CITY CRACKER

ชวนไปดูภูเขาในกรุงเทพฯ กับ 7 เขามอจำลองธรรมชาติตามคติความเชื่อของคนไทย

สังคมไทยคือสังคมแห่งความเชื่อ บ้านเรามีความเชื่อที่หลากหลาย ทั้งการรับมาและนำมาผสมเข้ากับความเชื่อดั้งเดิม อย่างเขามอ หรือถมอ ที่แปลว่าเขาหิน คือการรับเอาแนวความคิดจากจีน มาผสมเข้ากับความเชื่อเก่าของเราอย่างวัฒธรรมพราหมณ์ วัฒนธรรมพุทธ เข้ามาไว้ด้วยกัน เช่นความเชื่อเรื่องเขาไกรลาส

สมัยก่อนคนกับธรรมชาติดูจะแยกขาดจากกัน การจำลองธรรมชาติจึงเปรียบเหมือนการที่เราได้ควบคุมธรรมชาติอย่างปราณีต โดยมีองค์ประกอบคือ ก้อนหิน น้ำ ต้นไม้ วัสดุพืชพรรณอื่นๆ ซึ่งตามธรรมเนียมแล้วคนไทยจะไม่ทำภูเขา พระเจ้าแผ่นดินเท่านั้นที่ทำ ส่วนชาวบ้านจะทำเพียงเขากระถางกัน แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงเขามอก็เริ่มกระจายตัวมาอยู่ที่วัด เวลาไปวัดเราอาจจะไม่ทันสังเกตกองหินที่อยู่ในวัด หรือไม่รู้ว่าภูเขาหินนี้แหละที่เรียกว่าเขามอ เราเลยอยากลองชวนทุกคนไปดูภูเขาแบบไม่ต้องออกนอกกรุงเทพฯ ตามคอนเซปต์การดึงเอาธรรมชาติมาไว้ในเมือง ซึ่งปัจจุบันเขามอก็เหลืออยู่เพียงไม่กี่ที่แล้ว

CIty Cracker ขอชวนทุกคนมาเที่ยวเขามอ ดูมรดกของภูมิสถาปัตยกรรมไทยว่าปัจจุบันเป็นอย่างไร ซึ่งแต่ละที่ก็มีจุดเด่นต่างกันไป เป็นตัวเลือกให้เราเข้าไปเยี่ยมชมได้ตามอัธยาศัย เตรียมหมวกเตรียมร่มให้พร้อม แล้วไปเที่ยวเขามอกัน

 

 

เขามอวัดประยุรวงศาวาส

เขามอที่วัดประยุรวงศาวาส เป็นเขามอที่ใหญ่สุดในรัตนโกสินทร์ ตั้งอยู่กลางสระน้ำ ก่อขึ้นจากหินเป็นจำนวนมากมียอดเขาลดหลั่นกันตามลำดับ มีชะง่อนผาลักษณะคล้ายคลึงกับหยดน้ำตาเทียน ซึ่งว่ากันว่าเป็นหยดน้ำตาเทียนของรัชกาลที่ 3 เป็นที่ประดิษฐานพระสถูปเจดีย์ พระพุทธปรางค์ พระวิหารหลวงจำลอง สังเวชนียสถานจำลอง และศาลารายน้อยใหญ่ ในบ่อน้ำที่นี่มีเต่าเยอะมาก นอกจากนั่งชมวิวเพลินๆ แล้ว เรายังสามารถให้อาหารเต่าได้อีกด้วย

 

เขามอวัดจักรวรรดิราชาวาส

 ถ้าใครอยากลองมาเสพบรรยากาศแลนด์สเคปสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ขอให้มาที่วัดจักรวรรดิแห่งนี้ หรือถ้ามาแถวสำเพ็งก็ลองแวะมาดูเขามอที่วัดจักรวรรดิได้ ที่นี่มีต้นจันทร์ผา ที่เป็นไม้ทนแล้งอยู่เยอะมาก จุดเด่นที่สำคัญคือสระจระเข้ นี่วัดหรือสวนสัตว์กันแน่นะ

โครงสร้างของเขามอยังมีการลดน้ำหนักด้วยการใช้ไห ทำให้เขามอไม่หนักมาก แถมในไห เราก็สามารถใส่ดินลงไปเพื่อปลูกต้นไม้ได้อีก เดินไปอีกหน่อยก็จะเจอกับเขาพระพุทธฉายและถ้ำพระพุทธไสยาสน์ ที่เราสามารถเดินเข้าไปดูในถ้ำได้ รวมถึงถ้าเดินขึ้นไปถึงด้านในก็สามารถสักการะพระพุทธรูปได้ด้วย อาจจะดูน่ากลัวหน่อยแต่ถ้าลองเข้าไปทุกคนจะต้องได้รับประสบการณ์ใหม่ในแบบที่ไม่เคยได้แน่ๆ

 

เขามอวัดโพธิ์ 

วัดโพธิ์ในสมัยก่อนเป็นเหมือนแหล่งวิชาการให้คนเข้ามาศึกษา เขามอที่นี่จึงเป็นเหมือนสวนสุขภาพ ที่รวบรวมการแพทย์แผนโบราณไว้ พร้อมด้วยรูปปั้นท่าฤาษีดัดตน แก้ปวดเมื่อยในอิริยาบถต่างๆ ที่เรียงรายกันอยู่ ในตอนแรกมีถึง 80 ท่า แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 24 ท่าเท่านั้น

เขามอของที่นี่ก็มาจากเขาสวนขวาในรัชกาลที่2 ที่ถูกรื้อถอนแล้วกระจายไปไว้ตามวัด เขามอนี้จึงได้กลายเป็นสวนประดับรอบวัด ปลูกต้นไม้ไว้ตามเชิงเขาและบนเขา มีทั้งสถูปและเสาโคมแบบจีน รูปตุ๊กตาจีนและรูปสัตว์จัตุบาทต่างๆ เรียงรายอยู่ทั่วไปทั้งบนเขา และเชิงเขารอบๆ เวลาเดินที่วัดโพธิ์เราก็จะเห็นเขามอกระจายอยู่หลายที่ ซึ่งบางจุดเราก็สามารถนั่งเล่นบริเวณรอบๆ ได้ด้วย

 

เขามอพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ

ออกจากวัดมาอยู่ที่มิวเซียมกันบ้าง แม้เขามอจะไม่ใช่จุดเที่ยวที่ปรากฏในแผนที่ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ แต่ถ้าใครได้ไปเที่ยวที่มิวเซียมแห่งนี้ก็อยากให้ลองแวะชม แวะดูเขามอกันด้วย เขามอที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินี้โดดเด่นด้วยไม้ดัดตามตำราไทย และตุ๊กตาจีนโบราณที่ประดับอยู่ในบริเวณเขา อาจไม่ใช่เขามอที่ใหญ่นัก แต่ก็มีความสวยงามไม่แพ้เขามอที่อื่นๆ

เขามอวัดราชคฤห์

การสร้างเขามอมีการใช้หินหลากประเภทต่างกันไป แต่เขามอที่วัดราชคฤห์ใช้หินปะการังในการทำพระสถูปพระบรมสารีริกธาตุ สามารถเดินขึ้นไปบนเขามอได้ด้วยบันไดพญานาคทางทิศเหนือและทิศใต้ อาศรมขนาดเล็กและกุฎีฤาษี มีบันไดขึ้นภูเขาสองด้าน ทิศเหนือและทิศใต้ บนยอดเขาเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง และมีพระศรีอารย์ผู้บำเพ็ญบารมี อยู่บนเขา สามารถขึ้นไปสักการะบูชากันได้ ส่วนบริเวณเขาก็จะมีถ้ำที่กลายเป็นที่เก็บของ ไม่สามารถเดินเข้าไปดูได้ แต่ก็ยังคงลักษณะของเขามอที่น่าสนใจให้เราได้ไปดูกันอยู่

เขามอวัดอรุณราชวราราม

งานศิลปะที่ได้เข้าร่วมในงาน Bangkok Art Biennale กับผลงาน Across the Universe and Beyond ที่เล่นกับพื้นที่ตัวเขามอ จากเขามอธรรมดาที่เสื่อมโทรมแทบจะมองไม่เห็นหิน คุณสนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ เจ้าของผลงานก็ได้เข้ามาปรับปรุง และนำแนวคิดของศาสนาพุทธ เรื่องการเวียนว่ายตายเกิด การท่พระพุทธเจ้าอยากให้สนใจโลกภายในมากกว่าโลกภายนอก จึงมีการแบ่งเขามอออกเป็นสองส่วน โดยฝั่งนึงเก็บลักษณะสวนหิมพานต์ไว้อย่างเดิม เหมือนเป็นโลกภายนอก ส่วนอีกครึ่งนึงนำสีแดงมาใช้เหมือนเป็นโลกภายใน สีแดงดึงมาจากแดงชาดในภาพจิตรกรรมไทย สื่อถึงความสูงส่ง ผนังสีแดงจะปล่อยให้แสงเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่และคน ซึ่งภายในมีองค์ประกอบอีก 3 ชิ้น ที่รอให้เราเข้าไปชม

เขามอจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภูเขาแห่งความเชื่อในยุคสมัยใหม่ งานชิ้นนี้คือการตีความเขามอในรูปแบบที่เปลี่ยนไปไม่ได้เล่นกับพื้นที่เขามอเหมือนงานที่วัดอรุณฯ เป็นการใช้กระจกเงาเพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ให้คนได้มองภาพสะท้อนของตัวเองในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งกระจกเงาที่ใช้คือ กระจกว่าว ที่ใช้กับวัด เหมือนเป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อในอดีตมาเป็นตัวส่งผ่านความเปลี่ยนแปลงของความเชื่อนั้น เมื่อเข้าไปข้างในเขามอก็จะพบกับดิน ที่ตัวผู้ออกแบบมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นและจุดจบของสรรพสิ่ง เพื่อแสดงถึงความสงบข้างใน

Illustration by Thitaporn Waiudomwut and Napon Jaturapuchapornpong
Share :