CITY CRACKER

Music City เมื่อดนตรีคือทรัพยากรสำคัญของเมือง

เราได้ยินข่าวการเตรียมผลักดันขอนแก่น ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงดนตรี ‘Music City’เพื่อส่งเสริมการส่งออกวัฒนธรรมทางดนตรี และกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้กับจังหวัดขอนแก่น

โดยก่อนหน้านี้ขอนแก่นเองก็มีงานดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์อย่าง E-San Music Festival โดยกลุ่มอีสานเขียว ที่จัดต่อเนื่องมาหลายปี และเทศกาลดนตรีอื่นๆ คอยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวที่ขอนแก่น การท่องเที่ยวเชิงดนตรี (Music Tourism ) จึงเป็นอีกหนึ่งการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับจังหวัดขอนแก่น

ก่อนหน้านี้ เมื่อปลายปีที่แล้วบ้านเราก็มีการจัด Bangkok Music City ขึ้น 2 วัน  2 คืน ในย่านเจริญกรุง ที่รวบรวมนักดนตรีกว่า 70 ชีวิตทั้งในและต่างประเทศมามอบความสุขให้กับชาวดนตรี พร้อมกับการจัดงานเสวนาเกี่ยวกับดนตรีเกิดขึ้นด้วย นอกจากนี้ในประเทศไทยเองก็มีงานดนตรีน้อยใหญ่ที่ใช้ดนตรีเป็นตัวดึงดูดคนให้มาที่จังหวัดนั้น เช่น งาน Big Moutain ที่ไปจัดที่เขาใหญ่  หรือ Wonderfruit  ที่พัทยา งานต่างๆ เหล่านี้ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นผู้คนให้มาท่องเที่ยวที่จังหวัดนั้นๆ

แน่นอนว่าในต่างประเทศก็มีการท่องเที่ยวเชิงดนตรี เช่น อังกฤษเองก็มีเทศกาลดนตรีระดับโลกอย่าง Glastonbury Festival   เมืองออสติน รัฐเทกซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เป็นเมืองหลวงดนตรีสดของโลก ที่ไม่ว่าจะไปที่ไหนเมืองแห่งนี้ก็มีดนตรีสดให้เราฟัง และมีอัตราส่วนจำนวนร้านที่มีการแสดงดนตรีต่อจำนวนประชากรสูงที่สุดในโลก

แนชวิลล์ถือเป็นอีกหนึ่งเมืองเรียกได้ว่า เป็นศูนย์กลางดนตรีแนวคันทรี่ของประเทศสหรัฐอเมริกาจนได้รับชื่อเล่นว่า ‘Music City’ โดยในปี 2014 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงดนตรีของเมืองแนชวิลล์ ได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวเชิงดนตรีกว่า 13 ล้านคน สร้างงาน 50,000 ตำแหน่งแก่คนท้องถิ่น และสร้างรายได้เข้าเมืองกว่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ

หรือล่าสุดกับการเลื่อจัดงาน Coachella Valley Music and Arts Festival  ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา และ Stagecoach Music Festiva ทำให้เศรษฐกิจในท้องถิ่นสูญเสียรายได้ถึง 7,000 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว  ดนตรีจึงถือเป็นอีกหนึ่งทรัพยากรสำคัญ ในการพัฒนาเมืองทั้งด้านวัฒนธรรมและการกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

Music City and Music Tourism

แน่นอนว่าเมืองดนตรี หรือ Music City คือเมืองที่มีดนตรีเป็นส่วนประกอบสำคัญ The Mastering of a Music City: Key Elements, Effective Strategies and Why it’s Worth Pursuing, by IFPI and Music Canada, 2014 กล่าวถึงองค์ประกอบของการเป็นเมืองดนตรีไว้ 5 อย่างด้วยกัน คือต้องเป็นเมืองที่มีศิลปินและนักดนตรีจำนวนมาก มีดนตรีท้องถิ่นที่คึกคัก สถานที่ที่จัดงานสามารถเข้าถึงได้ง่ายๆ มีกลุ่มธุรกิจและผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมดนตรีอินดี้ การมีกลุ่มผู้ชมผู้ฟังที่เปิดใจและสนับสนุน ซึ่งหากจุดประสงค์หลักของการท่องเที่ยวคือการมาชมดนตรี และมีการจับจ่ายใช้สอย ตั้งแต่โรงแรม ร้านอาหาร การขนส่งไปจนถึงการซื้อสินค้าต่างๆ ทำให้เมืองที่มีการท่องเที่ยวเชิงดนตรี ถือเป็นเมืองดนตรีด้วยเช่นกัน

ปลายปีที่แล้ว (2019) มีงาน Bangkok Music City เทศกาลดนตรีและการประชุมระดับนานาชาติด้านธุรกิจดนตรีขึ้นเป็นครั้งแรก จากความร่วมมือของ ฟังใจ – Fungjai และ NYLON THAILAND ด้วยแรงสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA : National Innovation Agency Thailand) สำนักงานส่งเสริมการประชุมและนิทรรศการ (TCEB) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA: Creative Economy Agency)  มีกิจกรรม Music Conference  ที่มีผู้มากประสบการณ์จากอุตสาหกรรมดนตรีชั้นนำกว่า 50 คนจากกว่า 10 ประเทศทั่วโลก มาร่วมพูดคุยกัน ในช่วงเย็นยังมี Showcase Festival ที่จะเป็นไฮไลต์พิเศษ รวมเหล่าศิลปินจากทั้งไทยและประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และฝั่งยุโรป หลากหลายวงและแนวดนตรีกว่า 70 ศิลปิน มาโชว์ร่วมกันบนเวทีทั่วย่านเจริญกรุง ไม่ว่าจะเป็น brb, HubbaBubbas และ MILDLIFE 3 ศิลปินอินดี้จากประเทศสิงคโปร์, The Magnolia จากประเทศสวีเดน, Deepsea Drive Machine จากประเทศญี่ปุ่น และศิลปินไทยมากความสามารถ Srirajah Rockers, Yaan, Gym And Swim, Electric.Neon.Lamp, DCNXTR, Henri Dunant งานนี้มีผู้ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก จนบัตรที่แจกหมดมีคนตามหากันให้เพียบ

 

ดนตรี ทรัพยากรสำคัญของเมือง

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเมืองต่างๆ ได้เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมด้วยดนตรี มีงานวิจัยที่บอกว่า การไปคอนเสิร์ต ทุกๆ 2-3 สัปดาห์ช่วยยืดอายุได้ รวมถึงการฟังเพลงของวัยชรายังช่วยบรรเทาอาการสมองเสื่อมและความเหงาได้ ในแง่ของการสร้างสภาพแวดล้อมในชุมชนที่หนาแน่น ก็อาจมีดนตรีเป็นเครื่องมือที่ช่วยจัดการกับปัญหาความไม่สงบและการเลือกปฏิบัติ เช่นในกรณีของ Nyege Nyege ในยูกันดา ดนตรีจึงเป็นทั้งเครื่องมือสำคัญในแง่เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม

ประเทศฝรั่งเศสมีการจัดตั้งศูนย์ดนตรีแห่งชาติขึ้นเพื่อทำการวิจัยผลกระทบของดนตรีในแต่ละภูมิภาค สหรัฐอเมริกาเองนอกเหนือจากแนชวิลล์และออสตินที่มีนโยบายด้านดนตรีมายาวนานแล้ว เมืองนิวออร์ลีนส์ได้เปิดตัวโครงการ NOME เพื่อเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับนักดนตรีของเมือง Indianapolis ก็ปรับกลยุทธ์ของเมืองเพื่อยกระดับนักดนตรีท้องถิ่นส่งเสริมการท่องเที่ยวและเพิ่มการลงทุนขาเข้า

ลอนดอนเองก็ได้เปลี่ยนแปลงกฎหมายการวางแผนเพื่อสนับสนุนและจัดลำดับความสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานทางวัฒนธรรมให้ดีขึ้นรวมถึงการปิดสถานที่จัดงานดนตรี เมลเบิร์น ซิดนีย์ บริสเบน และแอดิเลด มีนโยบายด้านดนตรีโดยมีสำนักงานเพลงแห่งแรกในสภาเมือง เฉิงตูสร้างย่านดนตรีใหม่และคอนเสิร์ตฮอลล์ 14 แห่ง มหานครหลายแห่งทั่วโลกร่วมมือกับยูเนสโกให้เป็นเมืองแห่งดนตรีเพื่อยกระดับบทบาทของดนตรีท้องถิ่น

 

กรุงเทพฯ เองก็เคยจัดงาน Music City มาแล้ว และในอนาคตขอนแก่นเองก็อาจเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงดนตรี ที่ดึงดูดผู้คนให้มาที่ขอนแก่นแห่งนี้ดนตรีที่มีกลิ่นอายเฉพาะตัวตามแบบฉบับเมืองดอกคูณเสียงแคน

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

ifpi.org

กรุงเทพฯ เมืองดนตรี – Bangkok Music City

bangkokmusiccity.com

weforum.org

ticketnews.com

 

Illustration by Montree Sommut
Share :