เรามักคุ้นเคยกับตึกแถวในฐานะที่อยู่อาศัย แต่สำหรับ The shophouse 1527 หรือตึกแถวหมายเลข 1527 ที่ตั้งอยู่ในชุมชนสามย่านถือเป็นความตั้งใจของ Cloud-floor และ IF (Integrated Field) กลุ่มสถาปนิกและนักออกแบบที่ต้องการนำเสนอเรื่องราวและความเป็นไปของเมืองด้วยการเปลี่ยนสถาปัตยกรรมที่พักอาศัยอย่างตึกแถวให้กลายเป็นพื้นที่แห่งการสนทนา ให้ตึกแถวหมายเลข 1527 นี้เป็นแพลตฟอร์มที่นำคอนเทนต์ในย่านมาเล่า
The shophouse 1527 เป็นพื้นที่ทดลองชั่วคราว ที่จะมีนิทรรศการเชิงประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นสามย่านทั้งในชุมชนสามย่านเอง หรือความเป็นสามย่านที่ไปปรากฏอยู่ตามที่ต่างๆ ในเมือง หมุนเวียนสลับกันไปในระยะเวลา 2 ปี แต่ตัวหลักก็คือพื้นที่ทางสถาปัตยกรรม ตัวตึกแถวนี้ทางผู้จัดก็เก็บบางอย่างไว้ให้คงอยู่ ร่องรอยต่างๆ ของการอยู่อาศัยที่ยังคงมีให้เห็น ซึ่งเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในตึกแถวแห่งนี้ก็เป็นที่มาของนิทรรศการแรกอย่าง Resonance of Lives at 1527
นิทรรศการ Resonance of Lives at 1527 พาเราไปดูร่องรอยของการอยู่อาศัย พร้อมทั้งเล่าเรื่องราวการเปลี่ยนผ่านของผู้เช่าเก่า คนงานก่อสร้าง และผู้เช่าใหม่ผ่านเสียง ไม่ต้องแปลกใจหากคุณเดินขึ้นเข้าไปด้านในแล้วได้ยินเสียงอะไรตึงตัง เพราะทางผู้จัดต้องการให้คุณลองจินตนาการห้องที่ว่างเปล่านั้นผ่านร่องรอยและเสียงที่ถูกดีไซน์มาให้คุณรู้สึกเหมือนมีกำแพง หรือมีอะไรอยู่เหนือหัว ทั้งที่ห้องนั้นเป็นเพียงห้องเปล่าที่มีเพียงลำโพงและรอยต่างๆ รอให้เราไปจินตนาการ ซึ่งทางผู้จัดบอกว่าถ้าเราเห็นหนึ่งอย่าง เราก็จะค่อยๆ เห็นรอยอื่นๆ ตามมา ซึ่งตรงนี้ถือเป็นความงามอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในตึกแถวหมายเลข 1527 แห่งนี้
เจ้าของบ้านและร่องรอยการอยู่อาศัย
ด้วยความที่ตึกแถวหลังนี้ไม่เคยเปลี่ยนมือเจ้าของมาก่อน และเจ้าของคนเก่าก็อยู่มาถึง 50 ปี ดังนั้นสิ่งของทุกอย่าง รอยต่างๆ ที่เกิดขึ้นในตึก คือร่องรอยของการใช้งาน Cloud-floor เล่าให้เราฟังว่าตอนที่เข้ามาสำรวจที่นี่เจอร่องรอยเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นเป็นสติ๊กเกอร์ ตุ๊กตา หรือแม้แต่เศษเหล็ก พวกเขาจึงคาดเดาการอยู่อาศัยของเจ้าของบ้านคนเก่าผ่านรอยของสิ่งของ ผ่านพื้นที่ ห้องนี้เคยเป็นห้องอะไร ใช้งานกี่คน จนวันที่ได้ไปคุยกับเจ้าของบ้านคนเก่าอย่าง ‘พี่รุ่งโรจน์’ ถึงได้รู้เรื่องจริงๆ ซึ่งความทรงจำต่างๆ ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องเล่าของตึกแถวหลังนี้ แต่ยังรวมไปถึงบริบทในชุมชนสามย่าน ที่ทำเอาทีมงานรู้สึกเหมือนได้ย้อนกลับไปในช่วงเวลาที่พี่รุ่งโรจน์เคยอาศัยอยู่จริงๆ
“เราในฐานะคนนอกเมื่อได้ฟังเรื่องราวของเขาก็เข้าใจอะไรได้ละเอียดขึ้น รู้สึกว่าทุกอย่างที่เป็นความทรงจำของเขามันน่าสนใจ เราอยากจะเล่าความทรงจำนี้เป็นคอนเทนต์แรกเพื่อให้เกียรติเขา หลังจากคุยกันเราก็สะสมเรื่องราวเก็บไว้ว่าเขาเมนชั่นจุดไหนในสามย่านบ้าง คือไม่ใช่แค่เรื่องของพี่รุ่งโรจน์ แต่ป็นพี่เขาและบริบทในสามย่าน ทุกอย่างที่ออกมาจากปากเขาสำหรับเรามันน่าสนใจมาก”
การเปลี่ยนผ่านของตึกแถวหมายเลข 1527
อย่างที่บอกกว่าตึกแถวหลังนี้ไม่เคยมีการเปลี่ยนมือเจ้าของเลย แต่กว่าจะมาเป็น The Shophouse 1527 หรือก่อนจะถึงมือผู้เช่ารายใหม่ได้ ก็ต้องมีคนกลางอย่าง ‘ช่าง’ ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงกายภาพบางอย่างของที่นี่ให้เป็นไปตามโปรแกรมที่วางไว้เสียก่อน เหมือนเป็นทรานสิชั่นระหว่างผู้เช่าเก่าและผู้เช้าใหม่
“เวลาเราเข้ามาที่ตึกทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันเป็นความงามโดยธรรมชาติ เป็น everyday life ของช่าง เราไม่เคยสังเกตใครชัดขนาดนี้ พอเราสังเกตการทำงานของคน หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เราตั้งใจมอง คนอื่นอาจจะไม่ได้ appreciated แต่เรารู้สึกว่ามันน่าสนใจ เราเห็นว่าหลายๆ คนชอบไปดูช่างทำงาน ซึ่งในอีกแง่ตัวช่างเองก็มีคอนเทนต์บางอย่างที่ถ้าเราเก็บโมเมนต์มาเล่าได้ก็น่าสนใจ”
Resonance of Lives at 1527
นิทรรศการแรกของ The Shophouse 1527 จึงนำเรื่องราวของทั้งสองสิ่งมารวมกัน โดยนำเสนอนิทรรศการออกมาในรูปแบบของนิทรรศการเชิงสัมผัส ตาดูหูฟัง ที่ชวนให้เราไปค้นหาสิ่งที่ได้ยินและการมองเห็น ตรงนี้เคยเป็นอะไร เสียงนี้ให้ความรู้สึกแบบไหน นิทรรศการนี้ Cloud-floor ทำงานร่วมกับ soi | ซอย ที่เข้ามาช่วยคิวเรตเรื่องราวที่ต้องการสื่อสาร และ DON BOY ที่เข้ามาทำ sound installation โดยนิทรรศการแรกนี้จะมีตั้งแต่ 17 สิงหาคมถึงวันที่ 13 ตุลาคม
“เราก็คิดว่าสองเรื่องนี้มันเป็นสองเรื่องที่เกิดขึ้นในสถานที่เดียวกัน มัน pararell กัน คนเคยอยู่ การทุบ การเข้าอยู่ใหม่ของเรา มันเกิดขึ้นในที่เดียวกันแต่ต่างเวลา ถ้าเราสามารถเล่าทุกสิ่งทุกอย่างได้แบบคู่ขนานให้เห็นทุกอย่างที่อยู่ในที่นี้แต่มันเกิดขึ้นในรูปแบบต่างๆ เป็น fact ที่เกิดขึ้นจริงๆ ซึ่งรูปแบบที่เรานำเสนอคือเสียง”
นิทรรศการ Resonance of Lives at 1527 จะแบ่งออกเป็นสองส่วนหลักๆ ด้วยกัน เมื่อเราเดินเข้าไปในตึกแถวแห่งนี้ ด้านล่างจะเป็นที่ขายของที่ระลึกและขายเครื่องดื่มที่จะเปลี่ยนไปตามคอนเทนต์ของนิทรรศการด้านบน เช่นครั้งนี้ก็เป็นเครื่องดื่มที่ได้แรงบันดาลใจมาจากพี่รุ่งโรจน์
เมื่อเดินเข้ามาด้านในก็จะพบกับรอยขนาดใหญ่ก่อนทางขึ้นบันได ที่มีตัวเลข 31,1,2513 ซึ่งรอยนี้ทาง Cloud-floor เล่าให้เราฟังว่านี่ถือเป็นไฮไลต์ของร่องรอยการอยู่อาศัยเลยก็ว่าได้ เพราะรอยนี้ได้มาจากการโบกปูนทับในตอนที่พี่รุ่งโรจน์ต้องการเจาะบ้าน แต่ด้วยความเป็นตึกแถวก็ทำให้มันทะลุไปบ้านข้างๆ ก็โดนเขาบ่น จนสุดท้ายก็ต้องโบกปูนทับลงไป แล้วพี่ชายของพี่รุ่งโรจน์ก็เลยเสนอไอเดียให้เขียนวันที่ลงไปซะเลย จึงเป็นที่มาของรอยนี้ แถมรอบๆ รอยนั้นก็มีรอยขีดเขียนบางอย่างบนกำแพงที่ชวนให้เราคิดว่าตอนนั้นพวกเขาคุยเรื่องอะไรกันอยู่
เราสามารถเดินขึ้นไปบนชั้นสองด้วยบันไดไม้ที่ถูกเก็บแผ่นไม้และปลี่ยนมาเป็นราวเหล็กแทนเพื่อความแข็งแรง และด้วยความที่พื้นมันบางมาก นิทรรศการนี้เลยจำกัดให้ผู้เข้าชมขึ้นไปด้านบนได้ครั้งละ 8 คนเท่านั้น เมื่อขึ้นไปข้างบนเราจะเจอกับห้องโล่งๆ ที่ไม่มีอะไรเลยนอกจากลำโพงตัวเล็กที่วางอยู่รอบห้อง แต่นอกจากเสียงที่ดังแล้ว เมื่อสังเกตดีๆ เราจะเห็นรอยสี่เหี่ยม วงกลม เล็กใหญ่ที่ถูกเคลือบให้รอยนั้นชัดเจนขึ้น
นอกจากนี้ยังมีความพิเศษในการดีไซน์เสียงที่ทีม DONBOY ตั้งใจออกมาเพื่อให้รับรู้ความต่าง บางจุดดีไซน์มาเป็นระนาบ บางจุดดีไซน์ให้รู้สึกเหมือนมีกำแพง เสียงจึงไม่ใช่แค่ ambience ประกอบแต่เสียงได้พาเรากลับไปยังช่วงเวลาที่มีเรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้นที่นี่ด้วย
“เราต้องการทำนิทรรศการเชิงประสบการณ์ คือเราค่อนข้างมั่นใจว่าเราไม่ได้ต้องการให้เป็นนิทรรศการที่มาอ่าน หรือว่าสื่อสารออกมาในรูปแบบเดิมๆ สมมติว่าครั้งต่อไปเราจะทำเป็นเชิง living ก็อยากให้คนมานอนอน nap ไปเลยคนละครึ่งชั่วโมง ถ้าทำเกี่ยวกับเรื่องกิน คุณก็ต้องได้กิน”
ใครที่อยากไปลองสัมผัสประสบการณ์การชมนิทรรศการในรูแบบใหม่ก็สามารถไปที่ The Shophouse 1527 ได้ง่ายๆ ด้วยรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ลงที่สถานีสามย่าน ทางออกที่ 2 เข้าชมได้วันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 11.00 – 19.00 น. เข้าชมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊กเพจ theshophouse1527
Photos by openspace
Cover by Thitaporn Waiudomwut