลายๆ วันแล้ว อันที่จริงการเดินเขาถือเป็นอีกกิจกรรมที่ทำในเมือง หรือในพื้นที่ใกล้ๆ เมือง เป็นทั้งกิจกรรมออกกำลังกายในชีวิตประจำวัน หรือเป็นการท่องเที่ยวพักผ่อนกึ่งออกกำลังกายระยะสั้นๆ ไปเช้าเย็นกลับก็ได้ นึกภาพว่าเมืองใหญ่บางเมืองเช่นเชียงใหม่ ด้วยสภาพภูมิประเทศ บางครั้งเราก็จะได้ไปเดินทางอาจจะเป็นเนิน ได้เดินขึ้นลง ได้สุขภาพอีกด้านพอๆ กับการเดินออกกำลัง

ดังนั้น Urban Hiking จึงเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่เราทำได้ ยิ่งในยุคโควิด ในบางประเทศเช่นสหรัฐอเมริกา การเดินเขาหรือเดินออกกำลังกายในป่าถือเป็นกิจรรมออกกำลังกายลำดับที่สอง ที่คนอเมริกันเก็บกระเป๋า ผูกเชือกรองเท้าและไปเดินท่องในป่าบนเนิน ซึ่งการเดินเขานี้กลายเป็นกิจกรรมพี่น้องกับการเดินออกกำลัง มีรายงานว่าในปี 2020 มีตัวเลขชาวอเมริกันกว่า 57 ล้านคนที่ออกไปเดินเข้าป่า ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมขึ้นอย่างมากหลังจากที่ซบเซามานานตั้งแต่ปี 2014

ถ้าเราดูกระแสการพัฒนาหรือสวนในหลายเมือง เราจะเห็นการแนะนำเส้นทางการเดินเขาในเมือง เดินชมธรรมชาติ ตัวอย่างที่สิงคโปร์เอง ระยะหลังเราจะเห็นการสร้างสวนที่เน้นไปที่ความเป็นธรรมชาติ การออกแบบเส้นทางสำหรับการเดินป่าโดยที่พื้นที่สวนป่านั้นอยู่ไม่ไกลเมือง ไปจนถึงการพัฒนาพื้นที่ป่าเดิมให้ประชาชนเข้าไปทำกิจกรรมทั้งการเดิน วิ่งและเดินเขาเพื่อส่งเสริมสุขภาพและกิจกรรมต่างๆ ได้

ในวันที่ลมหนาวเริ่มพัดมา City Cracker ชวนไปรู้จักการเดินเขาในเมือง พร้อมเส้นทางและพื้นที่ใกล้ๆ สำหรับวันว่างๆ โดยเริ่มตั้งแต่พื้นที่เขาเตี้ยๆ ในกรุงเทพฯ สวนที่ค่อนข้างมีลักษณะเป็นเนิน ไปจนถึงพื้นที่เดินป่าจริงจังที่ไม่ไกลในหลายรูปแบบ ป่าชายเลน ภูเขาน้อยๆ ใกล้ๆ ทะเล จากการเดินขึ้นเขาในชีวิตประจำวันจนถึงการไปเดินป่าแบบไปเช้าเย็นกลับได้

เดินเขากับประโยชน์ด้านสุขภาพ

การเดินเขาถือเป็นอีกกิจกรรมที่เราสามารถทำโดยหวังผลด้านสุขภาพและการลดน้ำหนักได้ การเดินเขาสามารถเบิร์นแคลอรี่ได้มากกว่าการวิ่งในระยะเวลาที่สั้นกว่า ทั้งยังเป็นกิจกรรมที่ดีกับหัวใจและหลอดเลือดไม่ต่างกัน ยิ่งถ้าเราเดินเขาจริงจังหน่อย มีการแบกของ การเดินขึ้นลงตามทางที่วิบากกว่าการวิ่ง ดังนั้นการเดินเขาอาจจะต้องมีความระมัดระวังจากการบาดเจ็บมากกว่าการวิ่ง อาจต้องเตรียมตัวและเตรียมอุปกรณ์มากกว่า

ทั้งนี้ การไปเดินป่าและเดินเขานั้นถือว่าเป็นกิจกรรมที่ให้ผลทางด้านจิตใจ มีงานศึกษาเรื่องการใช้เวลาพื้นที่ธรรมชาติสามารถลดความเครียด ลดความดันโลหิตได้ ลดความวิตกกังวลลงได้

เดินเขาในเมือง

การเดินเขาเป็นการออกกำลังที่เราอาจจะทำควบคู่กับการออกกำลังอื่นๆ ในวันอื่นๆ ได้ ทั้งการเดินเขายังนับว่าเป็นกิจกรรมที่ค่อนไปในการท่องเที่ยวพักผ่อนด้วยได้ ทั้งนี้สำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาและอยากใช้การเดินเขาเพื่อพักผ่อนและออกกำลัง เราก็สามารถเลือกพื้นที่มีความเป็นเนินของพื้นใกล้ๆ ในเมือง โดยทาง Mayo Clinic แนะนำว่าหากต้องการออกกำลังให้มีประสิทธิภาพ เราอาจจะเดินด้วยความเร็วเล็กน้อย ซึ่งทางมาโยคลินิก โรงพยาบาลและหน่วยงานด้านสุขภาพของอเมริกาก็แนะนำให้ใช้ไม้เท้าช่วยเดิน (walking pole) และระบุว่าการใช้ไม้เท้าเดินเช่นการขยับแขนช่วยเพิ่มการเผาผลาญพร้อมช่วยเรื่องการทรงตัวด้วย

ภูเขาทอง กรุงเทพฯ

การเดินเขาหลักๆ แล้วคือการหาเส้นทางหรือพื้นที่ของเมืองที่มีความลาดชัน มีลักษณะเป็นเนินน้อยใหญ่พอให้ได้เดินขึ้นลงรวมทั้งชมธรรมชาติไปด้วย ในกรุงเทพฯ เองอาจจะมีไม่เยอะนัก ดังนั้น ‘ภูเขาทอง’ จึงน่าจะเป็นพื้นที่ลำดับแรกๆ ที่คนกรุงเทพจะพอใช้ไปในทางการเดินเขาได้ ภูเขาทองนี้เป็นส่วนหนึ่งของวัดสระเกศ ตัวภูเขาเป็นภูเขาจำลองสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4

ลักษณะการเดินขึ้นภูเขาทองนั้นอาจจะไม่เชิงเป็นการเดินเขาด้วยว่าด้านบนมีลักษณะเป็นบันได 344 ขั้น แต่ด้วยพื้นที่วัดรวมถึงความเชื่อเรื่องบรมบรรพต เขาจำลองแห่งนี้จึงได้รับการตกแต่งและดูแลเป็นเหมือนสวนป่าแห่งหนึ่ง พื้นที่บริเวณตีนเขาร่มครึ้มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ ในขณะเดียวกันด้านบนภูเขาทองก็จะได้รับวิวกรุงเทพฯ จากพื้นที่กลางเมือง ทั้งนี้การเป็นพื้นที่วัดก็อาจจะทำให้ความรู้ในการเดินพิเศษยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกันการแต่งกายและการเดินขึ้นก็อาจจะต้องรัดกุมและไม่เน้นการออกกำลังกายมากนัก

สวนกีฬารามอินทรา กรุงเทพฯ

สวนกีฬารามอินทราถือเป็น hidden spot ของกรุงเทพฯ และของบริเวณรามอินทราที่ค่อนข้างถือว่าเป็นพื้นที่ชานเมือง ตัวสวนกีฬารามอินทราตั้งอยู่ในรามอินทราซอย 5 คือเป็นรามอินทราในส่วนที่ค่อนมาทางวงเวียนบางเขน คือไม่ไกลจากย่านสำคัญเช่นเกษตร บางเขน แต่ทว่าสวนแห่งนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชานเมืองของรามอินทรา คือตัวสวนตั้งอยู่ในซอยค่อนข้างลึก แต่เดิมพื้นที่ในซอยลึกนั้นมีลักษณะเป็นที่ทิ้งขยะและเป็นชุมชนค่อนข้างเสื่อมโทรม ทำอาชีพเกี่ยวกับการเก็บของเก่าเป็นหลัก แต่ด้วยการพัฒนาทำให้มีการปรับปรุงกองขยะและโรงงานกำจัดขยะเดิมขึ้นเป็นสวนสาธารณะที่เน้นเป็นสวนกีฬา

ด้วยลักษณะเดิมของการเป็นพื้นที่กองขยะ ตัวพื้นที่เดิมเป็นเนินดินคล้ายภูเขาขนาดเล็ก สวนแห่งใหม่จากพื้นที่ทิ้งขยะจึงได้รับการปรับปรุงและออกแบบให้เป็นสวนภูเขา สำหรับย่านรามอินทรานั้นปัจจุบันตัวสวนถือว่าเป็นภูเขาย่อมๆ ที่มีความร่มรื่นสวยงาม ทั้งภายในสวนยังได้รับการออกแบบและใช้งานเพื่อการกีฬาในหลายรูปแบบเช่นสนามกีฬาประเภทต่างๆ ทั้งในร่มและในอาคาร

 

ศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุง ปตท. กรุงเทพฯ

เหมือนได้ไปเดินป่าจริงๆ แต่เป็นป่าจำลอง และไม่ต้องไปไกล อยู่แค่ถนนสุขาภิบาล 2 โครงการศูนย์การเรียนรู้ป่าในกรุงเป็นโครงการพื้นที่ร้างกว่า 12 ไร่ของ ปตท. ไปสู่การจำลองป่าขนาดย่อมขึ้นไว้พื้นที่เมืองของกรุงเทพฯ ตัวป่าเองก็เน้นปลูกจำลองป่าในอดีตของกรุงเทพฯ รวบรวมไม้ดั้งเดิมและไม้หายาก โดยรวมจะเห็นว่าในพื้นที่มีลักษณะเป็นป่าจริงๆ พื้นที่แห่งนี้ถือว่าตอบโจทย์กับการเดินสำรวจธรรมชาติ เดินสำรวจป่า ในโครงการจะประกอบด้วยพื้นที่เดินชมด้านล่าง และส่วนไฮไลท์คือทางเดินลอยฟ้าพร้อมหอชมวิว

เราจะเห็นว่าระยะหลังเริ่มมีสวนที่ออกแบบเป็นป่าจำลอง โดยตัวสวนจะเน้นการเดินเป็นหลัก โดยการออกแบบที่เน้นตัวระบบนิเวศและแยกพื้นที่ธรรมชาติออกจากการรบกวน สวนหลายแห่งก็จะใช้เป็นทางเดินลอยฟ้าเพื่อให้ผู้มาเยือนได้เข้าชมและซึมซับธรรมชาติได้โดยเว้นระยะกับธรรมชาตินั้นๆ ในอีกด้านหนึ่งนั้นพื้นที่แห่งนี้ไม่เชิงเป็นสวนสาธารณะ สาธารณูปโภคและกิจกรรมจะเน้นการเดินเป็นหลักซึ่งก็ตอบโจทย์การเดินป่าในเมือง ทั้งนี้ด้วยความที่เป็นศูนย์เรียนรู้ การมาเดินที่สวนนี้ถือว่าสะดวกสบาย มีน้ำดื่ม ห้องน้ำ และมีการบรรยายความรู้ประกอบ ทั้งสวนป่าก็มีความเป็นป่า เป็นระบบนิเวศ มีแหล่งน้ำ มีสัตว์ต่างๆ ในได้พบปะด้วย

ป่าชายเลนพันท้ายนรสิงห์ สมุทรสาคร

เราอาจจะรู้สึกว่ากรุงเทพฯ ห่างไกลจากธรรมชาติ อันที่จริงด้วยลักษณะภูมิประเทศ กรุงเทพฯ มีฝั่งที่อยู่ใกล้ทะเล ใกล้กับปากอ่าว ทำให้พื้นที่ใกล้ๆ ของเรามีลักษณะพิเศษคือมีป่าชายเลนซึ่งเป็นทั้งพื้นที่ทางระบบนิเวศและพื้นที่ท่องเที่ยวที่ชาวกรุงเทพสามารถเดินทางไปท่องเที่ยว และแน่นอน ป่าชายเลนก็สามารถเป็นป่าอีกประเภทที่เราไปเดินป่าแบบจำลองๆ ซึ่งการเดินป่าชายเลนเช่นที่เส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนพันท้ายนรสิงห์นั้น ถือว่าไม่ไกล และไม่ลำบากมาก
จริงอยู่ว่าเส้นทางสามลำดับที่เลือกมาไม่เชิงว่าเป็นการเดินป่าเดินเขาที่จริงจังขนาดนั้น แต่ด้วยระยะทาง ด้วยลักษณะธรรมชาติก็ถือว่าเหมาะกับมือใหม่ เราอาจจะพกรองเท้าที่เหมาะสมและตั้งใจเดินเร็วๆ พื้นที่ก็ได้ทั้งชมธรรมชาติและได้ออกกำลังกาย สำหรับเส้นทางชมป่าชายเลนนี้ตั้งอยู่ด้านหลังศาลพันท้ายนรสิงห์ เส้นทางเดินเดินง่าย ร่มรื่นประกอบด้วยทางเดินปูนและสะพานแขวน ด้านล่างอุดมไปด้วยปลาตีนและปู

เขาตะเกียบ ประจวบคีรีขันธ์

หัวหินเป็นพื้นที่ที่คนกรุงเทพไปเที่ยวกันในช่วงสุดสัปดาห์ ขับรถไม่ไกลมาก อันที่จริงบริเวณชายหาดหัวหินที่ทอดยาวนั้น การเดินบนชายหาดก็จะนับเป็นการออกกำลังที่ดีได้ สิ่งที่เราอาจจะลืมไปคือใกล้ๆ ชายหาดหลายที่มักจะมีภูเขาหรือเนินน้อยๆ อยู่ด้วย ที่หัวหินเองก็เช่นกัน ที่เขาตะเกียบจะมีวัดเขาตะเกียบ คือบนเขาตะเกียบจะมีวัดและในวัดนั้นก็จะมีทางเดินขึ้นไปยังจุดชมวิว อันที่จริงสำหรับสายออกกำลังสามารถเดินขึ้นเขาจากแถวๆ หาดแล้วไปขึ้นภูเขาในวัดเพื่อไปยังจุดชมวิวได้ การเดินขึ้นเขานั้นอาจจะต้องระวังรถหน่อย แต่ถ้าไปช่วงเช้านอกจากจะได้ออกกำลังแล้ว เรายังได้มองเห็นหาดและบรรยากาศของหัวหินในมิติที่ต่างออกไป

หุบเขาตีนไก่ นครนายก

ส่งท้ายด้วยจุดเดินป่าและวิ่งออกกำลังที่มีความเดินป่าอย่างจริงจัง ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ และมือใหม่ไม่ใช่นักวิ่งก็ไปได้ หุบเขาตีนไก่ พื้นที่ธรรมชาติชื่อประหลาดนี้ตั้งอยู่บริเวณน้ำตกกะอาง อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ขับรถจากกรุงเทพฯ ไม่เกินสองชั่วโมง (ปักหมุดกูเกิลแมพที่ HQ Teenkai หุบเขาตีนไก่) ความพิเศษของหุบเขาตีนไก่คือบริเวณที่สามารถเดินวิ่งออกกำลังกายได้นั้น มีสามจุดหมายจากศูนย์กลาง ถ้ามองจากด้านบนจะเป็นแยกออกเป็นสามแยกเหมือนตีนไก่ ตรงนี้เองเลยทำให้การมาเดินวิ่งเส้นทางนี้ค่อนข้างง่าย คือมีปลายทางให้เลือกสามจุด การวิ่งครบทั้งสามเส้นคือต้องไปและกลับมาเริ่มที่จุดเริ่มต้นเสมอ
ปลายทางสามด้านของเขาตีนไก่ประกอบด้วยเส้นทางสามลักษณะคือทางไปทางผานางดำ เป็นจุดชมวิวและลานกางเต้นท์ ระยะทางไปกลับ 3 กิโลเมตร ความชันสะสม (gain) 150 เมตร ลักษณะเส้นทางเป็นคอนกรีตและลูกรังถือว่าง่ายที่สุด เส้นทางที่สองไปเขาหัวหมวก ปลายทางเป็นก้อนหินยักษ์และภาพเขียนสี ระยะทางไปกลับประมาณ 4 กิโลเมตร ความชันสะสม 250 เมตร มีช่วงท้ายๆ ค่อนข้างชันและลื่น เส้นทางสุดท้ายปลายทางเป็นน้ำตกสลัดได ระยะทางไปกลับ 5 กิโลเมตร มีช่วงเขาประมาณ 2 กิโลเมตร บางช่วงใกล้ๆ ธารน้ำตกลื่นบ้าง ความชันสะสม 300 เมตร
สำหรับหุบเขาตีนไก่เลยพิเศษเพราะเลือกเส้นทางได้ สำหรับมือโปรถ้าเดินหรือวิ่งครบทั้งสามเส้นทางจะได้ระยะสะสม 12 กิโลเมตร ความชันสะสม 650 เมตร อย่าลืมว่าจุดสุดท้ายเป็นพื้นที่ป่าจริงๆ ควรศึกษาเส้นทางและเตรียมตัวเพื่อความปลอดภัย ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดในเพจ https://web.facebook.com/teenkaitrail/
อ้างอิงข้อมูลจาก
http://www.yourhealthyguide.com/parks/park-ramindra.htm
Illustration by Montree Sommut
Share :